“ถ้าคนรู้จักผม ฟังไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนผมเป็นโฆษกให้ตำรวจ”

 

าจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี นักวิชาการมากประสบการณ์ทำงานที่อาจมองเป็นคู่ขนานตำรวจ แต่ความจริงเดินไปแนวทางเดียวกันเพื่อพิสูจน์ความจริงในการคลี่คลายคดีฆาตกรรมให้กระจ่างมากที่สุด

ชีวิตเริ่มต้นไม่เคยคิดอยากเรียนหมอ ทันทีที่สอบเทียบผ่านสมัยอยู่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะชอบในวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ เรียนได้แค่ปีเดียวรู้ว่า ไม่ตัวเอง ตัดสินใจหักเหเบนเข็มไปสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จหลักสูตรแล้วคิดต่อว่าจะไปเป็นหมอทางด้านไหน

เจ้าตัวปฏิเสธเลือกจะไปนั่งตรวจรักษาคนไข้ เพราะมองไม่เหมาะสำหรับตัวเอง สุดท้ายขอทุนไปเรียนต่อด้านสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ ภาควิชานิติเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก่อนได้รับโอกาสไปเรียนหลักสูตร “Crime Scene Investigation” ของสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือ International Law Enforcement Academy (ILEA) ประเทศไทย ทำให้รู้จักผู้เชี่ยวชาญหลายชาติรวมถึงนายตำรวจที่เข้าร่วมอบรมอีกหลายคน

เขาเลือกหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาด้วยการไปอบรมอีกหลายหลักสูตรประดับอาวุธลับทางสมองเกี่ยวกับงานด้านนิติเวชศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลา  “ผมชอบทำงานวิจัย ไม่ชอบงานด้านบริหาร คือ เราเป็นเด็ก เพิ่งเข้ามา ไม่มีอะไรยั่งยืน เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน แต่สิ่งที่มันจะยั่งยืน ก็ต้องทำวิชาการนี่แหละ มุ่งหวังว่า สักวันต้องเป็นศาสตราจารย์ เพราะว่า ในประเทศไทย ศาสตราจารย์ทางด้านนี้มีน้อย ส่วนใหญ่กระจายไปอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ถึงตั้งใจทำงานวิชาการ ทำวิจัยต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน”

รศ.นพ.วีระศักดิ์บอกว่า ศึกษาเรื่องดีเอ็นเอมาเยอะ ตั้งใจว่า จะทำเรื่องเกี่ยวกับโรคหัวใจ เขียนตำราไปได้ 40-50เปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะเรื่องโรคหัวใจมันเป็นปัญหาใหญ่ เวลาหมอบอกเสียชีวิตแล้วไม่ทราบสาเหตุมักเป็นเรื่องโรคหัวใจ ปัญหาคือ โรคหัวใจบางอย่างไม่สามารถตรวจเจอได้ ทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน สมัยโบราณเราเรียกว่าไหลตาย เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถตรวจดีเอ็นเอ ตรวจได้ว่า ลายพิมพ์สารพันธุกรรมแบบนี้ คือ อะไร  แกะลายพิมพ์จากตัวอย่างเลือดเอามาเชื่อมโยง เราจะรู้ว่า คน ๆ นั้นมีโอกาสเสี่ยงจากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

รองศาสตราจารย์หนุ่มอธิบายว่า ถ้าเรารู้โอกาสเสี่ยงล่วงหน้าของคนนั้นจะเป็นโรคหัวใจ เราสามารถติดเครื่องกระตุ้นหัวใจได้ทันที ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล เครื่องกระตุ้นหัวใจก็เล็กลงแล้ว ต่างจากสมัยก่อนตรวจยากมาก ต้องเอาเข้าห้องฉีดยาไปกระตุ้นหัวใจ ดูอาการเต้นผิดจังหวะ หากพบก็ติดเครื่องกระตุ้น โรคหัวใจเป็นโรคพันธุกรรม แต่เราลงลึกไปในงานวิจัยด้วยการเก็บตัวอย่างเกี่ยวกับคนที่มีอาการโรคหัวใจให้มากที่สุดเป็นลายพิมพ์ดีเอ็นเอ อนาคตแค่เจาะเลือดจะสามารถบอกได้แล้วว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เป็นงานวิจัยที่กำลังทำอยู่

             นอกจากดีกรีแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว เขายังได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งผ่านหลักสูตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูแลงานฝ่ายนิติเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อร่วมชันสูตรพลิกศพ แบ่งเขตรับผิดชอบในการแบ่งเบาหน้าที่ของสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลศิริราช

“สมัยนั้นผมผ่านมาหลายคดี ทำงานกับพนักงานสอบสวน หน้าที่คือ ชันสูตรลงความเห็น ยกตัวอย่างคดีดังย่านคลองตัน พ่อแม่ลูกตายในคฤหาสน์หลังใหญ่ 5 ศพ ทุกคนโดนยิงหัว ผมร่วมตรวจที่เกิดเหตุไล่ตั้งแต่ห้องข้างล่าง เกิดคำถามว่า เป็นการฆ่าตัวตายหรือไม่ แม้มีการเขียนจดหมายของพ่อระบุโดนแขกขาวตามทวงหนี้ เป็นไปได้แค่ไหนว่า คนร้ายจะบุกมาฆ่ายกครัวล้างหนี้”

อดีตแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เล่าว่า หลักการของเราต้องตรวจละเอียด อะไรที่อยู่ในร่างกายผู้ตายต้องตรวจหมด กรณีนี้สงสัยว่า ทำไมเหยื่อนอนนิ่ง เพราะการยิงแต่ละศพ ไม่มีใครได้ยินเสียงแล้วแสดงท่าทางดิ้นรนหลบหนี เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการวางยา พอดีตรวจพบหัวเตียงมีขวดน้ำทุกห้องที่ดื่มหมดแล้ว ผลพิสูจน์เจอสารที่เป็นลักษณะตั้งใจเจตนาวางยา การเขียนจดหมายเพียงแค่ต้องการเบี่ยงเบนให้ตำรวจเข้าใจเป็นการกระทำของผู้อื่น ถ้าไม่มีตัวเฉลยที่เป็นเรื่องของวางยา จดหมายของพ่อจะพาให้คิดว่าเป็นฆาตกรรมอำพราง

กระนั้นก็ตาม เจ้าตัวย้ำว่า เรื่องของนิติวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างที่อยู่ในตัวศพเราต้องตรวจให้หมด  แต่ไม่เคยมีความเห็นขัดแย้งกับตำรวจ เพราะเราพิสูจน์ไปตามข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานที่พบ ปลายทางจะนำไปสู่รูปคดีอย่างไรเป็นหน้าที่ของตำรวจสืบสวนสอบสวน เราจะไม่ก้าวล่วงลงลึกไปถึงสำนวนคดี ว่ากันตามหลักทฤษฎี บางครั้งเราช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง เป็นที่ปรึกษาบ้าง เพราะบางทีตำรวจอธิบายไม่เก่ง ขณะที่สังคมตีตราไม่ค่อยศรัทธาและเชื่อถือ

บ่อยครั้งเขาถึงได้รับเชิญไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีดังออกตามรายการข่าวหน้าจอทีวี วิเคราะห์พูดคุยตามหลักนิติเวช รศ.นพ.วีระศักดิ์ยอมรับว่า หลายคดีไม่ได้ไปเห็นสถานที่เกิดเหตุอาจมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน แต่เราจะยึดหลักว่า ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องคดี พูดในทฤษฎี ตอบคำถามที่เป็นข้อสงสัย ล่าสุดคดีน้องชมพู่ ก็มีคนถามตั้งแต่วันแรก เราจำเป็นต้องหาข้อมูล ถามจากตำรวจที่รู้จักกันบ้าง หารือด้วยว่าอยากให้พูดได้แค่ไหนไม่ให้กระทบต่อรูปคดี ก่อนอธิบายกรรมวิธีตรวจพิสูจน์ร่องรอยหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ เช่นการตรวจดีเอ็นเอจากเส้นผม เส้นขน เป็นหลักการตรวจขั้นพื้นฐาน ส่วนเป็นของใคร เราจะไม่พูดเชื่อมโยงกับคดี เพราะเป็นหน้าที่ตำรวจ ต้องไปสืบสวน

“ถ้าคนรู้จักผม ฟังไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนผมเป็นโฆษกให้ตำรวจ แต่ผมจะไม่ลึกมาในเรื่องของคดี  ไม่ลงไปชี้นำว่า คดีมันจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ตอบเท่าที่ตอบได้ คือ ผมมีความเข้าใจในประเด็นการทำงานของตำรวจ มาก เพราะว่า อยู่กับตำรวจมาตลอด แล้วก็มีพี่ตำรวจ เพื่อนตำรวจ บางทีข้อจำกัดที่คนเราไม่เข้าใจ มันมีอยู่เยอะ อธิบายไม่ได้  ส่วนใหญ่ ผมไม่ไปแตะในภาพรวมของคดี แต่จะแตะในเรื่องของหัวข้อเกี่ยวข้องกับตัวเราที่มีความเชี่ยวชาญ เอาหลักทฤษฎีไปยืนยัน”

อีกตัวอย่างที่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเคยระบุความเห็นเป็นเงื่อนงำการเสียชีวิตปริศนาของอดีตเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดพังงาพบเป็นศพผูกคอในห้องขังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าตัวว่า มีคนมาสอบถามเชิงวิชาการวิเคราะห์พยานหลักฐานจากภาพถ่ายฟิล์มเอกซเรย์ศพพบกระดูกหัก แต่หักจากการปั๊มหัวใจช่วยเหลือของหน่วยกู้ชีพที่เข้าไปเบื้องต้นหรือไม่ ฟิล์มเอกซเรย์จะเป้นคำตอบหลอกกันไม่ได้  โอกาสที่คนปั๊มจนตับฉีกค่อนข้างจะยาก ฉะนั้นในกรณีนี้ได้ให้ความเห็นทางคดี แต่ไม่ก้าวล่วงว่า เกิดจากการฆาตกรรมหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของตำรวจ

รศ.นพ.วีระศักดิ์บอกอีกว่า พอเราพูดเป็นทฤษฎีสามารถอธิบาย เราไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เคยมีตำรวจมาด่าสักราย ทั้งที่รู้จักเยอะแยะ จริง ๆ เราไม่ได้เป็นคนดัง อยู่ในมุมของนักวิชาการ ไม่เหมือนกับมีคดีแล้วไปสร้างดราม่า พูดให้ตรงข้ามกับตำรวจแล้วจะดัง ไม่ใช่จุดที่เราคิด เดินทางนี้มา 10 กว่าปีแล้วเพื่อต้องการให้ความรู้ ออกความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำมาต่อเนื่อง สนุก กลายเป็นแรงบันดาลใจในอนาคตวางแผนชีวิตอยากทำอะไรที่มากกว่านี้ แต่ปัจจุบันศักยภาพของเราไม่เพียงพอ

เขาวาดหวังต้องการช่วยเหลือปรึกษาชาวบ้านเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ที่ไม่มีที่พึ่งในแง่ของการขาดโอกาสเกี่ยวกับพยานหลักฐานทางคดีแล้วรู้สึกไม่ครบถ้วน ขาดความเป็นธรรม แต่ไม่มีใครช่วย เหมือนบทบาทของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตั้งขึ้นมามีบทบาทคานกับสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ  “ผมโอเคที่จะมีส่วนช่วยเป็นหน่วยงานกลาง เป็นอีกทางเลือกให้ชาวบ้าน แต่การจะออกมาทำอะไรเป็นองค์กรเอกชนมักถูกมองไปในเรื่องผลประโยชน์ เข้าสู่ภาวะทำมาหากิน มันไม่ใช่ตัวผม อยากให้รู้สึกว่ามันเป็นทางเลือกที่จะทำ”

“หากมีหน่วยงานอะไรที่ทำออกมา อาจจะไม่จำเป็นถึงขั้นให้ต้องมีอุปกรณ์ครบทุกอย่าง เป็นหน่วยงานที่คอยประสานงานช่วยดูแลความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ไม่เข้าใจการทำงานของตำรวจ อาจไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับคดีเลยก็ได้ เอาหลักวิชาการอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจในข้อมูลที่สงสัย สมมติมีคนเดือดร้อนมาหาแล้วเราอธิบายให้เชื่อ คอยประสาน คอยติดตามช่วยเหลือ อาจเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยเรื่องที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ เข้าไปพูดคุย เขาอาจไม่ไปยุ่งกับตำรวจ ไม่ไปยุ่งกับใครเรื่องก็จบ ผมอยากยึดหลักตรงนี้” รศ.นพ.วีระศักดิ์ว่า

อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังน้ำเสียงจริงจังแสดงความมุ่งมั่นว่า จะประกาศตัวเองออกมาทำเวลานี้ยังคิดว่าไม่เหมาะ อาจมีแรงเสียดทานเยอะมาก เป็นไปได้อยากให้มีผู้ใหญ่สนับสนุนแนวคิด การทำตรงนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่  ท้ายสุด อยากจะเอาความรู้ที่มีอยู่ มาสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมากว่า ไม่ได้พูดแบบโอเว่อร์ เพราะว่า ทำมา 10 กว่าปี ทำในรายการทีวีจนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จัก ทำช่องยูทูบเป็นของตัวเอง ตั้งใจมากจะไม่พูดในเรื่องคดีของคนไทย ไม่อยากจะให้ใครมาฟ้องร้อง จะไปเอาคดีของต่างประเทศมาหมด ข้อมูลที่พูดต้องศึกษามาก่อน อนาคตจะมีคดีที่เรารู้ทั่วโลกจากการได้ศึกษาเชิงลึก

เจ้าตัวขยายความด้วยว่า วิทยาการสมัยใหม่ถึงเป็นเรื่องสำคัญต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เรายังหวังจะทำยูทูบเรื่องการแกะรอยนิติเวช นิติวิทยาศาสตร์ เห็นหยดเลือดหยดหนึ่งจะสามารถบอกได้ตั้งแต่ เพศ อายุ สีผม สีตา เส้นผมหยิกหรือไม่ รูปร่างเป็นยังไง หรืออย่างเวลาเราเอามือมาจับกันเกิน 15 วินาที ถ้าไปฆ่าใครจะทิ้งดีเอ็นเอไว้ด้วย  “ผมชอบเรียนรู้อดีตก่อนเอาวิทยาการสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลามาศึกษาประยุกต์ใช้ ทำให้ผมจะมีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  อีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมอาจเปลี่ยนโฉมตัวเองให้เป็นคนที่สามารถให้ความเห็น หรือชี้นำ หรือเผลอๆ อาจจะมีโอกาสได้มาทำในเรื่องการปฏิรูปเรื่องพวกนี้ก็ได้ นำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม” รองศาสตราจารย์หนุ่มทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES