“ผมรู้สึกแย่ เพราะเหตุการณ์นี้มีคนตาย”

ถูกบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์เลือด 6 ตุลาม 2519 เป็นเสมือนตัวจุดชนวนแห่งความวิปโยคของเหตุการณ์ครั้งนั้น หลังจากตัวเองรับบทนำในละครเวทีล้อการเมืองบริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับ “ฉากแขวนคอ” ที่ถูกเอาไปตัดต่อแต่งเติมเชื้อเพลิงกลายเป็นไฟลามท้องทุ่งสนามหลวง

อภินันท์ บัวหภักดี ไม่เคยลืมจุดหักเหของประเทศที่ตัวเขามีส่วนต้องรับผิดชอบด้วยคนหนึ่ง แม้เวลาผ่านล่วงเลยมากว่า 37 ปีแล้ว

เขาเป็นคนกรุง ลูกครูประชาบาล ตอนเล็กค่อนข้างเกเร อาศัยพี่ชายเป็นอาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน จึงมีโอกาสเข้าไปเรียนจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นนักกีฬาโรงเรียนเก่งทั้งว่ายน้ำ และกรีฑา

ตอนแรก อภินันท์วาดหวังอยากเป็นครูตามรอยเท้าพ่อ แต่พอได้เรียนรู้โลกมากขึ้นเลยเปลี่ยนไปอยากรับราชการทำหน้าที่ปลัดอำเภอ ก่อนตัดสินใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2518 รอแยกไปคณะรัฐศาสตร์ในปีที่ 2

เจ้าตัวเล่าว่า เข้าเป็นนักศึกษาน้องใหม่ได้เล่นกีฬาคว้าเหรียญทองกรีฑากีฬามหาวิทยาลัย ไม่ได้สนใจกิจกรรมการเมืองเท่าไรนัก ปรากฏว่า ตึกกิจกรรมอยู่ติดกับชุมนุมกีฬาพอดี ทุกวันเราจะเห็นภาพเพื่อนทำกิจกรรมจนรู้จักกันหมดเลยเข้าไปช่วยบ้างบางครั้ง แต่ไม่ได้ฝักใฝ่มาก ด่าเพื่อนด้วยซ้ำว่า ไปยุ่งเรื่องการเมืองมากทำไม อาจเพราะเราเป็นนักกีฬา

นอกจากเป็นนักกีฬาดาวรุ่งตัวยงของสถาบันแล้ว อภินันท์ ยังมีความสนใจเลือกเข้าชมรมนาฏศิลป์และการแสดง ที่ต่อมากลายเป็นชมรมการละคร พอตอนเด็กชอบเกี่ยวกับการรำ และดนตรีไทย  แต่ที่ธรรมศาสตร์ชมรมนี้จะมีบทบาทเกี่ยวกับทำละครล้อการเมือง มี วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษารุ่นพี่อยู่ในชมรมด้วย

เขาร่วมแสดงบางโอกาสในบทที่ไม่เด่นนัก เพราะทุ่มเวลาไปกับซ้อมกีฬามากกว่า กระทั่งความคุกรุ่นในบ้านเมืองเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2519 หลังจาก จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีบวชเป็นพระกลับเข้าประเทศ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาประกาศต่อต้านและจัดชุมนุมกันขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การนักศึกษาเรียกประชุมหน่วยกิจกรรมทั้งสถาบันเพื่อแจงว่าใครต้องทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะชมรมนาฏศิลป์การละคร

อภินันท์บอกว่า ชมรมคิดละครมาเรื่องหนึ่ง กำหนดให้เราเป็นแค่ตัวรำ ไม่มีบทบาทมากนัก นัดกันจะแสดงวันที่ 5 ตุลาคมที่ลานโพธิ์ เพราะเป็นวันที่นักศึกษาปี 1 ทั้งหมดต้องสอบทำให้มีคนมาจำนวนมากจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดประกายการชุมนุมด้วยวิธีการประท้วงไม่เข้าห้องสอบ แม้การจะชักชวนให้นักศึกษาหยุดสอบนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก การจะหยุดต้องมีอะไรที่กระทบจิตใจพอสมควร

