“ถ้าจะใช้งานผม ต้องไว้ใจผม”

หมายมั่นจะปั้นศักยภาพ “กองปราบปราม” ขึ้นมาน่าเกรงขามเหมือนในอดีตขึ้นอีกครั้ง

พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม ซึมซับวิญญาณนายตำรวจมือปราบมาจาก พ.ต.อ.ไกรสิงห์ พิมลศรี อดีตรองผู้บังคับการกองปราบปราม ผู้เป็นบิดา เมื่อมีโอกาสก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้คุมทัพเก่าสมัยที่ผู้พ่อเคยสร้างชื่อ

ตัวเองจึงยึดถืออุดมการณ์เตรียมสร้างตำนานกองปราบปรามรุ่นต่อไป ท่ามกลางความท้าทายจะทำอย่างไรให้หน่วยงาน “เขี้ยวเล็บ” ของตำรวจติดอาร์มแห่งนี้ กลับมาหยิบยื่นเป็น “ที่พึงสุดท้ายของประชาชน” สมสโลแกนที่มือปราบทั้งหลายวาดฝีมือและลวดลายเอาไว้มากมาย

 

วัยเด็กชอบรับบทหัวโจก ยกพวกนำเพื่อนฝูงไม่กลัวใคร

เส้นทางชีวิตของ พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี เป็นลูกชายคนเดียวในหมู่พี่น้อง 4 คน ด้วยความที่เป็นลูกตำรวจ วัยเด็กค่อนข้างแก่นแก้วถึงขั้นเกเร อยู่โรงเรียนเซนต์จอห์นกลายเป็นหัวโจกยกพวกก่อเรื่องวิวาทต่างสถาบันบ่อยครั้ง

“มันเป็นช่วงวัยรุ่น” พล.ต.ต.อัคราเดชว่า “เห็นว่ามีลูกน้องคุณพ่อ มีคนที่เรารู้จักหลายคน ที่สามารถเป็นเกราะคุ้มกัน เป็นอะไรให้เราหลายๆ อย่างได้ ช่วงนั้นก็มีเพื่อนฝูงเยอะ เป็นคนที่มีพวกมากมาตั้งแต่เด็กเลย เพราะถูกสอนมาว่า ต้องรู้จักแบ่งปัน เวลาไปไหน มีพรรคพวก มีเพื่อนฝูงเดินตามเป็นแถว ตั้งแต่เด็กๆ ก็มักจะเป็นหัวหน้ากลุ่มของเพื่อนๆ ที่เขาเรียกว่าเป็นหัวโจก มักเป็นที่หนักใจของครูบาอาจารย์”

ห่วงเวลานั้น พ.ต.อ.ไกรสิงห์ พิมลศรี เป็นผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม เป็นผู้กำกับประเทศไทยที่ถือว่าใหญ่ มีอำนาจเซ็นหมายค้น หมายจับได้ทั่วประเทศ ทำให้ลูกชายไม่กลัวเกรงใครหน้าไหน ถึงกระนั้นก็ตาม เจ้าตัวเล่าว่า เห็นแบบอย่างที่ดีของพ่อมาเยอะ เห็นทีมงานของพ่อหลายๆ คน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองในเวลาต่อมา เป็นกำลังสำคัญให้องค์กรตำรวจหลายคน

ไม่มีความคิดอยากเป็นตำรวจ ชอบอวดความแข็งแกร่งให้คนยอมรับ

“แต่ตอนเด็กๆ ผมไม่เคยคิดจะเป็นตำรวจเลย ไม่อยู่ในสมอง เพราะว่า ชอบอิสระ รักความเป็นศิลปะ อยากเป็นสถาปนิก อยากเรียนทางนั้น เป็นแฟชั่นของเด็กวัยรุ่นในยุคช่วงปี 2520 การที่จะไปให้มีคนสนใจ หรือทำงานที่น่าสนใจ ต้องเกี่ยวกับศิลปะ เกี่ยวกับอะไรที่เก๋ไก๋ เล่นดนตรีเป็น เล่นกีตาร์ พกปากกาล็อตติ้ง” ทายาทคนที่ 3 ของครอบครัวพิมลศรีย้อนความหลัง

พฤติกรรมเกเรที่สร้างความหนักใจแก่ครูสมัยนั้น ทำให้พ่อของเขาตัดสินใจส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่อัสสัมชัญศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นจุดที่ผู้ใหญ่มองว่า ถึงเวลาแล้วต้องมีคนคอยควบคุม พล.ต.ต.อัคราเดชเล่าว่า จริง ๆ แล้ว เป็นคนเรียนดี ได้รับรางวัลทุกปี แต่ที่เกเร เพราะถูกสอนให้สู้คน แล้วก็มักจะชวนเพื่อนฝูงไปประลองกำลังหลังโรงเรียน แอบชกกันหลังโรงอาหารบ้าง หรือชวนกันไปประลองกำลังกับต่างโรงเรียนบ้าง อะไรอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ก็มีเพื่อนเยอะ

