เชียงคาน…สงบ งาม ริมฝั่งโขง

หลวงพระบางไทยแลนด์   ปายแห่งลุ่มน้ำโขง  หลายฉายาที่ถูกว่าไว้ให้กับ “เชียงคาน” อำเภอเล็กๆในจังหวัดเลย เมื่อถูกเปรียบเปรยด้วยสถานที่ยอดนิยม คนต่างถิ่นจึงเริ่มคุ้นชินกับชื่อ เชียงคาน ส่วนเจ้าของบ้านเริ่มมีงานใหม่ คือต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย แต่สำหรับฉัน เสน่ห์ของวิถีชาวไทเชียงคาน ที่มีฉากหลังเป็นห้องแถวไม้สองชั้นทอดตัวยาวเรียงราย อยู่ริมฝั่งโขง คือสิ่งที่ทำให้ต้องรีบวางแผนการเดินทางมา เพราะคำขู่ที่ใครหลายคนว่า “หากไปช้าอาจไม่เหลือให้เห็น”

ไม่ต้องมองหาโรงแรมหรูให้เสียเวลา มีก็แต่โรงแรมแบบเรือนไม้สองชั้นหรือจะแบกเป้เข้าเช็คอินกับพ่อแก่แม่เฒ่าที่เปิดบ้านทำเกสท์เฮาส์ จะได้ใกล้ชิดและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวเชียงคานมากขึ้น ไม่มีเด็กยกกระเป๋า ไม่มีบริการซักรีด แต่มากด้วยการต้อนรับและดูแลอย่างอบอุ่น

ห้องแถวไม้สองชั้นที่เรียงรายอยู่บนถนนชายโขง บ้างก็เพียงแค่นำข้าวของเล็กๆน้อยๆวางขายบนโต๊ะหน้าบ้าน แต่มีไม่น้อยที่เปิดเป็นเกสท์เฮาส์ และตกแต่งเป็นร้านรวงต่างๆ แต่งแต้มให้เรือนไม้เก่ามีสีสันขึ้น

บางหลังกำลังโดนรื้อเพื่อการปรับปรุง แต่ยังอยู่ในเค้าโครงเดิม ในขณะที่บางหลังกำลังฉาบปูน ปูกระเบื้อง เปลี่ยนเป็นตึก 2 ชั้น อืม..สรุปว่า ฉันไม่ได้มาสายเกินไป เดินทอดน่องกันสักพัก ก็ได้เวลาอาทิตย์ลับขอบฟ้า ต้องไม่พลาดคว้ากล้องไปเก็บภาพแสงสุดท้ายของวัน ที่ทอแสงสีทองส่องลำน้ำโขง ก่อนจะค่อยๆหายลับไปหลังเนินเขา

ฟ้ายังไม่ทันสว่าง กิจกรรมยามเช้าของที่นี่ก็เริ่มขึ้น พี่สาวชาวเชียงคานได้นึ่งข้าวเหนียวแจกให้คนละกระติ๊บ เตรียมพร้อมปูเสื่อนั่งรอพระเดินมาบิณฑบาตหน้าบ้าน อ้อ..อย่าลืมล้างมือให้สะอาดเพราะต้องปั้นข้าวเหนียวให้พอดีคำใส่ลงบาตรพระ ส่วนกับข้าวกับขนมหวานเอาไปถวายที่วัด หากเป็นวันศีล ( 8 ค่ำ , 15 ค่ำ ) ชาวบ้านจะทำต้นหมากเบง ( นำใบตองมาพับเป็นชั้นๆแล้วประดับด้วยดอกไม้)ไปถวายพระใหญ่ในโบสถ์  “หากเป็นผู้หญิงจะเอาไปวางไว้ได้แค่ประตูโบสถ์ ต้องให้ผู้ชายเป็นคนเอาไปถวายหน้าพระใหญ่อีกที เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยมีใครทำแล้ว จะถวายกันแค่ดอกไม้แล้วไปปักใส่แจกันเท่านั้น” แม่เฒ่าชาวเชียงคานบอก

เมื่อเริ่มวันกันด้วยเรื่องของบุญ จะต่อด้วยการไหว้พระ 9 วัด ถือเป็นความคิดที่ดี เพราะในเชียงคานมีวัดเก่าแก่อยู่ไม่น้อย เช่น วัดศรีคุณเมือง ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2485 มีศิลปะทั้งในแบบล้านนาและล้านช้าง ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ยังมีศิลปวัตถุที่สำคัญ เช่น พระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยแบบล้านช้าง

บรรยากาศยามค่ำคืน จะเดินเตร็ดเตร่หรือเช่าจักรยานปั่นไปบนถนนเส้นเดิม เสพบรรยากาศชิลล์ๆ หาเพื่อนนั่งล้อมวงสนทนากันภาษานักเดินทาง ไม่จำเป็นต้องมีดนตรีบลูส์หรือเรกเก้มาบรรเลงสด ก็เป็นคืนที่สุขเพียงพอแล้ว

แสงแรกของวันค่อยๆ สาดส่องขึ้นหลังทะเลหมอกสีขาวที่กว้างใหญ่สุดสายตาตรงหน้า ทำให้ฉันประหลาดใจว่า แค่โบกรถสองแถวจากหน้าบ้านมาเพียงแค่อึดใจ ก็ได้เห็นอะไรที่สวยงามราวภาพวาดขนาดนี้เชียวเหรอ ภูทอก สร้างเซอร์ไพรซให้ฉันแต่เช้า  แก่งคุดคู้ ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปรอชมพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตกที่นั้น  ห่างจากเมืองเชียงคานเพียง 3 กม. หรือในช่วงเที่ยงของวัน จะไปฝากท้องไว้กับไก่ย่าง ส้มตำ แต่ที่ไม่ควรพลาดคือเมนูปลาน้ำโขง

 “เราต้องทำให้เชียงคาน มีการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เน้นการคุยกับท้องถิ่น ฟังเสียงชาวบ้านเป็นหลัก ต้องให้พวกเขาเข้าใจว่า สิ่งต่างๆของที่นี่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีหรือบ้านไม้เก่า มีคนต่างถิ่นมาเช่าที่เปิดกิจการร้านค้า เราไม่ว่าขอเพียงแค่ อย่ามาเปลี่ยนเชียงคาน แต่ชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างมีความเข้มแข็ง เพิ่งมีร้านเหล้าปิดตัวลง เพราะทนกระแสต่อต้านของชาวเชียงคานไม่ไหว” ถ้อยคำที่ฉะฉานของ คุณพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการ จ.เลย ได้ให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเองเกี่ยวกับ อ.เชียงคาน

เสน่ห์ของเชียงคานสำหรับฉัน ไม่ใช่จักรยานคันเก่า ที่ถูกจับมาจัดวางตกแต่งไว้หน้าประตูไม้สีฟ้าหรือแผงภาพถ่ายโปสการ์ดที่ตั้งอยู่ข้างตู้ไปรษณีย์สีแดงโล้  หากแต่เป็นภาพที่ละเลงด้วยสีน้ำตาลของเรือนไม้เก่า  ถึงกระนั้น หากการตกแต่งแต้มสีทำอย่างมีศิลปะ ไม่มากไปจนเกินงาม ภาพเก่าที่เรามีอาจสวยงามทรงคุณค่ามากขึ้น แต่จะเหมือนเมืองปาย หรือหลวงพระบาง  ชาวไทเชียงคานขอค้านเสียงแข็งว่า  “เชียงคาน ก็คือ เชียงคาน”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย   โทร. 0 4281 2812

 

 

RELATED ARTICLES