ปฏิรูปตรงไหนดี

คุยต่อเรื่องปฏิรูปตำรวจ

อดีตนายตำรวจคนเดิมเตือนว่า ระวังสังคมอย่าหลงทาง มีคน กลุ่มคนที่จ้องเอาผลประโยชน์ไปไว้ที่ พวกตน กลุ่มตน

ปฏิรูปตรงไหนดี

ต้องเปรียบเทียบ มีตัวอย่างให้เทียบเคียงจึงจะเห็นภาพ

สมมติตัวอย่าง

เราคงเคยได้ข่าวการวิ่งเต้นเพื่อได้ตำแหน่งเป็น ผอ.โรงเรียนกันนะ เมื่อ ผอ.ท่านที่ว่านี้ได้ตำแหน่งมาแล้ว ท่านจะไปยุ่งอยู่กับผลประโยชน์อะไร

ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนเกือบ 100% ในโรงเรียนไม่ได้เกี่ยวข้องเดือดร้อน จะเดือดร้อนก็เฉพาะครูสอนเด็กดีไหม เด็กเรียนรู้อะไร

เพิ่มเติม โดนเด็กด้วยกันรังแกไหม  เด็กๆ รู้จักสังคม เข้ากับเพื่อนๆ ได้ไหม..

หรือการเข้าสู่ตำแหน่งของขนส่งจังหวัดต่าง ๆ  คิดว่า มีการวิ่งเต้นกันไหม การต่อรถโดยสาร โดยอู่เอกชนในประเทศ คิดว่าน่าจะมีอะไรกันไหม..

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องไง

ประชาชนขอเพียงได้ต่อทะเบียนเสียภาษีรถ ทำใบขับขี่ให้สะดวกสบายได้รับการบริการที่ดีก็เป็นอันใช้ได้

เอาที่ใกล้ตัวและเห็นภาพมากกว่านั้นคือ

ตำรวจคนไหน ใครจะมาเป็น ผู้กำกับการโรงพักพัทยา มาด้วยวิธีการใด ชาวบ้านร้อยเกือบจะทั้งร้อยไม่เกี่ยวข้อง ไม่รู้เรื่องด้วย  

ที่เกี่ยวแน่ ๆ คือ ยามปกติ มีตำรวจคนใดไปเบียดเบียนเขาไหม ยามเขาเดือดร้อนจะแจ้งความได้กับใคร และขจัดความเดือดร้อนเขาได้ไหม

ข้อคิด ข้อสังเกต จากตัวอย่างเปรียบเทียบข้างต้นจึงต้องการให้สังคมอย่าหลงประเด็น ในการ “ปฏิรูปตำรวจ” โดยการแก้ไข  “หน่วยงาน” โยนกันไป-มา

สิ่งที่ต้องการการปฏิรูปจริง ๆ ของงานตำรวจ คือ ส่วนของงานที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้อง “สัมผัส” นั่นคือ ความเดือดร้อน และงานที่ต้องการรับการบริการจากตำรวจ

ส่วนเรื่องการจัดองค์กร และโครงสร้าง พวกท่านก็เถียงกันต่อไปเถอะ เอาให้สะเด็ดน้ำ

คิดกันได้ง่ายๆ ก็ต้องสมมติวาดภาพความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไป กล่าวคือ

1.ยามปกติ มีคนร้ายมาก่อคดีทำให้เดือดร้อน ก็เกิดคำถามขึ้นว่า จะแจ้งความได้ที่ไหน แจ้งกับใคร แจ้งด้วยวิธีการไหน

คุยว่าจะพัฒนาประเทศสู่ยุค 4.0 แต่การรับแจ้งความ ยังโบร่ำโบราณใช้เหมือน เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ยังใช้ร้อยเวรคนเดียว ผู้เดือดร้อนต้องลางานไปนั่งให้การกับร้อยเวร หาที่จอดรถก็ยาก ร้อยเวรนัดแล้วก็ไม่อยู่ตามนัด

คดีไม่ทราบตัวคนร้าย ร้อยเวรก็ดำคดี

ไม่มีการจัดส่งคดีไปให้ฝ่ายสืบสวนทำต่อ คิดจะให้เก่งอยู่แต่กับฝ่ายสอบสวน ทั้งๆ ที่เนื้องานเกิน 80 %  ต้องออกจากงานสืบสวน

พูดกันจนทำให้สังคมหลงทางกันหมด

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้แล้วว่า จะแจ้งความกับพนักงานสอบสวน หรือตำแหน่ง “รองจากพนักงานสอบสวน” ก็ได้ แต่ไม่เคยทำ และลืมกันไปหมด

สอนกันไปสอนกันมา ปฏิบัติกันไป ปฏิบัติกันมา จนเหลือแค่ร้อยเวรคดีคนเดียวที่ยุ่งไปหมด คดีไม่ทราบตัวคนร้ายแทนที่จะส่งสำนวนให้ฝ่ายสืบสวนทำต่อจนคดีหมดอายุความ แต่ตำรวจกับทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” ออกระเบียบภายใน กำหนดอายุการทำสำนวนให้เสร็จภายใน 2 เดือน..1 ปี สรุปสำนวน “งดการสอบสวน” ส่งอัยการซะงั้น..

อ้างว่า การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว

2.ประชาชนไม่เดือดร้อนอะไร แต่ขับรถไปเจอด่านตรวจ จอดรถข้างทางเจอใบสั่ง เจอด่าน “ผี”  เหล่านี้ต่างหากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแก้ไขอย่างไร ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

เช่น ตั้งด่านทุกครั้งต้องมีร้อยเวร เปรียบเทียบปรับในอัตราที่ประชาชนยอมเสียได้  โดยใช้การเสียค่าปรับสแกนบาร์โค้ด ไม่รับเงินสด หากต้องการเสียเงินสดต้องไปจ่ายที่โรงพัก

ผิดจากนี้ถือว่า เจ้าหน้าที่ทุจริต

กล่าวโดยสรุปคือ การปฏิรูปตำรวจ ต้องแบ่งเป็นสองส่วน

ส่วนแรก งานบริหารการวางระบบก็เถียง ถกแถลงกันไปเถอะ อย่าจบง่ายๆ อย่าสุกเอา เผากิน เพราะ ถ้าก้าวผิด ประเทศจะเสียหายทางงบประมาณจากภาษีของประชาชนอีกมหาศาล

อีกส่วน เป็นงานขจัดความเดือดร้อน การบริการประชาชนต้องเร่งแก้ไข  แก้ผิดทิศทาง แก้ไขใหม่ได้ ปรับเปลี่ยนใหม่ได้ เพราะเป็นการแก้แค่ระเบียบปฏิบัติภายใน ปรับปรุงใหม่ได้ทันที

ฝากไว้ครับ

เออ …ฝากใครดี

RELATED ARTICLES