“ผมชอบพูด คนสำราญ งานสำเร็จ แต่ไม่ใช่สำราญคนนี้”

 

ได้เวลาคนหนุ่มขึ้นคุมบังเหียนทัพใหญ่

พล...สำราญ นวลมา นั่งตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นคนที่ 51 ในประวัติศาสตร์สีกากีเมืองหลวง ด้วยวัยเพียง 48 ปี เทียบเท่ายุค พล...มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ตำนานมือปราบดำรงตำแหน่งเดียวกัน แต่มากกว่า พล...ณรงค์ มหานนท์ ที่ได้รับนามเรียกขาน .1 ตอนอายุ 46 ปี

กองทัพนครบาลภายใต้การบริหารงานของเขา กำลังถูก “จับตามองท่ามกลางกระแสกดดันรอบข้าง พร้อมกับความคาดหวังของชาวกรุงเทพมหานคร

ทิศทางการขับเคลื่อนนาวาจะออกมาในรูปแบบไหน สมดั่งความไว้วางใจของ ผู้มีอำนาจ หรือไม่

เป็นสิ่งที่เจ้าตัวต้องพิสูจน์ฝีไม้ลายมือ

ตามวิสัยทัศน์ เป็นหน่วยงานที่เป็นเลิศในการดูแล และพิทักษ์ รับใช้ประชาชน

 

เจริญรอยรุ่นพี่สถาบันดัง นายลากไปนั่งสอบสวนคดีร่วมกองสืบ 

เส้นทางชีวิตของ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา เกิดในครอบครัวพ่อแม่ทำธุรกิจค้าขายอยู่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เข้าเรียนประถมวัดโตนดหลวง ไปต่อมัธยมโรงเรียนพรหมานุสรณ์ โรงเรียนดังประจำจังหวัด ที่มีรุ่นพี่เป็นต้นแบบมากมาย ทำให้เขามีเป้าหมายวัยเด็กอยากเป็นตำรวจเจริญรอยตามไอดอลหลายคน โดยเฉพาะ พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ รุ่นพี่ของสถาบัน

สอบติดเตรียมทหารรุ่น 34 เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 50 เลือกลงฝึกงานสถานีตำรวจนครบาลบางนา ด้วยความเป็นพื้นที่ชายขอบติดกับภูธรที่เรียกกันว่า “ภูบาล” จะได้เรียนรู้สภาพอาชญากรรมแบบในเมืองกับภูธรไปพร้อมกัน ก่อนประเดิมบรรจุเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง  ได้ พล.ต.ต.จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มือสอบสวนขณะนั้นเป็น “ครูต้นแบบ” ลากไปอยู่ในชุดพนักงานสอบสวนเฉพาะกิจของกองกำกับการสืบสวนนครบาล

เหตุผลเพราะ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต้องการสร้างโมเดลสืบสวนสอบสวนเข้าด้วยกัน มี ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมรุ่นอีกคน ผู้ใหญ่อยากให้มีพนักงานสอบสวนอยู่ในกองสืบ ช่วยทำงานคล่องตัวขึ้น หมายความว่า หากกองสืบสวนจับคดีอะไรมา สามารถสอบปากคำในนั้นได้ทันที

 

เริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เลือกลุยงานป้องกันก่อนเกิดเหตุ

ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนนาน 2 ปี ย้ายเป็นรองสารวัตรงาน 5 กองกำกับการ 2 กองทะเบียนพล แนวคิดตอนนั้น พล.ต.ท.สำราญบอกว่า การเป็นตำรวจต้องปูพื้นฐานจากงานสอบสวน พอมีประสบการณ์แล้วอยากไปดูงานอำนวยการ โชคดีได้อยู่งานบรรจุแต่งตั้งสัญญาบัตร และมีผู้บังคับบัญชาเห็นการทำงานตลอด เพราะคล่องตัว เราไม่มีพันธะผูกพัน เรียกใช้ได้เสมอ

ต่อมาลงเป็นรองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ขึ้นสารวัตรงานสายตรวจ 2 กองกำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ได้เรียนรู้งานหน้าใหม่เป็นการป้องกันปราบปราม พล.ต.ท.สำราญมองว่า การป้องกันก่อนคดีเกิดย่อมดีกว่า ด้วยความคิดมูลฐานที่ว่า คดีจะเกิดจากอะไรขณะนั้น ส่วนใหญ่ไม่พ้นยาเสพติด แหล่งอบายมุข

เขาเริ่มลุยงานจับยาเสพติดเพราะเป็นสารตั้งต้นของอาชญากรรม มีการจี้ตัวประกัน ต้องวิเคราะห์ปัจจัยปรุงแต่ง ทุกอาชญากรรมเริ่มจากตัวผู้ก่อเหตุ โอกาสที่มีเหตุ และเหยื่อ เราลดตัวผู้ก่อเหตุก่อนได้ไหม ด้วยการลดจากยาเสพติด ลดความรุนแรงการก่อเหตุ ลดจากอาวุธ  ปัจจัยของเหยื่อกับโอกาสค่อยว่ากันอีกส่วนหนึ่ง

 

ลดสารตั้งต้นของอาชญากรรม ปิดโอกาสการกระทำของคนร้าย

ระดมกวาดยานรกเป็นคนแรก ๆ จนมีฐานข้อมูลเครือข่ายใหญ่เก็บเข้าหน่วย แล้วขยับเป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางนา ขึ้นรองผู้กำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ได้ทำงานสืบสวนเคียงข้าง พ.ต.ท.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ นักเรียนนายตำรวจรุ่นพี่ที่มี พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต เป็นผู้บังคับการ ไม่นานคืนถิ่นเก่าเป็นรองผู้กำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ

“ผมรู้สึกว่า งานสายตรวจ 191 เราคล่องตัวกว่า  ทำงานได้มากกว่า งานสืบของกองบังคับการสืบสวน คนมีฝีมือเยอะอยู่แล้ว อยากกลับไปทำงานสายตรวจเหมือนเดิมดีกว่า ประกอบกับมีพวกเยอะ ทั้งรถซาเล้ง รถแท็กซี่ สามารถแสวงหาข่าว ลดสารตั้งต้นของอาชญากรรม ลดความรุนแรง ก่อนเกิดเหตุ ไปลดโอกาสคนร้าย เหมือนที่ทำไว้ตั้งแต่อยู่บางนา” พล.ต.ท.สำราญให้เหตุผล

นายพลตำรวจโทหนุ่มอธิบายเพิ่มเติมว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย คือ มีอาชญากร มีเหยื่อ และมีโอกาส งานสายตรวจ 191 ควบคุมพื้นที่กว้าง ทำให้เราไปลดโอกาสได้มาก ไปปรับสภาพแวดล้อมพื้นที่ ทำอย่างจริงจัง

 

ฝ่าวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ตั้งใจทำโรงพักเพื่อประชาชน

หลังจากนั้นเลื่อนเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง เริ่มบทผู้บริหารเป็นจังหวะต้องเข้าไปแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ โรงพักเผชิญวิกฤติอุทกภัย ลูกน้องไม่มีที่ทำงาน ชาวบ้านเดือดร้อน พล.ต.ท.สำราญเล่าว่า ผิวดำกร้านไปหมด เพราะออกนอกพื้นที่ไปช่วยเหลือชาวบ้าน หลังน้ำลดไปหาอีกที ชาวบ้านบางคนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เราเคยมาช่วย คุยกันสักพักถึงนึกออก เนื่องจากเราทำเต็มที่

คลุกคลีผูกพันกับลูกน้องที่ดอนเมืองมาก ถึงขั้นคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้ได้โรงพักเพื่อประชาชนดีเด่น “ผมไปอยู่ตอนนั้น โรงพักดอนเมืองติดลำดับ 40 กว่า กึ่งกลางของนครบาล บอกลูกน้องทุกคนว่าจะทำให้เป็นที่เซอร์ไพรส์ขึ้นอันดับ 1 ได้หรือไม่ หลายคนยังทักว่า จะเป็นไปได้หรือ คงคิดว่า ผู้กำกับมาใหม่จะไฟแรง พูดไปแต่ไม่ได้จริงจังอะไร”

ปรากฏว่า อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองเริ่มปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ อาหารการกิน คลุกคลีอยู่ด้วยกันกับลูกร้องนอนโรงพักตลอด 2 ปี ทำให้รู้หมดว่า สิบเวรคนไหนเป็นอย่างไร ลูกน้องคนไหนนิสัยอย่างไร พัฒนาโรงพักขึ้นมาได้อันดับ 2 คะแนนคู่คี่กับสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต 1 ทั้งที่โรงพักดอนเมืองเพิ่งเจอสภาวะน้ำท่วม ถือเป็นความภาคภูมิใจ

