นักสังคมสงเคราะห์สีกากี ทำดี “ปิดทองอยู่หลังพระ”

กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นหน่วยที่ชาวบ้านอาจไม่รู้จักมักคุ้นว่า มีความสำคัญอย่างไรแค่ไหน

ทั้งที่เป็นหน้างานให้บริการด้านสังคมแก่ผู้ใช้บริการ ครอบครัว กลุ่ม และชุมชน ที่มีปัญหาด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลตำรวจ

นับเป็นภารกิจหนักที่ต้องอาศัยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่เสียสละยิ่งกว่า “จิตอาสา” เพราะว่า “มันเป็นหน้าที่” ในการดูแลสารพัดผู้ป่วยที่เข้ามาโรงพยาบาล รวมถึงเหยื่ออาชญากรรมที่ถูกส่งมาจากโรงพักทั่วประเทศ

ไม่มีสิทธิปฏิเสธที่จะรับพวกเขาเหล่านั้น

นิตยสาร COP’S ฉบับนี้ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักส่วนหนึ่งของทีมนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลตำรวจ เจาะเรื่องราวความสำคัญที่สังคมขาดพวกเขาไม่ได้ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งปณิธานทำความดี ปีมหามงคล

ตามนโยบายขององค์กรที่ว่า “พวกเราจะใช้วิชาชีพอย่างเต็มที่ ให้โรงพยาบาลตำรวจมีความเจริญก้าวหน้า มีเทคโนโลยีที่ ล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นที่พึ่งในการรักษาแก่ตำรวจและประชาชนตลอดไป”

 

เปิดใจร้อยตำรวจเอกหญิง ตั้งใจจริงเป็นนักสังคมสงเคราะห์

ผู้กองการ์ตูน-ร.ต.อ.หญิง ฉัตรทิพย์ ชูชื่นกลิ่น นักสังคมสงเคราะห์ (สบ 1) กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลตำรวจ เติบโตคลุกคลีอยู่กับครอบครัวนักฟุตบอล เธอเป็นลูกสาวจักรชัย ชูชื่นกลิ่น อดีตนักเตะทีมโรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นพี่สาวไตรภพ ชูชื่นกลิ่น กองกลางใจเพชรสโมสรกีฬาราชประชา อีกทั้งเป็นหลานวันชัย ชูชื่นกลิ่น และสมภพ สุขสมบัติ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติ

“ชีวิตวัยเด็กตูนอยู่แต่ในสนามฟุตบอล ตามไปดูน้องชายเล่น” เธอประเดิมฉากชีวิต บ้านเดิมอยู่สามย่าน แต่ถูกเวนคืนต้องย้ายไปตั้งรกรากอยู่ปากน้ำ สมุทรปราการ จึงเริ่มต้นเรียนโรงเรียนสตรีสมุทรปราการ ความฝันวันเด็กอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง สัมผัสได้จากปู่ที่เปิดร้านหนังสือให้เช่าตอนอยู่สามย่าน ถึงกระนั้น ร.ต.อ.หญิง ฉัตรทิพย์เล่าว่า วัน ๆ จะอยู่ข้างสนามฟุตบอล เพราะลุง คือ สมภพ สุขสมบัติ เอาไปเลี้ยง ปลุกปั้นน้องชายเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่เรียนอนุบาลเลยตามไปดูน้อง ไม่ได้ไปไหนเลยนอกจากเชียร์น้องสมัยเล่นอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์

หลังจากจบที่สตรีสมุทรปราการ ผู้กองสาวหน้าใสหันไปเรียนมหาวิทยาลัยหัวเฉียว เลือกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เหตุผลเพราะเห็นรุ่นพี่ ประกอบกับใจชอบทำงานเกี่ยวกับชุมชน เห็นรุ่นพี่ไปตามค่ายให้เด็กเลยตามเขาไป ” คุณพ่อก็งงนะตอนแรก ถามว่า จะไปไหวไหม เพราะจริงๆ เลือกเรียนการตลาดและเลือกเปลี่ยนมาสังคมสงเคราะห์ คุณพ่อเลยเป็นห่วงถามว่า เปลี่ยนมาคณะนี้จะไปทำอะไร เลยตอบไปเอาเป็นว่าเดี๋ยวคุณพ่อคอยดูละกัน หนูจะหางานให้ได้”

