“ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เป็นสิ่งที่ตำรวจจะต้องทำ”

 

  ช่วยงานเป็นจิตอาสาตำรวจสอบสวนกลางอยู่เบื้องหลังมานาน

ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ HOPE Task Force (Helpers of Psychiatric Emergency)

เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อคราวกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางลงนามบันทึกความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตและหน่วยเกี่ยวข้อง

เสมือนหน่วยปฏิบัติการ “ฮีโร่” เข้าช่วยวิกฤติภาวะชีวิตของคนคิดสั้น

ผ่านทุกจังหวะเสี้ยววินาทีแห่งความตึงเครียดของคนที่อยู่ในสถานการณ์บนเส้นด้ายแห่ง “ความเป็น-ความตาย”

สุดท้ายทุกชีวิตล้วนมีความหมายอยู่ในกำมือของพวกเขาหน่วยปฏิบัติการ HOPE จริงหรือ

 

นวัตกรรมด้านสุขภาพจิต เนรมิตความร่วมมือ 3 ภาคส่วน

ปฐมบทเริ่มต้นเกิดขึ้นในงานวันสุขภาพจิตโลก 2563 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรมสุขภาพจิตเปิดตัวนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตรูปแบบใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับกองบังคับการปราบปราบ และ Social Influencer ชื่อดังจาก 3 เพจ ได้แก่ หมอแล็บแพนด้า Drama-addict และแหม่มโพธิ์ดำ จัดตั้งทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ HOPE Task Force  คำว่า HOPE ย่อมาจาก Helpers of Psychiatric Emergency  หมายถึง ผู้ช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตฉุกเฉิน ทีมปฏิบัติการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อนำมาใช้ดูแลช่วยเหลือผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบ หรือมีสัญญานเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกโซเชียลให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงภารกิจของ HOPE Task Force จะเริ่มตั้งแต่ประชาชนสามารถส่งข้อมูลบุคคลที่มีสัญญานเสี่ยงการฆ่าตัวตายที่ปรากฏอยู่บนโลกโซเชียลให้กับเฟซบุ๊คเพจ หมอแล็บแพนด้า   Drama-addict แล แหม่มโพธิ์ดำ เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นในส่วนกองปราบปรามและกรมสุขภาพจิตจะร่วมกันวางแผนเข้าช่วยเหลือเร่งด่วนในพื้นที่ มีการประสานตำรวจในท้องที่และโรงพยาบาลเพื่อรองรับบุคคลที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ดูแลจนหมดภาวะฉุกเฉิน และมีการจัดทีมเยียวยาด้านสุขภาพจิตดูแลอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายซ้ำ

“นับว่าความร่วมมือในครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีในการทำงานด้านสุขภาพจิต ถือเป็นโมเดลต้นแบบในการทำงานด้านสุขภาพจิตแบบบูรณาการในอนาคต และยังจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมไทยอย่างมากมาย โดยทำให้เกิดระบบการช่วยชีวิตที่รวดเร็ว ได้รับความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตอย่างฉับไว และมีการติดตามดูแลรักษาและบำบัดเยียวยาในระยะยาวเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำในอนาคต” นายสาธิต กล่าว

 

สอดส่องสัญญาณคิดสั้น ปฏิบัติการฉับพลันเข้าช่วยเหลือ

ส่วน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รักษาการอธิบดีกรมสุขภาพจิตเสริมในครั้งนั้นว่า การจัดตั้ง HOPE Task Force  เป็นการรวมตัวกันของ 3 ภาคส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการรักษาชีวิตประชาชน และเป็นการนำจุดแข็งของทั้ง 3 ภาคส่วนมารวมไว้ในที่เดียวกัน กรมสุขภาพจิตมีศักยภาพในการเยียวยารักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชาชน และบำบัดฟื้นฟูในระยะยาวเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ด้านกองบังคับการปราบปรามมีศักยภาพในการสืบสวน และประสานงานในการเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทั่วประเทศ

