“คนที่รู้จักผมก็จะรู้ว่า ไอ้โพธมันก็อยู่ของมันอย่างนี้”

 

เกินกว่าค่อนชีวิตที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ รับราชการบนสมรภูมิร้อนชายแดนด้ามขวานจนเชี่ยวชาญด้านการศึกนำไปปรับยุทธวิธีรับมือเพื่อลดความสูญเสียของผู้ใต้บังคับบัญชา

พล...โพธ สวยสุวรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ถือเป็น อีกต้นแบบ นายตำรวจระดับอาจารย์ถึงขนาดลงทุนสร้างสนามยิงปืนไว้ให้ลูกน้องฝึกซ้อมทบทวนทักษะความแม่นยำไว้ต่อสู้ป้องกันตัวและปราบปรามเหล่าอาชญากรร้ายทุกรูปแบบ

เช่นเฉกเจ้าตัวที่ชีวิตประจำวันแทบไม่ห่างจากอาวุธปืน เขี้ยวเล็บชิ้นสำคัญสำหรับรองรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงได้ทุกเวลา

ฝึกน้อยสูญเสียมาก ฝึกมากสูญเสียน้อย เขาเชื่อในทฤษฎีเชิงศึกที่พูดต่อกันมานาน

 

ลูกชายนายพลตำรวจภูธร ผ่านโรงเรียนกินนอนสู่รั้วสามพราน

ย้อนเริ่มต้นประวัติของ พล.ต.ต.โพธ สวยสุวรรณ เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นลูกชาย พล.ต.ต.ศักดิ์ สวยสุวรรณ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 11 นครศรีธรรมราช ทว่าวัยเด็กไปเติบโตภาคใต้ เรียนอนุบาลในจังหวัดยะลา เมื่อครั้งผู้พ่อเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา แต่พอเกิดคดีโจรเรียกค่าไถ่อาละวาดหนักในพื้นที่ ข้าราชการส่วนใหญ่มักเลือกเอาบุตรหลานไปเรียนกรุงเทพฯ เพราะกลัวไม่ปลอดภัย

กลายเป็นเหตุผลให้เขาขึ้นมาเรียนต่อโรงเรียนประจำที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในรุ่น 128 จนจบมัธยมไปสอบเข้าเตรียมทหารรุ่น 22 เลือกเหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 38 เจ้าตัวเล่าว่า ใจจริงอยากเป็นทหารเรือ เพราะมีพี่ชายเป็นทหารเรือ แต่แม่อยากให้เป็นตำรวจตามรอยพ่อ ตัดสินใจเลือกอย่างที่แม่ขอร้องเป็นนายร้อยตำรวจ จบออกมารับราชการครั้งแรกตำแหน่ง รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ผมรับราชการทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ในชีวิต เลือกทุ่งสง เพราะเป็นจังหวัดที่เราค่อนข้างคุ้นชิน ประกอบกับได้ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่แล้วให้ลงมาใต้ดีกว่า ตอนนั้นทุ่งสงเริ่มมีคดีอาชญากรรมสูง เปิดโอกาสให้ผมได้ประสบการณ์ อาจด้วยความซน ความชอบ  แทนที่จะเข้าเวรสอบสวนอย่างเดียวก็ไปตามรุ่นพี่ไปทำงานชุดสืบสวนด้วย”

 

ประเดิมประสบการณ์จับตาย แสนเสียดาย 2 นายตำรวจพลีชีพ  

พล.ต.ต.โพธเล่าต่อว่า ไม่นานได้ทำวิสามัญฆาตกรรมครั้งแรกในชีวิต เป็นคนร้ายปล้นฆ่าข่มขืน ตื่นเต้น ตกใจมาก ดวลปืนกันสด ๆ  ยังใหม่ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น แต่ผ่านมาได้ ก่อนย้ายไปเป็นรองสารวัตรสอบสวนเมืองภูเก็ต  ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจให้ไปเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจของจังหวัด ทำหน้าที่สืบสวนจับกุมคดีต่าง ๆ ในเกาะภูเก็ต

เก็บเกี่ยวประสบการณ์ขึ้นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา แล้วย้ายเป็นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขึ้นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จุดเริ่มต้นของสมรภูมิรบนอกตำราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะเกิดคดีปล้นปืนค่ายกองพันทหารพัฒนา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อต้นปี 2547

