JCoMS จเรตำรวจ ออนไลน์

 

มีคำกล่าวว่า  ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี ( check and balance ) สะท้อนภาพความแข็งแรงขององค์กร

หน่วยงานตรวจสอบของตำรวจ คือ หน่วยงานจเรตำรวจ

ภาพลักษณ์ในสายตาวงการตำรวจ มักถูกสบประมาทว่า เป็นหน่วยงานที่ รองรับการถูกเด้งย้ายจากหน่วยงานต่าง ๆมาเป็นจเรตำรวจ ดังนั้นไม่แปลกที่ถูกมองว่าเป็น”เสือกระดาษ”

จนกระทั่ง นับตั้งแต่เหตุกระแสโกงเบี้ยเลี้ยงโควิด เมื่อช่วงปลายปี 2563 และ เหตุบ่อนการพนันในพื้นที่ตะวันออก ในช่วงต้นปี 2564 ที่ จเรตำรวจ มีบทบาทในการตรวจสอบจริง ฟันจริง !!… จนมีนายตำรวจระดับนายพล ยัน ผบ.หมู่ ถูกสั่งลงโทษทางปกครองและ วินัย ปรากฏทางสื่อมวลชน หน่วยงานจเรตำรวจ จึงเป็นที่กล่าวถึง อย่างกว้างขวางอีกครั้ง.!!

งานจเรตำรวจ มีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ มีภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ ด้านการตรวจราชการ เพื่อติดตามผลการทำงาน  ด้านการร้องเรียนร้องทุกข์จากประชาชนในการให้ความเป็นธรรมของตำรวจ  ด้านระเบียบและจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมตำรวจ และ ด้านการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของตำรวจ

การบ้านสำคัญที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร มอบหมายให้ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติเร่งขับเคลื่อน คือ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อนำมาใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องเรียนจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแม้กระทั่งระหว่างตำรวจด้วยกันเอง  รวมถึงการรับแจ้งเบาะแสต่าง ๆ

จากสถิติ ปี 2563 จเรตำรวจ รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 3,267 เรื่อง มีการดำเนินเสร็จ 1,364 เรื่อง ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,903 เรื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินการตกค้างกว่าครึ่ง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการบริหารระบบการรับเรื่องร้องเรียนแบบดั้งเดิม ที่ต้องเสียเวลาจัดการทางเอกสาร และขั้นตอนทางธุรการที่มีหลายขั้นตอน ส่งผลต่อการเดินงานที่ล่าช้า ตั้งแต่การรับเรื่อง  การพิจารณาคัดแยก การส่งผู้รับผิดชอบตรวจสอบ การติดตามผล การรายงานผลต่อผู้ร้องเรียน  ไม่ทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน

สถิติปี 2563 เรื่องที่ร้องส่วนใหญ่ 5 อันดับสูงสุด

อันดับ 1 คือ ประชาชนแจ้งเบาะแส 629 เรื่อง

อันดับ 2 ขอความช่วยเหลือ 301 เรื่อง

อันดับ 3 บัตรสนเท่ห์ 193 เรื่อง

อันดับ 4 ขอความเป็นธรรม 80 เรื่อง

อันดับ 5 ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ 75 เรื่อง

นอกนั้นเป็นเรื่องอื่น ๆทั่วไป

ในมิติของประชาชนที่ร้องเรียน เดิมจะใช้วิธีร้องเรียน ทั้งด้วยตนเอง ทั้งทำเป็นหนังสือ หรือ เข้าร้องโดยตรงผ่านบุคคลหรือหน่วยงาน ทั้งที่เป็นผู้บังคับบัญชาหรือผ่านส่วนราชการต่างๆ รวมถึงการร้องผ่านสายด่วน หรือแม้กระทั่งสื่อสาธารณะ

ปัญหาสำคัญที่ผู้ร้องเรียนต้องเผชิญ คือ ไม่ทราบว่า เรื่องที่ร้องมีใครดำเนินการหรือไม่ ใครรับผิดชอบ ใช้เวลาเท่าไหร่ ผลเป็นอย่างไร จะติดตามได้ที่ใด

ในมิติการบริหารของผู้บังคับบัญชา คือ ไม่สามารถประเมิน หรือ วิเคราะห์ปัญหาจุดอ่อนจากข้อมูลการร้องเรียนได้ เช่น สถิติ ประเภทการร้องเรียน สถิติหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกร้อง เป็นต้น เนื่องจากไม่มีระบบการจัดระเบียบข้อมูลและความสามารถในการเรียกดูข้อมูลที่มีขีดจำกัด ผู้บังคับบัญชาจึงไม่สามารถเข้าใจและเร่งแก้ไขปัญหาได้ทันใจ ตรงตามความต้องการของประชาชน

