ประกาศิตบิ๊กเด่น

 

พิษสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุกกลายเป็นเรื่องราวบานปลาย “สาวไส้เน่า” กองทัพสีกากีอีกระลอก

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้อง ลงนามในบันทึกข้อความที่ 0007.34/2122 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เรื่องให้บังคับใช้กฎหมาย กวดขัน และจับกุมการกระทำผิดของรถบรรทุก

ใจความว่า

ตามที่มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างแพร่หลาย กรณีที่ผู้ประกอบการรถบรรทุก ขนส่งสินค้ากระทำความผิดกฎหมาย โดยบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักบรรทุกที่กฎหมายกำหนด และใช้สติกเกอร์ รูปต่างๆ ติดหน้ารถบรรทุก เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่า ได้จ่ายผลประโยชน์ในรูปแบบ “ส่วยสติ๊กเกอร์” ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อมิให้ถูกจับกุม  

เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในเรื่องดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันอุบัติเหตุ และป้องกันสภาพถนนเสียหาย ตลอดจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนให้ดำเนินการ ดังนี้

1.ให้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อมุ่งเน้นการป้องกันอุบัติเหตุ และผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน โดยตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร จับกุมการกระทำผิดของรถบรรทุก ในข้อหาบรรทุกน้ำหนักเกินกว่า ที่กฎหมายกำหนด เดินรถบรรทุกในเวลาห้าม นำรถที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี หรือเสียง เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดมาใช้ในทางเดินรถ รวมทั้งการกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องอันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ การเกิดอุบัติเหตุโดยเคร่งครัด

2.การตั้งจุดตรวจให้ถือปฏิบัติตามหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/681 ลง 3 มี.ค. 64 เรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจ เพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และความผิดอื่น ที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง และหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติด่วนที่สุด ที่ 0007.22/438 ลง 2 ก.พ. 66 เรื่อง กำชับ การปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด โดยเคร่งครัด

3.ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียก รับ หรือยอมรับผลประโยชน์โดยมิชอบ จากผู้ประกอบการ รถบรรทุกหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อละเว้นไม่ดำเนินการจับกุม โดยเฉพาะรถบรรทุกที่ใช้สติกเกอร์ติดหน้ารถ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าได้มีการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่ตามที่เป็นข่าว

อีกทั้งห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือหรือสนับสนุน กับการเรียกรับผลประโยชน์ และการกระทำความผิดในกรณีดังกล่าว

4.ให้บูรณาการความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายตามข้อ 1 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

5.ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่อง โดยสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้มีการทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือเรียกรับ ผลประโยชน์ในรูปแบบส่วยสติ๊กเกอร์ หรือรูปแบบอื่นๆ โดยเด็ดขาด และกำชับให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 1212/2537 ลง 1 ตุลาคม 2537 อย่างเคร่งครัด

หากพบข้อบกพร่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการตาม อำนาจหน้าที่ทั้งทางอาญา ทางวินัยและทางปกครองตามควรแก่กรณี พร้อมทั้งรายงานผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบโดยเร็ว

6.กรณีที่มีการร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ของจเรตำรวจ (www.jcoms.police.go.th) และสายด่วน 1599 ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้จเรตำรวจติดตามผลการตรวจสอบและแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ

7.ให้รายงานผลการปฏิบัติตามแบบฟอร์มที่แนบ สงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ให้ สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตำรวจ รวบรวมผลการปฏิบัติจาก ระบบ Crimes และ PTM ของแต่ละหน่วยให้สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (กองแผนงานอาชญากรรม) ทราบอีกส่วนหนึ่งด้วยโดยให้สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ  (กองแผนงานความมั่นคง) สรุปผลการปฏิบัติรายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกเดือนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป เพื่อทราบ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ประกาศให้รับทราบทั่วกัน

 

RELATED ARTICLES