“ชมรมจึงคิดพลอตทำเป็นสตรีทเธียเตอร์ให้นักแสดงมานอนเป็นคนตายเป็นขั้นบันไดสะท้อนให้เห็นถึงผลการปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เป็นช่วงจังหวะสำคัญตรงที่ก่อนหน้ามีช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมโดนแขวนคอ เขาก็เลยเอาฉากนั้นเป็นเหตุสะเทือนขวัญ เพราะเขาโดนไปติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอมแล้วก็ถูกจับแขวนคอ” อภินันท์ว่า

ชมนุมนาฏศิลป์การละครกำหนดให้วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ รับบทเด่นโดนแขวนคอในละครล้อการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ ขณะที่อภินันท์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตอนเช้าของก่อนแสดงจริง 1 วัน เขาจึงนัดเพื่อนไปดูหนังที่ศาลาเฉลิมไทย แต่เพื่อนกลับเบี้ยวทำให้เขาเดินเตร็ดเตร่เข้าไปในมหาวิทยาลัยผ่านหน้าตึกองค์การนักศึกษาเห็นชมรมกำลังซ้อมฉากแขวนคอกันอยู่

หนุ่มใหญ่ผู้อยู่ในประวัติศาสตร์เดือนตุลาบอกว่า เข้าไปแวะดูเพลิน ๆ เห็นพวกเขากำลังเอาผ้าพันทำห่วงปลอมแขวนคอวิโรจน์อยู่ ปรากฏว่า วิโรจน์บ่นเจ็บอยู่นานไม่ได้ หากละครเล่นนานเกินไป เนื่องจากไม่แข็งแรงพอ “ทีมงานหาคนเปลี่ยนตัวแสดงแทนก่อนชี้มาที่ผม เพราะผมไม่มีอะไรทำอยู่แล้ว ตอนนั้นเป็นนักกีฬากำลังฟิตด้วย ผมไม่คิดอะไร มองว่า มันเป็นการแสดงก็เลยรับบทแทน”

วันรุ่งขึ้นการแสดงละครผ่านไปด้วยดีประสบความสำเร็จสามารถเรียกให้นักศึกษาหยุดสอบหันมารวมตัวกันแน่นลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตัวเป็นเวทีชุมนุมใหญ่ ทว่าบ่ายวันนั้นหนังสือพิมพ์ดาวสยามลงภาพฉากแขวนคอพาดหัวกล่าวหา “นักศึกษาหมิ่นฟ้าชาย” ทั้งที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงภาพเดียวกัน แต่ไม่ได้พาดพิงอะไรถึงสถาบัน บอกแค่ว่าเป็นการแสดงของนักศึกษา

อภินันท์จำไม่เลือนว่า แสดงละครเสร็จก็กลับบ้านไม่ได้ร่วมชุมนุมอะไร พอมีประกาศวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยระบุการแสดงของนักศึกษาหมิ่นองค์รัชทายาทด้วยการแขวนคอเราก็ตกใจรีบนั่งเรือข้ามฟากจากบ้านที่อยู่วัดดาวดึงษ์กลับมามหาวิทยาลัย สถานการณ์เริ่มตึงเครียดมีคนมาล้อมอยู่หน้าธรรมศาสตร์ กางหนังสือพิมพ์ดาวสยามวิพากษ์วิจารณ์ภาพข่าวนั้น เราเข้าไปดู แต่ไม่มีใครจำเราได้ เห็นในรูปแล้วเหมือนมาก คิดว่ามาจากการแต่งภาพแน่นอน เพราะในการแสดงแค่แต่งให้หน้าซีดเหมือนคนตาย จำได้ว่า หลังแต่งหน้าเสร็จก็ยังส่องกระจกดูตัวเองชื่นชมว่า แต่งหน้าได้เหมือนคนตายมาก

เขายอมรับว่า พอเห็นรูปภาพในหนังสือพิมพ์ยังตกใจว่า นี่เราหรือ พอเข้าไปในธรรมศาสตร์ ขณะนั้นกำลังมีการแถลงข่าวในเรื่องนี้พอดี ให้เราเป็นคนแถลงด้วยเลย แต่ไม่ทันแล้ว เพราะหนังสือพิมพ์ลงกล่าวหาแล้วว่า มีการหมิ่นองค์รัชทายาท กลุ่มกระทิงแดงเข้ามาล้อมมหาวิทยาลัยกล่าวหาว่า นักศึกษาจะล้มราชบัลลังก์ มีการปลุกระดมทางวิทยุยานเกราพูดเรื่องเดียวกันหมดว่า นักศึกษาแสดงละคร อาฆาตมาดร้ายพระบรมฯ จะโค่นล้มราชบัลลังก์

