“เราชอบจะเรียนรู้ และนำเสนอสิ่งที่เรารู้ให้คนเห็น”

อดีตพิราบสาวสวยคนเก่งมากความสามารถ “ทราย”โศธิดา โชติวิจิตร คนข่าว 3 มิติแห่งวิกพระราม 4 ที่ปัจจุบันอำลาวงการไปแล้ว เธอเป็นชาวกรุงเทพฯ มีพ่อเป็นหมอฟัน แต่ตัวเองมีฝันอยากทำโฆษณา ทันทีที่เรียนจบเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ถึงเลือกไปสอบต่อคณะวารสาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เลือกวิชาพื้นฐานผิดเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนแนวไปลงเรียนทางวิทยุโทรทัศน์

กลายเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่วงการสื่อมวลชน มีโอกาสไปฝึกงานสะสมประสบการณ์สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของแดนอาทิตย์อุทัย ทรายเล่าว่า สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 เคยไปเรียนโครงการแลกเปลี่ยนอยู่ประเทศญี่ปุ่น 1 ปีเต็ม อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเห็นว่า พูดภาษาญี่ปุ่นได้เลยส่งไปฝึกงานที่นั่น ทำอยู่เมืองไทย 2 เดือนแล้วไปอยู่ญี่ปุ่นอีก 2 เดือน

 

เธอว่า ได้ศึกษาดูวิธีการทำงานของนักข่าวญี่ปุ่น หัดเปิดหน้าครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในเอ็นเอชเคเวิลด์ ไปทำข่าวสวนลุมไนท์บาซาร์มีปัญหากับเครือเซ็นทรัลเรื่องจะเอาพื้นที่คืน เป็นข่าวที่ญี่ปุ่นสนใจ แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ตลาดขายสินค้าแบบไทย ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติพอสมควร ทำไปทำมาได้เรียนรู้วิธีการดำเนินเรื่องแบบสถานีข่าวของญี่ปุ่นจะไม่เหมือนเมืองไทย มีรูปแบบ ต้องการที่มา ถ้าเราไปที่ ๆ หนึ่ง ภาพที่คนเดินเข้ามาในสถานที่เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการ หรือเวลาเราทำอะไรก็ตาม เสียงซาวด์เอฟเฟกต์เล็ก ๆ คือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมาก เขาบอกว่า เหมือนกินปลาดิบ เขาไม่ได้ชอบที่การปรุงแต่ง แต่เขาชอบสิ่งที่มันเป็นธรรมชาติ

“มันอยู่ในเนื้อหาข่าวจริง ๆ ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นบางคนใช้เวลาหาข้อมูลเป็นเดือน ไม่ใช่แค่ผู้สื่อข่าวที่ทำวิจัยข้อมูลเท่านั้น ช่างภาพก็ต้องทำ เพื่อจะได้ภาพที่สื่อความหมาย เช่น วิชามวยไทย เขาต้องมาหาข้อมูลว่า มีท่าไหนบ้าง ควรจะถ่ายอย่างไรที่จะอธิบายท่าทางอันนี้ออกมาได้ อันนี้อาจไม่มีในเมืองไทย ถือเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ทรายได้มา”นักข่าวสาวถ่ายทอดความรู้ที่เก็บเกี่ยวมา

