คนข่าวมากฝีมือและประสบการณ์จากกรมประชาสัมพันธ์
“ฟลุค” ปวีณา ฟักทอง ยังทำหน้าที่พิธีกรศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ประวัติพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เติบโตมาในครอบครัวที่มีแต่ผู้ชาย นิสัยค่อนข้างนิ่ง ไม่ค่อยพูด ทว่าจะดื้อเงียบ เกเร แต่ไม่ได้มีเรื่องอบายมุข แค่ไม่ชอบเรียน เหมือนกับสังคมให้ทำอะไรก็ไม่อยากทำแบบวัยรุ่นเป็นกัน โดดเรียนบ่อยมากถึงขั้นที่ครูต้องไปตาม งานบ้านของผู้หญิงก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร
วันหนึ่งตัดสินใจย้ายจากบ้านตัวเองไปอยู่กับบ้านเพื่อนสนิท ได้ครอบครัวคนใจดี แม่ของเพื่อนสอนงานบ้าน สอนทำกับข้าว ถึงได้รู้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องทำกัน แต่พอจบมัธยมปลาย ไม่สอบเข้ามหาวิทยาลัย คิดว่าดูแลตัวเองได้ ไปสมัครงานโรงงานมองว่า ได้เงินดี ทำเกือบปีรู้สึกว่า การที่คนเราไม่มีการศึกษาเป็นช่องว่าง ทำให้ถูกคนมองเป็นอีกระดับหนึ่ง เหมือนไม่มีอนาคต ไม่มีโอกาส
เธอเปลี่ยนวิถีชีวิตหันกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สายอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาที่เรียนเพื่อเป็นครูช่าง แบบยังคงทำงานไปเรียนไป ช่วงฝึกสอนถึงรู้ว่า ไม่เหมาะกับตัวเอง เพราะคนเป็นครูต้องมีความอดทน หลังเรียนจบเบนเข็มไปทำงานเป็นประชาสัมพันธ์อยู่ 1 ปี ต่อมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งของชีวิต เมื่อมีเพื่อนที่ฝึกงานอยู่ทีวีช่อง 11 บอกว่าต้นสังกัดมีรับผู้สื่อข่าววิทยุ ให้ไปลองสมัคร
ปวีณายอมรับว่า ผู้สื่อข่าวในความคิด ไม่รู้เลยว่า คืออะไร เพื่อนบอกงานสบาย ไม่เห็นมีอะไรเหมือนทำแค่ต้นชั่วโมงข่าวจะมีข่าวมาให้ทำ อันนั้นเป็นความเข้าใจของเพื่อน เพื่อนเรียนนิเทศศาสตร์มาติวให้ ตอนสอบให้เขียนข่าว ให้อ่าน ปรากฏติดสำรองอันดับ 1 โชคดีคนที่ได้อันดับ 1 ขอสละสิทธิ์ เป็นโอกาสของเรา แต่ตอนนั้นมีอรกงานเรียกมาพร้อมกัน เกี่ยวกับงานขายหนังสือ เริ่มงานเดือนเดียวกัน งานผู้สื่อข่าวสตาร์ต 8,000 หรือ 9,000 บาท งานขายหนังสือเงินเริ่มต้น 10,000 บาท มียอดเปอร์เซ็นต์กรณีขายได้อีก ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อยากไปขายหนังสือมาก แต่บางคนแนะว่าถ้าอยากมีอนาคตต้องเป็นผู้สื่อข่าว เพราะขายหนังสือแล้วจะโตไปเป็นอะไรมองไม่เห็น แม้การเป็นผู้สื่อข่าวไม่รู้จักคนในข่าวเลย สุดท้ายขอลองพิสูจน์ตัวเองในการเป็นนักข่าวว่า จะทำได้จริงหรือไม่