เจ้าตัวไม่เคยลืมเหตุการณ์วันที่ พ.ต.อ.มานิตย์ รัตนาวิน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปัตตานี ล้อมจับผู้ก่อความไม่สงบแล้วปะทะเดือดจนต้องพลีชีพสังเวย พร้อม พ.ต.ท.มนตรี มูลพินิจ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปัตตานี ขณะที่ พ.ต.ท.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย รองผู้กำกับการป้องกันปราบปรามจากเมืองพัทลุงมาช่วยราชการที่จังหวัดปัตตานี ถูกยิงเข้าที่หน้าอกกระสุนทะลุเสื้อเกราะได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน มีส่วนทำให้เขาย้ายเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีแทนจากเหตุความสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์นั้น

 

เผชิญสถานการณ์ใบไม้ร่วง กับห้วงนาทีประวัติศาสตร์มัสยิดกรือเซะ

“เราเป็นฝ่ายที่สูญเสีย ถูกยิงเสียชีวิต โจรก็เสียชีวิต เราก็เสียชีวิต แต่เป็นการเสียชีวิตของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ ตำรวจโรงพักเมืองปัตตานีขวัญกำลังใจไม่ค่อยดี ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผมไปเป็นผู้กำกับการแทน เป็นช่วงที่ความรุนแรงในภาคใต้ปะทุขึ้นในเวลาต่อมา มีลอบยิงเจ้าหน้าที่เป็นใบไม้ร่วง” พล.ต.ต.โพธว่า

ต่อมาเกิดเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547  อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปัตตานีบอกว่า ต้องคุมกำลังเข้าไปร่วมปฏิบัติการกระทั่งเหตุการณ์ตึงเครียดสงบจนเสร็จสิ้น เป็นเหตุการณ์ที่หลายคนคงทราบกันอยู่แล้ว ตอนนั้นเราได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับการกรือเซะไปโดยปริยาย แนะตัวที่ไหนก็อ๋อ เพราะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ แต่ทำให้ฝ่ายตำรวจ ทหารต้องกลับมาเปลี่ยนยุทธวิธีการทำงาน

ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงต่อเนื่องตามมาด้วยความสูญเสียของเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย พล.ต.ต.โพธคุมสถานการณ์ระดมเรียกขวัญกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชาพร้อมแนะยุทธวิธีตั้งรับและโต้กลับอยู่ระยะหนึ่งก็ข้ามฟากเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

 

ขยับขึ้นเป็นผู้การปัตตานี พลิกบทรบกับผีได้ยุทธวิธีคลำเป้าหมาย

แล้วโชคชะตาก็พาให้เขากลับมาลงสมรภูมิร้อนอีกครั้งในตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี  พล.ต.ต.โพธยอมรับว่า ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรได้มาก เป็นแค่ปลุกเร้าผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้นำในภารกิจบางภารกิจในการดำเนินการทางยุทธบางอย่าง โอเปอเรชั่นบางอย่าง

“ตำรวจ หรือผู้บังคับใช้กฎหมาย ผมว่า แทบจะทุกเหล่า ทุกหน่วยงานมองคนเป็นนาย มันไม่มีเทคนิคอะไรมากไปกว่าทำให้ดูแค่นั้นเอง ในการที่จะปลุกเร้า เรารบกันหลายสิบปี พูดได้เลยว่า สมัยก่อนถ้าคนที่อยู่ทันในยุทธการต่าง ๆ เราใช้คำว่า เรารบกับผี ไม่เคยเจอตัวมัน ไม่เคยได้ศพ มีแต่มันมาสอยพวกเราร่วง เรียกว่า ยุทธการใบไม้ร่วง เราต้องคอยป้องกันตัว และไม่รู้ว่า โครงสร้างของอีกฝ่ายเป็นอย่างไร”

รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อธิบายเรื่องราวต่อว่า จนกระทั่งท่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว มาเป็นผู้บัญชาการเริ่มคลำรอยตามขยายผลรู้ถึงโครงสร้างของฝ่ายตรงข้าม ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คลี่คลายเบาบางลงได้มากที่สุดในสมัยนั้นยาวมาถึงสมัยของ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เป็นยุคที่ตำรวจทำงานได้ค่อนข้างดีที่สุด เพราะปะติดปะต่อจิ๊กซอว์รู้ถึงกลไกโครงการของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่เกือบครบวงจร

 

ตัดสินใจย้ายตัวเองไปจเรตำรวจ ถูกจวกแต่ไม่สน ขอแค่ดูแลแม่ในบั้นปลาย

สำหรับตัวเขานั่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีและขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงมาตลอดจนเริ่มจางลง เห็น การดำเนินการกับพื้นที่ของรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย ถูกทางมากบ้าง ถูกน้อยบ้าง แต่บางทีขำไม่ออก กระนั้นก็ตาม เขาเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรปัตตานีเพียงปีเดียวขอย้ายตัวเองมาอยู่จเรตำรวจ ท่ามกลางความงุนงงของผู้บังคับบัญชา