พอเรียนจบมหาวิทยาลัย ทรายได้งานทำเป็นผู้ประกาศข่าวต้นชั่วโมงของโมเดิร์นไนน์ทีวี มี กิตติ สิงหาปัด ช่วยเทรนด์งานด้านการข่าว พอกิตติย้ายมาบุกเบิกข่าว 3 มิติที่ช่อง 3 เธอจึงถูกชักชวนมาร่วมงานอยู่ปีเศษตัดสินใจบินลัดฟ้าไปเรียนต่อประเทศอังกฤษ เพราะเป็นความตั้งใจเดิมสมัยเรียนจบ สาวน้อยลูกแม่โดมบอกว่า ทำงานจนเริ่มรู้สึกว่าลงตัวแล้ว ได้ในสิ่งที่เราอยากจะได้แล้ว เป็นเด็กจบใหม่ได้ฝึกงานแล้วมาทำงานจริง ชีวิตมันเหมือนหน้ามือกับหลังมือ ตอนเรียนเราไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องคิดด้วยซ้ำว่า วันนี้เราต้องไปหรือเปล่า ขี้เกียจก็ไม่ต้องไป แต่พอมาทำงานขี้เกียจไม่ได้ ทุกนาที คือ ต้องมาให้ตรง เวลา

ทรายอธิบายว่า ไปเรียนหนังสือ คนที่จะมาใส่ใจเรามีแค่ครู  แต่ทำงานมีหัวหน้า มีสายงานการบังคับบัญชา มีรุ่นพี่ และด้วยความที่เราเป็นเด็กสุด เขาก็พยายามจะอัดข้อมูลอัดอะไรให้ด้วยความหวังดี เราก็ต้องฟังจากทุก ๆ คน มันเป็นความกดดัน เหมือนเขียนหนังสือไม่เป็นแล้วมีคนสิบคนมารุมจับมือเราพร้อม ๆ กัน ลายมือก็ไม่มีทางจะออกมาได้ดี แต่ทุกคนหวังดีกับเรา ในที่สุด เด็กที่เขียนหนังสือไม่เป็น 5 นาทีต้องเขียนเป็นเลย ไม่มีเวลาแม้กระทั่งวันเดียว ทำกระท่อนกระแท่นมา 6-7 เดือนถึงจะเริ่มเซ็ตตัวอยู่กับที่ คนเริ่มรู้จักจากการทำข่าวเด็กเคอิโงะ ซาโตทำหาพ่อ

สาวคนข่าว 3 มิติบอกว่า พอถึงตอนนั้นเลยคุยกับที่บ้าน ถ้าไม่ไปตอนนี้แล้วจะไปตอนไหน ตัดสินใจทิ้งเลย ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ลอนดอน สาขาบริหารธุรกิจข้ามชาติ และตั้งใจจะกลับมาทำบริษัทตัวเองที่เปิดธุรกิจออนไลน์ก่อนไปเรียน ขายเสื้อผ้าในอินเตอร์เน็ตกำลังจะไปได้ดี แต่แม่ไม่ชอบ ไม่สนับสนุน สุดท้ายต้านไม่ไหวกับแม่ตัวเอง แม้ทำรายได้ไม่น้อย เพราะตอนอยู่อังกฤษก็เอาของจีนไปขาย ควบคู่กับทำงานโรงแรมทำหน้าที่ดูแลแขกวีไอพี โรงแรมมิลเลนเนียมกลอสเตอร์  ได้ภาษาอังกฤษมามากขึ้น เพราะทุกคนพูดภาษาอังกฤษหมด หน้าที่ของเรา คือ รับคำร้องเรียนจากคนในโรงแรม ถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็จบ

คว้าวุฒิปริญญาโทจากเมืองผู้ดีกลับมาเมืองไทย ว่างงานอยู่หลายเดือน สุดท้ายคืนรังข่าว 3 มิติอีกครั้ง ทรายให้เหตุผลว่า ไปสมัครที่อื่นเหมือนกัน เขาก็รับเราแล้วด้วย แต่ในใจคิดไว้เสมอว่า ถ้าจะกลับมาทำงานในระบบนี้ ก็คงมีแค่ที่นี่ เพราะเราชินกับมันแล้ว กลับมารอบสอง สบายกว่าเดิมมาก เพราะตอนมาอยู่ครั้งแรก เรามาพร้อมรายการที่เพิ่งเริ่มเปิดตัว มีนักข่าวแค่ไม่กี่คน แหยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย  ศุภโชค โอภาสะคุณ แล้วเรา แต่ตอนนี้ลงตัวหมดทุกอย่างแล้ว