ตรงสเปกโรงพยาบาลตำรวจ ทำงานอวดสหวิชาชีพ

ระหว่างเรียน ร.ต.อ.หญิง ฉัตรทิพย์เล่าว่า มีโอกาสมาฝึกงานโรงพยาบาลตำรวจ ถึงรู้ว่ามีกลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ที่ขาดบุคลากร โรงพยาบาลมีสเปกต้องการคนที่จบคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ที่กำลังขาดแคลนมา เนื่องจากเป็นยุคฟองสบู่ เศรษฐกิจกำลังดี คนแห่ไปเรียนด้านบริหาร ไม่มีใครมาเรียนทางสังคมสงเคราะห์ ทำงานเสียสละแบบนี้

“พอจบมาปุ๊บ ไม่ได้ตกงานเลย โรงพยาบาลตำรวจรับ ตำแหน่งพวกตูนจะไม่ค่อยมีคนเรียน เทียบแล้วมหาวิทยาลัยหัวเฉียวขาดทุนด้วยซ้ำ เกือบจะปิดคณะแล้ว ทั้งที่เป็นต้นแบบของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ต่อจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โรงพยาบาลตำรวจเอานักสังคมสงเคราะห์มาบรรจุ เพราะถือเป็นวิชาชีพในโรงพยาบาล ทำงานเป็นทีมกับหมอ”

ผู้กองการ์ตูนว่า มาฝึกงานตอนสมัยเรียนก็เริ่มดูเคสข่มขืน ต้องลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก ไปเก็บข้อมูล ค่อยลำดับความรู้และหน้าที่การทำงานในโรงพยาบาล เป็นจังหวะที่กฎหมายใช้บังคับเวลามีคดีเกี่ยวกับเด็กต้องมีการสอบปากคำแบบสหวิชาชีพ เพราะฉะนั้นนักสังคมสงเคราะห์เป็นอีกหน้างานที่ขาดไม่ได้     “ตอนแรกก็กลัวเหมือนกัน เพราะต้องไปเก็บข้อมูล เหยื่อส่วนใหญ่จะอยู่ตามสลัม ไปทำงานจะไม่ใส่เครื่องแบบ เพราะเด็กจะกลัวและเครียดเกินไป บางบ้านพ่อติดยาเสพติดเราก็จะอาศัยหลักการแพทย์บังหน้าเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ด้วย”

เรียนปริญญาโทอาชญาวิทยา อยากแก้ปัญหาอาชญากรเด็ก

ตำรวจนักสังคมสงเคราะห์อธิบายอีกว่า การมีโอกาสเข้าไปดูเรื่องเด็กได้ขยายไปในเรื่องยาเสพติด และเรื่องอื่นๆ เน้นย้ำเรื่อความปลอดภัยของเด็ก เขาจะสอนให้เราสังเกต วันแรกที่เราย่างก้าวเข้าไป เราต้องจำแล้วเอามาเขียนทีหลัง นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนตรงนี้ ให้รู้จักการสังเกต การพูด เรียนรู้มาตั้งแต่ฝึกงาน แล้ว โรงพยาบาลตำรวจถือเป็นศูนย์รับคดีข่มขืนอันดับ 1 ของเมืองไทย ทั้งนครบาลและภูธรจะส่งมาโรงพยาบาลตำรวจหมด

ร.ต.อ.หญิง ฉัตรทิพย์ ยกตัวอย่างการทำงานว่า บ่อยครั้งเจอเคสพ่อข่มขืนลูก ถ้าพ่อยังอยู่ในบ้านเราต้องแยกเด็กออกมา กลับบ้านไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอม ก็มีระเบียบกฎหมายคุ้มครองบังคับรองรับอยู่แล้ว เพื่อให้เด็กปลอดภัย เอาความปลอดภัยของเด็กมาเป็นอันดับแรก แต่ละปีมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่อถูกข่มขืน 300-400 คน ที่เราต้องดูแลและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมรวมถึงสภาพจิตใจ

ภารกิจหนักตรงนี้ ทำให้เธอสนใจไปเรียนต่อปริญญาโทอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดมุมมองด้านสังคมสงเคราะห์เพิ่มมากขึ้นต่อยอดถึงกระบวนการยุติธรรม “มันมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะเวลานี้มีผู้กระทำเป็นเด็กมากขึ้น ไม่ใช่แค่เหยื่ออย่างเดียว เกี่ยวกับข่มขืนล้วนๆ เลย มีกระทั่งเด็กอายุ 6 ขวบข่มขืนเด็ก 10 ขวบ เพราะเกิดพฤติกรรมเรียนรู้จากคลิปวีดิโอที่แม่กับพี่สาวเปิดดู”