หลังแถลงข่าวเสร็จ อภินันท์ตัดสินใจนอนค้างที่ตึกองค์การนักศึกษารอดูสถานการณ์ พอเช้าวันรุ่งขึ้นเริ่มมีเสียงปืนดัง สลับกับเสียงระเบิด อดีตพระเอกละครเวทีล้อการเมืองเล่าอย่างตื่นเต้นว่า เพื่อนที่อยู่ชมรมวิ่งเข้ามาตามบอกว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เรียกให้คนที่แสดงละครและทีมงานไปคุย ประกอบด้วย เขา วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ อนุพงศ์ พงศ์สุวรรณ และคนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาอีก 3 คน คือ สุธรรม แสงประทุม สุรชาติ บำรุงสุข และประพนธ์ วังศิริพิทักษ์

“มีตำรวจมารอรับที่หน้าประตูท่าพระจันทร์ ระหว่างออกไปต้องหลบวิถีกระสุนตลอด เห็นชัดๆ เลยว่า มีลูกปืนยิงเฉียดหัวไปเหมือนในหนังสงคราม เสียงปืนดังต่อเนื่อง เสียงระเบิดก็มี นักศึกษาถูกล้อมปราบแล้ว ไปถึงบ้านนายกรัฐมนตรีกำลังจะก้าวลงจากรถ ตำรวจก็เปลี่ยนแผนนำพวกผมเข้าคุกสันติบาลเลย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้คุยรายละเอียดกัน และไม่รู้เรื่องข้างนอกแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น ตอนหลังถึงรู้ว่า เกิดการปฏิวัติล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช”

พวกเขาหมดอิสรภาพจองจำอยู่ในคุกตั้งแต่วันที่  6 ตุลาคม 2519 จนถึง 20 กันยายน 2520 ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กบฏในราชอาณาจักร ก่อจลาจลการเมือง ฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ตลอดเวลาปีเศษที่อยู่ในลูกกรง อภินันท์ระบายว่า ไม่คิดสู้คดีอะไรแล้ว เพราะจะไปสู้อะไรได้ วันหนึ่งได้รับทราบว่า มีการแจ้งความเพื่อให้มาขึ้นศาลทหาร ในคดีการกระทำคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นเราคิดไม่ถึงว่าจะเป็นแบบนี้ ไม่เคยอยู่ในแวดวงการเมืองมาก่อน พ่อแม่ไปบนบานศาลกล่าวกันวุ่นวาย เราก็ไม่รู้จะบอกอย่างไรว่า เราไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไร

ศิษย์เก่าลูกแม่โดมสะท้อนชะตากรรมตัวเองในวัยรุ่นว่า เข้าเรือนจำบางขวางอยู่แดนนักโทษการเมือง ไม่ได้ยุ่งกับใคร ไม่ได้ทำอะไรด้วย นอกจากอ่านหนังสือสามก๊ก เพชรพระอุมาจนจบเกลี้ยง กว่าจะได้คุยกับข้างนอก รู้เหตุการณ์ข้างนอกนานหลายเดือน แต่ไม่น่าตื่นเต้นเท่าวันที่ 26 มีนาคม 2520 ที่ พวกกบฏของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เข้ามาอยู่ อยู่ได้ 1-2 วัน ก็โดนประหาร ตอนฉลาดเข้ามาก็ได้คุยกัน มี สนั่น ขจรประศาสน์ อัศวิน หิรัญศิริ บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เข้ามาอยู่ด้วย ถึงรู้ว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมือง มีแต่เรื่องผลประโยชน์ เรื่องเงินทั้งนั้นที่ทำปฏิวัติ ผิดกับนักศึกษาที่จะมีอุดมการณ์ซ้ายบ้าง นิยมบางอย่างที่อาจเรียกว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นจะล้มเจ้า เป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเดียว

“อยู่ในคุก ก็ฝันว่า หนีคุกทุกวัน เป็นเรื่องปกติของคนติดคุกที่จะฝันแบบนั้น กลางคืนดึกๆ ก็ตื่นมาเหนื่อยทุกวัน ไม่มีความสุข พวกที่เป็นแรงกระตุ้น ก็คือ พวก เสธ.หนั่น เพราะเขาออกมาก่อน มีเส้นสาย ต่อมารัฐบาลเปลี่ยน เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ผมถึงได้ออกมา โดยมีเสธ.หนั่นมาเอาบุญคุณว่า เป็นคนเจรจาให้ออกมาได้”อดีตนักโทษการเมืองเล่าฉากชีวิต

คืนสู่โลกเสรีภาพ เขากลับไปเรียนธรรมศาสตร์อีกครั้ง แต่เบนความตั้งใจเดิมเปลี่ยนสายไม่เป็นปลัดอำเภอไปเข้าเรียนคณะวารสารศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่า สื่อมวลชนเป็นตัวที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ สื่อที่เลือกข้างเป็นตัวที่จุดชนวนสร้างภาพให้นักศึกษาน่าเกลียด น่ากลัว เป็นตัวยุยงให้กระทิงแดง ให้ประชาชน เกลียดชังนักศึกษา ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง เขาจึงอยากเป็นสื่อเอง

แต่พอเรียนจบ อภินันท์กลับเลือกไปทำหนังสือ “เที่ยวรอบโลก” เดินทางท่องทั่วโลกนาน 4-5 ปีต้องออก เพราะต้นสังกัดรู้ประวัติเคยพัวพันกิจกรรมการเมืองเมื่อเดือนตุลาจนพาเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในคุกเป็นปี เขาเลยลาออกไปเขียนสคริปต์รายการ “กระจกหกด้าน” ได้ไม่กี่เดือนขยับมาอยู่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รับบทบรรณาธิการ นักเขียน และช่างภาพของอนุสาร อสท.จวบจนปัจจุบัน

“ได้เที่ยวทุกที่ ถือว่า ชีวิตมีความสุขกับการท่องเที่ยว” อภินันท์ยิ้มอารมณ์ดี ถึงกระนั้นก็ตาม เจ้าตัวไม่อาจเลี่ยงคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เขายินดีเผยเรื่องราวตามข้อเท็จจริงที่เผชิญมาทุกกระเบียดนิ้วโดยไม่มีอำพราง เขาบอกด้วยว่า เรื่องของ 6 ตุลาจะเป็นบทเรียนของการที่คนไทยเราแตกแยกกันเอง เป็นบทเรียนของครั้งหนึ่งมีการล้อมปราบนักศึกษา เหมือนกับมีการสร้างสถานการณ์ทางการเมืองขึ้นแล้วปลุกระดมเอาเรื่องไม่จริงมาใช้ มาหลอกลวงกันทางการเมือง กลายเป็นบทเรียนว่า ให้ระวัง จะเกิด 6 ตุลาขึ้นอีกครั้ง

“ผมพยายามชี้แจงพูดความจริง พยายามออกสื่อเกี่ยวกับภาพชนวนของเรื่องทั้งหมด ถึงวันนี้ก็คงยังไม่มีใครเชื่อ นักข่าวไทยรัฐ หรือคนที่มาดูการแสดงได้ให้การว่า ไม่มีใครคิดว่า จะเหมือนตรงไหน ทุกคนไม่มีปฏิกิริยาอะไร แม้แต่ช่างภาพดาวสยามก็ให้การว่า ถ่ายรูปไป ไม่เห็นมีอะไรแปลก เอาฟิล์มไปส่งแล้วก็กลับบ้าน ที่เป็นเรื่องราวขึ้นก็อยู่ที่คนที่ตีประเด็นพาดหัวข่าว ก็เหมือนทุกวันนี้ยิ่งร้ายกว่าอีก ส่วนมุมมองของผม บางมุมก็อาจจะคล้าย แต่เจตนาไม่ใช่ มันเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง”

“ผมรู้สึกแย่ เพราะเหตุการณ์นี้มีคนตาย มีการล้อมปราบ มีคนตายเยอะ กลายเป็นว่า ผมเป็นชนวน ตัวแปร ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ไม่รู้จะทำอย่างไร จะไปกระโดดตึกตายก็ไม่ใช่” ปฐมบทตุลาเลือด 41 ปีที่แล้วเสียงเศร้า

 

RELATED ARTICLES