แผนแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจ

 

สภาวะ “หนี้เน่า” รุกเร้าอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง ดูเหมือนจะเป็นปัญหาหนักของตำรวจเกินครึ่งกองทัพ

ยิ่งห้วงวิกฤติสงครามโควิดทำหลายชีวิตเปลี่ยน กระทบไปถึงปากท้องตัวเองและครอบครัว เพิ่มความน่ากลัวและตึงเครียดมากขึ้น

ผลพวงจากเบี้ยเลี้ยงจาก เงินนอกระบบหดหาย การจับจ่ายไม่คล่องมือ มีบรรดา “เจ้าหนี้” ติดตามทวงจี้กันพะรุงพะรัง

ถูกแล้วที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลือกทำหนังสือไปถึง ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน

แบ่งเบาภาระทางด้านการเงินให้แก่ข้าราชการตำรวจที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์

ท่ามกลางสถานการณ์สุ่มเสี่ยงยากหลีกเลี่ยง

ถือเป็นการคลายปัญหาแบบ “เร่งด่วน” ระยะสั้น

ทว่าการแก้ปัญหาระยะยาว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข แม่ทัพใหญ่มองไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วด้วยการจัดทำ แผนแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจ ส่งไปยังทุกกองบัญชาการให้ศึกษา หลังจากประสานกลุ่มงานแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชน ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้เป็นนายไม่เคยนิ่งดูดาย

แล้วอะไร คือ ปัญหาหนี้สินที่ตำรวจเผชิญอยู่

พวกเขาพบว่า หลายคนมีหนี้สินมากเกินที่จะจ่ายคืนด้วยเงินเดือน แถมเงินส่วนใหญ่ที่จ่ายชำระหนี้ถูกนำไปชำระดอกเบี้ยตัดเงินต้นน้อย และต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าความเสี่ยงของสินเชื่อตัดเงินเดือน

สุดท้ายเงินเดือนหลังจากหักชำระหนี้เหลือไม่เพียงพอที่ใช้ดำรงชีพ

ตำรวจถึงมีความจำเป็นต้องหมุนเงินโดยใช้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ประกอบกับระบบในปัจจุบันไม่มีการควบคุมยอดหนี้ที่จะสามารถกู้ได้

เสมือนเอื้อให้สร้างหนี้เกินตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมาตรการแก้ไขหนี้สินประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ

เริ่มตั้งแต่ การปฏิรูปการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืนของสหกรณ์ตำรวจเพื่อช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 8 ปรับลดลง จะช่วยให้มีเงินเดือนเหลือใช้มากขึ้น

ตามด้วยมาตรการลดภาระดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ดอกเบี้ยสูง เช่น กรุงไทยธนวัฏ ร้อยละ 11.5 รวมทั้งดอกเบี้ยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดที่สูงร้อยละ 16 และร้อยละ 25

มีมาตรการช่วยเหลือตำรวจที่ถูกฟ้องร้องและบังคับคดี ลดยอดหนี้สินที่ต้องชำระด้วยการไกล่เกลี่ยตามเกณฑ์ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเกณฑ์ผู้ค้ำประกันที่เป็นธรรมขึ้น

สุดท้ายยกระดับและปรับปรุงระบบการตัดเงินเดือนเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต จัดให้มีเกณฑ์เงินเดือนหลังจ่ายหนี้ต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 มีการควบคุมยอดเงินที่จะกู้ไม่ให้เกินศักยภาพเงินเดือน

ในการแก้ปัญหาครั้งนี้

พวกเขาย้ำว่า ต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก เพราะปัญหาหนี้สินของตำรวจไม่ได้เกิดจากตำรวจเท่านั้น  การแก้ปัญหาต้องดูภาพรวมหนี้สินทั้งหมด ไม่เฉพาะส่วนของ “หนี้เสีย”

ตำรวจจำเป็นต้องมีเงินเดือนเหลือพอใช้ในการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

สินเชื่อหักเงินเดือน เสี่ยงต่ำมาก ดังนั้น ดอกเบี้ยควรจะต่ำตามความเสี่ยง

ขณะที่ระบบการตัดเงินเดือนและฐานข้อมูลสำคัญมากจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำอีก

กลุ่มงานแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชนของธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ตำรวจอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับสหกรณ์อื่น ตำรวจผู้กู้ถือเป็น “ผู้อุปการคุณสูงสุด” เพราะกำไรมาจากดอกเบี้ยกู้แทบจะทั้งสิ้น

ผู้กู้กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมาก

สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจสามารถช่วยบรรเทาปัญหาของสมาชิกที่เงินเดือนเหลือไม่พอใช้ดำรงชีพได้ด้วยการปรับการจ่าย “ปันผลหุ้น” ให้สอดคล้องกับการจ่าย “ดอกเบี้ยเงินกู้” จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องรายเดือนให้สมาชิกได้

แล้วเคยสงสัยไหมว่า การกู้ที่ตัดจากเงินเดือน ทำไมต้องมีการค้ำประกัน หรือทำประกันหลากหลายรูปแบบ

คำถามตามมา คือ การค้ำประกันเพิ่มเติมเหล่านี้จำเป็นแค่ไหน ถ้าต้องค้ำควรจะกี่เปอร์เซ็นต์ ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ของเงินต้น หรือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์พอ

การบริหารความเสี่ยงที่สร้างภาระให้กับลูกหนี้จนเกินสมควรจะต้องถูกแก้ไขอย่างไร

สินเชื่อบางตัวที่ข้าราชการระดับล่างใช้กันมาแต่ละเดือนจ่ายแต่ดอกเบี้ย ไม่ตัดเงินต้น จ่ายเท่าไหร่นี้ก็ไม่ลด เช่นเดียวกับ สินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เป็นสินเชื่อที่ข้าราชการตำรวจใช้มากที่สุดประเภทหนึ่ง แต่อัตราดอกเบี้ยสูง

สหกรณ์ตำรวจสามารถช่วยสมาชิกให้ “รีไฟแนนซ์” เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจากสินเชื่อดังกล่าวแล้วยังจะช่วยเพิ่มรายได้ของสหกรณ์อีกทางหนึ่ง

สำหรับการแก้ปัญหากลุ่มตำรวจที่อยู่ใน “วังวนหนี้” ต้องมีการไกล่เกลี่ยดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และคุยกับ “ผู้ค้ำประกัน” ที่เสมือน “ผู้กู้ร่วม”  ด้วยความที่รู้น้อย ไม่รู้สิทธิของตัวเอง มักถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบบังคับผูกมัดด้วยข้อสัญญากู้ที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ถูกฟ้องพร้อมกัน

รับผิดเหมือนผู้กู้ทั้งที่ไม่ได้ใช้เงินเลย

ข้อเสนอการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันที่ควรจะเป็น เรื่องนี้ถ้าสำเร็จจะช่วยคนไทยหลายสิบล้านคนให้หลุดจากความทุกข์มหาศาล เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยริเริ่มจัดตั้ง “โครงการคลินิกแก้หนี้” ร่วมกับผู้ให้บริการ 35 แห่งทั่วประเทศเป็นเครือข่ายแก้ปัญหาหนี้บัตรเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

สรุปแล้ว การมีเงินเหลือพอใช้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีในแต่ละเดือนเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องมีเกณฑ์เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้สามารถหักเงินเดือนจนหมดหน้าซอง

โลกอุดมคติของตำรวจ แต่ละเดือนหลังจากหักเงินชำระหนี้แล้วควรมีเงินเหลือไว้สำหรับใช้จ่ายร้อยละ 40-50

ถ้าไม่มีเงินเพียงพอใช้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีก็ยากที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ

ปัญหาหนี้สินรุมเร้าของตำรวจเกินครึ่งกองทัพสะสมหมักหมมมานานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพราะการ “ใช้จ่ายเกินตัว” กู้หนี้ยืมสินหมุนเงินกันเคยชิน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้นำทัพถึงต้อง “ตัดไฟ” ไม่ให้ลามทุ่งไปมากกว่านี้

แผนต้นแบบที่ว่าอาจไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินกว่าจะเริ่มลงมือปฏิบัติ

 

 

RELATED ARTICLES