 

คิ่นถิ่นเก่าเป็นผู้การ 191 กระทั่งก้าวขึ้นตำแหน่ง น.1 

คุมโรงพักครบ 2 ปี กลับไปเป็นผู้กำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ  เป็นรองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ นั่งผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้คุมทั้งงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานสืบสวน งานความมั่นคงที่ไม่ค่อยมีใครอยากรับผิดชอบ

พล.ต.ท.สำราญบอกว่า ต้องละเอียดมากสุด คืองานถวายความปลอดภัยตามนโยบายหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเป็นต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ความผิดพลาดต้องเป็นศูนย์ ไม่มีการมาบอกว่า วันนี้โชคดีไม่ได้ ไม่มีคำว่า เซอร์ไพรส์ ต้องมีแผนเอ แผนบี แผนซี ต้องคิดหมด พอได้ทำตรงนี้ รุ่นพี่หลายคนแทบจะเบาใจ ไม่ต้องห่วงเรื่องงานกิจการพิเศษ

กระทั่งก้าวขึ้นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่โดนมองอาวุโสยังน้อยเกินไป ประเด็นนี้ พล.ต.ท.สำราญสีหน้าจริงจังว่า ได้ขึ้นมาถึงตำแหน่งปัจจุบัน ผู้บังคับบัญชาเป็นคนตัดสินใจ  ถามว่า อาวุโสน้อย มีข้อได้เปรียบไหม มองว่า มีข้อได้เปรียบมาก ถ้าเราบริหารความอาวุโสน้อยของเราให้ดี  เพราะถ้ามีผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งอาวุโสสูง ใครกล้าเสนอความเห็นมากบ้าง

 

เปิดอกพูดคุยรุ่นพี่ทุกคน ช่วยกันรวมหัวชนเพื่อแก้ปัญหา 

“สำหรับผม บอกรุ่นพี่ทุกคนเลยว่า ท่านรองผู้บัญชาการ ท่านผู้การ เรามาคุยกันแบบพี่น้อง ผมรับฟังปัญหาของทุกคน นี่คือ โอกาสของผม รับฟังเหตุผลของทุกคน รับฟังข้อเสนอแนะ เป็นโอกาสของผมที่มีมากกว่าผู้ที่อาวุโสมาก  แต่ผมต้องใช้ข้อมูลที่พี่ให้มาทั้งหมดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตกผลึกแล้วส่งไปหาท่านรอง ผู้บัญชาการ ท่านผู้การไปทำต่อ” ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า

“ ผมว่าอาวุโสน้อย ถ้าคุณมองเป็นโอกาสย่อมได้เปรียบ ผมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายหมด แล้วผมมาคิด มาไตร่ตรอง อาจจะถูกใจคนนี้บ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ผมจะสามารถตอบได้ว่า อย่างของพี่มันมีช่องโหว่อยู่นิดนะ  พอมาได้ฟังจากอีกคนมันก็เริ่มสมบูรณ์แบบมากขึ้น เริ่มเต็ม 100 มากขึ้น ผมมอบนโยบาย บอกกับรุ่นพี่ไว้แบบนี้ สงสัยตรงไหนมาถามกันแบบพี่น้อง แล้วผมจะแจกแจงให้ฟัง รับฟังความคิดเห็นของทุกคน รับฟังข้อเสนอของทุกคน รับฟังปัญหาของทุกคนมา ด้วยความเป็นน้อง ผมมั่นใจว่า พี่ทุกคนกล้าพูด อย่าคุยกันด้วยยศ มาคุยกันด้วยความเป็นพี่น้อง เดินมาคุยได้เลย”

นายพลตำรวจหนุ่มยืนยันว่า หากรุ่นพี่จะมาตำหนิ ทำได้ในห้องส่วนตัว แต่เวลาคุยข้างนอกต้องอีกแบบ เพราะเป็นคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตรงนี้รุ่นพี่ทุกคนเข้าใจดี ส่วนตัวเราไม่ได้คิดเป็นวิกฤติ แต่เป็นโอกาส ถามว่า กดดันไหม ไม่นะ เราคุยกันแล้ว พี่ทุกคนแฮปปี้ ได้แสดงความคิดเห็น ได้พูด ที่ผ่านมาอาจไม่กล้าเสนอมาก ปัจจุบันพูดได้เต็มที่

