ไหลเรือไฟโบราณ งานบุญจุลกฐิน  เยือนถิ่นมุกดาหาร 

จังหวัดมุกดาหาร ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมุกดาหาร จัดงาน “ปั่นฝ้าย สายบุญ จุลกฐิน” โดยมีสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ วัดมัชฉิมาวาส อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีโบราณ

พวกเราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้า สู่ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร นำทุกท่านไปสัมผัสวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณกาลและร่วมงานบุญ “จุลกฐิน” เมื่อไปถึง นายเอกอมร ศรีลาศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลดอนตาล และชาวบ้านไทเกลิง (กะเลิง) ก็มาคอยต้อนรับด้วยความอย่างอบอุ่น  ชนชาวไทเกลิงทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กหนุ่มเด็กสาว รวมทั้งเด็กตัวน้อย ๆ ทั้งอำเภอแต่งกายด้วยชุดพื้นบ้านดั้งเดิม มาตั้งแถวต้อนรับ พร้อมขบวนแห่ตามวิถีประเพณีเก่าแก่ พร้อมการฟ้อนรำที่สวยงาม นำพวกเราสู่ท่าน้ำ อ.ตอนตาล เพื่อร่วมงานประเพณีไหลเรือไฟโบราณ (กระโทงเรือไฟสะเดาะเคราะห์) เป็นประเพณีที่หาดูได้ยากและมีความสำคัญก่อนเข้าสู่ที่พักโรงแรมมุกดาหาร แกรนด์ พักผ่อนเอาแรงในวันแรก

วันรุ่งขึ้น คณะเดินทางไปยังไร่ฝ้าย ร่วมพิธี “มงคลชัยเก็บฝ้ายใส่กระหยั่ง (ตะกร้า)” ที่นำโดยเหล่าสาวพรหมจรรย์นุ่งขาวห่มขาวดุจหมู่นางฟ้าลงมาเก็บดอกฝ้ายขาวอันบริสุทธิ์ ร่วมเก็บปุยฝ้ายใส่กระหยั่งไปปั่นเป็นเส้นใยถักทอเป็นผืนผ้า ชื่นชมกับความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านเกลิงที่ลานทอผ้าในการเตรียมจุลกฐิน สตรีชาวไทเกลิงต่างร่วมใจช่วยกันอิ้วฝ้าย (การแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย) จนเหลือแต่ปุยฝ้ายขาวบริสุทธิ์ส่งต่อให้กันนำไปดีดฝ้ายจนขึ้นฟูเป็นฝอยละเอียดแล้วม้วนเป็นหลอด ส่งต่อให้นำแท่งหลอดฝ้ายไปปั่นด้วยกงปั่นฝ้ายออกเป็นสายใยขาวยาว ฆ่าด้วยน้ำข้าวใส่กงปั่นเส้นหลอดใส่กระสวยเครือ แล้วช่วยกันนำเส้นฝ้าไปทอบนกี่ทอผ้าพื้นบ้าน

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสร่วมพิธีกวนข้าวทิพย์โดยหญิงพรหมจารีนุ่งขาวห่มขาว พร้อมกับพระภิกษุร่วมเจริญพระพุทธมนต์และสวดชยันโต ก่อนเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่จาม มหาปุญโญ พระอาจาริยาจารย์ที่มั่นคงในพระปรมัตถ์วิปัสสนากรรมฐานที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม เมื่อไปถึงเราจะเห็นเจดีย์บู่ทองกิตติตั้งเด่นเป็นสง่า เป็นเจดีย์ที่สร้างตามรูปแบบที่หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เคยพบในความฝัน ใช้เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระพุทธเจ้า และพระธาตุของพระอรหันต์ อาทิ พระสีวลี พระอุปคุต พระองคุลีมาล ฯลฯ และยังใช้เป็นที่เก็บพระพุทธรูปทั้งขนาดเล็ก ใหญ่ มีทั้งพระทองคำ เงิน ทองเหลือง ทองแดง ดินปูน รวมประมาณ 1,100 องค์ และวัตถุโบราณต่าง ๆ  และเข้าไปกราบสักการะพระศพหลวงปู่จาม มหาปุญโญ ที่ตั้งอยู่ภายใน ก่อนที่จะมีการพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 5 มกราคม  2557 นี้

หลังจากกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมนมัสการหลวงปู่จามแล้ว ก็เดินทางต่อไปยังวัดป่าห้วยทราย  กราบแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ แม่ชีนักบุญชื่อดัง ที่ผู้คนเลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก ตลอดเวลา 54 พรรษา แม่ชีแก้วได้บำเพ็ญเพียรภาวนา ปฏิบัติธรรมโดยสม่ำเสมอ  มิได้เคยประพฤติผิดในครองชีเพศเลย ด้วยอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญเพียรภาวนา ปฏิบัติธรรมอันแน่วแน่  ทำให้แม่ชีแก้วได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชนเป็นจำนวนมาก เดินชมเจดีย์ศรีไตรรัตนานุสรณ์แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์บูชา วิสุทธิธรรม ในฐานะเป็นถูปารหบุคคลตามปฏิปทาเพื่อทางพ้นทุกข์ ภายในจะมีแผ่นป้ายชีวประวัติ  คติธรรมคำสอน วาทะธรรมคำสอน พร้อมหุ่นขี้ผึ้งของแม่ชีแก้ว

