ปริศนาของแตงโม

 

ความตายอยู่ไม่ไกลจากตัวเราทุกคน

ห้วงเวลาแห่งวันชื่นคืนสุขเพียงชั่ววูบมัจจุราชอาจลักพาดวงวิญญาณหลุดลอยหายออกไปจากร่างไม่ทันได้ตั้งตัว

เฉกเช่น ดาราสาว แตงโม-นิดา หรือ ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เจิดจรัสแสงอยู่วงการบันเทิงมาเนิ่นนาน กระทั่งอาทิตย์ลับลาข้ามพ้นขอบฟ้าพาเธอจมดิ่งสู่ก้นลึกของแม่น้ำเจ้าพระยา

กลายเป็นข้อกังขาของโลกโซเชียลที่ระดมแสดงความคิดเห็นไปร้อยแปดพันเก้าพยายามโน้มน้าวความคิดเหนือโลกแห่งความจริง

อุบัติเหตุ หรือ ฆาตกรรมอำพราง เป็นคำถามยอดฮิตบนแป้นคีย์บอร์ดตลอดหลายวันที่ผ่านมา ท่ามกลางหน่วยสืบสวนที่ตั้งตัวเองเป็น “ซีเอสไอไซเบอร์” มุ่งเป้าเล่นเกม “จ้องจับผิด” เพื่อนร่วมแก๊งทั้ง 5 บน “สปีดโบ๊ตลำมรณะ” ในคืนวันดาวดับ

จับโยงเหตุผลสาละวนอยู่กับจินตนาการราวกับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์อันควรสงสัยไม่ใช่ “อุบัติเหตุ” พลาดพลั้งตกเรือธรรมดา

เรื่องนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าใจมากกว่าใคร เจ้าตัวผ่านคดีสืบสวนสอบสวนมาอย่างโชกโชนเผชิญคำถามความเห็นแตกต่างหลายคดีที่ไม่เชื่อมั่นการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาไม่น้อย

อาทิ ฆาตกรรมแหม่มสาวบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้ทั่งล่าสุดกับคดีการหายตัวไปของน้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบแห่งบ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

พล.ต.อ.สุวัฒน์เคยบอกไว้ว่า คดีที่เกิดขึ้นความซับซ้อน หรือไม่ซับซ้อนเป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่แตกต่างจากเรื่องอื่น คือ การไต่สวนบนโลกโซเซียล เราอาจจะเคยเจอปรากฏการณ์อย่างนี้ในคดีข่มขืนฆ่าแหม่มบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหา “ตำรวจจับแพะ” ต่อสู้กันถึง 3 ศาลตัดสินประหารชีวิต

“ผมไม่อยากเชื่อว่า คดีน้องชมพู่จะมีประชาชนหลายท่านติดตาม เสพติดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อาจจะเกิดจากภูมิคุ้มกันในเรื่องโซเซียลมีไม่พอ หากไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เหตุการณ์อย่างนี้ก็มี ถือเป็นบทเรียนของผมด้วยว่า มันเป็นไปได้ถึงขนาดนี้หรือ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ลากยาวมาถึงคดีน้องชมพู่

พร้อมย้ำว่า ไม่มีศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งที่จะสามารถพิสูจน์ความผิดได้ ถึงต้องใช้เวลาการทำงาน จนมีบางคนถามเหตุผลความล่าช้า เนื่องจากมีศาสตร์ใหม่ ๆ เอามาใช้คลี่ปมคดีอย่างต่อเนื่อง

ศาสตร์ใหม่ๆ ที่จะนำมาประยุกต์กับการสืบสวนสอบสวน พล.ต.อ.สุวัฒน์อธิบายไว้ว่า เป็นหลักความคิดทางวิชาการของศาสตร์นั้น ๆ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการเรื่องอะไร ตำรวจต้องหานักวิชาการมารองรับแนวความคิด  มีใครยอมรับบ้าง ความถูกต้องกี่เปอร์เซ็นต์ ทฤษฎีโต้แย้งมีหรือไม่

เรารวบรวมทุกอย่างทั้งพฤติกรรมมนุษย์ พยานแวดล้อม ประจักษ์พยาน วัตถุพยานต่าง ๆในที่เกิดเหตุ ที่ค้นได้นอกเหนือจากที่เกิดเหตุ หลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ กระทั่งไสยศาสตร์ความเชื่อต่าง ๆเรารวบรวมหมด” นายพลเจ้าสำนักปทุมวันว่าเบื้องหลังตำราการสืบสวนเล่มใหม่ในคดีน้องชมพู่

เมื่อมาถึงข้อกังขาเกี่ยวกับการตายของ “แตงโม” ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายมือระดับอาจารย์นักสืบอดห่วงกระแสสังคมทำสำนวนคดีปั่นปวนไม่ได้ ถึงต้องเรียกประชุม พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี พ.ต.อ.จาตุรนต์ อนุรักษ์บัณฑิต ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี พร้อมด้วย พล.ต.ต.หญิง ชุติมา ชัยมุสิก ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

กระชับ “หางเสือ” ไม่ให้พา “ออกทะเล” เทไปตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของ พวกมโนโซเชียล ต้องยึดหลักความเป็นจริงตามพยานหลักฐานและผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์

“ประเด็นที่สงสัยที่โซเชียลถามกันว่า มีการทะเลาะเกิดขึ้นในเรือจริงหรือไม่ และบาดแผลที่ต้นขาของดาราสาวเกิดจากอะไร จะมีการออกหมายเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำเพิ่มเติม ส่วนการใช้เครื่องจับเท็จเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมการ เช่น การตั้งคำถามผู้ที่ถูกนำตัวเข้าเครื่องจับเท็จ หรือประเด็นที่ตำรวจจะสอบถาม”

เจ้าตัวยังว่าถึงสื่อสังคมออนไลน์จับพิรุธในคำให้การของกลุ่มเพื่อนแตงโมด้วย

“อย่าเรียกว่า มีหรือไม่มีพิรุธ ทุกคำตอบของเพื่อนผู้ตาย ต้องมีเหตุผลรองรับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆ มารองรับคำพูด”

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยกตัวอย่าง เช่น การให้การว่าห้องน้ำเสีย ก็ต้องตรวจสอบ หลังเกิดเหตุได้โทรหาใครในเรื่องใดบ้างต้องพิจารณาดู  “การสอบสวนต้องตอบคำถามที่สังคมสงสัย และพิจารณาว่า มีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นจริงหรือไม่ มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน รวมถึงมีประกันชีวิตไว้ด้วยหรือไม่ ต้องสอบสวนให้ชัดเจน”

สุดท้ายไม่ง่ายที่ตำรวจจะทำให้สังคมหายเคลือบแคลง

ในยุคทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเป็นอิสระไม่สนข้อเท็จจริงจะผิดหรือถูก

 

 

 

 

RELATED ARTICLES