คุณหมอสาวแห่งโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น  

“มิ้นท์” แพทย์หญิงวจี จันปุ่น ทายาทคนโต พ.ต.อ.วิษณุ จันปุ่ม ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองวัวซอ  จังหวัดอุดรธานี ชาวเมืองหมอแคน เริ่มเรียนอนุบาลอยู่อำเภอชุมแพ ขอนแก่น ก่อนต้องย้ายตามบิดา ไปเรียนอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เซ็นต์เมรี่ เมืองอุดรธานี และมัธยมต้นอุดรคริสเตียนศึกษา

ถึงชั้นมัธยมปลาย เธอสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีความมุ่งมั่นอยากเป็นหมอ พอจบเลยไปสอบแพทย์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เวลา 6 ปี เลือกเรียนต่อวิชากุมารเวชกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยความที่อยากเป็นหมอเด็ก ไม่อยากเป็นหมอผ่าตัด

“ตอนแรกเลือกไว้ 2 อัน คือ อายุรกรรม คือ ดูแลผู้ใหญ่ กับกุมาร คือดูแลเด็ก แต่ว่าใช้ยา สั่งจ่ายยา ไม่ต้องผ่าตัด เวลานี้เรียนต่อปีสุดท้ายเป็นกุมาร เป็นโครงการพิเศษ เรียนได้เลย แต่ถ้าเป็นโครงการแพทย์ทั่วไป ต้องใช้ทุนก่อน 3 ปี แล้วค่อยมาเรียนต่อ  แต่ของมิ้นท์ มาเรียนได้เลย เพราะว่า สมัครสอบ เอาเกรดมายื่น แล้วสอบสัมภาษณ์”

จบเป็นแพทย์หญิงได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถสั่งจ่ายยาได้ รักษาคนไข้ได้โดยไม่ต้องมีคนควบคุม เรียกว่า เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยอยู่กุมารเป็นอย่างที่ฝัน หมอมิ้นท์ยอมรับว่า ตอนเรียนๆ อยู่ก็เพิ่งรู้ตัวเองว่า ไม่ชอบแบบผ่าตัด เพราะมันยืนนาน ภาวะฉุกเฉินเยอะ สมมติว่า นอนๆ อยู่ เขาจะโทรตามเราเมื่อไรก็ได้แล้วคนผ่าตัดแทนเราก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่ต้องมาผ่าเอง แต่ถ้าเป็นกุมาร หรืออายุรกรรม ที่อยากจะเรียนก็จะสั่งทางโทรศัพท์ได้ เพราะจะเป็นออเดอร์ยา ไม่ใช่แบบฉุกเฉินที่จะต้องตื่นมา เขาตามปุ๊บ ต้องมาปั๊บ

แพทย์สาวคนสวยยังเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกด้วยว่า เป็นธรรมดาของลูกตำรวจที่ช่วงเด็ก ๆ จะห่วงพ่อเวลาออกไปทำงานจับผู้ร้าย พอโตขึ้นมาก็เริ่มเข้าใจชีวิตพ่อ เมื่อก่อนพ่อทำงานสืบสวนสอบสวนก็รู้สึกดีที่พ่อได้ช่วยคน รู้สึกโอเค และรู้สึกปลอดภัยที่มีพ่อเป็นตำรวจ ไม่คิดว่า เวลาของพ่อหายไป สำหรับพ่อ ลูกจะมาเป็นอันดับ 1 ก่อนไปเรียนสมัยเด็ก พ่อจะซื้อข้าวมาให้ สมมติว่าไปเรียน 7 โมง พ่อก็ต้องตื่นมาซื้อให้ตอน 6 โมงครึ่งเตรียมข้าวไว้แล้วเหมือนกับว่า เขาให้เวลากับเราเต็มที่

“ คุณพ่อจะต้องให้ลูกก่อน เช่น จะต้องไปส่งลูกก่อน แล้วค่อยทำงานของเขา เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก เลยมีความรู้สึกว่า ไม่ขาด ก็จะมีแค่แบบบางวัน สำนวนคุณพ่อเยอะก็จะกลับดึก แต่ถ้าลูกไปตาม คุณพ่อก็จะกลับมากินข้าว แล้วค่อยทำงานต่อ ชีวิตมิ้นท์ก็ขลุกอยู่ในโรงพักตลอด เพิ่งมีช่วงหลังที่ซื้อบ้าน คุณพ่อกับคุณแม่เริ่มตั้งรกรากก็จะไม่ค่อยได้อยู่ที่โรงพัก ไม่เหมือนเมื่อก่อนนี้จะอยู่บ้านพักบ่อย ย้ายบ่อยมาก เปลี่ยนโรงเรียนเยอะมาก”

ช่วงแรกเธอจะรู้สึกว่า เราอุตส่าห์จะมีเพื่อนที่สนิทแล้ว แต่ต้องย้ายไปอีกแล้ว หรือว่า เราชอบที่นี่ แต่ต้องไปแล้ว กระทั่งหลังๆ ก็เริ่มชิน นับเป็นข้อดีที่เรารู้สึกว่า เราเข้ากับคนอื่นได้ง่ายมาก แล้วก็มีเพื่อนเยอะ เข้ากับงานอะไรได้เร็วกว่าคนอื่น เพราะมาจากการที่ต้องเปลี่ยนที่อยู่บ่อย เปลี่ยนโรงเรียนบ่อย ทำให้เราปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย

หมอมิ้นท์บอกด้วยว่า ถึงกระนั้นก็ตาม พ่อเป็นคนเก่ง ชอบสอนตั้งแต่เรื่องการดำรงชีวิต สอนคณิตศาสตร์เก่งมาก แม้ช่วงที่ไปอยู่กรุงเทพฯ ก็จะห่างๆ แต่จะพยายามสลับกันมา พ่อต้องทำงาน แล้วไม่มีหยุดเสาร์ อาทิตย์ เหมือนอาชีพอื่นทั่วไป ทีนี้ ถ้าพ่อไม่ว่าง ก็จะมีแม่ไป สลับกันมาตลอดช่วงแรก ประกอบกับตัวเองก็ไม่ค่อยว่างด้วย แต่เราจะมีวันครอบครัวกัน

การเป็นลูกตำรวจบ่อยครั้งที่ต้องรับรู้เสียงวิพากษ์วิจารณ์องค์กรสีกากี เจ้าตัวว่า  ก็รู้สึกแย่ แต่ว่า ก็ทำใจ มันก็มีมุมมองหลายด้าน แต่ละคนก็มอง เราก็ไม่ได้ไปว่าอะไรเขานะ เราก็ฟัง คือทุกอาชีพ ก็มีทั้งคนดี และคนไม่ดี หมอก็เหมือนกัน เลยคิดว่า เรารู้แค่ว่า พ่อเราเป็นตำรวจที่ดี แค่นั้นก็แล้วกัน ส่วนคนอื่นจะคิดยังไงก็ไม่รู้ แล้วแต่เขา ไม่ได้เถียงแทน เพราะคิดว่าเป็นความคิดคน รู้สึกว่าการที่เราจะไปเปลี่ยนความคิดใครสักคน มันก็คงจะยาก แม้เรารู้สึกแย่ก็ทำอะไรเขาไม่ได้ รู้ว่า พ่อเป็นคนดีก็พอ

 

RELATED ARTICLES