ได้คติธรรม วาทะธรรม จนลึกซึ้ง พวกเราไปชมประติมากรรมทางธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ อ.เมืองมุกดาหาร เมื่อเดินขึ้นไปด้านบนเราจะเห็นประติมากรรมหินทรายที่สวยงามที่ถูกกัดเซาะจากสายลม แสงแดด และน้ำ ผ่านกาลเวลากว่า 120-95 ล้านปี ทำให้มีรูปร่างแปลกต่างกันไป มีลักษณะที่โดดเด่นตามแต่จะจินตนาการ บางก้อนมีลักษณะคล้ายเห็ด มงกุฎ เก่งจีน จระเข้ หรืออูฐ  และเมื่อเดินถึงลานมุจลินท์ เป็นลานหินทอดยาวกว้างไกล เราจะพบกับความสวยงามของกลุ่มดอกหญ้า ทั้งสีม่วง สีขาว สีเหลือง ไม่ว่าจะเป็นดอกดุสิตา สร้อยสุวรรณา สรัสจันทร ทิพเกสร มณีเทวา หยาดน้ำค้าง และหนาวเดือนห้า ออกดอกบานสะพรั่ง (ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม) เต็มลาน พร้อมชมพระอาทิตย์ทอแสงอัสดงเปล่งประกายแสงสีส้มงามจับใจ

เช้าถัดมา คณะของเราไปยังอำเภอดอนตาลร่วมงานบุญแห่ผ้าจุลกฐิน  คำว่า “จุลกฐิน คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความเร่งด่วน อาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาในชุมชนจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตร จีวร ให้เสร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว และไม่ปรากฏประเพณีการทอดจุลกฐินนี้ในประเทศอื่น  สำหรับในประเทศไทยมีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ปัจจุบันการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น  โดยอีสานจะเรียกกฐินนี้ว่า “กฐินแล่น” (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) วันนี้พวกเราก็ยังคงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เมื่อไปถึง คุณปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานในพิธี พร้อมคณะกรรมการสมาคม คุณอาชว์ ตั้งประกิจ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเจ้าของโรงแรมมุกดาหารแกรนด์ โฮเต็ล คุณบัณฑิต ตั้งประกิต นายกสมาคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร คุณบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม และชนชาวเกลิง อำเภอดอนตาล ตั้งขบวนแห่ผ้าจุลกฐินรออยู่แล้ว

เราต่างทยอยเข้าร่วมขบวนแห่ผ้าจุลกฐินเป็นขบวนยาวที่สวยสดงดงาม  นำขบวนด้วยขวาน ไม้กวาด เพื่อขจัดสิ่งกีดขวาง และกวาดให้สะอาดนำไปสู่เส้นทางที่ขาวสะอาด ตามด้วยด้วยมีจิตศรัทธา และชาวไทเกลิงที่มีความสามัคคีรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ช่วยกันถือเครื่องบริวารกฐิน ประกอบด้วยปัจจัยสี่คือเครื่องอาศัยของพระภิกษุ สามเณร มีไตรจีวร บริขารอื่น ๆ รวมถึงเครื่องใช้ประจำปี มีมุ้ง หมอน ที่นอน กระโถน จาม ชาม ยารักษาโรค ยาสีฟัน ตลอดจนเครื่องครัว มีข้าวสาร เป็นต้น พร้อมด้วยธงผ้าขาวเขียนรูปสัตว์น้ำ อันได้แก่ธงรูปจระเข้ ธงรูปตะขาบ และธงรูปเต่า  ปิดท้ายด้วยขบวนช้าง ม้า เมื่อขบวนเข้าสู่ประตูวัดมัชฌิมาวาส พระสงฆ์เจริญน้ำพุทธมนต์ ขบวนฟ้อนของชาวเกลิงแห่เป็นขบวนยาวนำขบวนจุลกฐินแห่รอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วเข้าสู่ศาลาพิธี ทำพิธีถวายผ้าจุลกฐินและผ้าห่มองค์พระประธาน เสียงสวดมนต์ดังกังวาน พระภิกษุรับผ้าจุลกฐิน ครองผ้าและทำพินทุอธิษฐานที่ประชุมคณะสงฆ์ทั้งหมดอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี

หลังอิ่มบุญอิ่มใจแล้วเดินทางต่อไปยังหอแก้วมุกดาหาร ขึ้นลิฟต์ไปยังชั้น 6 ชมทัศนียภาพโดยรอบของเมืองมุกดาหาร ก่อนเดินขึ้นไปยังชั้น 7 กราบสักการะพระพุทธนวมิ่งมงคลมุกดาหาร แล้วกลับลงมายังชั้น  2  ชมนิทรรศการประวัติความเป็นมาของเมืองมุกดาหาร ชมประวัติและการแต่งกายของชน 8 เผ่า พร้อมสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ มูลมังเจ้าเมือง และประวัติท่านจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ โดยมี คุณฟาริดา ศรีวรขาน ประชาสัมพันธ์ของที่นี่บรรยายให้ความรู้  จากนั้นมุ่งหน้า “ภูมโนรมย์” สัมผัสมุมมองทิวทัศน์บนยอดเขา ชมทิวทัศน์สองฟากฝั่งไทย-ลาว มองเห็นหอแก้วมุกดาหารสูงเสียดฟ้า

ปิดท้ายด้วยการช็อปปิ้งตลาดสินค้าอินโดจีน เลือกซื้อสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพ

 

 

RELATED ARTICLES