ภัยคุกคาม

 

ภาษิตไทยว่า รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติบอกในการบรรยายพิเศษหลังเปิดโครงการอบรมสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับของกองบัญชาการตำรวจนครบาลจำนวน 143 นาย ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เจ้าตัวมองว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหน่วยหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศ ทำให้ยึดถือกันมา แต่ไม่ได้เป็นกฎ เป็นกติกา แค่เป็นความคิด ความเชื่อว่า ตำรวจนครบาล ทำอะไรต้องแตกต่างจากพื้นที่อื่น

เหมือนภาพลักษณ์ก้อนใหญ่ของตำรวจทั้งประเทศ 

เป็น “แม่แบบ” ของทุกเรื่อง

กระนั้นก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์เห็นว่า ปัจจุบันอาจจะแตกต่างออกไปบ้าง เพราะโลกมันเปลี่ยนไป การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อยู่ที่ไหนก็เข้าถึงได้ การบริการประชาชนทุกที่ถึงต้องมีมาตรฐานไม่ต่างจากกัน การปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน หลาย ๆ อย่างเปลี่ยนหมด

“แต่ว่าอย่างหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ ความรู้สึกนึกคิด ความผิดชอบชั่วดีของมนุษย์ เราจะต้องปรับตัวให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง  ยกระดับความคิด ความรับผิดชอบ และความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ รอบตัว สภาพแวดล้อมรอบตัวที่มันเปลี่ยนแปลงไป”

เจ้าสำนักปทุมวันยกตัวอย่างให้ผู้กำกับที่เข้ารับฟังการบรรยายพิเศษถึงภารกิจที่ทำและต้องจำไว้ มากกว่านามธรรมจากคำพูด

“ลองนึกซิว่า อะไรที่จะทำให้เราโดนย้าย 24 ชั่วโมง อะไรที่เป็นภัยคุกคามระดับต้น ๆ ของเรา”

ผู้นำสูงสุดของหน่วยเรียก พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ที่เพิ่งย้ายมาดำรงตำแหน่งใหม่ลุกขึ้นอธิบายความ

 “เดี๋ยวนี้สถานบริการ ย้ายผู้การด้วยนะ ไม่ใช่ย้ายแค่ผู้กำกับ” พล.ต.อ.สุวัฒน์รับฟังเสร็จแล้วย้ำในห้องประชุม ให้ทุกคนสำนึกว่า โลกมันเปลี่ยนแปลง ประชาชนให้ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สถานบริการปัจจุบันนี้ ไม่ใช่แค่สถานบริการอย่างเดียว แต่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ เป็นคลัสเตอร์ เป็นสิ่งที่ประชาชนหวาดกลัว และอ่อนไหวต่อความรู้สึก

“งานที่เราต้องทำ คือ ไปดูว่าพื้นที่ของเรา มีอะไรที่จะทำให้เราเกิดความไม่มั่นคงในหน้าที่ราชการบ้างเวลาโดนขึ้นมาแล้วมันไม่มีใครช่วยอะไรได้ ต้องเอาตัวให้รอด รอดจากภัยคุกคามต่าง ๆ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่า

แม่ทัพตำรวจอยากให้ผู้บังคับบัญชาไปทำความรู้จักผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน และเตรียมการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละสถานี รวม ๆ คือ หลายโรงพักมีปัญหาเรื่องสำนวนค้าง หลายโรงพักมีปัญหาเรื่องตำรวจทุจริต ชุดยาเสพติด จราจร ไปตีกิน งานป้องกันปราบปรามไปเรียกรับผลประโยชน์ ตั้งด่านเมา จับตีเงินข้างทาง พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้ง หรือว่า เรียกรับประโยชน์

ผู้กำกับจำเป็นต้องสำรวจตรวจสอบ

“ต้องรู้ให้ได้ว่า งานป้องกันปราบปรามคนไหนเป็นคนที่มีปัญหา นายดาบ ยัน รองผู้กำกับคนไหน มีปัญหา ต้องรู้ว่างานจราจรคนไหนชอบเรียกรับผลประโยชน์ ชอบนู่นชอบนี่ ชอบสร้างปัญหา ไปแยกแยะคน เอาบัญชีกำลังพล มากางดู เรียกรองผู้กำกับ เรียกสารวัตรมาคุย ที่ผ่านมา มีใครโดนร้องเรียนอะไรมาบ้าง พนักงานสอบสวนคนไหน มีสำนวนอยู่เท่าไหร่”

พล.ต.อ.สุวัฒน์กำชับว่า ผู้กำกับจะไม่รู้จักลูกน้องไม่ได้ หาให้เจอ คนไหนที่เป็นปัญหา อีกอย่างคือ หาคนที่ทำงานให้เราได้ ร้อยตำรวจโทคนนี้เก่งอย่างนั้น นายดาบคนนี้เก่งอย่างนี้ สารวัตรคนนี้เก่งอย่างโน้น ต้องรู้จักคนที่จะเลือกใช้ รู้จักคนที่ไม่กล้าใช้ คนที่เราต้องระวังป้องกัน

“แล้วงานเฉพาะหน้าของสถานี ปัญหา คือ อะไร หาให้เจอ”

นายพลรหัสพิทักษ์ 1 ชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องความไม่สามัคคีกัน สำนวนค้างเยอะ เงินหลวงหาย ปืนไม่เคยเช็ก ปืนหลวงไม่รู้ไปไหน ตรวจสอบวันไหนก็โดน หรือมีการอมเบี้ยเลี้ยง คนนี้ทะเลาะคนนั้น ไม่ชอบคนโน้น ต้องรู้หมดทุกเรื่องบ่อนอยู่ตรงไหน สถานบริการอยู่ตรงไหนที่ชอบเปิด ชอบเบี้ยว ชอบแอบ ชอบลักลอบ แล้วทำให้เรามีเรื่อง

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยอมรับว่า สถานบริการเป็นอาชีพของผู้ประกอบการ ตำรวจไม่ให้เปิดก็ลักลอบเป็นเรื่องธรรมชาติ ตำรวจมีหน้าที่ต้องไปไล่จับ เช่นเดียวกับบ่อนการพนัน เป็นปัญหาโลกแตก  ไล่จับตรงนี้ก็ไปโผล่ตรงโน้น จับตรงโน้นก็ไปโผล่ตรงนั้น อย่าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับพวกเขาเท่านั้นแหละ และจะทำยังไงก็ต้องใช้คนที่ไว้ใจได้ ต้องหาคนก่อน เป็น เรื่องเบสิก

ต้องเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน

“มันเป็นปัญหาภัยคุกคามของเรา เราก็ต้องเหนื่อย ต้องดูแลให้ดี ใช้คนที่ไว้ใจได้ ไม่งั้น เดี๋ยวอาจโดนลูกน้องต้ม”   

ผู้กำกับต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง อยู่ง่าย กินง่าย และอยู่ให้เป็น

 

 

 

 

RELATED ARTICLES