ศิษย์เก่าเซนต์จอห์นก่อนถูกส่งไปเผชิญโลกในโรงเรียนประจำเล่าอีกว่า เคยไปแอบดูคอนเสิร์ตโลกดนตรีถึงขนาดเปลี่ยนเสื้อผ้า ปรากฏว่า ออกทีวี เรายังแก้ตัวว่า แค่คนหน้าเหมือน เป็นวัยอยากเรียนรู้ อยากพิสูจน์ตัวเอง กลัวคนหาว่า เราแหย หาว่าเราปี๋ปี้ สมัยก่อนคำว่า ปี๋ปี้ มันแทงใจ ต้องทำอะไร แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง แสดงออกในสิ่งที่อยากให้เพื่อนยอมรับ ทำผิดกฎของโรงเรียนแล้วรู้สึกว่า มันดี ” คุณพ่อ คุณแม่ ก็เห็นว่า ผมอยู่อย่างนั้นไม่ได้แล้ว สมัยก่อนคุณพ่อ กับคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลา คุณแม่เป็นครูก็ไปสอนหนังสือก็ไม่ค่อยมีเวลา ที่บ้านมีแต่พี่สาวกับน้องสาว เราไม่มีเพื่อน ก็ต้องไปแสวงหาเพื่อนข้างนอก โชคดีที่ไม่ไปทำอะไรที่ผิดๆ ในสิ่งที่น่ากลัวเหมือนปัจจุบัน ไม่มีเรื่องยาเสพติด ผมเลยรอดพ้นตรงนี้มา”

 

สร้างวีรกรรมในโรงเรียนประจำ กระทั่งหล่อหลอมทำให้ยืนได้ทุกวันนี้

ชีวิตในรั้วโรงเรียนประจำตอนแรก เขาน้อยใจว่า ทำไมพ่อแม่ไม่รักถึงหลอกพาไปทิ้งอยู่ในโรงเรียนประจำ แต่พอวันเวลาผ่านไป เขาบอกว่า ที่เป็นได้อย่างทุกวันนี้ เป็นเพราะการหล่อหลอม ขัดเกลาจากความเข้มงวดของครูบาอาจารย์ที่ใส่ใจทุกรายละเอียด ทุกย่างก้าวของเด็กนักเรียน แม้เราไปอยู่ในกลุ่มที่ทุกคนก็เซียนหมดเลย มีเพื่อนจากทั่วประเทศมาอยู่ร่วมห้อง แต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่สุดยอด

พล.ต.ต.อัคราเดชเล่าต่อว่า ไปถึงปุ๊บ ได้เป็นหัวหน้ากลุ่มอีก ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ไปสร้างวีรกรรมไว้อีก ทุกคนในยุคที่เราเรียน แม้กระทั่งนักการภารโรง ใครไม่รู้จักเรา ถือว่าเชยมาก เป็นนักฟุตบอลโรงเรียน เป็นนักกิจกรรมตัวยง เป็นหัวโจกในทุกเรื่อง เคยชวนเพื่อนประท้วง เพราะอยากไว้ผมยาว นัดหมายเวลากันแล้ว พอถึงเวลาจริง เหลือเราคนเดียว โดนเฆี่ยน 6 ที แต่ยังดีไม่โดนโกนหัว เพราะ ใครทำผิดจะโดนโกนหัว  ถือว่าเป็นการทำอะไรให้เรารู้สึกเคารพกติกาของโรงเรียน

“ผมจะพูดเสมอว่า ที่ผมมีที่ยืน มีระเบียบวินัย และมีหลายสิ่งหลายอย่าง เพราะที่นี่ แต่ถามว่า ตอนนั้น อยากเป็นตำรวจหรือไม่ ยังไม่อยากเป็น โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ส่วนใหญ่เป็นลูกพ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง นั่นคือ วัฒนธรรมองค์กรเขา ผมเลยถูกปลูกฝังแบบนั้น การเป็นตำรวจ ทหาร คงไม่ถูกใจผม ผมน่าจะเป็นอะไรที่ปกครองตัวเองดีกว่า น่าจะเป็นพวกทำงานอิสระ คิดฝันเลยว่าอยากเป็นสถาปนิก คิดว่าอยากจะทำโน่นนี่นั่น กระทั่งเกิดช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเมื่อคุณพ่อด่วนจากไป” เจ้าตัวว่า

พ่อตายตอนจบมัธยมปลาย ทิ้งมรดกสุดท้ายให้สอบเตรียมทหาร

เป็นจังหวะจบมัธยมปลายพอดี ลูกชายอดีตรองผู้บังคับการกองปราบจำภาพแม่นว่า เมื่อก่อนเคยวิ่งเล่นกองปราบปรามสามยอด ตั้งแต่พ่อยังเป็นรองผู้กำกับ เห็นทุกอย่างว่า ตำรวจดูเข้มแข็ง ดูมีระเบียบ ดุดันขนาดไหน ชื่นชมแต่ไม่ชอบ ไม่อยากเป็น สิ่งหนึ่งที่อาจสะท้อนใจตั้งแต่เด็กๆ ช่วงที่พ่อเป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม โรงพักพญาไท  ครอบครัวเริ่มแน่นแฟ้น พ่อถูกย้ายไปอยู่ที่พัทลุง เรานั่งรถไฟไปกับแม่ ไกลมาก หลับตื่นไม่รู้กี่รอบ เคยถามแม่ว่า พ่อผิดอะไร แม่ตอบไม่ได้ เราเลยฝังใจ