 

ขับเคลื่อนนโยบายสู่ความเป็นเลิศ ระเบิดมอตโตความปลอดภัยประชาชน

ส่วนนโยบายการการปฏิบัติราชการ นอกจากวิสัยทัศน์ให้เป็นหน่วยงานที่เป็นเลิศในการดูแล และพิทักษ์ รับใช้ประชาชน ยังมีค่านิยมองค์กรตามแบบ Metropolitan Police Bureau ( MPB) ประกอบด้วย M-Motivate ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นเลิศ P-People centered approach ประชาชนเป็นศูนย์กลาง B-Be Safety and Security สังคมสงบสุขประชาชนปลอดภัย

กำหนดพันธกิจ ปกป้อง เทิดทูน และพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของราชอาณาจักร บังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรม ให้บริการประชาชนด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างความเชื่อมั่น และศรัทธาให้กับประชาชน

แก้ไขปัญหาการจราจรอย่างเป็นระบบ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ แก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ตลอดจนบำรุงขวัญกำลังใจข้าราชการตำรวจ พร้อมชูมอตโตของหน่วยที่ว่า “นครบาลใส่ใจ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน”

 

ยืนยันไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกน้อง วางเป้ามองทุกคนต้องมีความสุข

ตลอดชีวิตรับราชการเขาแทบเรียกได้เต็มปากเป็นลูกหม้อนครบาล มองทะลุปรุโปร่งสารพัดปัญหาของเมืองหลวง พล.ต.ท.สำราญว่า ประเด็นแรกกำลังของตำรวจนครบาลมี 31,878 อัตรา แต่ยังไม่เต็ม ตำแหน่งประมาณ 21,020 นาย ตัวเลขอาจจะขาดเกินนิดหน่อย เท่ากับขาดประมาณ 1 หมื่นนาย ถามว่าประชากรกรุงเทพมหานครเทียบแล้ว ตำรวจ 1 นาย ดูแลคนกรุงเทพมหานครประมาณ 230 กว่าคน ในภาพที่เป็นอัตราตัวเลขที่คิดกัน แต่จริงๆ ต้องรับผิดชอบประชาชน เฉลี่ยประมาณ 1 คน ต่อ 500 เกินมาตรฐานของโลกมาก บางคนอยู่ธุรการก็ยิ่งหนักไปใหญ่

“สิ่งที่ผมต้องทำให้ได้ก่อนอื่น ต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาผม พวกเขาอาจจะมีปัญหาเยอะ ผมจะไม่สร้างโครงการอะไรที่เป็นภาระให้ลูกน้องเพิ่มเติมอีก แต่ในเวลางานขอให้ทำเต็มที่ ผมจะลดทอนเวลานอกของคุณให้ได้ทำน้อยที่สุด อีกประเด็นคือ ผมจะบอกผู้ใต้บังคับบัญชาของผมตั้งแต่ดอนเมืองแล้ว มีอะไร เรามาคุยกัน สมัยก่อนมาคุยกับผู้กำกับ กับผู้การก่อน เดี๋ยวนี้ต้องบอกว่า มาคุยกับผู้บัญชาการแล้ว ถ้าผู้บัญชาการทำไม่ได้ จะรับผิดชอบเอง แต่ถ้าคุยแล้ว จบ คือจบ วันนี้ถ้าถามว่า นโยบายเป็นอย่างไร ก็ต้องรับฟังปัญหาลูกน้องก่อน”

“หลังจากนั้น ผมพร้อมรับฟังปัญหาของชาวบ้านเขาก่อน แล้วเรามาปรับว่าจะใช้ทำคนน้อยให้เป็นคนมาก จะใช้มวลชนอย่างไร เราจะใช้ทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย แต่ขวัญกำลังใจต้องมี  เหมือนที่ผมชอบพูด คนสำราญ งานสำเร็จ แต่ไม่ใช่สำราญคนนี้ หมายถึงว่า ขอให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเรามีความสุขก่อน มีความสุข หมายถึงว่า มีความสุขตามความเหมาะสม” พล.ต.ท.สำราญบอกแนวการบริหารทัพ

 

ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวภัยน้อยลง ลงจับเข่าหารือกลุ่มคนคิดต่าง

