“ถ้าเลือกได้ อยากเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นตัวแทนตำรวจที่ดีมากกว่า”

 ตกเป็นคนดังเพียงชั่วข้ามคืน

แค่ชอตถือโทรศัพท์ให้ พล...สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โฟนอินพูดคุย ผู้กำกับโจ้...ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ผู้ต้องหาเอาถุงคลุมหัวฆ่าเหยื่อค้ายานรกในวันแถลงข่าวการเข้ามอบตัวที่ห้องประชุมใหญ่กองบังคับการปราบปราม

ภาพของเธอถูกโฟกัสเป็นนายตำรวจหญิงท่าทางทะมัดทะแมง กระจายว่อนโลกออนไลน์กลายเป็น ขโมยซีน คดีสะเทือนยุทธจักรสีกากีทันทีทันใด

ชาวเน็ตต่างตามขุดคุ้ยอยาก เปิดหน้ากาก ยลใบหน้าจะสวยใสสมเค้าโครงจากประกายสายตาที่ส่องสะท้อนแสงแฟลซกล้องของทัพนักข่าวหรือไม่

ทำให้ หมวดไวกิ้ง...หญิง ภัทรศยา ฤกษ์รัตน์ รองสารวัตร (สอบสวน)สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ดังเป็น พลุแตก

นอกจาก เปิดหน้ากาก แล้ว นิตยสาร COP’S ยังมีโอกาส เปิดใจ ในชีวิตไลฟ์สไตล์ของเธอมาฝากด้วย

 

แค่ไปประสานหน้างาน วางผังให้เหล่าผู้เป็นนายแถลงข่าว

“มันเป็นภาพลวงตา ภาพมายา ไม่ใช่ชีวิตจริง” นายตำรวจสาวไม่หลงระเริงกับกระแสในโลกไซเบอร์ที่จ้องตามหาตัวตนของเธอ “จริง ๆ ชีวิตไม่ได้พลิกอะไร ใครจะว่า ดังชั่วข้ามคืน มองว่า แค่ตัวเลขในเฟซบุ๊ก ไอจี  เราก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ชีวิตจริงของเรา คือการทำงาน ถ้ารู้สึกว่า ทำงานคืนนั้นแล้วทำให้มีโอกาสในการทำงานมากขึ้น นั่นคือ ชีวิตจริง และต้องดำเนินชีวิตของเราต่อไป แค่การทำงานคืนนั้นคืนเดียว เดี๋ยวเวลาผ่านไป กระแสก็ลง แล้วคนก็ลืม”

ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยาเล่าว่า ติดตาม พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกาะขบวนรถ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อมาเตรียมสถานที่แถลงข่าวตามความรับผิดชอบปกติ ประสานทีมประชาสัมพันธ์ของกองบังคับการปราบปราม ช่วยกันดูลำดับคนนั่งในห้องประชุม ดูความเรียบร้อยของไมค์ วางผังว่า ผู้บังคับบัญชาท่านใดจะนั่งตรงไหน รูปแบบการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์จะมีอดีตผู้กำกับโจ้อยู่ด้วยหรือไม่

ห้องสอบปากคำนายตำรวจชื่อดังบนชั้น 8 อาคารกองบังคับการปราบปราม มี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ถนอมจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.เอกรัตน์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 พ.ต.อ.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รองผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รองผู้บังคับการปราบปราม และพล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หารือกันอย่างเคร่งเครียดนานนับชั่วโมง ก่อนสรุปไม่ต้องนำผู้ต้องหาไปนั่งแถลงข่าว แต่ใช้วิธีโฟนอินแทน

 