พล.ต.ต.อัคราเดชบอกว่า แต่ช่วงเวลาจังหวะนั้นต้องเลือกเข้าเรียน จบมัธยมปลายแล้ว พ่อโทรศัพท์มาบอกว่า ซื้อใบสมัครเตรียมทหารไว้ให้แล้ว ช่วยไปสอบหน่อย บอกได้ประมาณ 2 สัปดาห์ พ่อก็เสียชีวิต เราไม่อยากจะมาสอบ แต่ด้วยความที่แม่ขอร้องให้ช่วยมาสอบ จ้างก็ได้ ขณะที่เพื่อนหลายคนคะยั้นคะยอ ถึงไปสอบ

“เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่า ทุกอย่าง มันมีการลิขิตไว้ ฟ้ากำหนดแล้วว่า จะให้ใครจะต้องเป็นอะไร ที่เหลือฟ้าใส่ซองกำหนดไว้อยู่แล้ว” ผู้บังคับการปราบปรามตั้งสมมติฐานถึงได้เข้ามาเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 25 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 “ถ้าคุณพ่อไม่เสีย ผมคงไม่มาแน่ บังคับยังไง ผมก็ไม่เอา เพราะไม่เคยชอบ ไม่เคยคิด ก็พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำความตั้งใจตามความฝันของครอบครัว ไม่ให้เขาผิดหวังกับผมอีก ผมทุกวันนี้จะทำอะไร ผมจะนึกถึงคุณแม่ เพราะครั้งหนึ่งผมเคยทำให้คุณแม่ร้องไห้ เพราะผมเกเร คุณแม่โมโหสุดทนเลย เพราะผมสุดติ่งกระดิ่งแมว”

 

เผชิญเรื่องราวท้าทาย ลงวาดลวดลายโรงพักบางละมุง

พอมาเป็นตำรวจ นายพลหนุ่มมือปราบยอมรับว่า เป็นอะไรที่ท้าทายตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากตัวเอง และเพื่อนร่วมงาน จากผู้บังคับบัญชา เราค่อนข้างโชคดี ตั้งแต่ฝึกงานที่โรงพักพญาไท ได้พี่เลี้ยงเป็นลูกน้องเก่าพ่อสอนในเรื่องของงานสำนวน แม้อาจเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ได้คำแนะนำที่ดี พอจบสอบได้ที่ต้นๆ  เลือกที่นครบาลก็ได้ หรือเลือกกองปราบก็ได้ แต่เลือกสมัครใจที่จะไปอยู่ภูธร

หมวดหนุ่มพ้นรั้วสามพรานเลือกลงโรงพักบางละมุง จังหวัดชลบุรี ด้วยเหตุผลมันคือพื้นที่พัทยา ที่เขาชอบเที่ยวในสมัยเรียนอยู่ศรีราชา หลายสถานที่จึงคุ้นเคย อยู่ในยุคของพงศ์สันต์ วัชราธร เป็นผู้กำกับการภูธรจังหวัด เฉลิมพล ศรีสมโภชน์ เป็นสารวัตรใหญ่ ให้ยึดต้นแบบการทำงาน ได้เรียนรู้ทักษะการหาข่าวทำข้อมูลของกลุ่มผู้มีอิทธิพล ซุ้ม

แค่ตำแหน่งผู้หมวดเขายังได้ประสบการณ์นายตำรวจมือพระกาฬจากชลอ เกิดเทศ และธนู หอมหวล ที่ลงไปคลี่คลายคดีสำคัญในพื้นที่ นำทางไปสู่เขตต์ นิ่มสมบุญ ต่อยอดถึงภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา อัศวิน ขวัญเมือง สมคิด บุญถนอม ปรีชา ธิมามนตรี ที่ล้วนแล้วเป็นปรมาจารย์นักสืบแห่งยุคเป็นครูถ่ายทอดวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีบริหารจัดการ รวมถึงวิธีการปกครองน้องๆ “ที่สำคัญคือเรื่องของการตัดสินใจว่า จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ สามารถทำให้งานนั้นไปสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วมันตอบโจทย์ได้ เหนือสิ่งอื่นใด ทุกคนต้องปลอดภัย การเข้าไปทำงานแล้วไม่มีปัญหา ลูกน้องไม่ได้รับอันตราย ทำคดีเสร็จแล้วไม่ถูกฟ้อง ไม่มีเรื่อง”

 

ฉายแววเป็นนักสืบดาวรุ่ง มุ่งสู่ทีมเฉพาะกิจปราบมือปืน

“หลายๆ เรื่อง ผมจดจำมาจากการทำงาน ส่วนใหญ่การเป็นนักสืบต้องไปบริหารจัดการ ดูแลตัวเอง หลอกใครก็หลอกได้ แต่หลอกตัวเองไม่ได้  ถึงเป็นคำพูดที่ว่า ถ้าจะใช้งานผม ต้องไว้ใจผม ถ้าไม่ไว้ใจ ก็อย่าใช้งานผม เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยการไม่ไว้วางใจกัน มันทำงานลำบาก เพราะทำงานไปก็ต้องระแวง เครียด” นายพลตำรวจตรีคนดังน้ำเสียงเข้ม