“ผมเป็นคนเดียวที่ขอย้ายจากหน่วยกำลังมาอยู่จเรตำรวจ หลายคนถามว่า ทำไม คือ ตอนนั้น แม่ผมยังมีชีวิตอยู่ ตลอดเวลาที่ผมอยู่ปัตตานี ผมบอกคุณแม่ว่า ไปทำงานนี่ แม่ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก ผมไปอยู่ ไปทางสายธุรการ  พยายามบอกคุณแม่ว่า ไม่มีอะไร แต่ในข่าวทีวีจะเห็นภาพผมอยู่ตลอดในที่เกิดเหตุ ในการปิดล้อมตรวจค้น ในการติดตามผู้ก่อความไม่สงบ หรือปฏิบัติการอะไรต่าง ๆ เห็นผมอยู่ตลอด”

“ข่าวช่อง 3 ออกวันละ 5 ครั้ง  ผู้สูงอายุนั่งดูทีวีทั้งวันทั้งคืน ก็เห็นผมสิ คุณแม่บอกเห็นลูกอีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเคสเดียว แต่ข่าววนอยู่นั่นแหละ เหมือนเราอยู่ในพื้นที่รุนแรงตลอดเวลา  กระทั่งมันมีอยู่คดีหนึ่ง ราษฎรไทยพุทธ ถูกยิงเสียชีวิต พ่อ แม่ ลูก มีลูกอีกคนหนึ่งรอดตายกอดศพร้องไห้ ทำให้ผมมานั่งคิด ผมอยู่กับตรงนั้น ผมจะมาสนุกอยู่คนเดียวไม่ได้แล้ว เพราะตลอดชีวิตผมไม่เคยกลับบ้าน ไม่เคยดูแลครอบครัว  เราทำงานด้วยความสนุก ไม่เคยขอย้ายออกจากพื้นที่จนถึงวันนั้น ผมก็ไปขอย้ายไปจเรตำรวจ” พล.ต.ต.โพธให้เหตุผลความสมัครใจ

 

คืนสมรภูมิร้อนปลายด้ามขวาน ปรับเนื้องานสร้างสนามฝึกยิงปืนส่วนตัว

“ไปเรียนท่านพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ที่ทันกันสมัยเล่นรักบี้ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขอย้าย แกถามว่าจะไปอยู่ที่ไหน  พอบอกว่า ผมอยากไปอยู่จเรตำรวจ แกด่าเลยว่า ไปทำไม ผมพูดแค่ว่า ผมอยากกลับไปดูแม่เท่านั้น”  นายพลเลือดนักรบระบายความรู้สึกก่อนได้ย้ายกลับมาดูแลแม่บังเกิดเกล้าในบั้นปลายของชีวิตจนวายชนม์

หมดห่วงกลับมาขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 คืนสมรภูมิอีกรอบจากวันนั้นถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 ปีกว่าแล้วพยายามสร้างเนื้องานปรับยุทธการและทบทวนทักษะของผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นมนุษย์พันธุ์ที่เป็นตำรวจสนใจในเรื่องของการใช้อาวุธ สนใจในเรื่องการใช้ยุทธวิธี ลงทุนสร้างสนามยิงปืนส่วนตัวให้ตำรวจมายิง ให้ตำรวจมีพื้นที่มาฝึกซ้อม เน้นย้ำเรื่องการใช้ยุทธวิธี การใช้อาวุธมาตลอด

“พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 เป็นพื้นที่พิเศษ มีพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของสงขลา อดีตผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งชอบเรียกว่า พื้นที่การรบ หรือมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทำให้เราต้องมีหลักสูตรเกี่ยวกับการใช้อาวุธสำหรับกำลังพลในทุกระดับ ตั่งแต่ชั้นประทวนจนถึงระดับผู้กำกับการหัวหน้าสถานี เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ในเหตุคับขัน  รู้และปฏิบัติในเชิงยุทธวิธีได้ดีกว่าตำรวจในภาคอื่น ๆ การฝึกทบทวนที่พวกเรามักใช้คำว่า ฝึกมากสูญเสียน้อย ฝึกน้อย สูญเสียมาก เป็นคำพูดที่เราได้ยินมานานมาก แต่พิสูจน์ได้ว่า จริงแท้ การปฏิบัติฉับพลันจะเกิดได้ เมื่อทำการฝึกบ่อยครั้งเท่านั้น” พล.ต.ต.โพธย้ำ

 