เขาย้ำว่า ไม่ได้หนักใจอะไร แม้ช่วงแรกกดดันบ้าง พอคุยกับรุ่นพี่ว่า ต้องทำงานด้วยกันแล้วคลายกังวล  หันมามองเรื่องอาชญากรรมของเมืองหลวง ในส่วนตัวเชื่อว่า อาชญากรรมมีทุกที่ เมื่อคนมาอยู่รวมกัน ต้องมีอาชญากรรมเป็นธรรมดา  เพียงแต่ว่า เราจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวอาชญากรรมน้อยลงอย่างไร น้อยลงกี่เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ประชาชนเข้าซอยนี้ไม่ได้เลย แบบนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะที่นี่เป็นเมืองหลวง ที่นี่เป็นประเทศไทย

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยกตัวอย่างสมัยคุมโรงพักดอนเมืองมีการบอกว่า ตำรวจเดินเข้าซอยโรงปูนไม่ได้ ยาเสพติดเยอะ ระบาดหนักมาก คิดว่า จะเป็นไปได้อย่างไร ต้องพื้นที่ไปดูเอง ลงไปแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นอาชญากรรมจะบอกไม่มี ไม่ได้ จะทำให้เป็นศูนย์คงไม่มีที่ไหนทำได้ แต่เราต้องลด เพื่อให้คนหวาดกลัวอาชญากรรมน้อยลง มุ่งเน้นว่า ต้องพยายามไม่ให้เกิดเป็นหลัก ถ้าเกิดต้องพึ่งฝ่ายสืบสวน แต่เราจะใช้ฝ่ายสืบสวนน้อยลง หากฝ่ายป้องกันปราบปรามแข็งแกร่ง

เช่นเดียวกับความคิดต่างทางการเมืองกลายเป็นชนวนการชุมนุมยืดเยื้อมายาวนาน พล.ต.ท.สำราญแสดงความเห็นว่า ความคิดทางการเมืองเราเห็นต่างกันได้ แต่จะใช้ความรุนแรงไม่ได้ ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลอำนวยความสะดวก ถ้าการชุมนุมเริ่มไม่สงบก็มีขั้นตอนตามกฎหมาย ให้ตำรวจระงับยับยั้งตามกฎการใช้กำลังของชุดควบคุมฝูงชน

 

ยึดหลักเจรจาหาทางออก ต้องบอกตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

กระนั้นก็ตาม แม่ทัพตำรวจเมืองหลวงเลือกที่จะพูดคุยเจรจากันมากกว่าเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายเบาลง เหมือนบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง “ตอนควบคุมตัวมา  70 กว่าคน ผมคุยกับทุกคนว่า ตำรวจไม่ใช่ศัตรู โกรธแค้นพี่เรื่องอะไร มีสาเหตุอะไรกับพี่ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรไม่ต้องพูดถึง ปัจจุบันเรามาคุยกันใหม่ พยายามขอร้องและทำความเข้าใจว่า ตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้งกัน น้องถูกทำร้าย น้องถูกลักทรัพย์ พี่ก็ต้องไปช่วย แล้วทำไมเราสองคน ต้องมาอยู่ตรงกันข้ามกัน แล้วทำไมเราไม่มีโอกาสได้มาคุยกันแบบนี้”

“มีบางคน บอกไม่พอใจตรงนั้น ตรงนี้  ผมบอกไปว่า พี่ไม่บังคับน้อง ไม่บังคับคุณ แต่ว่าจะมาใช้ความรุนแรงไม่ได้ สังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้  ความคิดเห็นที่แตกต่างจะต้องไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง เป็นหน้าที่ของตำรวจถ้าจะเกิดอะไรขึ้นต้องรับผิดชอบ ผมสั่งลูกน้อง ผมก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าสั่งกองกำลังฝ่ายป้องกันปราบปรามเข้าไปในพื้นที่เพื่อป้องกัน ดูแลชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน ดูแลความสงบสุขให้กับชาวบ้าน” นายพลผู้นำหนุ่มระบายความรู้สึก

