ต้อนรับสู่ครอบครัว

 

การเปลี่ยนแปลงของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยุบกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ และกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี นำไปสู่ “กำเนิดใหม่” ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9

พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ แม่ทัพตำรวจเมืองหลวง ปรมาจารย์มือสืบสวนสอบสวนมองอนาคตเผื่อไว้ก่อนหน้าแล้ว

เมื่อปี 2539 เจ้าถึงวาดโครงการอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ มอบหมาย พ.ต.ท.ปรีชา ธิมามนตรี รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เป็น “หัวหอก” กำหนดตำรา ได้ พ.ต.อ.โกสินทร์ หินเธาว์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลธนบุรี พ.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้กำกับการข่าว กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมเป็นคณะทำงานเคียงข้างนายตำรวจอีกหลายคน

เฟ้นเอารองสารวัตรสอบสวนรุ่นใหม่เพียง 30 คนเข้าไปเทรนนิ่งแบบเข้มข้นนาน 3 เดือน

หลักสูตรสืบสวนที่ดีสุดในประเทศไทยนับตั้งแต่ทำกันมา

รุ่นแรกและรุ่นเดียวท่ามกลางความภาคภูมิใจของ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ และคณะทำงานตลอดจน “ครูพี่เลี้ยง” หลายคน  

ผ่านมา 25 ปี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ขยับนั่งบัลลังก์สูงสุด ตัดสินใจ “ปัดฝุ่น” ตำราเล่มเก่าเอามาผสมผสานรสชาติให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น จัดแจงร่างพิมพ์เขียวฉบับ “นักสืบ 5 G” ระดมทัพลูกศิษย์กลับคืนสู่เหย้าพร้อมนายตำรวจนักสืบแถวหน้าของเมืองไทยช่วย “ปรุงสูตร”

“ตอนนั้นเราคิดกันว่า เราจะหาน้อง ๆที่เป็นรองสารวัตรผ่านงานสอบสวนอย่างน้อย 3 ปี มาฝึกเป็นนักสืบ คัดมาได้ 30 คน เหตุผลที่จะฝึกอย่างนั้นเพราะว่า เป็นเรื่องของการแยกกองบังคับการ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ย้อนภาพอดีต

มาถึงปัจจุบัน เขาก้าวเป็น “อาจารย์ใหญ่” มองยุคเปลี่ยนผ่านของสังคมและเทคโนโลยี ตำรวจต้องเตรียมสำหรับอนาคต

“พวกเราที่นั่งอยู่ในห้องนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นรุ่นที่ 2  ของ 30 คนเมื่อปีโน้น ทุกวันนี้ก็อยู่ในห้องนี้หลายท่าน การคัดเลือกเมื่อวันนั้น ผมยังจำความรู้สึกได้ เวลาเราคัดเลือกคนเราคัดอย่างไร  เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้มีโอกาสไปคัดพวกเราอีกครั้ง ไม่ทราบว่าหลังจากนี้ไปแล้วจะมีการคัดเลือกนักเรียนแบบนี้อีกหรือเปล่า”

หลังจากจบหลักสูตรไปแล้ว แม่ทัพสีกากีการันตีว่า ทุกคนจะไม่ได้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม ต่างจากหลักสูตรทุกหลักสูตรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียนแล้วกลับไปที่เก่า อบรมแล้วก็กลับไปทำงานเดิม

“ทว่าที่นี่ไม่ใช่ ไม่ใช่ เราพาพวกท่านเข้ามาในสังคมใหม่ ขอต้อนรับเข้ามาสู่ในครอบครัวของพวกเรา ครอบครัวนักสืบ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่า

นอกจากการอบรมพื้นฐานที่จำเป็นของนักสืบ เรื่องของการเฝ้าจุด สะกดรอย เรื่องของการสัมภาษณ์ซักถาม เรื่องของการใช้สายลับ เรื่องของการปฏิบัติการอำพราง เรื่องของแท็กติกตำรวจ การเอาตัวรอด การใช้อาวุธปืน เรื่องของชุดปฏิบัติการพิเศษ เรื่องของการบริหารงานสืบสวน กฎหมายต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง เรื่องของการบริหารสื่อ

พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกต้องมีการต่อยอดเรื่องของเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ฝึกให้ทุกคนออกไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกสภาพการณ์

“ที่สำคัญอยากจะเน้น  เมื่อเรามาอยู่ในครอบครัวเดียวกันแล้ว อยากให้เข้าใจคุณสมบัติของการเป็นตำรวจที่ดี นักสืบที่ดี”

 เอาตัวรอดในทุกสถานการณ์จากภัยคุกคามกับชีวิตรับราชการตำรวจ

“เราใช้คำว่า ครอบครัว เพราะนักสืบอยู่กันไม่สนใจยศถาบรรดาศักดิ์เท่าไหร่ เราอยู่กันด้วยความรู้สึกเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนร่วมงานที่เป็นพี่เป็นน้อง” นายพลตำรวจเอกชั้นครูย้ำ

เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน   

RELATED ARTICLES