เริ่มงานผู้สื่อข่าวสายการเมือง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อปี 2549 เธอเล่าว่า นักข่าวไม่ใช่งานสบายเหมือนที่เพื่อนพูด ยังดีได้เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำงานอยู่ก่อนช่วยสอน ส่วนตัวเองต้องทำการบ้าน กลับไปฝึกฝนตัวเอง การอ่าน การเขียน การทำความรู้จักแหล่งข่าว บางครั้งต้องจับประเด็นเขียนข่าวส่งในครึ่งชั่วโมงให้ได้ ยากมาก เป็นความรู้สึกกดดันสำหรับคนที่มาใหม่ ไม่มีพื้นฐานมาก่อน
“จำได้ว่าไปหัวลำโพง รายงานบรรยากาศคนเดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่ ความที่เป็นคนพูดอะไรช้า ๆ พอโทรไปส่งข่าวทางวิทยุ พี่ข้างในจะยกหูขึ้นมาเลยว่า ไม่ได้ อ่านเร็วกว่านี้ เอาใหม่ แล้ววางหูไป อ่านใหม่แล้วก็โทรกลับไปก็เจอแบบนี้อีก ไม่ได้ อ่านเร็วกว่านี้ เอาใหม่ เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องอยู่ 5-6 ครั้ง เหมือนกับว่า หัวลำโพงเป็นที่หดหู่มาก น้ำตาก็จะไหล จะอ่านยังไงให้เร็วกว่านี้ มันเร็วกว่านี้ไม่ได้ ที่อ่านไปคือ เร็วสุดของเราแล้ว แต่สำหรับเขา มันคือ ยานคาง หัวลำโพงวันนั้นมันถึงดูเศร้ามาก กว่าจะผ่านวันนั้นมาได้” เจ้าตัวหัวเราะเมื่อนึกถึงภาพความหลัง
ทำข่าววิทยุอยู่ประมาณ 2 ปี เป็นช่วงที่กรมประชาสัมพันธ์มีนโยบายให้วิทยุกับทีวีช่อง 11 ทำงานรวมกัน ขณะนั้น “จุ๋ม” เจริญศรี หงส์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 5 เป็น บก.ข่าวการเมือง ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยชักชวนให้ย้ายไปทำฝั่งทีวี ปวีณามองว่า อาจเคยทำงานร่วมกันแล้วเห็นการทำงานของเรา ตอนแรกคิดมากว่าจะไปดีไหม รู้สึกว่า ทำไมคนอื่นทำอะไรดูง่ายจัง แต่เราทำดูยากไปหมด แม้ว่าจะหนักใจ แต่ก็ชอบการทำงานกับพี่เขาที่สอนแบบพูดตรง ๆ ทำให้เรารู้ว่า ต้องปรับอะไร ทำให้เราได้พัฒนา
เธอได้รับมอบหมายให้ย้ายมารับผิดชอบหน้าที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลแทนคนเก่าที่ลากออก ท่ามกลางคำสอนแบบโหด ทั้งการฝึกให้เขียนข่าวแบบเรียงร้อยคำออกมาเป็นข่าวโดยไม่ต้องมาเรียบเรียงใหม่ ต้องจับประเด็นข่าวก่อนที่จะเขียนเนื้อหา ต้องทำงานให้ทัน แข่งกับเวลา เพราะเป็นงานโทรทัศน์ที่ต้องมีกระบวนการอื่นด้วย ไม่ใช่แค่เขียนข่าวแล้วจบ ทุกครั้งที่ยืนรายงานสดจะมี บก.ยืนคุมอยู่ข้างๆ เป็นเรื่องซึมซับมาพัฒนาตัวเอง
“พี่เขาจะสอนเสมอว่า ไม่ต้องอ่านทุกคำ ทุกบรรทัดของข่าวที่เขียน ให้พูดตามความเข้าใจ เปิดหัวโดยเนื้อข่าวที่เราจับประเด็น ให้เล่าไป ส่วนตอนจบ อาจไม่ต้องใช้เนื้อข่าวก็ได้ เป็นสิ่งเล็กน้อยที่คนดูไม่รู้ เป็นสิ่งที่เราคนเดียวรู้ มันจะทำให้การรายงานน่าสนใจกว่า เพราะเราอยู่ในพื้นที่จะรู้ดีที่สุด ต้องเอาออกมาให้มันพิเศษ และดีที่สุด ทุกวันนี้ สิ่งหนึ่งที่ยังคงติดมา คือ การไปตามอ่านหนังสือพิมพ์ว่า ข่าวที่ตัวเองจับประเด็นนั้นมาเล่น หนังสือพิมพ์ได้ประเด็นเดียวกันไหม เป็นการเช็กตัวเองอย่างที่ถูกปลูกฝังมาว่า ต้องจับประเด็นให้เป็น รู้ว่า อะไรคือ ประเด็นสำคัญ””
