ประสานเขมรต้อนแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมาไทย

ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมาย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 1 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เดินทางไปรับตัวผู้ต้องหาร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศกัมพูชากลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยจำนวน 94 รายและมีการออกหมายจับอีก 79 ราย

สำหรับรูปแบบวิธีการกระทำความผิดต่างกันเพื่อเป็นประโยชน์ในการรู้เท่าทันคนร้าย ประกอบด้วย จุดที่ 1 โรงแรมจิงเฉิง ถนนสองธนู เมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 21 คน มีแผนประทุษกรรมหลอกให้หลงและหลอกให้รักในแอปทินเดอร์  ไลน์ ปลอมตัวตนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แล้วได้หาคู่แมทช์ แล้วพูดคุยให้หลงรัก จากนั้นจะเริ่มหลอกลวงให้ร่วมลงทุนใน MetaTrader 5 (ฟอเร็กซ์) ให้ทำการเทรด การวิเคราะห์ทางเทคนิค ตามคำแนะนำ และชักนำให้ลงทุนกับ โบรกเกอร์ ปลอม และหลอกเอาเงินผู้เสียหายไป

จุดที่ 2 อาคาร 5 ชั้น ทางเข้าเป็นประตูสีแดง ถนน 104 เมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 18 คน แผนประทุษกรรม คือ ฝ่ายคุมระบบ หรือฝ่าย IT มีชื่อเรียกว่า “หลังบ้าน” จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ (AI) เป็นเบอร์โทรต้นทางโทรผ่านระบบ VOIP ไปยังเหยื่อเป็นคนไทย หากมีการรับสายจะเป็นระบบอัตโนมัติ แจ้งข้อมูลมีพัสดุผิดกฎหมายให้ผู้เสียหายกด “9” เพื่อติดต่อพนักงาน จากนั้นจะมีการโอนสายโทรศัพท์ให้ผู้เสียหายคุยกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สาย 1 หลอกลวงเป็นพนักงานไปรษณีย์ตรวจสอบพัสดุพบสิ่งผิดกฎหมาย  หน้าที่หลักของสาย 1 นั้นไม่เพียงแต่เริ่มหลอกลวงผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว แต่จะหลอกเอาข้อมูลจากผู้เสียหายมาด้วย  เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงจากสาย 1 แล้วจะมีการโอนสายให้ผู้เสียหายคุยกับ สาย 2 จะปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก โรงพักแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี  พูดจาข่มขู่ยัดคดีให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว  ยอ้างว่าจากการตรวจสอบข้อมูลของผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน หลอกให้ผู้เสียหายแสดงความบริสุทธิ์โอนเงินที่มีเพื่อทำการตรวจสอบภายใน แต่หากผู้เสียหายยังไม่โอน จะโต่อไปยังสายที่ 3 สวมรอยลักษณะตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ระดับผู้กำกับการโรงพักมาข่มขู่เพื่อยัดคดีและข้อหาต่างๆ เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัวขึ้นไปอีก ทั้ง 2 สายจะมุ่งเน้นการหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน หากผู้เสียหายรายใดเริ่มหลงกล ทีม “หลังบ้าน” จะคอยให้ข้อมูลกับพนักงานสาย 1 , 2 , 3 ที่พูดสายอยู่กับผู้เสียหาย ว่าข้อมูลของผู้เสียหายให้มานั้นตรงหรือไม่ และหากผู้เสียหายหลงให้ข้อมูลกับ สาย 1 , 2 , 3 ไปมากนั้น ทีมหลังบ้าน จะสามารถ “ดูดเงิน” ออกจากบัญชีของผู้เสียหายได้ โดยการดูดเงินนั้นคือการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายที่ได้ให้ไว้กับพนักงานสาย 1 , 2 , 3 ไปทำการโอนเงินเองโดยที่ผู้เสียหายไม่รู้ตัว