วิกฤติโฟนอินสะดุด พาเอาหลุดไปอยู่ในฉากใหญ่

ผู้หมวดสาวรับผิดชอบประสานงานทีมประชาสัมพันธ์เจ้าถิ่นอีกครั้งด้วยการลงไปทดสอบสัญญาณโทรศัพท์ ทดลองโฟนอิน ใช้โทรศัพท์มือถือของเธอ เพราะทุกคนมีหน้าที่หลักต้องรับผิดชอบหลายด้าน ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยาบอกว่า เราเป็นคนเดียวที่ลอยอยู่ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ส่วนตัวติดต่อใครเร่งด่วน ลองทดสอบเสียงเอาไมค์ลอยไปจ่อคุยกับอดีตผู้กำกับโจ้อีกห้อง เสียงดังฟังชัด ซ้อมขั้นตอนจนแน่ใจว่า ทุกอย่างพร้อม รอแค่เวลาแถลงข่าวจริง

“ปรากฏว่า ตอนแถลงสัญญาณดันขาดหาย เสียงสะดุด ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหันมาดุว่า ไหนให้เทสต์แล้ว ทำไมเป็นอย่างนี้ ตามที่ตกลงกันท่านจะถือโทรศัพท์เอง มีท่านจิรภพ ภูริเดช นำไปส่ง ไม่ใช่หน้าที่ของเราต้องถือโทรศัพท์ให้ พอมีปัญหา ยอมรับว่า ตกใจ ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเริ่มหน้ามุ่ย  ตายแล้ว โทรศัพท์ของเรา ท่านจิรภพถึงพยักหน้าให้เราเข้าไปแก้สถานการณ์ เพราะมันเป็นโทรศัพท์ของเรา เป็นความรับผิดชอบของเรา”

เป็นเหตุให้ผู้หมวดสาวรีบเข้าไปดูโทรศัพท์มือถือกลางวงแถลงข่าว วิเคราะห์แล้วน่าจะเกิดจากแบตเตอรี่อ่อน เพราะตอนทดสอบเสร็จแล้วไม่ได้เปลี่ยนถ่านก้อนใหม่ “แต่ก็ฝืนไปได้ ตอนนั้นไม่ได้ตื่นเต้นเท่าไหร่ พยายามควบคุมอารมณ์ ไม่อยากให้ตะกุกตะกัก ไม่อยากให้ผู้บังคับบัญชาขุ่นเคือง มองไม่เตรียมการเลย แล้วเป็นหน้างานความรับผิดชอบของโฆษกตำรวจด้วย หน้างานของนายเราโดยตรง สุดท้ายต้องเลยตามเลย แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าผ่านพ้นไปได้”  เธอว่า

 

ถ่อมตัวไม่ได้เป็นคนสวย อยากให้อวยเรื่องหน้าที่มากกว่า

หลังจากเสร็จเรียบร้อย หมวดไวกิ้งบอกว่า ไม่ได้มีอะไรเลวร้าย ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ตำหนิ นายทุกคนโอเค ทำไปทำมาตัวเองกลับไปเป็นภาพอยู่ในโลกโซเชียล โฟกัสมาอยู่ที่เรา ตอนแรกคิดว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่ไปสนใจอดีตผู้กำกับโจ้ รู้สึกว่า เพราะเรามีออร่าหรือ เราไม่ได้คนสวย เทียบกับคนอื่น ๆ ธรรมดาด้วยซ้ำ “อาจเป็นเพราะว่า ท่ามกลางผู้บังคับบัญชาเราเป็นผู้หญิงคนเดียวในเฟรม อาจจะดูเด่นขึ้นมา แล้วคนอาจจะไม่คุ้นตา เลยอยากจะรู้ว่าเป็นใคร  ไม่ได้สนใจที่ความสวยอะไรอย่างนั้นหรอก เพราะเราไม่ได้สวยเลย” เธอยังคงถ่อมตัว

ที่ผ่านมา ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยา เคยรับบทไปยืนแถลงข่าวภาคภาษาอังกฤษแจงความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองบ้างบางเวลาที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดภารกิจลงสนาม ทว่างานส่วนใหญ่จะเดินตามผู้บังคับบัญชาเพื่อประสานงานสื่อมวลชน เตรียมเอกสารเกี่ยวกับการแถลงข่าว แต่มักไม่ค่อยได้ปรากฏในโซเชียลมากนัก ไม่ได้มีเสียงสะท้อนกลับมา เพราะนักข่าวส่วนใหญ่เป็นสื่อต่างชาติ