“ผู้ประกาศไม่ใช่เครื่องอ่านข่าว หน้าที่ผู้ประกาศ ควรจะเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวให้คนดูฟัง และเข้าใจได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าเป็นข่าวที่เข้าใจยาก เราต้องทำความเข้าใจให้ได้ก่อน เล่าให้ง่ายๆ แม้จะถือเป็นตัวหลักของช่องในการรายงานสด ทั้งทำเนียบ รัฐสภา หรือแม้แต่การชุมนุม ถึงกระนั้นยังเคยพลาดและถือเป็นบทเรียนสำคัญของตัวเอง” ปวีณาบอกพร้อมเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า เป็นวันที่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศ ได้รับมอบหมายให้ไปอยู่ประจำจุดโรงแรมที่อดีตนายกฯ ทักษิณจะเข้าไปพัก คิดว่า คงอ่านเหมือนกันทุกครั้ง ไม่มีปัญหาอะไร กระทั่งอดีตนายกฯทักษิณมาถึงหน้าประตูโรงแรมแล้ว ให้เข้ารายงานสดทันที
“ระหว่างที่ว่ามาแล้วกับช่วงที่จะเข้าไปในตึกมันนานมาก เราไม่มีอะไรจะพูด ข้อมูลที่เตรียมเอามาพูดแล้วพูดอีก เหมือนเราชะล่าใจ คิดว่าเดี๋ยวมาหาหน้างานที่จะรายงาน เราควรจะเตรียมตัวมากกว่านี้เป็นเครื่องเคียงข่าว ข้อมูลสถานที่ อะไรที่เป็นนัยยะสำคัญ ข้างในมีใครมาถึงแล้วบ้าง มีการดูแลความปลอดภัยอย่างไร พอเราไม่รู้จะพูดอะไร เราก็เงียบแล้ววนกลับมาเนื้อเดิมที่มี แล้วมันก็วนอยู่แบบนี้ แม้วันนั้นไม่มีใครตำหนิอะไร แต่รู้ตัวเองว่าเราพลาด เจ็บใจว่า พลาด เพราะเราประมาท เป็นบทเรียนที่จำมาจนถึงทุกวันนี้”
มาถึงปัจจุบันหน้างานใหม่ที่ทำหลายคนเห็นบทบาทที่ชัดเจนและโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในการทำหน้าที่พิธีกร ศปค. เมื่อเธอได้รับโอกาสจากการที่ผู้ใหญ่เห็นผลงานในการทำรายการน้ำท่วมภาคใต้ และรายการเอ็นบีทีมีคำตอบ รายการที่เอาปัญหาของประชาชนมาพูดคุย จนมีวิกฤติโควิด-19 พบว่า การสื่อสารหลายอย่าง ยังมีความสับสน ทำให้รัฐบาลตั้งศูนย์ ศบค.ขึ้นมาและเลือกปวีณาไปทำหน้าที่พิธีกร
สาวคนข่าวกรมประชาสัมพันธ์สารภาพว่า ไม่คิดจะได้มาเป็นพิธีกร คนที่ทำงานหนักจริง ๆ เป็นหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กับทีมงาน ต้องไปประชุมตั้งแต่เช้าที่กระทรวงสาธารณสุขก่อนจะมาคุยกับทีมงานเพื่อทำความเข้าใจ เล่าว่า เรื่องใดเป็นอย่างไร วันนี้จะเน้นเรื่องไหน เราจะฟังไปด้วย หน้าที่หลักของเราเป็นเหมือนคนไปประมวล รวบรวมคำถามจากนักข่าวทำเนียบ แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องยาก บางครั้งเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ไม่สามารถที่จะถามได้ทุกคำถาม บางอย่างยังไม่ได้ข้อสรุปต้องรอก่อน ทำให้เรามีบทบาทในการช่วยดีไซน์การนำเสนอ บางคนบอกว่าข้อมูลเขาเยอะมาก หมอรู้สึกว่า พูดคนเดียวจะน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ เราจะช่วยแยกกลุ่มให้ชัดเจน คนฟังจะได้เข้าใจง่าย