ลับคมสะสมความรู้เพิ่มมากขึ้น ทรายมักถูกวางตัวให้ไปตามข่าวนวัตกรรมใหม่ ประเด็นเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ แต่ใช่ว่าจะไม่ออกลุยลงพื้นที่เหมือนคนอื่น  “ถ้าอยู่ 3 มิติคิดว่า ไม่ลุยเลยคงอยู่ไม่ได้ เช่น ตอนเกาะสมุยไฟดับ ทรายก็ต้องไปทำข่าวเลย ลงเครื่อง 4 ทุ่ม อีกครึ่งชั่วโมงออกอากาศสด ไม่มีอินเตอร์เน็ต ต้องใช้โทรศัพท์ อยู่รอสถานการณ์จนเช้า ตกเย็นก็ขึ้นเครื่องบินดูบรรยากาศทำสกายรีพอร์ต เรียกว่า รายงานทั้งภาคพื้นดิน ภาคอากาศ แต่อย่าคิดว่า ภาคอากาศสบายนะ เพราะถ้าข้อมูลไม่แน่นอยู่บนเครื่องเราก็ไม่รู้จะติดต่อใคร กดดันพอสมควร ลงมาก็ยังต้องตัดต่อข่าวอีก ต้องลุ้นอินเตอร์เน็ตที่ดับ ๆ ติด ๆ เพื่อส่งข่าวอีก”

ตลอดระยะเวลาการทำงาน สาวน้อยหน้าใสผู้นี้เลือกประทับใจผลงานตัวเองที่ไม่ใช่ข่าวเหตุการณ์ แต่เป็นข่าวที่ไม่ค่อยเหมือนคนอื่น เธอยกตัวอย่างว่า เช่นทำเรื่องแฮกเกอร์ ประทับใจตรงได้จินตนาการภาพลงไปในข้อมูลที่ไม่น่าจะเป็นภาพได้ แต่เราสามารถจินตนาการให้มันเป็นภาพ คนดู ๆ รู้เรื่อง ในเพจก็จะมีแฟน ๆ เข้ามาถาม ทั้งที่ข่าวอื่นไม่เห็นมีใครค่อยสนใจถาม กลายเป็นกูรูเรื่องแฮกเกอร์ไปเลย ทั้งนี้เพราะเราต้องทำการบ้าน ถ้าเราไม่รู้เรื่องแล้วเราจะอธิบายให้ข่าวดูรู้เรื่องได้อย่างไร ในเมื่อนักข่าวยังหลงประเด็นแล้วคนฟังจะเข้าใจประเด็นที่เราสื่อได้หรือ ต่อให้เป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เราก็ต้องหาข้อมูลคุยกับแหล่งข่าวของเราในระดับที่เราเข้าใจ

“ทรายคิดว่า ถ้าได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถือว่าโชคดี มันทำให้เราไม่เหนื่อย เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ไม่มีอาชีพไหน ที่จบมาใหม่อายุน้อย ๆ จะได้ประสบการณ์มาก เดินเข้ากระทรวงทบวงกรมทุกที่ คุยกับคนตั้งแต่รากหญ้ายันเจ้า มันเป็นอาชีพที่เราได้ประสบการณ์ ได้ความรู้ ได้คอนเน็กชั่นเยอะมาก แต่หลังจากนี้จะต่อยอดเป็นอะไร ก็ต้องแล้วแต่ ตอนนี้เราตกผลึกว่า เราชอบจะเรียนรู้ และนำเสนอสิ่งที่เรารู้ให้คนเห็น อนาคตคงยังต้องรอตกผลึกต่อไปว่า จะทำประโยชน์อะไรให้คนอื่นได้มากกว่านี้”สาวน้อยข่าว 3 มิติวางแนวไว้

RELATED ARTICLES