เจ้าตัวยังบอกอีกว่า  ความคิดเห็นส่วนตัวจากที่ได้คุยกับผู้ชุมนุมพบว่า พวกเขามาไกลกันเกินไป พวกเขาก็ยอมรับตรงจุดนี้ว่า มาไกลจริง แล้วทะเลาะกันเรื่องอะไรก็ตอบไม่ได้ บอกแค่ว่า ตามเพื่อนมา ตำรวจทำได้เพียงสร้างความเข้าใจ ให้โอกาส แนะนำทางที่ดีเพื่อป้องปรามว่า พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นห่วง “สมัยก่อนผมเคยเสนอออกหมายจับนักเรียนตีกัน  กระทั่งจบการศึกษามีงานทำดีเงินเดือน 8 หมื่นบาทกลับมาโดนจับเพราะหมายค้างเก่าสมัยเด็ก พ่อแม่มาคุย มาขอ ต้องบอกว่า ถ้าวันนั้นคุณพ่อระงับยับยั้งเอาไว้ วันนี้คุณพ่อก็ได้ลูกที่มีความมั่นคง มีหลัก มีฐาน ไม่ต้องมาถูกจับตามหมายจับของผม”

 

อ้อนขอทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ไม่ได้วาดฝันนั่งบัลลังก์สูงสุด

กับการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่มีแนวโน้นมากขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ พล.ต.ท.สำราญพยายามใช้ทุกภาคส่วนร่วมกันการป้องกัน อาจจำเป็นต้องดึงประชาชนเข้ามาช่วยจะจบแค่ที่ตำรวจอย่างเดียวไม่ได้  เพราะประชาชน คือ ตำรวจคนแรกของสังคม เวลาอยู่ในชุมชน ต้องเป็นตำรวจคนแรกของชุมชนเองในมุมงานป้องกันปราบปราม มีกำลังตำรวจเข้าไปเสริม แก้ไขปัญหา ทฤษฎีต่าง ๆ มีมากมาย แต่คงไม่มาพูดถึงทฤษฎีกัน เนื่องจากประชาชนสำคัญกว่า  “ถึงอย่างไรผมก็ต้องเข้าไปหาประชาชน เพราะตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชน แล้วประชาชนก็ต้องเป็นที่พึ่งของตำรวจด้วย ต้องให้ข่าว ต้องพูดคุยกัน”

ถามถึงอนาคตที่ถูกมองอาจเส้นทางยาวไกลถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้าตัวพูดชัดว่า ไม่ได้หวังอะไรตรงนั้น แค่ทำหน้าที่ในทุกตำแหน่งให้ดีทีสุด แต่ก่อนหวังแค่ว่าได้เป็นผู้การ 191 พอใจแล้วตอนนั้นคิดแค่นี้ ตอนนี้เลยจากการเป็นผู้การ 191 มาแล้ว มาถึงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนตำแหน่งสูงสุดในภายภาคหน้า เราไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จริง ๆ นิสัยเป็นคนที่ชอบทำงานแบบสงบๆ ด้วยซ้ำ

“เกือบทั้งชีวิตรับราชการ ผมชอบใช้เวลาอยู่กับลูกน้อง และส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตแต่กับนครบาล ถึงเวลานี้ทุกส่วนต้องขับเคลื่อน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลทุกคนเริ่มเข้าเกียร์ 5 เต็มที่ ฟิตกันมาก ผมก็ต้องมีหน้าที่คอยดูแล แบ่งปันน้ำใจผู้ใต้บังคับบัญชา อยู่เคียงข้างพวกเขา ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผมมองอย่างเดียว คือ ขวัญกำลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชา”

 

น้อมนำพระราชดำรัสในหลวง .9  ก้าวตามต้นแบบผู้เป็นนายรุ่นเก่า

พล.ต.ท.สำราญเสริมอีกว่า โชคดีที่ได้ผู้บังคับบัญชาเก่า ๆ เป็นต้นแบบ ได้อยู่กับท่านจักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา เก่งงานสอบสวน  มั่นใจในงานป้องกันปราบปรามที่ได้เรียนรู้ตั้งแต่ยุคท่านดำรงศักดิ์ นิลคูหา ต่อด้วยท่านอดุลย์ แสงสิงแก้ว ได้ท่านฉันวิทย์ รามสูต เป็นแม่แบบให้ เช่นเดียวกับท่านวรรณรัตน์ คชรักษ์ ล้วนเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาที่ดี หลายท่านช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้เราเดินตามแบบอย่างมั่นใจ และไม่ต้องไปกลัวอะไร หากทำถูกต้อง

เจ้าตัวยังน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาล 9 ในการเสด็จออกมหาสมาคมงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 และปี 2553 พระราชทานไว้ทำนองเดียวกัน ใจความสำคัญว่า ขอให้ท่านทั้งหลาย ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วตั้งใจให้เที่ยงตรง หนักแน่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม

“มีความมีสติ รู้ตัวเสมอ เพราะการกระทำการโดยประมาท ขาดความรอบคอบ เป็นเหตุใหเกิดความผิดพลาดเสียหายในหน้าที่ และการกระทำโดยขาดสติยั้งคิด ขาดเหตุผล ความรู้จักถูกผิดนั้น เป็นเหตุให้เกิดความหลง ความลืมตัว ทำให้การกระทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่โดยชอยได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก อาจจะนำความเสีย เสื่อมสลายมาสู่ตนเอง ตอดชนประเทศชาติได้”

 

หวังล้างภาพลักษณ์หน่วยติดลบ สร้างนักรบรุ่นใหม่ทำความเข้าใจ

“ผมก็พยายามศึกษาพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วบอกทุกคนให้ทำความเข้าใจ ไม่ต้องไปกลัวการทำหน้าที่ ผู้บัญชาการจะอยู่เคียงข้าง ขอให้ยึดหลักแน่นหนักในความถูกต้อง มีสติยั้งคิด มีเหตุผลที่จะปฏิบัติหน้าที่ของของตัวเองให้ดีที่สุด” พล.ต.ท.สำราญให้เหตุผล

เขายอมรับว่า ภาพพจน์ตำรวจที่ชาวบ้านมองติดลบมากในปัจจุบัน เพราะตำรวจใกล้ชิดประชาชน ตำรวจเป็นผู้ใช้กฎหมาย อาจจะใช้บังคับชาวบ้านได้ แต่ความระมัดระวังต้องเกิดขึ้น เราห้ามไม่ได้ เราจะทำให้ชาวบ้านมั่นใจตำรวจอย่างไรว่า ถ้าเราทำแล้วส่งผลดีกับพวกเขา ส่งผลดีกับชุมชนพวกเขา ส่งผลดีกับครอบครัวพวกเขา เราอาจจะทำไม่ได้ 100เปอร์เซ็นต์ เพราะการกระทำของเราถูกใจฝ่ายหนึ่งจะไม่ถูกใจฝ่ายหนึ่ง ปัญหาคือ เราทำถูกใจฝ่ายนี้ แล้วเราชี้แจงให้ฝ่ายนี้เข้าใจจะซอฟท์ลง แต่ไม่กล้าการันตีเรื่องอคติของคน เพราะความคิดเห็นอยู่ภายใน ถึงอย่างไรต้องทำความเข้าใจ

ยิ่งโลกโซเชียลในปัจจุบันที่ตำรวจมักตกเป็นเหยื่อ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสารภาพว่า ตำรวจเป็นรองในเรื่องโซเชียล อาจเพราะเน้นการทำงานมากเกินไป ไม่ได้ดูเรื่องตรงนี้ ได้ฝากท่านโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาลไว้แล้วส่วนหนึ่ง บางทีเราอาจใช้รุ่นเด็กๆ ขึ้นมาบ้าง เป็นระดับผู้การ หรือระดับผู้หมวดจบใหม่เป็นทีมสตาฟฟ์ เพื่อให้ได้มุมมองของคนรุ่นใหม่ ครอบคลุมเข้าถึงคนเจนเนอร์เรชันเอ็กซ์ เจนเนอร์เรชันวาย ไปจนถึงเจนเนอร์เรชันแซด เพราะว่าโลกเปลี่ยน ตำรวจต้องเปลี่ยนตามโลก ต้องลองคิดนอกกรอบ

อยากรู้เป็นคนอย่างไรต้องถามคนอื่น ยืนหยัดพาคนบำบัดยาเสพติดอย่างจริงจัง

ทั้งท้ายว่ากันถึงเรื่องตำรวจนอกแถว พล.ต.ท.สำราญมีมุมคิดว่า ส่วนใหญ่ผู้บังคับบัญชาการจะไม่ค่อยกล้าลงโทษ อาจกลัวลูกน้องไม่ชอบ กลัวลูกน้องเกลียด แต่ถ้าเราให้สวัสดิการแล้ว เราสอนแล้ว ยังดื้ออยู่ก็ต้องลงโทษ ลองไปถามที่ดอนเมือง ถามที่บางนา ถามที่ 191 ถามที่พระโขนง ให้ดูภูมิหลังของผู้บัญชาการคนนี้ ไปถามลูกน้อง ภูมิหลังเป็นยังไง ถ้าบอกว่า ใช้ไม่ได้ ก็ใช้ไม่ได้ ถ้าลูกน้องบอกว่า ผู้บัญชาการคนนี้ดีก็ให้ความเป็นธรรมกับกันด้วย