เป็นเรื่องใหม่ของสังคม ต้องระดมหลายหน่วยช่วย

“เลวร้ายถึงขั้นรุมโทรม” ร.ต.อ.หญิง ฉัตรทิพย์ถ่ายทอดประสบการณ์ “กระทำกับเด็กผู้หญิงข้างบ้าน ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ขณะที่กฎหมายไม่สามารถดำเนินคดีเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ขวบ จำเป็นต้องมีคนไปดูแลแก้ปัญหาสังคมเหล่านี้ ปล่อยไว้เขาจะกลายเป็นโจรในอนาคต และแนวโน้มปัจจุบันจะมีเรื่องที่ผู้กระทำอายุน้อย ยังไม่พ้นนิติภาวะก่อเหตุมากขึ้น ทำให้หนูไปเรียนเรื่องอาชญาวิทยาที่เน้นเรื่องของผู้กระทำเป็นหลัก”

ตอนนี้เธอกำลังมีแนวคิดจะเขียนตำรา มีมุมมองว่า ทำแล้วต้องได้ประโยชน์แก่สังคม ถ้าทำเพื่อเอาสถิติไม่อยากทำ ปัญหาทุกวันนี้ คือ เด็กไม่ได้คุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าปล่อยให้เด็กที่กระทำความผิดไม่รู้สึกผิดยิ่งน่ากลัวใหญ่ ถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยหน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุน หลายเรื่องยอมรับว่า ละเอียดอ่อน บางทีศาลเรียกเป็นพยาน เราก็ต้องไปเบิกความ

“บ่อยครั้งเด็กเจอตำรวจในเครื่องแบบตอนสอบปากคำไม่พูด เพราะเจอเราเป็นนักสังคมสงเคราะห์เขายอมพูด แต่กระบวนการไม่ได้ใช้เวลาน้อย ต้องสร้างความคุ้นเคยกับพวกเขามากๆ ถึงจะพูด มันละเอียดอ่อน กว่าจะถึงชั้นศาลแล้วเขาจะพูด เคสส่วนมากเป็นเด็กผู้หญิง แต่ตอนนี้มีเด็กผู้ชายโดนกระทำด้วย แต่พวกเราจะไม่ออกข่าว เน้นเซฟเด็กที่สุด”

เด็กถูกข่มขืนเริ่มเป็นคนมีฐานะ ขณะที่ผู้กระทำผิดไม่ต่างกัน

ปัญหาทั้งหมดที่พบ ร.ต.อ.หญิง ฉัตรทิพย์ว่า ส่วนมากเกิดจากสังคม สภาพแวดล้อม ครอบครัว คือ พ่อแม่ทำงาน หลากหลายมาก บริบทของทุกวันนี้ ไม่ใช่คนจนอย่างเดียวที่เป็นเหยื่อ  เดี๋ยวนี้ เด็กบางคนก่อเหตุในโรงเรียนเอกชน พ่อแม่เป็นนายอำเภอ ปลัดอำเภอให้แต่เงินลูกใช้ แล้วลูกก็มาทำกับเพื่อน กับคนที่คิดว่า คอนโทรลได้ ผู้กระทำมีฐานะ เคสล่าสุดเป็นตัวอย่างได้เลยว่า ผู้กระทำเป็นเด็กอายุ 13-14 ปี ทำกับเด็กอายุ 13-14 ปีเหมือนกันในโรงเรียนเอกชน

ผู้กองสาวขยายความว่า เป็นกลุ่มลูกคนรวย พ่อแม่มีเงิน หลอกเพื่อนผู้หญิงต่างห้องไปรุมโทรมโดยที่ไม่เคยเป็นแฟนกัน เหยื่อไม่เคยรู้ตัว เพราะเรียนดีอยู่ห้องคิงส์ กลายเป็นเป้าหมายที่ถูกล่า ตรงนี้ทำให้เราอยากเซตระบบใหม่ เพราะที่ผ่านมา พวกเราจะถูกสอนและทำมาในเคสของเหยื่อ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นผู้กระทำแล้วต้องปรับการทำงานว่าจะทำยังไง คือ หลักของงานที่เป็นบทบาท ไม่ใช่แค่สงเคราะห์คนไข้ แต่เป็นเรื่องของคดี ที่กำลังมีคดีอย่างนี้เยอะที่สุดในประเทศไทย

นักสังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลตำรวจทิ้งท้ายว่า พวกเราทำงานเหมือนปิดทองหลังพระ ทำเคสเยอะมาก แต่ไม่ได้ต้องการให้เป็นข่าวออกไป ประเมินผล หากสภาพแวดล้อมเดิมดีขึ้น พ่อแม่ยอมปรับตัว ผู้ต้องหาถูกตัดสินแล้ว เราจะคืนเด็กสู่บ้าน เพราะเด็กบางคนกลับบ้านเดิมไม่ได้ ต้องไปอยู่กับยาย กับตาที่ต่างจังหวัด ทั้งหมดนี้เราเองทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีหน่วยอื่นมาช่วย อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ประชาบดี แต่ต้องขอบคุณ พ.ต.อ.หญิง ชุติมา พันธุ นักสังคมสงเคราะห์ (สบ4) และ พ.ต.อ.หญิง จิรวัส ฉัตรไชยสิทธิกูล นักสังคมสงเคราะห์ (สบ 5) ที่ปูทางไว้

สัมผัสเส้นทางผู้กองสาว สู่เสื้อกาวน์โรงพยาบาลตำรวจ

ผู้กองเจน-ว่าที่ร.ต.อ.หญิง นิธิมา แนนเมธี นักสังคมสงเคราะห์ (สบ 1)กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลตำรวจ พ่อแม่เป็นครูอยู่จังหวัดชัยภูมิ แต่เกิดโรงพยาบาลตำรวจ เพราะมีป้าเป็นพยาบาลประจำอยู่ ก่อนกลับไปใช้ชีวิตอยู่แดนอีสาน เรียนอนุบาลโรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ชัยภูมิ ไปต่อมัธยมโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ชัยภูมิ โรงเรียนประจำกระทั่งจบมัธยม 6 เพราะครอบครัวอยากให้เรียนรู้การใช้ชีวิต

เธอมีเป้าหมายอยากเรียนต่อพยาบาล 3 เหล่าทัพ แต่ไม่ได้คิดสอบเหล่าตำรวจ แม้จะมีรับตรงเข้าวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ สุดท้ายได้ไปเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ทั้งที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า เรียนแล้วไปทำอะไร เป็นคนเดียวในบรรดาเพื่อน 3 คนที่มาสอบได้คณะนี้ ที่เลือกเพราะมองว่า คณะนิติศาสตร์ไม่น่าใช่ตัวเอง ไม่ใช่คนท่องหนังสือตีความอะไร ส่วนคณะรัฐศาสตร์ก็ไม่ใช่แนว

“สอบติดตอนนั้นก็ดีใจ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป้าหมายว่า เรียนไปแล้วจะทำอะไร จะมีเหมือนช่วงโอเพ่นเฮาส์ แต่เรื่องของการตามข่าวสารค่อนข้างล่าช้ากว่าคนในเมือง หรือที่โรงเรียนอื่นมาก จะรู้จากทางโรงเรียน หรือมาค้นหาทางอินเตอร์เน็ตด้วยตัวเอง บ้านก็มีญาติบอกว่าเรียนนั่นไหม ก็ยังไม่มีเป้าหมาย อย่างไรก็ตามยังหวังอยู่จะเรียนพยาบาล 3 เหล่าถึงเลือกมาสอบอีก”

ค้นหาตัวเองอยู่พักใหญ่ สุดท้ายได้งานตามที่เรียนมา

ความฝันจะเป็นพยาบาลส่อแววประสบความสำเร็จ เมื่อปรากฏว่า สอบติดพยาบาลทหารเรือ ตัดสินใจไปรายงานตัวแล้ว คิดไปคิดมาลังเล เจ้าตัวเล่าว่า ชอบนะ แต่เสียดายเวลา สุดท้ายก็คิดไม่ตก ติดอยู่ในหัวทำไมเราไม่ไป ก็มานั่งร้องห่มร้องไห้ถามพ่อ พ่อบอกให้ตัดสินใจเอง ตอนนั้นไม่รู้จะไปไหน ก่อนตัดใจเรียนธรรมศาสตร์ต่อ เพราะเราทุ่มเทเรียนสุดชีวิตตอนอยู่ปีแรกด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย เมื่อมาเรียนแล้วก็ต้องเต็มที่ แม้ผลการเรียนไม่ค่อยดี แต่ก็ไม่ท้อ เอาใหม่ ตั้งใจเรียนจนจบ