เจ้าตัวอธิบายว่า social influencer มีความสามารถในการเข้าถึงสัญญาณเตือนที่ถูกส่งมาจากประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อนำความเข้มแข็งของทั้งสามส่วนมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดมาก่อน ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ในระยะต้นจะเน้นการช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์เป็นสำคัญ แต่ในอนาคตนั้นจะสามารถขยายความช่วยเหลือไปยังภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ นอกจากนั้นในระยะยาว

“กรมสุขภาพจิตยังมีแผนที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สนใจ และ social influencers อีกด้วย กรมสุขภาพจิตหวังอยากให้ประชาชนทุกคนเข้าให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมปฏิบัติการพิเศษนี้ เพราะทุกคนสามารถเป็นความหวังแห่งชีวิตของใครสักคนได้เสมอ” รักษาการอธิบดีกรมสุขภาพจิตมองภาพอนาคต

 

ประโยชน์มหาศาลต่อประชาชน ผลของพลังโลกโซเชียล

พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการปราบปรามกล่าวในวันแถลงเปิดตัวไว้ว่า  การดำเนินงานนำร่องของ HOPE Task Force หลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาและทดสอบความเป็นไปได้ของระบบ  จากทีมเล็ก ๆ จากหลายภาคส่วนที่มีความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือประชาชน ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราประสานพลังกัน การดำเนินงานรูปแบบใหม่นี้จะมีความเป็นไปได้และเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประชาชน

“ตั้งแต่ต้นปีชุดเฉพาะกิจก็สามารถช่วยเหลือชีวิตคนที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายไปแล้วไม่น้อยกว่า 60 ราย  ประชาชนอาจคุ้นเคยกับกองปราบปรามที่ปฏิบัติภารกิจด้านคดีอาชญากรรม แต่กองปราบปรามถือว่าการช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายบนโลกโซเชียลเป็นอีกหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของหน่วยงาน เพราะเราเล็งเห็นว่าไม่ว่าการช่วยเหลือประชาชนนั้นจะมาจากรูปแบบใดหรือเรื่องใด หากประชาชนสามารถคลายความทุกข์ได้  ถือเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำของพวกเรา”  พล.ต.ต.สุวัฒน์ย้ำหลักการ

ขณะที่ นทพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ หมอแล็บแพนด้า ในฐานะตัวแทนของภาคส่วนที่เป็น Social influencers ทั้ง 3 เพจ บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมปฏิบัติการพิเศษ ความร่วมมือในครั้งมีลักษณะที่แตกต่างจากความร่วมมือด้านการประชาสัมพันธ์ หรือให้ความรู้ทั่ว ๆไป เพราะ Social influencers และ เพจต่าง ๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการพิเศษด้วยตั้งแต่แรกเริ่ม พลังของโลกโซเชียลทำให้เราสามารถรวบรวมข้อมูลได้มหาศาลในระยะเวลาอันสั้น ข้อมูลเหล่านั้นเกิดจากความรักและความห่วงใยที่พวกเรามีให้กันในสังคม เชื่อว่า เราทุกคนคงอยากเห็นความร่วมมือดี ๆ แบบนี้ถูกพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

แม่ทัพสอบสวนกลางลงนามข้อตกลงตั้งธงเพื่อรักษาชีวิตชาวบ้าน

หลังจากดำเนินการไปได้พักใหญ่ในที่สุด กรมสุขภาพจิตร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเหล่า Social Influencer ชื่อดังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงประสานความร่วมมือเพิ่มศักยภาพทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย Hope Task Force เพื่อป้องกันผลกระทบปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 และแนวโน้มการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจนสะสมและพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิตนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่อต้นเดือนเมษายน 2565

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางย้ำว่า การจัดตั้ง HOPE Task Force เป็นการรวมตัวกันของ 3 ภาคส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันในการรักษาชีวิตประชาชน และเป็นการนำจุดแข็งของทั้ง 3 ภาคส่วนมารวมไว้ในที่เดียวกัน กรมสุขภาพจิตมีศักยภาพในการเยียวยารักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชาชน และบำบัดฟื้นฟูในระยะยาวเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ด้านกองบังคับการปราบปรามมีศักยภาพในการสืบสวนและประสานงานในการเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทั่วประเทศ