เจ้าตัวย้ำว่า ไม่ได้อะไรกับกระแสชื่นชมความสวยงามแปลกตาที่ออกไปสู่สาธารณชน จะโฟกัสเรื่องการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ตามที่เราคาดหวังไว้ให้ดีที่สุดมากกว่า นำเอาวิชาความรู้ประสบการณ์ความสามารถไปช่วยพัฒนาหน่วย ทำงานเพื่อประชาชน  เรียกคืนภาพลักษณ์ติดลบกลับมาให้ตำรวจทุกคนเข้าไปอยู่ในใจของชาวบ้าน แม้จะบังคับความรู้สึกนึกคิดของใครไม่ได้ก็ตาม

 

ชอบอะไรที่ท้าทาย สุดท้ายเข้าเป็นนายร้อยตำรวจ

สำหรับเส้นทางเดินของชีวิต นายตำรวจสาวเป็นชาวดอนเมืองเกิดในครอบครัวผู้เป็นพ่อทำงานอยู่ฝ่ายนิติบุคคลอาคาร ส่วนแม่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้อาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัยเด็กถึงไปเรียนประถมอยู่โรงเรียนคริสต์ธรรมวิทยา ย่านสะพานเหลือง ทำให้ได้เรียน 3 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ จีน ไปต่อมัธยมโรงเรียนสายปัญญารังสิตในหลักสูตรโปรแกรมภาษาอังกฤษ ใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศตามประสาเด็กน้อย แต่ยังเคยอยากเข้าวงการบันเทิง เพราะชอบร้องเพลงตั้งแต่ 9 ขวบ ทำไปทำมารู้ตัวว่า บุคลิกไม่ได้ เนื่องจากเป็นเด็กขี้อาย

กระนั้นก็ตาม  เธอเดินสายประกวดร้องเพลงแบบจริงจังตามห้างสรรพสินค้า สถานบันสอนร้องเพลง คว้ารางวัลบ้าง ไม่ได้บ้าง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ประดับชีวิต คือจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้ร้องเพลง เช่นเดียวกับ การทำกิจกรรมสมัยเรียนมัธยม แต่ไม่ได้แนวแบบผู้หญิงจ๋า ไม่ได้ชอบเป็นผู้หญิงแต่งตัว ชอบอะไรที่ท้าทาย เคยขี่มอเตอร์ไซค์ลงแข่งในรายการของฮอนด้า เรซซิ่ง สคูลที่จังหวัดนครปฐม ล้มไม่เป็นท่า ทว่าสนุกไปอีกแบบ

ก่อนพลิกมาเป็นตำรวจ เจ้าตัวว่า ตั้งใจอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก มองเป็นอาชีพที่เท่ดี แต่ไม่ได้มองว่า ต้องเผชิญความยากลำบาก ต้องอดทนอะไรแบบนั้น พอพ่อบอกโรงเรียนนายร้อยตำรวจเปิดรับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เมื่อก่อนไม่ค่อยมีนายร้อยตำรวจหญิงให้เห็น รีบสมัครสอบครั้งแรกติดเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 72 กับแนวความคิดที่ว่า ถ้าเป็นตำรวจจะเป็นตำรวจที่ดีให้ได้

 

เปิดโลกผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ คาดหวังเป็นตัวอย่างที่ดีให้องค์กร