เขาเติบโตมาในวงการสืบสวนตั้งแต่อยู่บางละมุง เริ่มต้นด้วยการเป็นพนักงานสอบสวน พอผู้บังคับบัญชาเห็นหน่วยก้านดีถึงมอบหมายให้เป็นหัวหน้าสายสืบ พล.ต.ต.อัคราเดชยึดหลักด้วยความที่มีพวกเยอะจะบอกกับลูกน้องเสมอว่า เราไปทุกที่ที่มีโจร เส้นทางไหนเปลี่ยว เราก็ไป และคลี่คลายคดีได้ผู้บังคับบัญชาเลยให้เป็นชุดเฉพาะกิจของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 รับผิดชอบ 24 จังหวัด และยังเป็นชุดเฉพาะกิจของกรมตำรวจ รวมทั้งของกระทรวงมหาดไทยในเรื่องของการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้าง ทั้งที่เป็นแค่รองสารวัตร เปิดโอกาสได้เรียนรู้ที่จะเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล การเตรียมข้อมูล หรือแม้กระทั่งเอาข้อมูลมาใช้ ถ้าเก็บอย่างเดียว ไม่เอามาใช้ก็ไม่มีประโยชน์ ได้นำมาปฏิบัติ เราได้วิชาจากตรงนี้

“ถามว่า ทำงานมีปัญหาอุปสรรคไหม มันก็มีมาตลอด ที่สำคัญ เราต้องไม่ท้อ ทำอะไรแล้วแต่ ต้องอิงยึดหลักกฎหมาย ยึดสิ่งที่ถูกต้อง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ถ้าวันนี้ทำถูก ไม่ต้องกลัววันพรุ่งนี้ ถ้าไม่อิงเรื่องพวกนี้ วันหน้ามันจะย้อนเข้าหาตัวเอง ทำงานมันต้องตอบคำถามสังคมได้ แล้วเวลาทำงาน ผมบอกเลย ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงหรือต่ำอยู่ที่ทำตัว เราต้องคุยกันได้ทุกเรื่อง แล้วในทีมงานทุกคนมีอะไรต้องมาบอกเล่ากัน จะทำอะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องมาคุย มาหารือกัน นี่คือเทคนิคที่ได้จากรุ่นพี่”

 

ตามนายไปอยู่ในรั้วสามพราน ทะยานไต่เก้าอี้ก่อนเจอดีในรสมรสุม

เก็บเกี่ยวประสบการณ์นักสืบจากบางละมุงขยับสมัครใจย้ายตาม พล.ต.อ.เขตต์ นิ่มสมบุญ ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ด้วยความที่ผูกพันทำงานมาด้วยกัน ลงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย รับบทนายตำรวจปกครองนักเรียนปี 4 ก่อนเลื่อนเป็นนายเวรติดสอยห้อยตามเข้าไปอยู่กรมตำรวจถึงย้ายเป็นสารวัตรท่องเที่ยว ดูแลงานด้านบริการ อำนวยความสะดวกช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในสิ่งที่นักท่องเที่ยวเป็นผู้เสียหาย หรือสิ่งที่นักท่องเที่ยวผิดพลาดตกเป็นผู้ต้องหา รับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และตาก

ต่อมาขึ้นเป็นรองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจรถไฟ ได้ 6 เดือนโยกเป็นรองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม พอปรับโครงสร้างสอบสวนกลาง ย้ายเป็นรองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม คุมกำลังหน่วยคอมมานโด ก่อนขึ้นผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม คลี่คลายคดีสำคัญหลายคดีจนมีมรสุมการเมืองถูกเด้งเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ตอนนั้นยอมรับว่า หดหู่นะ ท้อแต่ไม่ถอย เกิดคำถามเดิมๆ ที่เคยถามคุณแม่ และอยู่ในใจตลอดตอนที่คุณพ่อโดนย้ายลงใต้ สุดท้ายผมก็เก็บความรู้สึก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เคยถูกฟ้องคดีในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเยอะแยะ เป็นความโชคดีที่มีประสบการณ์เลยทำอะไรเราไม่ได้ แถมได้รับกำลังใจหลายๆ อย่าง ตอนเก็บของใหม่ๆ บอกลูกน้องว่า ไม่ต้องเป็นห่วง สบาย ไปอยู่ไหนก็อยู่ได้ เราเป็นพวกข้าวเปลือก ไปตรงไหนก็เจริญงอกงาม”มือปราบหนุ่มหยอดคำคม “เราเป็นพวกดาวฤกษ์ ไม่ใช่ดาวนพเคราะห์ มีความคิดของตัวเอง เรามีวิชา เราผ่านมาทั้งบู๊ บุ๋น บันเทิง และเบ๊ อยู่ตรงไหนก็มีแต่พวก”