เธอยอมรับว่า ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เรียนจบแล้วไปหางานทำเป็นกราวด์บริษัทที่คอนแท็กซ์กับสายการบินไทยอยู่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิอยู่ 2-3 เดือน รู้ว่า ไม่ใช่ตัวเอง ไม่ชอบทำอะไรแบบนี้ เลยลาออกกลับบ้านไปพัก กระทั่งอาจารย์แนะนำลองมาสมัครตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลตำรวจดู เพราะมีตำแหน่ง  และไม่ได้มีโอกาสแบบนี้ตลอด

ก้าวแรกของงาน ร.ต.อ.หญิง นิธิมา สารภาพว่า รู้สึกเหนื่อย บางวันต้องมาฟังเคสข่มขืน 4-5 ราย ทำให้เขาใจหน้างานตรงนี้ดีว่า ต้องหาคนบุคลิกที่มีความอดทน เข้มแข็ง ส่วนเราเริ่มจากงานเบสิกก่อน คือ รับเคส หาข้อมูล ประเมินผล ติดตาม และส่งกลับ หรือยุติเคส ลักษณะงานของโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้งานที่ทำแล้วจบไปเลยแบบหน่วยงานอื่น สิ่งแรก คือต้องรับเคสงานบริการเฉพาะหน้าได้ ดูเรื่องสิทธิก่อนเป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่ไม่มีสิทธิ เราก็ฝึกการแก้ปัญหา คนไข้ที่วอล์กอินเข้ามา ไม่มีสิทธิ ใช้สิทธิไม่ได้ แต่ที่นี่คือ โรงพยาบาล เมื่อเขาเจ็บป่วยก็ต้องรับเขารักษาไว้ก่อน

มีโอกาสดูแลคนป่วยสูงวัย ใช่ หรือไม่ใช่ก็เป็นตัวเรามากสุด

ตำรวจหญิงนักสังคมสงเคราะห์แจงขั้นตอนว่า เราต้องไปในจุดของการรักษาก่อน ส่วนเรื่องค่ารักษา แผนการรับคนไข้กลับบ้าน ค่อยว่ากันอีกที สมมติมีเคสแบบนี้มา 1-2 คนต่อวัน ก็ต้องตามเคสนั้นให้จบว่า ผู้ป่วยกลับบ้านเองได้ไหม หรือว่าต้องส่งต่อ ปัจจุบันมีเคสต่างชาติมากด้วย ต้องรับทุกเรื่องเหมือนโรงพัก ต้องประสานสถานทูต และก็ต้องใจเย็น ดีที่เราพูดภาษาอังกฤษได้ มีหลายอย่างมาก ทั้ง เสพยาเสพติด ขอทาน โดดตึก เจ็บป่วย ถูกทำร้าย ตีกันมาก็เยอะ

“ถ้าหมอบอกต้องกลับบ้าน เราก็ต้องจัดการส่งเขากลับได้ ถ้ายังกลับไม่ได้ ก็ต้องแจ้งหมอได้ ว่าเมื่อไหร่ ระยะเวลาเราตอบเป๊ะไม่ได้หรอกว่า 5 วัน 3 วัน 2 วัน เราจะต้องมีกระบวนการติดต่อหน่วยงานไหน เหมือนว่าต้องมีแผนการทำงาน มีกระบวนการทำงาน เพื่อไม่ให้ล่าช้า อยู่โรงพยาบาลนานก็ไม่ดีด้วย เพราะจะเสียโอกาสคนไข้คนอื่นที่จะเข้ามารักษา ในส่วนของเคสที่เป็นลักษณะวอล์กอิน ก็จะไปเช้าเย็นกลับ วันเดียวจบ เจนก็เริ่มเพิ่มทักษะจากตรงนี้”

“ในโรงพยาบาลมีผู้ป่วยหลายประเภท เจนเองได้รับโอกาสทำงานกับกลุ่มสูงอายุผู้หญิงในตึกอายุรกรรมหญิง รวมถึงโรคเรื้อรังอย่างอื่นด้วย ทำงานมาตอนนี้ก็ 7 ปีแล้ว  แรกๆ คิดว่าใช่ตัวเราไหม ทุกวันนี้ก็ไม่ได้คิดว่า ใช่หรือไม่ คิดแค่ว่า มันอาจเป็นตัวเรามากที่สุดแล้ว คือใช่ มันจะบอกเลยว่า ลักษณะวิธีการทำงานอาจจะเป็นตัวเราที่สุดแล้ว”