จเรตำรวจ จึงทำโครงการ  JCoMS มาจากคำว่า Jaray Complaint Management System  หรือ “โครงการระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนของจเรตำรวจออนไลน์” เพื่อจัดระเบียบการบริหารจัดการการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสอย่างเป็นระบบ

ระบบนี้ เป็นการพัฒนา การรับเรื่องร้องเรียน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเป็นระบบ ครั้งแรก โดยผู้ร้องสามารถเข้าถึง platform ต่างๆในระบบ online เช่น facebook  Line  Website ซึ่งสามารถกรอกข้อมูล รายละเอียดการร้องเรียนผ่าน Application JCoMS โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียน หรือ ส่งไปรษณีย์

ทันทีที่ผู้ร้องลงรายละเอียดตามแบบที่กำหนดเสร็จ ข้อมูลการร้องเรียนจะส่งถึงศูนย์บริหารจัดการข้อมูลการร้องเรียน JCoMS ของสำนักงานจเรตำรวจ ที่เปิด 24 ชม.เพื่อคัดแยก และจัดส่งผู้รับผิดชอบด้วยระบบ online ทันที ผิดจากเดิมที่เป็นเอกสารใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน

จากนั้น ผู้รับผิดชอบจะต้องตรวจสแบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ถ้ามีรายละเอียดที่ซับซ้อนต้องขออนุมัติขยายเวลาเป็นครั้งๆ ไป

สิ่งที่จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้ร้องคือ จะทราบชื่อ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ กรอบเวลาดำเนินการ และมีการแจ้งผลต่อผู้ร้อง ซึ่งระบบเดิมไม่มี

นอกจากนั้น ข้อมูลของผู้ร้องเรียน จะถูกปิดเป็นความลับตามระเบียบของทางราชการ แต่ผู้ร้องเรียนจะต้องกรอกข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนตามที่แบบกำหนดเท่าที่จำเป็น เพื่อสะดวกต่อการติดต่อ แจ้งผล หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ นอกจากนั้น ยังป้องกันบุคคลที่ไม่ประสงค์ดี กลั่นแกล้ง หรือ รบกวนการทำงานของระบบด้วย

ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ โดยเฉพาะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  รอง ผบ.ตร  ผู้ช่วย ผบ.ตร  ผบช. ผบก.สามารถเข้าถึงข้อมูลการร้องเรียนที่ถูกประมวลผลในรูปของ Dashboard ทางอุปกรณ์สื่อสาร Mobile ตามที่สะดวก เช่น  มือถือ Tablet ฯลฯ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการร้องเรียนที่ประมวลผลเป็นสถิติ ให้เห็นสถานภาพการร้องเรียน เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการบริหารในส่วนงานที่รับผิดชอบ ได้อย่างถูกจุดต่อไปด้วย

เพื่อให้ตำรวจสามารถเข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชนและแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือได้ทัน

โครงการ JConMS เปิดตัวไปเมื่อ 11 มีนาคม 2564 มี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร และ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จตช. ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ปิดงานเสร็จก็จบกันไป

งานนี้ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จตช.ได้สั่งการให้ จเรตำรวจ ประชุมติดตามผล ศูนย์ JCoMS ทุกวันพุธของสัปดาห์  เพื่อติดตามผลสำเร็จของโครงการ ทั้งปริมาณเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนส่งเข้ามา และ ผลการดำเนินการว่า สำเร็จไปเท่าไหร่ ไม่สำเร็จเท่าไหร่ สาเหตุที่ไม่สำเร็จเพราะอะไร

” การเริ่มต้นโครงการอาจมีขลุกขลัก ในขั้นตอนต่างๆ เพราะเจ้าหน้าที่อาจชินกับรูปแบบเอกสารเดิมๆ เมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงอาจไม่คล่องตัว ซึ่ง ถ้ามัวรอให้พร้อม ก็ไม่ต้องเริ่มต้นกันพอดี ดังนั้นกำหนดให้มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ เพื่อเรียนรู้ปัญหา และวิธีแก้ไข ทำไป เรียนรู้ไป แก้ไขไป การพัฒนาก็เกิดขึ้น.. ดีกว่า ไม่ริเริ่มทำอะไรเลย” พล.ต.อ.วิสนุฯ กล่าว

ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้ในงานจเรตำรวจ จึงเป็นอาวุธสำคัญ ที่ยืนยันให้เห็นว่า “จเรตำรวจ” ไม่ใช่งาน “เสือกระดาษ” อีกต่อไป

 

RELATED ARTICLES