โลกที่ไม่เหมือนกัน

 

อีกโปรเจกต์ที่เป็น “การบ้านข้อใหม่” ของตำรวจโรงพัก

โครงการ   Cyber Village (ไซเบอร์ วิลเลจ) ที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาอาชญากรรมในชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีความรุนแรง สลับซับซ้อนมากขึ้น

ตำรวจต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไปใช้ในการป้องกันปราบปราม

นำร่องไปเมื่อปลายปี 2564  ที่สถานีตำรวจภูธรมะขาม จังหวัดจันทบุรี เป็นสถานีแรก

โครงการ Cyber Village ทำขึ้นมาเพื่อให้ชุมชน หรือหมู่บ้าน ได้ใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้แอปพลิเคชัน เฟซบุ๊ก ไลน์ คลับเฮาส์ ทวิตเตอร์ ส่งชิ้นงานเจ้าหน้าที่ทำงานรูปแบบใหม่ในงานชุมชนมวลชนสัมพันธ์

วัตถุประสงค์สำคัญ คือ ต้องการให้ประชาชนร่วมมือทำงานกับตำรวจในการแก้ปัญหาและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ยาเสพติด หรือเหตุก่อความเดือดร้อนรำคาญที่อาจสร้างความขัดแย้งขึ้นในชุมชน

กำหนดตัวบุคลากรที่มีความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านชุมชนมวลชนสัมพันธ์ที่ผ่านการอบรม ลงไปในพื้นให้ความรู้เกี่ยวกับ สื่อสังคมออนไลน์และแอปพลิเคชันสารพัดในโลกไซเบอร์

วาดหวังให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่

นำเอาโซเชียลมีเดียไปประสานงานเผยแพร่กิจกรรมของคนในชุมชนทดแทนการเก็บข้อมูลภาพถ่ายเป็นเอกสารเข้าแฟ้มแบบดั้งเดิม

ประชาชนทั่วไป ทีมงานและผู้บังคับบัญชาสามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลาแบบ “เรียลไทม์”

ตั้งแต่ พบปะเยี่ยมเยียนชุมชน และค้นหาแกนนำในพื้นที่กระจายข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ตั้งกลุ่มไลน์บุคคลที่เป็นแกนนำเพื่อให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในชุมชน ปลุกเร้าสร้างความตระหนักให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

เทคโนโลยีทางไซเบอร์ยังช่วยทำข้อมูลในพื้นที่ ศึกษาสภาพชุมชน ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ ด้วยการใช้ Google map  Google Street view การแชร์ Location ใน Line เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ บ้านแกนนำ บ้านบุคคลที่ชอบก่อความเดือดร้อนรำคาญ จุดล่อแหลมสุ่มเสี่ยงอาชญากรรม นำมาใช้วางแผนการทำงานป้องกันปราบปรามในหมู่บ้าน

ขณะเดียวกันสามารถสนทนา วิเคราะห์ปัญหาในการประชุมผ่าน Clubhouse , Line Meetting, Google Meetting , Zoom   เปิดโอกาให้ชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็น วางแนวทางแก้ปัญหาชุมชนเอง

ชุดปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์จะลงไปร่วมกันบันทึกภาพถ่าย คลิป หรือใช้แอปพลิเคชัน TikTok  ลงกิจกรรมไว้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Cyber Village ของชุมชนเป้าหมาย สร้างความผูกพัน เล็งหาทีมงาน Admin Page เป็นวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามามีบทบาทให้มากที่สุด

ทว่าหลายโรงพักรับคำสั่งทำการบ้านให้ไปถ่ายทอดต่อยอดโครงการ Cyber Village ได้รับความร่วมมือบ้าง ไม่ร่วมมือบ้าง ทำแบบขอไปทีบ้าง

กระทั่งเริ่มมีเสียงสะท้อนกลับมา

ยกตัวอย่างโรงพักภูธรภาคกลางจัดชุดปฏิบัติการ Cyber Village ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและพบปะเยี่ยมเยียนทำแบบสอบสวน สอนวิธีการเล่นแอปพลิเคชัน Clubhouse ประชาสัมพันธ์ตามโครงการเพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์

โครงการ Cyber Village จะมีส่วน “ย่อโลก” อยู่บนโทรศัพท์มือถือช่วยการป้องกันอาชญากรรม การป้องกันเหตุลักทรัพย์ ตลอดจนภัยมิจฉาชีพหลายรูปแบบที่เข้ามาในโลกออนไลน์ เช่น ฉ้อโกงเงินกู้ หลอกซื้อขายของ และชักชวนเล่นพนัน รวมถึงการสร้างความเข้มแจ็งทางชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด

ท้ายสุดพวกเขาเจออุปสรรคจากความรู้สึกของชาวบ้านที่ต้องยอมรับความจริง

เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเขา แถมประชาชนในเขตพื้นที่ไม่มีอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือใช้ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและคนชรา ไม่สนใจเทคโนโลยี

“ชาวบ้านความคาดหวังตำรวจ แค่ให้ตำรวจทำงานทำตามหน้าที่ของตัวเองในการป้องกันและปราบปรามจับกุมคดียาเสพติดให้ลดลง ไม่สนใจโครงการนี้ เพราะต้องดิ้นรนทำมาหากิน เลี้ยงชีพ แต่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการป้องกันชุมชนจากอาชญากรรม”

ยังมองด้วยว่า โครงการ Cyber Village  เพิ่มความห่างเหินระหว่างตำรวจกับประชาชนในเขตพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ไม่เข้าใจเหตุผลทำไมนำความฟุ่มเฟือย ไม่พอเพียงไปสร้างภาระให้ชุมชนและสวนทางกับการใกล้ชิดประชาชนแบบเป็นกันเอง

เมื่อการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือไม่เสถียร แถมเพิ่มรายจ่ายให้ประชาชนโดยที่ประชาชนไม่ได้อะไร

ภาพรวมจากการสำรวจสอบถามความพึงพอใจ คำตอบคือ ประชาชนไม่อยากเข้าร่วมโครงการ Cyber Village  สำหรับพื้นที่ห่างไกลตามชนบท

พึงพอใจการทำงานตำรวจแบบดั้งเดิม ทุ่มเทความใกล้ชิดเป็นกันเองดีกว่า

คือความแตกต่างระหว่างโลกเสมือนจริงกับโลกแห่งความเป็นจริง

 

RELATED ARTICLES