กำหนดกรอบขอบเขตล่าโจรไซเบอร์

 

ตัดสินใจลงไปจัดการ “อุดรอยรั่ว” ของปมปัญหาคาราคาซัง

สุญญากาศแห่งความรับผิดชอบปราบปรามอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ที่กำลังอาละวาดขยายเครือข่ายเป็นวงกว้าง

ท่ามกลางเสียงสะท้อนของพนักงานสอบสวนท้องที่รับแจ้งเหตุเก็บกองการบ้านหมักหมมเป็น “กองพะเนิน” ไร้หน่วยงานอื่นที่มีหน้างานโดยตรงและมีศักยภาพมากกว่าเข้ามาช่วย “ปัดเป่า” แบ่งเบาการบ้าน

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงลงนามในคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 468/2565 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2565 เรื่อง การรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการมอบหมายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายคุม ” ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “

เนื่องจากปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระทำความผิดที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จึงออกคำสั่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

ใจความสำคัญ อาทิ ขั้นตอนการปฏิบัติกรณีผู้แจ้งมาแจ้งความร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน (Walk in) รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติกรณีผู้แจ้งได้แจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์

การกำหนดลักษณะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ “สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน” รับผิดชอบทำการสอบสวน คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า ซื้อขายบริการ คดีข่มขู่หรือคุกคามทางเพศ คดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือข่มขู่คุกคาม

ส่วนคดีหลอกลวงให้โอนเงินที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการให้ “สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในสังกัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9” รับผิดชอบการสอบสวน

คดีหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน คดีหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน คดีข่าวปลอม คดีที่กระทำต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยผิดกฎหมาย คดีเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม คดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ คดีหลอกลวงให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล คดีหลอกลวงให้ลงทุนที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือสิทธิประโยชน์ คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า บริการ ข่มขู่คุกคาม หลอกโอนเงินที่เป็นขบวนการ หรือมีผู้เสียหายจำนวนมากหลายพื้นที่ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในสังกัด “ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” รับผิดชอบการสอบสวน

ขณะที่ คดีหลอกลวงให้ลงทุนที่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน แชร์ลูกโซ่ คดีกู้เงินออนไลน์ที่เรียกดอกเบี้ยเกิดอัตรา คดีหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ หรือค้ามนุษย์ที่มีลักษณะเป็นขบวนการ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในสังกัด “ตำรวจสอบสวนกลาง” รับผิดชอบทำการสอบสวน

คำสั่งระบุด้วยว่า ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยรับแจ้งคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ ต้องรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบวิเคราะห์ความเชื่อมโยงและลักษณะคดี ควบคุมระบบรับแจ้งความออนไลน์ ส่งเรื่องไปยังสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์

เพื่อให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบและทำการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

บูรณาการการทำงานร่วมกัน เสมือนว่าเป็น “สถานีตำรวจประเทศไทย” สามารถประสานการปฏิบัติกันได้โดยตรง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  

ผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องออกตรวจการปฏิบัติงานของหน่วยในสังกัดเพื่อรับทราบปัญหาข้อขัดข้องแล้วนำมาแก้ไข

เพื่อให้การกำกับดูแลในการรับแจ้งความออนไลน์เป็นไปแนวทางเดียวกัน

ไม่ต้องเกิดปัญหา “ทับซ้อน” เกี่ยงงาน ปิดเกลียว ขบเหลี่ยม “เด็ดยอด” บังข้อมูลกันอีก

 

 

RELATED ARTICLES