ในรั้วสามพราน สาวไวกิ้งสารภาพว่า ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนหน้าเป็นลูกแหง่เลย อยู่กับพ่อแม่ตลอด ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ไม่ค่อยได้ไปไหน อยู่กับบ้านอย่างเดียว อ่านหนังสือ ร้องเพลง พอได้มาเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เหมือนเปิดโลก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไม่ได้อยู่ในบ้านตลอดเวลา ไม่เคยนอนนอกบ้าน ต้องไปฝึกหนักเท่าผู้ชาย ตื่นเต้น ท้าทาย แรก ๆ เครียดเกี่ยวกับเรื่องการธำรงวินัย เพราะไม่ใช่แค่การออกกำลังกายอย่างเดียว แต่เป็นภาพรวมของรุ่น ทำความเข้าใจกับระบบตำรวจมากขึ้น

“ปรับตัวบ้างนิดหน่อย ถามว่าท้อไหม ถอดใจไหม ก็มีนะ เวลานั้นสอบติดคณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว แต่ยังเลือกเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ คิดว่า เหมาะกับตัวเรามากกว่า มานั่งหลับตาคิดภาพตัวเองเป็นนิสิตฟรุ้งฟริ้งไม่ออกเลย มันไม่ใช่บุคลิก พอได้เข้าไปปรับตัวได้เลยไม่เปลี่ยนใจ ไม่ออกแล้ว มาทางนี้ดีกว่า ดูเหมาะกับเรามากกว่า”

ตลอด 4 ปี นอกจากความรู้ด้านตำราวิชาการทั่วไปแล้ว โรงเรียนนายร้อยตำรวจยังปลูกฝังความอดทน อดกลั้น สอนให้เกิดความสามัคคีในหมู่เพื่อน ให้รักคนอื่นมากกว่าตัวเอง มองส่วนรวมกว้างมากขึ้น ไม่ได้มองแค่ว่า ผลประโยชน์ของตัวเองว่าจะต้องก้าวไปทางนี้ ต้องเติบโต ไปทางไหน ทำให้เธอซึมซับแล้วคิดถึงคนอื่นมากขึ้น  หากใครทำผิดกฎ ทุกคนโดนหมด สิ่งที่ทำให้ได้รับบทเรียนจากการเป็นภาพรวมของรุ่น “สรุปแล้วเราไม่อยากทำตัวให้เสื่อมเสียกับภาพรวมองค์กร ถ้าเลือกได้ อยากเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นตัวแทนตำรวจที่ดีมากกว่า ไม่อยากจะเป็นตัวถ่วงรุ่น ตัวถ่วงองค์กร” ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยาอธิบาย

 

สัมผัสสนามชีวิตจริง เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง

เธอเข้าใจบริบทอาชีพตำรวจจากสนามจริงเมื่อตอนอยู่ปี 3 ได้ออกฝึกงานครั้งแรกที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สัมผัสทุกสายงาน แต่คลุกคลีและชอบมากสุดเป็นงานสืบสวน เพราะไม่ต้องแต่เครื่องแบบ ใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป ได้ไปสืบสวนจับกุมคดีการพนัน กระทั่งขึ้นปี 4 ฝึกงานสอบสวนโรงพักพญาไท เจ้าตัวยอมรับว่า ได้เก็บเกี่ยวอะไรหลายอย่าง เพราะเป็นพื้นที่หลากเรื่องราว มีทั้งคดีเศรษฐกิจ คดีการเมือง และลักวิ่งชิงปล้น ยาเสพติด รู้สึกถึงความแตกต่างจากการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจมาก เป็นการใช้ชีวิตอาชีพตำรวจจริง ๆ

ต่อมา ผู้หมวดไวกิ้งลงบรรจุเป็นรองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ชนิดใกล้บ้านที่สุด เธอว่า การทำงานเราต้องนำความรู้จากที่เคยเรียนมาใช้ ทำสำนวนทั้งเรื่องยาเสพติด และคดีอื่นๆ เมื่อมาทำงานในสนามแล้ว อาจถูกคนภายนอกมองว่า การเป็นตำรวจหญิงอ่อนแอ แต่ไม่คิดเป็นอุปสรรคอะไรสำหรับเรา อยู่ที่ตัวเรา ก่อนหน้าเคยคิดเหมือนกันว่าจะมีคนอื่นมาตั้งแง่หรือไม่ ทบทวนอีกทีแล้วบอกตัวเองว่าจะคิดแบบนั้นทำไม เมื่อเรามีสิทธิพิสูจน์ทำให้คนอื่นเห็นว่า เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น แม้เราจะเป็นผู้หญิง แล้วสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า สิ่งที่ตำรวจผู้ชายทำได้ เราก็ทำได้