ให้ความสำคัญกับอาวุธข้างกาย ชูผู้เป็นนายให้ลูกน้องอุ่นใจถวายหัว

เจ้าตัวยืนยันว่า ทุกตำแหน่งที่อยู่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้อาวุธมาตลอด เราพบเห็นถึงความอ่อนด้อยการใช้อาวุธของข้าราชการตำรวจเยอะแยะมากมาย  เป็นระบบที่แก้ไม่ง่าย ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขอบคุณผู้บังคับบัญชาในอดีตอย่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ท่านเป็นคนที่สนใจในการใช้อาวุธ  สนใจในการยิงปืน สนใจในยุทธวิธีอะไรต่าง ๆ  และพัฒนาทำโครงการซื้อปืนดี ๆให้ตำรวจได้ใช้

ขณะเดียวกัน เขายังยกย่อง พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพี่ อดีตผู้บังคับบัญชาที่ได้มีโอกาสทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในสนาม ถือเป็นยุคที่ปรับเปลี่ยนจรยุทธ์ปลุกขวัญกำลังใจลูกน้องปะทะตรวจค้นได้จำนวนผู้ก่อความไม่สงบมากที่สุด และฝ่ายเจ้าหน้าที่สูญเสียต่ำลงทุกปี เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาเกาะติดพื้นที่มานานตั้งแต่เป็นผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม และเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อยู่ 5 ปี

“ท่านเป็นผู้นำหน่วยที่มีคุณภาพ ผมได้อะไรจากท่านมาเยอะ ยืนหน้า ไม่พูดมาก เกาะติดพื้นที่แล้วก็พร้อมรับผิดชอบ ผมว่า ตำรวจเรามีนายแบบนี้ ลูกน้องถวายหัว ไม่ใช่หันมองข้างหลัง นายอยู่หรือเปล่า ผมต้องให้เครดิตในการที่ท่าน พล.ต.ท.รณศิลป์ใช้ประสบการณ์ทุกอย่างลงทำงาน ทั้งความรู้ ความสามารถในเชิงสืบสวนแกะรอยได้ตัวผู้กระทำความผิด ถ้าไม่มอบตัวก็ทำจากเบาไปหาหนัก ว่ากันไป”

สารภาพไม่คาดหวังกับตำแหน่ง มองการแต่งตั้งเป็นเรื่องผู้บังคับบัญชา

เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อาวุโสติดกลุ่มหัวแถวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.โพธสารภาพว่า ไม่คาดหวังอะไรมากมาย เต็มที่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา เราเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งเท่านั้น การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา แต่หากถามว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาตใต้มาถูกทางหรือยัง ส่วนตัวคิดว่า ถูกทางแล้ว เคยพูดกับทุกสื่อให้ย้อนกลับไปว่า จากที่รบกับผี เป็นใครไม่รู้แอบมายิงเรา ปัจจุบันรู้หมดแทบ 100 เปอร์เซ็นต์ รู้เครือข่าย รู้อะไรหลายอย่าง

พล.ต.ต.โพธให้ความเห็นอีกว่า ปฏิบัติการเชิงนโยบายของรัฐบาลมาถูกทาง ทีมพูดคุยเจรจาก็ว่ากันไป ชุดปฏิบัติการก็ปฏิบัติการกันไป ชุดคุ้มครองก็คุ้มครองกันไป คิดว่า มาถูกทางแล้ว ปัญหาความรุนแรงที่คิดกันว่า ไม่มีวันจบ ปัจจุบันน่าจะมีวันจบ อยู่ที่ว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง

สำหรับชีวิตราชการเหลืออีกไม่ถึง 2 ปีเกษียณแล้ว เจ้าตัวการันตีว่า จะอยู่ตำแหน่งไหนต้องทำงานและทำให้ดีที่สุด ต้องเรียนว่า ค่อนข้างโชคดีที่ได้ขึ้นตำแหน่งสำคัญในแต่ละครั้ง มีโอกาสอยู่ในเกณฑ์อาวุโสมาตลอด ติดอยู่ในเกณฑ์ 33 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องวิ่งเต้น แต่ต้องทำงานในตำแหน่งนั้นให้ดีที่สุดตรงกับที่ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ

 

ยึดความเป็นตัวตนของตัวเอง ต่างคนต่างเดินคนละทางห้ามล้ำเส้นกัน

“ความเป็นตัวผม ผมคิดว่า คนที่รู้จักผมก็จะรู้ว่า ไอ้โพธมันก็อยู่ของมันอย่างนี้ ยิงปืน ขี่มอเตอร์ไซค์ของมันไปเรื่อยเปื่อย คือ มันเป็นเรา ผมทำของชำร่วย ผมแจกลูกน้องตอนปีใหม่ เป็นแก้วดับเบิลวอร์ เขียนชื่อผม แต่ปีนี้ทำให้ทุกคนรู้จักตัวเรามากขึ้น ระบุข้อความ ‘ทางหมา หมาเดิน ทางเสือ เสือเดิน’ สกรีนบนแก้ว เหมือนจะบอกต่างคนต่างเดินคนละทาง มึงอย่ามายุ่งกับกู นี่ทางของกู”