ยึดเลียนแบบอย่างนกอินทรี โชคดีย้ายคืนรังเก่าสอบสวนกลาง

ย้ายไปอยู่ตอนแรก พล.ต.ต.อัคราเดชคิดว่า ไม่ใช่ตัวเขา พออยู่ได้ 2 สัปดาห์ บังเอิญว่า ได้รับหนังสือฉบับหนึ่งไปอ่าน เป็นหนังสือชื่อกำลังใจ เขียนไว้ดีมากว่า สังเกตนกอินทรี เวลามีฝนตกฟ้าร้อง ยังไงนกอินทรีก็ยังบินอยู่ ตรงกันข้ามกับนกกระจอก ฟ้าครึ้มก็บินหนีแล้ว เราจะเป็นอินทรี หรือนกกระจอก ได้อ่านหลายอย่างที่เขาเขียนไว้ดี เช่น เป็นอินทรีต้องไม่แย่งนกกระจอกกินหนอน เราต้องอย่าเก็บตะปูขาย เป็นกำลังใจให้เราได้พอสมควร

พล.ต.ต.อัคราเดช สาธยายอีกว่า บอกว่า ลงเครื่องเหยียบสนามบินครั้งแรก เราสูดหายใจลึกๆเข้าเต็มปอด พอไปถึงเข้าโรงพัก เรียกจ่ากองมาคุย เป็นโรงพักที่น่าหดหู่ เป็นโรงพักที่ทุกคนถูกคัดทิ้งมาจากที่อื่น ถ้าเป็นโรงพักอื่น ลูกน้องต้องแห่มารับ ที่นี่ไม่มีสักคน มีแต่ลูกน้องกองปราบมาส่ง สิ่งแรกที่เราทำ คือพัฒนาองค์กร พัฒนาหน่วยเท่าที่เราทำได้ จับลูกน้องฝึก เชิญชวนพรรคพวกมาทำหลายอย่าง สอนเรื่องเทคนิคการสืบสวน เอาคนออกไปทำมวลชน เพราะเราเป็นคนไม่อยู่นิ่ง แวะไปอำเภอโน้นอำเภอนี้ มีอะไรดี มีวัดดีๆ ก็ไปหาพระ ไปกราบ ไปศึกษาดูว่าคนที่นั่นเป็นไง

“ผมไปอยู่ได้ 7 เดือน กลับมาอยู่สอบสวนกลางอีกรอบ บังเอิญโชคดีมากกว่าที่ผู้หลักผู้ใหญ่เมตตาให้เรากลับมา ทำให้คนที่ย้ายเราไปก็ช็อกเหมือนกันว่า เรากลับมาได้ไง แต่ผมก็ไม่ตอบโต้ ผมอยู่อย่างเจียมตัว ได้เป็นผู้กำกับ 3 อำนวยการสอบสวนกลาง เป็นความตั้งใจที่อยากจะเรียนรู้งานตรงนั้น ก็ได้รับความเมตตาจากท่านอดิศร นนทรีย์ ให้เรียนรู้งานอำนวยการที่สำคัญ นำมาใช้ในทุกวันนี้”

 

โดนบททดสอบครั้งสำคัญ พาสานฝันเป็นผู้การกองปราบปราม

หลังจากนั้นเขาคืนถิ่นเดิมตามรอยเท้าผู้พ่ออีกครั้งเป็นผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจน้ำ แล้วโยกกลับมานั่งรองผู้บังคับการปราบปราม พล.ต.ต.อัคราเดช สารภาพว่า ตอนไปอยู่ตำรวจน้ำ อยากขึ้นที่กองปราบปราม แต่เหมือนว่า อยากบวชพระ แล้วไม่ได้อยู่ในวัดที่เราต้องการ ก็ไปอยู่วัดอื่นก่อน กลับมากองปราบได้ทำหน้าที่หลายอย่าง สุดท้ายโชคดี ทั้งที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมาเป็นผู้การกองปราบ แม้มีความฝัน

พล.ต.ต.อัคราเดชมองว่า นอกจากเท่ มันมีอำนาจ เป็นหน่วยงานที่ผู้หลักผู้ใหญ่สร้างประวัติศาสตร์ไว้เยอะ เอ่ยชื่อกองปราบ ใครก็ศรัทธา ใครก็กลัว เป็นผู้การกองปราบมันยิ่งใหญ่ แล้วอีกอย่างพ่อก็อยากเป็น แต่ไม่ได้เป็น เรามาอยู่ก็มีความฝัน แต่ก่อนหน้านั้นที่ผ่านมา คิดว่าไม่มีทาง มันเลยความฝันไปแล้ว แต่ปาฏิหาริย์มีจริง อยู่ดีๆ ผู้บังคับบัญชามาหยิบ ทดลองใช้เรา ตอนนั้นเราก็เกร็ง เครียดมาก แต่เราต้องยึดหลักว่าประโยชน์ทั้งหมดที่เราทำ เพื่อประเทศชาติ และเพื่อสถาบัน

“ผมคิดว่ามันต้องมีคนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย คนที่แอนตี้ ไปพูดต่างๆ นานา แต่ผมก็มีคำตอบในใจว่า ทำเพื่ออะไร ผมไม่ใช่นักทำลายล้าง ผมทำทุกอย่างด้วยความถูกต้องเป็นธรรม ผิดว่าตามผิด ถูกว่าตามถูก แล้วผมเชื่อว่ากฎแห่งกรรม ยุติธรรมเสมอ ใครทำอะไรไว้ ต้องได้แบบนั้น ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง เราก็ต้องมุ่งมั่นทำ ช่วงเวลานั้น ผู้บังคับบัญชาเลือกเราแล้ว ทดสอบเราแล้ว ผมถอยไม่ได้ ผมเครียดมาก” ผู้นำหน่วยกองปราบระบายความในใจ