“ในด้าน Social Influencer มีความสามารถในการเข้าถึงสัญญาณเตือนที่ถูกส่งมาจากประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อนำความเข้มแข็งของทั้งสามส่วนมารวมเข้าไว้ด้วยกัน การช่วยเหลือก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากที่การดำเนินงานของ HOPE Task Force ในระยะแรกได้พิสูจน์โมเดลความร่วมมือนี้แล้วว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมหาศาล ระยะต่อจากนี้จะขยายความช่วยเหลือไปยังภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ ต่อไป” ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางว่า

 

ผลกระทบทางจิตใจ เหตุใหญ่ให้เกิดความคิดเบื่อโลก

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในปัจจุบันประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของปัญหาทางสุขภาพจิตและการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ ผลกระทบที่สำคัญคือ การฆ่าตัวตาย ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์  2565  ของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ปี 2564 มีจำนวน 4,810 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 7.35 ต่อประชากรแสนคน

ผลการทำงานระยะแรกของ HOPE Task Force ในระหว่าง ตุลาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2565 พวกเขาพบว่า กระบวนการดำเนินงานได้ช่วยเหลือชีวิตคนที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายรวม 308 ราย ประเด็นปัญหาที่พบในการฆ่าตัวตายได้แก่ สัมพันธภาพในครอบครัว ความรัก เศรษฐกิจการเงิน การเจ็บป่วย การพนัน การปรับตัว การรับประทานยาจิตเวชไม่ต่อเนื่อง สัมพันธภาพกับเพื่อน การเรียนการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น ทั้งนี้ยังพบอีกว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมีกลุ่มผู้มีประวัติการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต 66 ราย คุณค่าจากการช่วยชีวิตประชาชน ถือว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างมหาศาลจากการรักษาทรัพยากรที่สำคัญที่สุดหรือทรัพยากรมนุษย์ให้ยังคงอยู่ในสังคมต่อไป

“กรมสุขภาพจิต กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ Social Influencer มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาความร่วมมือ ในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมไทย เราจะมุ่งเน้นการพัฒนาให้ HOPE Task Force  เป็นระบบการช่วยชีวิตที่รวดเร็วกว่าเดิม บุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ได้รับความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตอย่างฉับไวมากขึ้น มีความครอบคลุมในวงกว้างมากขึ้น และมีการติดตามดูแลรักษาและบำบัดเยียวยาในระยะยาวเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมสุขภาพจิตให้คำมั่น

 

นายตำรวจหนุ่มคุมทีมปฏิบัติ  หลังสัมผัสชาวบ้านร้องขอความช่วยเหลือ

ว่าถึงผู้ปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ HOPE Task Force มี พ.ต.ท.ยิ่งยศ  ลีชัยอนันต์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หัวหน้าทีมคอยขับเคลื่อนที่รับช่วงต่อมาจากการทำเพจเฟซบุ๊กกองปราบปรามสมัย พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเคยดำเนินการอยู่ เจ้าตัวเล่าว่า เพจของกองบังคับการปราบปรามมีโอกาสได้พูดคุยกับประชาชนโดยตรงเยอะมาก สัมผัสได้ปัญหาความเดือดร้อนสารพัด ทั้งการแจ้งเบาะแส แจ้งคดีอาชญากรรม ระยะหลังเริ่มมีเรื่องการพยายามฆ่าตัวตายเข้ามาจำนวนไม่น้อย

“ผมเริ่มคุยกับน้องในทีมว่า ถ้าเป็นเรื่องฆ่าตัวตาย ผมจะค่อนข้างให้ความสำคัญแถมต้องทำงานแข่งกับเวลา มันเป็นเรื่องเร่งด่วน  มักมีคนที่แจ้งหลายแนว บางทีเพื่อนของทางผู้คิดฆ่าตัวตายเห็นความผิดปกติ จะแจ้งเรื่องมายังเพจ บางทีไม่ใช่เพื่อนแต่เห็นเหตุการณ์จะแจ้งเบาะแสเข้ามา เป็นเรื่องที่ผมได้คุยกับน้อง ๆ ว่า ถ้าเป็นเรื่องแบบนี้ ผมซีเรียสนะ ต้องให้ความสำคัญ และต้องแข่งกับเวลา”

