การดำเนินคดี สินบนโรลส์รอยซ์

 

ช่วงหนี้มีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นในวงรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของไทยแทบจะทุกแห่ง เช่น การบินไทย และ ปตท. เป็นต้น เนื่องจากในต่างประเทศจับได้ว่าบริษัทโรลส์รอยซ์ได้มีการจ่ายเงินให้กับนายหน้าในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย เพื่อขยายตลาดทางการค้า เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เพิ่มยอดขายเกี่ยวกับเครื่องยนต์ การซื้อขายมีมูลค่าสูง จึงต้องใช้วิธีการจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือสินบนให้กับนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจของไทย เพื่อให้อนุมัติคำสั่งซื้อสินค้าของตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ได้สร้างความเสียหายให้กับรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ใช้เงินภาษีของประชาชนในการจัดซื้อสินค้าดังกล่าว ทนายคลายทุกข์จึงขอนำตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน่วยงานราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งความยากง่ายในการสืบสวนสอบสวนคดีทุจริตมานำเสนอ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นฐานข้อมูลและจะได้เป็นหูเป็นตาให้กับประเทศชาติ คอยระมัดระวังป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้นในหน่วยงานของรัฐต่อไปดังนี้

1.ความหมายของคำว่า “ทุจริต” และ “ประพฤติมิชอบ”

-ตามกฎหมายอาญา มาตรา 1(1) “โดยทุจริต” หมายความว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

-ตามพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

มาตรา 4 “ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

-ตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551

มาตรา 3 “ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นหรือใช้อำนาจตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือกระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา หรือตามกฎหมายอื่น

“ประพฤติมิชอบ” หมายความว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีที่มุ่งหมายจะควบคุมดูแลการรับ การเก็บรักษา หรือการใช้เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน

-ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมายถึง ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง

2.รูปแบบของการทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา

-เจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยตำแหน่งโดยมิชอบกลั่นแกล้งแล้วเรียกเงินหรือทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148

-เจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

-เป็นคนกลางเรียกสินบนเพื่อเอาไปจ่ายให้กับเจ้าพนักงานงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143

3.ความยากของการสืบสวนสอบสวนคดีทุจริต

-การสอบสวนไม่อิสระเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง เกี่ยวข้องกับนักการเมืองและผู้มีอำนาจในบ้านเมือง จึงถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนเอง ซึ่งมีอำนาจในการให้คุณให้โทษ เช่น ปรับตำแหน่ง ย้ายตำแหน่ง หรือปลดให้พ้นจากตำแหน่ง จึงทำให้การสอบสวนไม่เป็นอิสระ

-ความล่าช้าของการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากมีการเตรียมการวางแผนกันเป็นขบวนการอย่างแยบยล มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก รู้กฎระเบียบ ช่องว่างของกฎหมาย และมีผู้รู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จึงหาพยานหลักฐานได้ยาก ต้องใช้เวลานาน ทำให้พยานหลักฐานสูญหายไปหมดไม่มีพยานหลักฐานจะมาพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำความผิด

-การสมยอมการทั้งสองฝ่าย ทั้งคนที่จ่ายสินบนและคนรับสินบน มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน จึงไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงได้

-การเลือกปฏิบัติในการสืบสวนสอบสวน จะดำเนินคดีเฉพาะคนที่ไม่ใช่พวกตน เช่น ขั้วอำนาจเก่า หรือฝ่ายค้าน แต่ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นพวกของตนเองก็จะช่วยกันปกปิดไว้ หรือช่วยกันทำลายหลักฐานเป็นต้น

-ความชัดเจนของพยานหลักฐาน เนื่องจากมีการทำงานเป็นขบวนการมีการวางแผนเป็นอย่างดี โอกาสที่จะหาใบเสร็จคงเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการโกงที่มีเงินจำนวนมาก ก็ไม่ได้มีการเอาเงินผ่านบัญชีโดยตรง อาจจ่ายเป็นเงินสดหรือของมีค่าอย่างอื่น หรือโอนใส่ชื่อคนอื่น หรือทำธุรกรรมอย่างอื่น หรือโอนกันในต่างประเทศ จึงยากที่จะพิสูจน์ความผิดได้

RELATED ARTICLES