“การทำงานตรงนี้มัน ต้องคิดวิเคราะห์ บางวันก็ไม่มีคำถามเลย ต้องมานั่งทำเองว่า สังคมอยากรู้เรื่องอะไร รู้สึกว่า ถ้าจะไม่ถามเลยมันเสียโอกาส ถึงมันไม่มีคำถามจากสื่อ แต่มันยังมีสิ่งที่ประชาชนควรรู้ บางทีก็ไปนั่งหาในทวิตเตอร์ว่า คนอยากรู้เรื่องอะไร มีอะไรที่คนยังเข้าใจผิดอยู่บ้าง เราจะถามหมอว่า วันนี้พูดเรื่องนี้ดีไหม คนจะได้เข้าใจมากขึ้น หมอทวีศิลป์จะค่อนข้างเปิดกว้างในการรับฟัง นึกถึงประชาชนมาก บางอย่างเป็นข้อมูลยาก แกมองเลยว่า อันนี้มันสำคัญหรือเปล่า ประชาชนควรจะรู้ไหม ถ้าประชาชนรู้แล้วมันจะเป็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเอาข้อมูลตัวเลขอย่างเดียวมาบอกประชาชน มันไม่เกิดประโยชน์ก็เอาออก ถ้าข้อมูลตัวเลข มันเป็นประโยชน์ มันสะท้อนอะไรควรจะบอกประชาชน”
เธอระบายความรู้สึกอีกว่า หน้าที่ตรงนี้ คือ ทีม ไม่ใช่ทีมของรัฐบาลหรือของใคร เป็นทีมที่ทุกคนจะให้ความเข้าใจกับประชาชนร่วมกัน ให้ความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน ถามว่า ช่วงไหนยากที่สุดในการทำงาน ส่วนตัวคิดว่า ช่วงที่ตัวเลขเริ่มน้อยลง เป็นช่วงวัดใจ เมื่อคนรู้สึกว่า ตัวเลขเป็นศูนย์ ไม่มีใครติดเชื้อแล้วจะกลับมาใช้พฤติกรรมเหมือนเดิม บางคนหลงลืม หย่อนยาน บางคนคิดว่ากินข้าวที่ร้าน มาด้วยกันทำไมให้ไปแยกโต๊ะ หรือครอบครัวเดียวกันสแกนคิวอาร์โค้ดคนเดียวไม่ได้หรือ อย่าลืมว่า การที่ยังต้องทำให้มันยุ่งยากอยู่ในตอนนี้ เพราะไม่อยากให้ใช้ชีวิตตามปกติ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ 100 เปอร์เซ็นต์ การทำงานของทุกฝ่ายในตอนนี้จึงดูยากสุด
ปัจจุบันนอกจากการรับหน้าที่เป็น พิธีกร ศบค. บทบาทในการเป็นสื่อมวลชน ปวีณายังรับผิดชอบงานที่หลากหลาย อาทิ นักสื่อสารมวลชนปฏิบัติการ กรมประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่ทั้งผู้ช่วยบรรณาธิการการเมือง ผู้ประกาศข่าวเที่ยงเอ็นบีที และผู้สื่อข่าวการเมือง “บางคนมองว่าสื่อกรมประชาสัมพันธ์ คือ สื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐ เอาจริง ๆ มันใช่นะ แต่สำหรับตัวเองมองว่า เราเป็นมากกว่าแค่กระบอกเสียงของรัฐ หน้าที่ของเรา คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์จากข่าวที่เรานำเสนอ และให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหานั้นได้ง่ายมากที่สุด เพื่อที่จะได้นำข่าวสารที่ดูไปใช้ประโยชน์ได้” คนข่าวสาวมากฝีมือทิ้งท้าย