พล.ต.ต.โพธบอกว่า เป็นตัวตนของเรา ไม่ได้เก่งอะไรมาก แต่ยังสนุกกับงานในการสอน แนะนำลูกน้อง เวลาเจอตำรวจต้องหยิบปืนมาดู ไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ หรือจราจร เพื่อดูว่าพร้อมใช้งานไหม สภาพปืนเป็นอย่างไร เพราะเป็นห่วง เคยเจอตำรวจจราจรโรงพักหนึ่งพกปืนไม่มีลูก ปืนลูกโม่ 357 พอทักไปทำไมไม่มีลูก มันก็ตกใจ ปรากฏมาทราบตอนหลังว่า พอเลิกงานออกเวรกลับบ้านถอดเข็มขัดปืนแขวนไว้  ภรรยาหวังดีเอากระสุนออก  เพราะกลัวลูกจะไปเล่นปืน แล้วไม่ทำให้เหมือนเดิม

“ตำรวจคนนั้นตื่นเช้ามาก็ไม่ได้ดูเอามาคาดเข็มขัดใส่ไปทำงาน ฮาเลย ผมถือว่า ได้สอน แต่ต้องคอยสอนตำรวจตลอด  มันอยู่ในกฎความปลอดภัย ต้องตรวจปืนทุกครั้ง เมื่อจับปืนต้องอยู่ในคอนดิชั่นที่เราต้องการ  อย่างตัวผมพกปืนขึ้นลำตลอดเวลาทุกกระบอก ผมจะหยิบมาใช้ หรืออะไร ต้องแง้มดูว่า ยังอยู่หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นปืนสั้น ปืนยาว นี่คือ ความเป็นผม ผมชอบดูตำรวจว่า มีความพร้อมแค่ไหน ปืนเก่าไหม กระสุนเก่าไหม ถ้ากระสุนเก่า ผมก็แจก เอามาให้ลูกน้อง”

 

ฝากรุ่นน้องไว้เป็นขอสะกิดใจ ชาวบ้านจะคิดอย่างไรอยู่ที่โรงพัก

“ ชีวิตผมซิมเปิ้ลมาก ผมก็ถือว่า ผมทำงานดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ และมีคำคมประโยคหนึ่งของน้องยมชุดสืบสวนคดีสำคัญศูนย์บัญชาการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า เราไม่ทำแล้วใครจะทำ เป็นประโยคกินใจมาก น้องคนนี้เป็นชุดที่สามารถคลี่คลายคดีสำคัญไปสู่การจับกุมเยอะมาก แต่เหนื่อยมาก เสี่ยงมาก ผมชอบมากและเห็นด้วยกับประโยคดังกล่าว” รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ระบุ

เจ้าตัวอยากจะฝากตำรวจรุ่นน้อง ๆ รุ่นใหม่ๆ โดยใช้คำของรองเต๋อ-พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 น้องรักเอามาฝาก คือ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดี ประชาชนให้ดี เพราะตำรวจชั้นผู้น้อยชอบถูกทอดทิ้ง ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็ดูแลแต่สูงเกิน ยกตัวอย่างผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดูแลไหม ดูนะ แต่จะให้ไปดูถึงโรงพักก็ไม่ง่าย องค์กรตำรวจมันใหญ่มาก คนที่จะสัมผัสกับผู้ใต้บังคับบัญชามากที่สุด คือ ระดับผู้กำกับการ

“ท่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เคยพูดไว้ว่า จุดแตกหักมันอยู่ที่โรงพัก ชาวบ้านขึ้นโรงพักไม่ประทับใจก็ด่าตำรวจโรงพัก เขาไม่ได้ขึ้นไปกองบังคับการ กองบัญชาการ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะไม่ได้ไปขอใช้บริการ ขอความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น ผู้บริหารระดับต้น คือ ผู้กำกับโรงพัก ถ้าไม่ใส่ใจกำกับดูแลมันก็ไม่ดี ผู้กำกับต้องดูแลได้ทั้งตำรวจ ดูแลได้ทั้งประชาชนด้วย”  พล.ต.ต.โพธทิ้งท้าย

 

 

 

 

RELATED ARTICLES