ยอมรับบ่อยครั้งเครียด ต้องยัดเยียดความคิดที่ไม่จบ

ตลอด 7 ปีของการทำงานตำรวจสวมเครื่องแบบเสื้อกาวน์ ผู้กองเจนระบายว่า เป็นคนที่เครียดเวลาทำอะไรแล้วถ้าไม่เรียบร้อยก็จะเครียด จริงๆ ควรจะจบไว้ที่ทำงาน แต่เป็นคนที่จะไม่จบ คิดมาก เพ้อเจ้อ เคยจะเอางานไปทำต่อที่บ้าน แต่ไม่อยากเปิดเพราะเครียด  เคยนอนไม่หลับ นึกถึงตลอดเวลาว่าพรุ่งนี้ต้องทำอะไรกับคนนี้ เหมือนว่า ไม่ใช่แบบสมบูรณ์เพอร์เฟกต์ คนที่มีข้อจำกัดมากๆ ก็ไม่ได้ติดตามจนถึงที่สุด ก็อาจต้องส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เธอว่า บางรายเขามีโอกาสอาจเสี่ยงจะกลับมาโรงพยาบาลอีก ตรงนี้อาจเป็นอะไรที่สะท้อนมาว่าเราไม่ได้ช่วยเขาให้เต็มที่ แนวโน้มกลุ่มผู้สูงอายุถูกทำร้ายและทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น การแก้ปัญหาตรงนั้นมีความซับซ้อน มีระยะเวลาที่ต้องแก้ปัญหา บางทีก็ยาก เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปัญหาที่เจอ คือ คนแก่ที่ลูกหลานไม่เอา หรือไม่มีลูกหลาน เหมือนคนอนาถา

“ป่วยแล้วมาส่ง ก็ทิ้งเลย ผู้สูงอายุบางท่านหลงลืม ไม่สามารถให้ข้อมูลเราได้ บางทีมีแค่บัตรประชาชน เข้าไปในข้อมูลเดิมของคนไข้ได้บางส่วน แต่อาจไม่ได้ทั้งหมด ตัวเจนเองเลยทำโครงการเครือข่ายกับชุมชนด้วย แต่ละชุมชนจะมีหน่วยย่อย หรือสถานพยาบาลปฐมภูมิ เป็นหน่วยส่งต่อ คือใช้เครือข่ายเหล่านั้น กรณีมีคนไข้ในส่วนของชุมชน ส่วนความรับผิดชอบของชุมชน การตามต่อก็คือต้องส่งข้อมูลให้เขาตามต่อ เพราะเราไม่สามารถทำแบบนี้ได้ทุกเคส”

ไม่เหนื่อยกาย แต่เหนื่อยใจ ให้ทุกคนมาเข้าใจยาก

ร.ต.อ.หญิง นิธิมาบอกอีกว่า เราทำงานกันเป็นแบบสหวิชาชีพ พร้อมลงไปแก้ปัญหาเป็นทีม การที่คนๆ หนึ่งถูกทอดทิ้งจากครอบครัว หรือตัวเขาเองยินดีที่จะใช้ชีวิตอย่างนี้ คือ การรักษามันจบ แต่ชีวิตเขายังไม่จบ ต้องไปต่อ ถ้ายังอยู่ตรงนี้ เราก็จะไม่มีโอกาสรักษาคนอื่นต่อ เพราะจะไม่มีเตียง ต้องขอบคุณผู้บังคับบัญชาที่ปูทางไว้ดี มีหน่วยงาน องค์กร ที่เป็นเครือข่ายในการทำงาน มีเด็ก สตรี คนชรา จะอยู่ตรงไหน คนพิการ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ต้องประเมินให้ครบก่อนว่า เขาพิการร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ ถ้าเป็นผู้สูงอายุแล้วภูมิลำเนา ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่แล้ว มันมีอะไรปลีกย่อย มีความซับซ้อนเหมือนกัน ก็ต้องติดต่อหน่วยงานไว้ก่อน แต่ก็มีค่าใช้จ่าย แล้วใครจะดูแล