 

ยึดพื้นฐานความถูกต้อง ระดมพี่น้องประกาศก้องศักดิ์ศรีหน่วย

” เวลานั้น ผมไม่มีกำลังในมือ เหมือนยืนอยู่หน้าเหว ซ้ายก็มีปืน ขวาก็มีปืน หลังก็มีปืนจี้อยู่ ทำไงก็ได้ เราต้องกระโดดลงไป แต่ต้องนึกในใจว่า เราบินได้ มันจะได้เหมือนเป็นพลังอันวิเศษว่า เราต้องไม่ตาย เราต้องทำได้ เราต้องแก้ปัญหาให้ได้ เราต้องทำให้สำเร็จ บนพื้นฐานความถูกต้อง วันนี้ถูกต้อง พรุ่งนี้ก็ถูกต้อง อีก 10 ปี มันก็ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ผมยึดถือ  ผมพูดกับน้องๆ เสมอว่า ไม่ต้องทำเพื่อผม ทำเพื่อองค์กร ทำเพื่อความเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำเพื่อความเป็นตำรวจ และที่สำคัญที่สุด คือ คุณทำเพื่อประชาชน”

เมื่อขึ้นมานั่งเก้าอี้คุมหน่วย เขาพยายามกู้ศักดิ์ศรีกองปราบปรามปลุกระดมให้ลูกน้องกลับมาทำงาน ใครที่ทำอะไรไว้ก็ให้โอกาสไปแก้ไข พล.ต.ต.อัคราเดชให้นโยบายชัดเจนว่า ทุกอย่างต้องกลับมา ต้องรีฟอร์ม แต่ต้องเลิกขายประวัติศาสตร์ เลิกกินบุญเก่า ไปไหนมาไหนก็เฮ้ย กองปราบ แต่ทำอะไร แต่ละวันเห็นมีข่าวคดีสะเทือนขวัญ เคยคิดไหม เคยรู้สึกร้อนอกร้อนใจไหม ก็พยายามทุกอย่างเพื่อรักษาสถานภาพหลายๆ อย่าง เมื่อวันนี้ เรามาอยู่แล้ว เราไม่ไปโทษดินฟ้า โทษพี่น้อง เราได้สิทธิในการทำหน้าที่ ได้โอกาสที่จะมาบริหารแล้ว ต้องทำแล้ว

ผู้บังคับการปราบปรามยืนยันว่า มีวิธีการ มีหลักว่าจะทำอย่างไร ถึงจะให้ทุกคนมีอุดมการณ์ มีใจเหมือนเรา ในการที่จะรุกรบ รวดเร็ว เพื่อที่จะทำให้องค์กรกลับมาเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญเราถูกจับตามองอยู่ ไม่ว่าจะจากประชาชน ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ และจากหลายหน่วยงาน หลายองค์กรว่า เราทำได้หรือเปล่า “ผมก็จะทำให้เห็นว่า ทำได้ ทำจริง และทำแล้ว จะทำต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เริ่มดำเนินการ ไม่ว่าจะเปิดยุทธการต่างๆ ปรึกษากันแล้ว ทุกอย่างต้องไม่เป็นลิเก ต้องเป็นแอคชั่นรีวิว ติดตามขนาดไหน ต่อเนื่องขนาดไหน ตรงไหนเป็นยังไง”

ใครทำดีต้องได้รับการตอบแทน พร้อมอ้าแขนปกป้องการทำงาน               

พล.ต.ต.อัคราเดชย้ำว่า เราอาจจะไปห้ามไม่ให้เกิดเหตุคงไม่ได้ แต่เราต้องปราบปรามเชิงรุกได้ ทำทุกอย่างให้เห็นว่า เราตั้งใจ ที่เน้นอีกเรื่องหนึ่ง คือ ต้องเป็นตัวเสริมที่ดีให้ทุกหน่วยงาน ถ้าทำงานแล้วรู้สึกว่าได้ชัยชนะ แต่ศัตรูบาน แบบนี้ก็ไม่เอา ไปไหนได้ชัยชนะ ทำงานเสร็จ กลุ่มโน้น กลุ่มนี้ก็ด่า ไม่เอา ทุกคนอยากเป็นพระเอก แต่เราไม่เอา ขอแบบมีพระเอกหลายคน มี 4-5 คน เราคิดแบบนี้ ก็บอกทุกคน เราต้องช่วยกัน บอบช้ำมาเยอะแล้ว ไม่ว่าในองค์กรเราเอง หรือในส่วนภาพรวมของตำรวจ

“พี่ๆ หลายคน โทรมาให้กำลังใจ นั่นคือ สิ่งที่ผมระลึกถึงเสมอว่า มีคนจับตาเราอยู่  ยิ่งต้องทำให้เขาไว้วางใจเรา เราต้องทำจริง ต่อหน้า และลับหลัง การดูแลเพื่อน พี่ น้องที่มีอยู่ ผมให้เกียรติทุกคน บางเรื่องอาจเสียงดังบ้าง แต่นี่คือสไตล์ อำเพื่อน พี่ น้อง แต่ผมจริงใจ ใครทำอะไรก็แล้วแต่ เขาต้องได้ในสิ่งที่ควรจะได้ มีเบี้ยเลี้ยงให้ อย่างที่ผมพูดว่า ปิดล้อมพร้อมตังค์  ลูกน้องต้องไม่เดือดร้อน แล้วต้องปกป้องคุ้มครองเขาได้ เวลาไปทำงาน เพราะผู้มีอิทธิพล มือปืน กับกองปราบมันมวยคู่เอก มันถูกคู่”