นายตำรวจสาวสวยคนดังเชื่อว่า เหล่านี้เป็นเครดิตความเป็นผู้หญิงส่วนหนึ่งในเรื่องการทำงาน ไม่ทำให้ผู้บังคับบัญชาผิดหวัง รวมถึงเรื่องของการวางตัวว่า เราทำได้ทุกอย่างเหมือนกับผู้ชาย ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย เพราะว่า เราฝึกมาด้วยกัน เราโดนธำรงวินัยมาด้วยกัน เรียนมาเหมือนกัน ดังนั้น การเป็นนายร้อยตำรวจหญิงทำไมจะทำอะไรไม่ได้เหมือนผู้ชาย

 

ก้าวสู่ทีมประชาสัมพันธ์ ก่อนบินไปเรียนต่อไต้หวัน

ส่วนการได้มาเข้าอยู่ในคณะทำงานโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มี พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ เป็นแกนหลัก ผู้หมวดพนักงานสอบสวนหญิงโรงพักดอนเมืองลำดับเหตุการณ์ว่า สมัยเรียนชั้นปี 4 อยู่ชมรมดนตรีเป็นนักร้องนำให้วงดนตรีเดอะคอปของสถาบันในวันครบรอบ 117 ปี สถาปนาโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่จัดขึ้นในสโมสรตำรวจ คืนนั้นร้องหลายเพลง บางเพลงไม่ค่อยดี ท่านยิ่งยศชอบเล่นดนตรี กับรุ่นพี่อีกคนที่มาช่วยเทรนเลยมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รู้ว่า เรามีทักษะภาษาอังกฤษ เวลามีงานจึงถูกเชิญไปเป็นพิธีกรภาคภาษาอังกฤษ เป็นงานแรกที่ได้แสดงความสามารถ

นับแต่นั้นมาเวลามีงานมักโดนเรียกไปเป็นพิธีกรเปิดโลกมากขึ้น ก่อนเข้าไปช่วยงานประชาสัมพันธ์ยุค พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และไปดูงานประชาสัมพันธ์ให้ศูนย์อำนวยการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำเกี่ยวกับพวกอินโฟกราฟิก ทำพรีเซนเทชั่น ดูภาพจะออกไปแบบไหน

ทำอยู่พักเดียว ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยา ได้รับทุนไปเรียนต่อไต้หวันเกี่ยวกับภาษาจีนเป็นเวลา 6   เดือน เป็นทุนของรัฐบาลไต้หวันที่สมัครเข้าไปก่อนหน้า สอบสัมภาษณ์ผ่านการคัดเลือกเป็นตำรวจคนเดียวที่เดินทางไปเป็นนักศึกษาพร้อมบุคคลภายนอกร่วมกว่า 30 คน “เป็นครั้งที่ได้เดินทางไปเมืองนอก นอกจากได้ภาษาจีนยังได้เพื่อน ได้ลองใช้ชีวิตในต่างประเทศห่างไกลคุณพ่อคุณแม่” เธอว่า

เป็นห่วงผู้บังคับบัญชา แบกปัญหาภาพลักษณ์ติดลบ

ครบกำหนดกลับมาทำหน้าที่พนักงานสอบสวนตามเดิม ก่อนโดนเรียกตัวไปช่วยในทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง ช่วยประสานงานสื่อมวลชน หมวดไวกิ้งมีความเห็นว่า งานประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยภาพลักษณ์ขององค์กรต้องใช้เวลา ยิ่งปัจจุบันตำรวจตกอยู่สถานการณ์ติดลบจากสายตาประชาชนส่วนใหญ่ แล้วตำรวจจะทำอย่างไรจะแก้ภาพเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทุกวัน ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อย แต่สำหรับเราไม่ได้เหนื่อยที่สุด ผู้บังคับบัญชาต่างหากที่เหนื่อยกว่า