ผู้กองเจนแสดงความเห็นว่า เป็นปัญหาสังคมที่หลายคนมองข้าม ยิ่งตอนนี้เปิดประชาคมอาเซียนแล้วด้วย การใช้ชีวิตเร่ร่อนโดดเดี่ยวอันนี้สำคัญมากจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร เมื่อเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตลำพัง วันหนึ่งเขามาทำงานแล้วไม่มีโอกาสติดต่อครอบครัว ทำให้โอกาสในการติดตามสัมพันธภาพ ระหว่างเขากับครอบครัวจะยาก ฉะนั้นทุกคนมีข้อจำกัดว่า ถ้าเราทำแล้วกลับไม่ได้ ก็ต้องเป็นสถานสงเคราะห์ที่ต้องรับไปก่อน

“บ่อยครั้งมันรู้สึกหดหู่ เครียด ไม่ใช่เหนื่อยกาย แต่เหนื่อยใจ จะให้ทุกคนมาเข้าใจได้มันยาก คือทุกคนมีญาติ มีความสมบูรณ์ของครอบครัวของหลายๆ คน แต่ความไม่สมบูรณ์ของคนๆ หนึ่งมันมีอยู่จริงในสังคม เราไม่สามารถปรับให้ใครมาเข้าใจใครคนหนึ่งได้ภายในวันเดียว หรือภายในช่วงเวลาที่เขาป่วยได้ เขาก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเรา เพราะเราเองก็ไม่ได้เคยเห็นแบบนี้มาเหมือนกัน เมื่อคนมันมีปัญหาเขาก็ต้องรอ เพราะทุกคนก็พยายามช่วยอยู่ การรักษาบอกว่า หมดแล้ว หน้าที่ของคุณ ก็ต้องเข้าใจในหน้าที่เราด้วยว่า เราทำอะไรได้แค่ไหน”นักสังคมสงเคราะห์ตำรวจสีหน้าจริงจัง

เคยท้อแท้อยากลาออก ได้รุ่นพี่ช่วยหาทางออกให้สู้ต่อ

” ก็เคยท้อนะ จนรู้สึกอยากจะออก ตื่นมาไม่อยากจะทำงาน ก็เหมือนพาตัวเองเข้ามา เป็นช่วงที่สั่นคลอนความมั่นคงในหัว ในความรู้สึก บางทีล้า เพราะทางออกมันไม่เจอ แต่ว่าก็ได้พี่ๆ ทุกคนช่วยประคับประคอง  เจนจะรู้ว่าใครที่เราจะเดินเข้าไปคุยด้วยได้ ทำให้เจนอยากทำงานต่อ เพราะการทำงานต้องเป็นทีม น้องๆ มีส่วนช่วยมาก คุยเล่นกันได้ ไม่อย่างนั้นก็จะเครียด มีอะไรที่เราชอบคล้ายๆ กัน คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ มันจะช่วยสร้างความสุขให้เรา”

 

เธอบอกอีกว่า เคยสนใจเหมือนกันว่า อนาคตเราจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่คิดอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำในหน้าที่นี้ ต้องมองเห็นภาพไปพร้อมกับการทำงาน บางคนบอกว่า ผู้ป่วยกลับบ้านได้ แต่ไม่กี่วันก็กลับมาใหม่อีกแล้ว มุ่งมองกันที่ผลลัพธ์ แต่ไม่ได้ดูว่า ระหว่างทางของพวกเขามีอะไรบ้าง มันถึงเป็นงานท้าทายของเราทุกวัน

“เจนภูมิใจที่ทำงานช่วยเหลือคน ไม่ใช่ทำงานเอกสาร นั่งอยู่กับคอมพิวเตอร์ เราจำเป็นต้องเข้าไปดูแลแก้ปัญหา” นายตำรวจหญิงทิ้งท้าย

หลานชาย “เสี่ยฮุก” สนุกกับงานช่วยเหลือสังคม

มวดแบงก์-ร.ต.ท.อิศเรศ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ นักสังคมสงเคราะห์ (สบ1) กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลตำรวจ ลูกชายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี กับศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้งเป็นหลานปู่ “เสี่ยฮุก” สุนทร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ พ่อค้าไม้ชื่อดังผู้ล่วงลับ

สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาโรงเรียนดรุณา จังหวัดกาญจนบุรี มาต่อมัธยมโรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์ศึกษา บางบอน กรุงเทพมหานคร  ก่อนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบแล้วเรียนต่อคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ และยังเรียนปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วัยเด็กไม่ได้วางเป้าหมายอยากเป็นอะไร เพียงแต่ชอบแข่งรถ ตระเวนซิ่งในสนามพีระเซอร์กิต พัทยา ตามประสาชีวิตวัยรุ่น พอใกล้จบปี 4 หันมารับบทประธานสโมสรฟุตบอลเมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด บู๊แข้งลีกภูมิภาคดิวิชั่น 2 จังหวัดบ้านเกิด

เจ้าตัวเล่าว่า ตอนแรกสอบเข้าคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่กิจกรรมเยอะ เกินไป ไม่ชอบ เรียนแค่เทอมเดียวก็ออก กลับมาสอบใหม่ในปีถัดไปติดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เหตุผลที่เลือก เจ้าตัวหัวเราะบอกว่า ไม่ได้คิดอะไร เห็นว่า มีสาวสวยเยอะมากกว่า

แม้สุดท้ายอาจไม่ใช่ แต่พร้อมเอาใจใส่คนไข้ทุกคน

มุ่งมั่นทุ่มเทเอาจริงเอาจังกับทีมฟุตบอลเป็นหลัก เพราะนอกจากเป็นประธานสโมสรแล้วยังโดดลงไปโม่แข้งเองด้วย เนื่องจากชอบดูฟุตบอลมาตั้งแต่แรก แม้ทางบ้านจะไม่สนับสนุน แต่เขาตัดสินใจควักทุนตัวเองร่วมกับการหาสปอนเซอร์มาช่วย ทำไปทำมาเจอปัญหาการแบ่งขั้วในสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยถึงขอพักส่งทีมแข่ง

 

เป็นจังหวะที่เข้าสอบอบรมตำรวจพอดี ร.ต.ท.อิศเรศ เท้าความเป็นมาว่า ที่บ้านอยากให้เป็นตำรวจ อยากให้มาดูแลน้อง ปู่ก็สนับสนุน เพราะที่บ้านไม่มีใครเป็นเลย ถึงเลือกมาสอบตรงกับวุฒิปริญญาตรีสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บรรจุลงโรงพยาบาลตำรวจ ตอนแรกไม่รู้ว่า ต้องทำอะไร เพราะเรียนมาอีกสาขา เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน และวางแผนด้วยว่า จะเล่นการเมืองที่บ้านเกิดตามรอยครอบครัว เพราะเราซึมซับมาตั้งแต่เด็ก

“มาทำงานตรงนี้ก็ทำอะไรเกี่ยวกับเด็ก สอบคนไข้ ยังไม่เจอหนักๆ เนื่องจากเป็นช่วงศึกษาคอยดูงานเรื่องเด็กแรกเกิด เด็กที่มีปัญหา ถ้าแม่ทิ้งจะทำอย่างไร คอยแนะนำการใช้สิทธิ เรื่องสวัสดิการผู้ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นหลัก จะเรียนรู้จุดนี้ไปก่อน เพราะเพิ่งมา ถือว่าโอเค เป็นงานช่วยสังคม แม้จะมองอนาคตว่า คงไม่ใช่ อยากเป็นตำรวจจับผู้ร้ายมากกว่า แต่พร้อมทุ่มเทเอาใจใส่คนป่วยทุกคน” หมวดแบงก์เผยความในใจ

สำหรับช่องทางการติดต่อนักสังคมสงเคราะห์ นายตำรวจหนุ่มประชาสัมพันธ์ว่า ผู้ป่วย ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องมาติดต่อด้วยตนเอง หรือโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจะแจ้งเรื่องให้นักสังคมสงเคราะห์ไปพบปัญหาด้วยตนเอง หรือมีหน่วยงานอื่น/มีผู้ส่งต่อ-แนะนำมา การบริการของกลุ่มงานสังคมสงเคราะห์จะให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย ครอบครัว ผู้ที่เกี่ยวข้อง รายบุคคล รายครอบครัว รายกลุ่ม จัดกิจกรรม กลุ่มสนับสนุน ในการช่วยเหลือผู้ป่วย การประสานสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ผู้ป่วย การคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ป่วย การสนับสนุนด้านจิตใจ ความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย การช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า การเตรียมความพร้อมของครอบครัว การจัดหาที่อยู่อาศัย ที่พักพิงชั่วคราว เป็นต้น

 

 

 

 

RELATED ARTICLES