“บางทีเราอาจต้องไปชนกับของแข็ง ผมพร้อมปกป้อง มีปัญหายกหู โทรมาเลย ไม่เคยปิดโทรศัพท์ โดยเฉพาะถ้ามอบหมายสั่งการไป ผมรอฟังเลย ไม่ได้จับผิด มีปัญหาอะไรให้เราช่วยแก้ มีอะไรให้เราแนะนำ สุดท้าย คือ ตอบแทนเมื่อมีโอกาส ใครทำอะไรก็ตาม ผมตอบแทนนะ ไม่ต้องวิ่งเต้น น้องๆ แต่ละคน ทำดี เราจะขอผู้ใหญ่ให้เจริญก้าวหน้า หรือผลักดันไม่ได้ อย่างน้อยขั้นผมให้ หรือถ้าไม่ได้จริงๆ ขี้หมูขี้หมา ผมก็ให้เอาเบี้ยเลี้ยงไป เอาตังค์ไปเลี้ยงลูกน้อง ทีมงาน ให้กำลังใจเขา”

เตรียมพลิกฟื้นเขี้ยวเล็บ ลุยเลาะตะเข็บเหล่าผู้มีอิทธิพล

นายพลกองปราบยึดถือวิชาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นด้วยการระลึกเสมอว่า การเป็นตัวอย่างที่ดี ต้องมีค่ามากกว่าคำสอน เช่น สมมติว่า ถ้าเราห้ามโน่นห้ามนี่ลูกน้อง แต่เราทำเอง แล้วใครจะเชื่อถือ ทำอะไรก็แล้วแต่ เรายินดีให้ตรวจสอบได้ ถ้าเราบอกอันนี้อย่าทำนะ แต่เราทำก็อายเขา ตอนนี้ก็กำลังคิดโครงการ เริ่มทำโน่นนี่ ปรับปรุง เพิ่มทักษะความรู้ ไม่ใช่เพิ่มให้ไปเป็นครูบาอาจารย์ แต่ให้เอาไปถ่ายทอด ไปทำงานเอาตัวรอด ทำงานให้มันเกิดประสิทธิภาพจริงๆ

เจ้าตัวยกตัวอย่างเรื่องการฝึก การสอนเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่ วิธีพิเศษ การสอบสวนต้องประสานกับใคร หรือชุดพิเศษที่เรียกว่า คอมมานโด และที่แจ๋วกว่านั้น คือ ชุดสยบริปูสะท้าน ซึ่งมีมาช้านานตั้งมาพร้อมกับหน่วยกองปราบปราม เมื่อปี 2491 ที่หน่วยอื่นยังไม่มี  ชุดนี้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนทั่วราชอาณาจักร ในเรื่องการสืบสวนต่อต้านการก่อการร้าย ช่วยเหลือตัวประกัน ชิงตัวประกัน เป็นชุดที่ต้องเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ เชี่ยวชาญเรื่องทักษะ การประกอบกำลัง การทำงานในยุทธวิธีสำคัญ ในเมือง บางพื้นที่แคบ พื้นที่จำกัด ต้องทำให้ได้อย่างดี

“ผมกำลังมาปรับเพิ่มเสริมเติมเขี้ยวเล็บ และกำลังให้สาธารณชนได้รับทราบว่า ชุดนี้กำลังจะกลับมาแล้ว เพื่อเสริมทัพ เพิ่มเขี้ยวเล็บให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมจะเสนอตัวแล้วให้เรียกใช้ เรามีใจแล้ว ในส่วนขององคาพยพ ในบริบทใหญ่ของกองปราบ ตอนนี้ผมมั่นใจแล้วว่า ทุกกองกำกับการ ขวัญกำลังใจดีมาก รุกรบ มีความมุ่งมั่น เดินมาในเข็มทิศเดียวกัน เรามีปณิธานเดียวกัน ภารกิจสำคัญของกองปราบ ต้องเป็นหน่วยที่จะต้องเป็นเขี้ยวเล็บ ต้องทำคดีใหญ่ คดีสำคัญ หน่วยอื่นทำแล้วลูบหน้าปะจมูก เป็นคดีที่ยุ่งยาก มีอิทธิพล กองปราบ ต้องลงไปทำแล้วชั่วโมงนี้” ผู้บังคับการปราบปรามประกาศ

กำลังพลกระหายบดขยี้ กำหนดโซนพื้นที่ปูพรมกำราบ

“ผมมั่นใจว่า ผู้กำกับแต่ละกอง ทุกคนกระหาย อยากที่จะลงไปบดขยี้กับพวกผู้มีอิทธิพล ยิ่งช่วงนี้ปลอดการเมือง ทำงานง่าย สนุก แต่ผมไม่ได้บอกว่าการเมืองไม่ดีนะ แต่ถ้าทำแล้ว ฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้ มันเยอะ เราทำงานแล้วตรงไปตรงมา เราสบายใจ ฟังจากกระแสตอบรับที่ได้ยิน หรือมีคนสะท้อนมา เหมือนเป็นการเพิ่มกำลังใจเป็นยาชูกำลังให้ลูกน้อง มันก็จะฮึกเหิม และยิ่งอยากทำเพิ่มขึ้นไปอีก”