“กระแสกดดันที่วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ เราต้องมีกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ให้ดี ข่าวไหนที่เราจะตอบโต้ หรือไม่ตอบโต้ หรือจะนิ่งเฉย หรือเราจะแก้ข่าว เปลี่ยนกระแสอย่างไร คือ ส่วนหนึ่งของวิธีที่จะทำให้ภาพลักษณ์องค์กรดีขึ้น  คือ มันสมองของการประชาสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เราอยากให้โอเคเรียบร้อย ราบรื่น ต้องประสานงานกับสื่อมวลชน กับผู้สื่อข่าวให้ดี เพราะตำรวจเป็นองค์กรที่จะพูดมากไม่ได้ เหมือนแก้ตัว มีเพียงสื่อมวลชนเท่านั้นจะสะท้อนการทำงานและความเป็นไปของตำรวจ”

“หากถามความรู้สึกส่วนตัวที่ชาวบ้านมองตำรวจไม่ดี ตอบได้แค่ว่า คงเป็นความคิดของพวกเขาที่อาจจะมาจากหลายเบื้องหลัง อาจจะเจอตำรวจที่ทำกับเขาไม่ดี เราไปเปลี่ยนอะไรเขาไม่ได้ เราได้แต่ทำให้องค์กรมันดีขึ้น ทำให้ทุกคนส่วนใหญ่เห็นว่า ตำรวจทำหน้าที่ของตำรวจ หน้าที่ของเรามีอยู่เท่านี้ เราไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดใครได้ แต่เราต้องทำของเราให้ดีอยู่แล้ว คนจะได้ไม่ครหาว่าเป็นอย่างที่เขาว่า ตำรวจส่วนใหญ่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องช่วยกัน องค์กรถึงจะอยู่ได้ ไม่ใช่ต้องเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนเดียวที่จะทำให้ภาพลักษณ์มันดี” หมวดไวกิ้งระบุ

 

ต้องทำให้ชาวบ้านมองบวก แค่อำนวยความสะดวกบนโรงพัก

เธอยังบอกอีกว่า ตำรวจทำงานรับใช้ประชาชน ทำอย่างไรให้ประชาชนประทับใจ คลายทุกข์ให้ได้แล้วภาพของตำรวจจะดีขึ้น เช่น  คนที่เดินขึ้นโรงพัก ส่วนตัวเห็นตั้งแต่ฝึกงานแล้ว ไม่เคยมีเลย คนที่เดินขึ้นโรงพักมาด้วยรอยยิ้ม ทุกคนมีแต่ความทุกข์กันหมด ในหน้างานสอบสวนเป็นอะไรที่ได้เจอกับของจริงมากที่สุด ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด คนที่เดินมาโรงพักไม่มีใครยิ้ม มีแต่เรื่องทุกข์มาให้ เราในฐานะที่เป็นตำรวจโดนฝึกมา ปลูกฝังมา เราจะใช้วิชาอะไร จิตวิทยา หรือว่า ใช้การสอบสวนทำให้ชาวบ้านรู้สึกโอเคว่า ได้ยกภาระไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนี้แล้ว ก่อนเดินออกไปจากโรงพักได้อย่างสบายใจ

“อันนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนมองตำรวจบวก ถึงแม้ว่าจะแค่คนนั้นกับที่เราได้ปฏิสัมพันธ์ด้วยในการรับคดี แต่คือ การที่เขารู้สึกบวกกับตำรวจ พอถึงเวลาที่ตำรวจโดนปะทะ ถูกถล่มด่า คนเหล่านี้จะออกมาปกป้องช่วยแก้ต่างให้ว่า มีตำรวจที่ดีอยู่นะ เขาเจอตำรวจที่ดีมา นี่แหละกำลังใจจากคำชมจะเป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน และเป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้ดีที่สุด”