“ผมไม่ได้ตอบเอง ให้ไปถามผู้ใต้บังคับบัญชา ถามทั้งหมดเลย แต่ละหน่วยที่ผมผ่านมา  อย่างนี้ผมแฟร์ไหม อย่ามาถามผมว่า ผมเป็นคนอย่างไร  ต้องถามจากลูกน้อง เพราะว่า ถ้าถามผม ผมตอบไม่ได้หรอก แล้วคงไม่เชื่อผม ต้องไปถามคนกลาง ที่ผมเคยอยู่กับลูกน้องมา แล้วอย่าถามคนเดียว ต้องถามภาพรวม” พล.ต.ท.สำราญน้ำเสียงจริงจัง

ขณะที่การแก้ปัญหายาเสพติด แม่ทัพตำรวจเมืองหลวงให้ทัศนะว่า ส่วนตัวชอบคิดนอกกรอบ คดีเสพไม่ต้องดำเนินคดี ส่งเข้าไปบำบัดให้หมด ไปบำบัดจริง ๆ ไม่ใช่มีพิธีเปิด พิธีปิดแล้วเลิกกัน ตำรวจจะรู้จากประชาชนแจ้งมา ใครติดยาเสพติด เราเอาไปบำบัด เพราะการจับกุมถ้าวันนี้เราได้ 2 ล้านเม็ด พรุ่งนี้ก็เข้ามาอีก 4 ล้านเม็ด 8 ล้านเม็ด ยกกำลังไปเรื่อย ขบวนการค้ายาเสพติดหลุดรอดไปรอบเดียวคุ้มแล้ว ตำรวจถึงต้องคุมดีมานด์ พ่อค้ายาเสพติดหวังเงิน เราสามารถดำเนินการตามยุทธการ ตามมาตรการยึดทรัพย์ได้จบ

 

 

รางวัลและคำชมเชยประดับชีวิต

สมัยดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง ได้รับคัดเลือกกับ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี โดย พล.ต.ต.จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลให้เป็นคณะทำงานด้านการสอบสวนของกองบัญชากรตำรวจนครบาล

ปี 2547 ได้รับประกาศนียบัตรชมเชย ฝ่ายป้องกันปราบปราม กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรณีจับกุมคดีปล้นรถแท็กซี่ พื้นที่สถานีตำรวจนครบาลบางชัน และกรณีจับกุมคนร้ายปล้นรถแท็กซี่ พื้นที่สถานีตำรวจนครบาลบางโพงพางจาก พล.ต.ต.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ปี 2548 ได้รับประกาศนียบัตรชมเชย ฝ่ายป้องกันปราบปราม กองบัญชาการตำรวจนครบาล กรณีจับกุมคดีฆ่าผู้อื่น พื้นที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม จากพล.ต.ต.วิโรจน์ จันทรังษี รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และรับเกียรติบัตรผลการปราบปรามและจับกุมยาเสพติดรายใหญ่ตามนโยบายรัฐบาลช่วงทำสงครามกับยาเสพติดจำนวน 5 คดีจากนายกรัฐมนตรี

ปี 2558 ได้รับเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปีพุทธศักราช 2557 จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ปี 2560 ได้รับโล่รางวัลผลงานระดับดีเด่น ด้านการปราบปรามยาเสพติดจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รับรางวัลชนะเลิศ การระดมติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2560 กองบัญชาการตำรวจนครบาล

ปี 2562 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านสืบสวนจับกุมปราบปรามยาเสพติดจาก พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ปี 2563 ได้รับรางวัลในฐานะบุคคลที่มีผลงานระดับยอดเยี่ยมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ปี 2564 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณเป็นผู้ที่เสียสละและทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการตำรวจปราบปรามยาเสพติดจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

 

RELATED ARTICLES