แม่ทัพหน่วยกำลังติดอาร์มกองปราบปรามกำหนดเป้าพื้นที่สีแดง สีเหลือง และสีเขียว ทั่วประเทศ จำแนกจากคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นใช้อาวุธปืนเป็นหลัก ไม่ว่าจะปืนสั้น ปืนยาว หรืออาวุธสงคราม พื้นที่สีแดง คือ มีคดีประเภทนี้เกิดขึ้นสูงในวงรอบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ต้องไปจัดการ สาวนพื้นที่สีเหลือง เกิดเหตุไม่รุนแรงมาก อยู่ในระดับปานกลาง ต้องเตรียมตัวไปจัดระเบียบ กำราบ ป้องปราม ตรวจสอบ สุดท้ายพื้นที่สีเขียว มีประวัติ ตัวละครพวกนี้อยู่ ยังไม่ก่อเหตุ หรือมีเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องรู้ว่า ซุ้มนี้มีใครเป็นกิ่งก้านเป็นใคร ใครเป็นไม้ค้ำยัน เฝ้าระวัง ถ้ามีเหตุจะสามารถไปหยิบมาได้ หรือไปหาข้อมูลได้

“นี่คือยุทธศาสตร์ที่เรากำหนด ให้ความสำคัญมาก ประชาชนจะได้อุ่นใจ ประกอบอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ไม่ต้องกังวลว่า มีอะไร ใครจะข่มขู่ไหม จะไปประมูลงาน ต้องอิสระ ไม่ต้องกลัวบริษัทโน้น หรือมีคนมาข่มขู่ หรือวันดีคืนดี จะต้องมีคนมายิงหลังคาบ้าน มาทุบรถ มาทำอะไร มันต้องไม่มี ไม่อย่างนั้นก็ยุ่ง” พล.ต.ต.อัคราเดชอธิบายแผนการปฏิบัติงาน

 

เปิดใจชีวิตหลังบ้าน ไม่เอาเรื่องงานไปลงลูกเมีย

ส่วนชีวิตครอบครัว เจ้าตัวเปิดใจว่า มีความสุขดี เราทำงานหนัก แต่ไม่เคยแบกภาระอะไรกลับบ้านเถียงกับโจรผู้ร้าย โกรธมาก เมื่อถึงบ้าน เข้าบ้านจะโยนไว้หน้าบ้าน ไม่เอามาลงกับลูกเมีย เพราะเวลาที่มีโอกาสได้อยู่กับครอบครัวน้อยอยู่แล้ว และสอนเสมอว่า ลูกและเมียต้องอยู่ได้ เมื่อไม่มีเรา สอนให้รู้จักให้เกียรติคน รู้จักความมีพวกพ้อง รู้จักมีสัมมาคาราวะ และเรื่องระเบียบวินัย บอกลูกว่า อะไรไม่ดี อย่าทำ ทุกอย่างเราต้องแนะนำ และต้องขอบคุณภรรยา รู้เลยว่าเขาเหนื่อย การทำหน้าที่ทุกอย่าง

“ผมจะพูดกับลูกเลยว่า เกียรติยศและชื่อเสียง ไม่ได้มาจากชาติกำเนิด แต่มาจากการกระทำ ไม่ใช่ว่าหนูเป็นพิมลศรี แล้วหนูจะเหาะเหินเดินอากาศได้ หนูเป็นลูกนายตำรวจ หรือว่ามีลุง มีอา มีญาติพี่น้องเป็นทหาร แต่ทุกอย่างอยู่ที่ตัวหนู หนูมีพรสวรรค์ ที่เหลือหนูต้องมีพรแสวง พรแสวงของหนู จะทำอย่างไรให้คนเขารัก เกรงใจ ด้วยคุณงามความดี หนูเก่ง แต่ไม่มีพวก ไม่มีประโยชน์ สู้หนู ไม่เก่ง แต่มีพวก มีคนรักหนู จะดีกว่า แต่ถ้าหนู เก่ง เป็นคนดี มีพวก มีคนรัก สุดยอดเลย”

ครอบครัวพิมลศรีของผู้การกองปราบอยู่ท่ามกลางวงล้อมอันแสนอบอุ่นของลูกสาววัยน่ารักถึง 3 คน แม้อยากมีลูกชายสืบทอดอุดมการณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์รุ่นต่อไป ทว่า พล.ต.ต.อัคราเดช รู้สึกพอใจ  “เหมือนเทวดาให้เรามา ช่างอ้อน เวลาผมเหนื่อยกลับไป แล้วลูกสาวมากอด มาหอม ทำให้ผมหายเหนื่อย แต่ถ้าเป็นลูกชายแล้วเหมือนผมตอนเด็ก แย่แน่เลย” นายพลคนดังทิ้งรอยยิ้มความภาคภูมิใจ

RELATED ARTICLES