ร้อยตำรวจโทหญิงวาดหวังอนาคตตัวเองยืนยันจะเป็นตำรวจที่ดีต่อไป ไม่ว่าจะอยู่สายไหน ปัจจุบันสำนวนก็ยังทำอยู่ ไม่ใช่ว่า ไปอยู่กับนายแล้วจะไม่ทำงาน วันไหนที่ออกเวรถึงต้องไปทำหน้าที่อยู่ในทีมโฆษก และยังรับสำนวนอยู่ทุกเดือน ทางห้องคดีจะเจียดสำนวนมาให้นั่งทำ แม้ไม่ค่อยได้เข้าไปโรงพัก อาจจะทำงานที่บ้านบ้าง ทุกหน้างานเราถึงจะทำให้ดีที่สุด

 

มุ่งมั่นโฟกัสแต่เนื้องาน  สุขสำราญกับการได้ร้องเพลง

ว่าถึงไลฟ์สไตล์ประจำวัน ร.ต.อ.หญิง ภัทรศยาตอบด้วยรอยยิ้มว่า ธรรมดามาก เหมือนวัยรุ่นทั่วไป ยิ่งช่วงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดโควิด ตำรวจรับงานหนักมาก ไหนจะเรื่องรับมือผู้ชุมนุม ต้องไปตรวจเชิงรุกโควิดตามภาคต่าง ๆ เราต้องตามผู้บังคับบัญชาไปด้วย เพราะฉะนั้นไลฟ์สไตล์ช่วงนี้คงมีแต่การทำงาน หากเป็นช่วงก่อนโควิด มักเป็นช่วงที่ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ทั้งวัน

“ถ้าเป็นวันหยุดราชการ ตื่นเช้ามาออกกำลังกาย ทานข้าวกับคุณพ่อคุณแม่ อาจจะไปเดินห้างบ้าง แล้วออกไปเที่ยว เป็นคนที่ชอบไปเที่ยว คุณพ่อชอบขับรถ คุณแม่ชอบหาที่กิน หาที่เที่ยว เราเลยชอบกินชอบเที่ยว  สบาย ๆ นั่งรถอยู่เบาะหลังรถ ไปไหนก็ไปกับคุณพ่อคุณแม่ตลอด อีกไลฟ์สไตล์ คือ ร้องเพลง เล่นดนตรี ร้องเพลงลงยูทูบ เป็นงานอดิเรก เป็นความชอบส่วนตัว ไม่ได้ทำบ่อย แต่ช่วงก่อนมีม็อบหนัก ร้องเพลงลงบ่อย จริง ๆ อยากลงทุกอาทิตย์เลย เพราะมีเพลงที่อยากร้องเยอะ ทำให้เรามีความสุข ช่วงเหลา ๆ ลง เพราะงานหนักอยากนอนพักบ้าง”

ขณะเดียวกัน ผู้หมวดสาวกำลังเรียนต่อปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความอยากใช้ความรู้ด้านภาษาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด “เมื่อเวลาไม่คอยท่า โอกาสไม่ได้มาตลอดเวลา จำเป็นต้องรีบคว้าไว้เมื่อมีเวลานั้น” นายตำรวจหญิงทิ้งท้าย พร้อมไขข้อข้องใจทำไมชื่อ “ไวกิ้ง” ด้วยคำตอบคลายปริศนาชวนฉงนต่อไปว่า  “สงสัยเหมือนกัน แต่ไม่อยากรู้มากค่ะ 555  คุณพ่อเคยบอกไม่รู้เจอมาจากไหน เห็นว่าแปลกดี เลยตั้งชื่อไวกิ้ง”

 

RELATED ARTICLES