เสียโอกาสในชีวิต

 

สงสัยไหมว่า กรณีของ พล.ต.ต.วันชัย  เอกพรพิชญ์  รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ทำไมศาลปกครองกลางใช้เวลาพิจารณาเพียงแค่ 2 เดือน

 คืนความเป็นธรรมให้ผู้ฟ้องคดีแล้ว

ตามคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ “นายพล” วาระประจำปี 2565 และให้พิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.ต.วันชัย เอกพรพิชญ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการด้วย

เรื่องนี้ฝ่ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มีใครออกมาแสดงความเห็นชัดเจน แต่มีแนวโน้มว่าจะต้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง

ไม่ให้ยุ่งอีนุงตุงนัง เพราะหากบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายเป็น “โมฆะ” ยอมมีผลต่อกฎหมายตามมาอีกมากมาย

กระนั้นก็ตาม มีอดีตนายตำรวจวัยเกษียณท่านหนึ่งระบายความเห็น

เหตุผลที่ศาลปกครองกลางเร่งรัดเงื่อนเวลาตีระฆังชูมือให้ “ นายพลอันดามัน” เป็นผู้ชนะในการฟ้องคดี เพราะว่า มีการเพิ่มเติมระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ( ฉบับที่ 7 ) พุทธศักราช 2562

สรุปใจความว่า หากตุลาการเจ้าของสำนวนเห็นว่า คำฟ้องสมบูรณ์ และหากกระบวนการพิจารณาแบบเดิมล่าช้า อาจเกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี ยากต่อการเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ให้ขออนุมัติอธิบดีศาล ใช้วิธีไต่สวนแบบศาลอาญาในวันเดียวหรือต่อเนื่อง  และพิจารณาคดีเสร็จภายในวันเดียว หรือตามสมควร

เจ้าตัวว่า ถ้าระเบียบฉบับนี้ออกมาสมัยเขารับราชการอยู่คนคงได้เป็น “นายพลหลัก” แน่นอน ไม่ใช่เกษียณตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หลังจากเขายืนศาลปกครองสูงสุดฟ้องผู้บัญชาการตำรวจภูธรในสังกัด รองผู้บัญชาการและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เรื่องคดีเกี่ยวกับการเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อเขาไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น

จัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในระดับสารวัตรถึงรองผู้บังคับการประจำปี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี

ทั้งที่ในด้านความสามารถ ผู้ฟ้องคดีจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จบหลักสูตรผู้กำกับการ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตั้งแต่ปี …. และยังได้รับการพิจารณาความดีความชอบประจำปี 2 ขั้นรวม 5 ครั้ง

 เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นตามคำสั่ง เห็นได้ว่า ไม่มีผู้ได้รับการพิจารณาความดีความชอบประจำปี 2 ขั้นมากกว่าผู้ฟ้องคดี

ด้านความเหมาะสม ผู้ฟ้องคดีเคยปฏิบัติงานด้านงานสอบสวน งานจราจร งานสืบสวน งานป้องกันปราบปราม และงานอำนวยการ ตลอดจนเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย ไม่เคยต้องหาคดีอาญา ไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย

ประวัติผลงานมากมายตลอดชีวิตรับราชการ สุดท้ายผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นหลายราย “กระโดดข้ามหัว” มิได้แสดงเหตุผลในการเลื่อนและแต่งตั้งแต่อย่างใด

ในที่สุดต้องสู้คดีเพื่อร้องเรียกความเป็นธรรมนานถึง 5 ปีกว่า ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้ “เพิกถอนคำสั่ง” เฉพาะส่วนที่ไม่แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการ  พร้อมให้ดำเนินการแต่งตั้งผู้ฟ้องให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ทำเขาเสียโอกาสในชีวิตจมปรักอยู่ตำแหน่งรองผู้บังคับการถึง 9 ปี

 

RELATED ARTICLES