จุดที่ 3 อาคาร 8 ชั้น ถนน 702 เมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 10 คน  มีแผนประทุษกรรม  อ้างเป็นการปล่อยสินเชื่อ ใช้ชื่อ “บริษัท บริหารสินทรัพย์ โฟร์ ซีส์ จำกัด” หลอกลวง เอาค่าธรรมเนียมต่างๆ จากเหยื่อที่มากู้เงิน คนร้ายกลุ่มนี้ได้หาเหยื่อจากการลงโฆษณาให้กู้เงินหรือสินเชื่อ ออนไลน์โดยมีการอ้างบริษัทหนึ่งในประเทศไทยที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เหยื่อ ตามสื่อสังคม ออนไลน์ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเท็จเหล่านี้ง่าย ระบบการหลอก สาย 1 จะทำหน้าที่เป็น พนักงานพูดหลอกลวงเหยื่อชักชวนให้กู้เงินออนไลน์ สาย 2 หรือ “กลุ่มเชือด” ทำหน้าที่แจ้งเหยื่อว่าต้องชำระค่า ประกันเงินกู้ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ  จะสามารถกู้ยืมเงินกับทางบริษัทฯ ได้และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินเข้ามาก็ไม่ได้มีการให้กู้ยืมเงินแต่อย่างใด

จุดที่ 4 ตึกสามชั้น ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ตำบลปอยเปต อำเภออูร์ชเรา จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 25 คน  แผนประทุษกรรม คือพนักงานสาย 1 โทรศัพท์หาผู้เสียหายและหลอกลวงเป็นพนักงานจากบริษัทขนส่งพัสดุบริษัท DHL  ตรวจสอบพัสดุพบสิ่งผิดกฎหมาย และมีอ้างเป็นเจ้าหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สอบถามข้อมูลต่างๆของผู้เสียหายว่าเบอร์โทรศัพท์ของผู้เสียหายถูกร้องเรียนจากการกระทำความผิด ทั้งสองรูปแบบจะอยู่หมวดของ สาย 1 หน้าที่หลักของสาย 1 ไม่เพียงแต่เริ่มหลอกลวงผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว แต่จะหลอกเอาข้อมูลจากผู้เสียหายมาด้วย เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงจากสาย 1 แล้วจะมีการโอนสายให้ผู้เสียหายคุยกับ สาย 2  ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต พูดจาข่มขู่ยัดคดีให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว  อ้างว่าจากการตรวจสอบข้อมูลของผู้เสียหายมีการรั่วไหลและมีข้อมูลว่าผู้เสียหายมีหารขายบัญชีไป ให้ “นายสมศักดิ์ ศักดิ์ดียัง” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และอ้างว่าจะต้องให้ผู้เสียหายส่งเงินเข้ามาตรวจสอบที่ บัญชีของฝ่ายตรวจสอบป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่หากผู้เสียหายยังไม่ทำการโอน จะโอนสายต่อไปยังสายที่ 3 ซึ่งเป็นลักษณะตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มาข่มขู่เพื่อยัดคดีและข้อหาต่างๆ เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัวขึ้นไปอีก และมักเชือดด้วยการพูดหว่านล้อมว่า สามารถเคลียร์คดีให้กับผู้เสียหายได้ โดยสาย 2 และ สาย 3 จะมุ่งเน้นการหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินเป็นหลัก

จากการขยายผลการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 94 ราย ทำให้ทราบบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้ง 4 แก๊งอีกหลายราย รวมไปถึง “หัวหน้าแก๊งชาวไต้หวัน” ที่ศูนย์อำนวยการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการขยายผลดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งขบวนการ มีพนักงานสอบสวนพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีท้องที่ที่ออกหมายจับผู้ต้องห มาเพื่อรับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับไปดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป ได้แก่ สถานีตำรวจนครบาลบางเขน 22 ราย สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี 4 ราย สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน 18 ราย สถานีตำรวจภูธรเมืองจันทบุรี 10 ราย และสถานีตำรวจภูธรท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 25 ราย

RELATED ARTICLES