พ.ต.ท.ยิ่งยศบอกว่า หลังจากพวกเราทำได้มาระยะหนึ่ง รู้สึกว่าควรจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ ตัดสินใจไปหรือกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ประสานเพจ Social Influencer เข้าไปขอความร่วมมือ จากที่ทำแบบลุยเดี่ยว เริ่มมีแนวร่วม รับตัวอย่างของเคสมาประสานโรงพัก ใช้วิธีคุยกับตำรวจท้องที่เมื่อเห็นว่า คนที่พยายามฆ่าตัวตายเราเจรจาไม่ไหวแล้วต้องใช้ท้องที่เข้าไปช่วยดำเนินการเพื่อให้ทันท่วงที

 

มองผลกระทบระยะยาว ต้องก้าวมาทำอะไรให้ยั่งยืน

“กลายเป็นที่มาของทีมปฏิบัติการพิเศษ” พ.ต.ท.ยิ่งยศบอกและว่าจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายแนวร่วมเพื่อจะรองรับปัญหาคนฆ่าตัวตายให้มากที่สุด  รับนโยบายจาก พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ปหากรมสุขภาพจิตที่มีผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเข้ามช่วย เรายังมองถึงผลในอนาคต เพราะปกติคนพยายามฆ่าตัวตายภายใน 1 ปีจะมีความคิดกลับมาทำอีก ถ้าครั้งที่แล้วไม่สำเร็จจะวนเวียนอยู่ เรารู้สึกว่า ต้องทำอะไรให้เป็นรูปธรรมยั่งยืนถึงขอกรมสุขภาพจิตมาร่วมด้วย

“ขยายผลให้กลุ่มเป็นเพจ Social Influencer เข้ามาช่วย ปรากฏเสียงตอบรับดี พอรับเคส เราเริ่มไป ตอนแรกๆ ก็ช่วยได้เยอะ ช่วยไม่ได้ก็คงมี สิ่งที่เราทำ เหตุผลที่เรามาทำ  คือ เวลามีเคสที่เราเคยช่วยได้แล้วน้องๆ ติดตามเยียวยาต่อเนื่อง พยายามโทรไปหาทุกเดือน คือ การที่เราช่วยช่วยแล้ว เราไม่ทิ้ง มีเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตที่มีทักษะของการคุยติดตามผลระยะยาวพาไปรักษาโรงพยาบาล ป้องกันการก่อเหตุซ้ำ เพราะเราจะกังวลเรื่องนี้มา”

เขายอมรับว่า ช่วงแรกเหนื่อย เริ่มมีคำถามมาจากหลายคนว่า ทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ทำให้ตัวเองลำบากทำไม แต่เราไม่สน เมื่อผู้บังคับบัญชาอย่าง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช สนับสนุนให้ทำต่อ “ผมรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วพอเรามาเป็นตำรวจ เราลืมอุดมการณ์ของเราไปหรือเปล่า พอผมมาทำตรงนี้ แม้จะไม่ได้เงิน แต่เป็นความสุขที่มันไปหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ คนที่มาร่วมทีมก็มีประสบการณ์ ทำให้ได้เรียนรู้ ได้เรียนวิชาของกองปราบปราม แล้วก็ได้เรียนจากผู้เชี่ยวชาญกรมสุขภาพจิต ได้รู้ว่าต้องคุยอย่างนี้ ตอนแรกๆ ยังงู ๆ ปลาๆ กันอยู่  กระทั่งทีมจากกรมสุขภาพจิตเข้ามาช่วยฝึกเรา”

 

ความสำเร็จในการช่วยชีวิตคน บางทีต้องด้นสดเจรจาเกลี้ยกล่อม

หัวหน้าทีมปฏิบัติการ HOPE Task Force ลงช่วยเหลือคนพยายามฆ่าตัวตายสำเร็จหลายรายเริ่มรู้สึกว่า ต้องเพิ่มขนาดทีมมากขึ้นถึงขยายกรอบความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตอย่างเป็นทางการเป็นทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันเหตุฆ่าตัวตาย เหมือน HOPE เป็นความหวังของชีวิตคนที่คิดสั้น ผ่านมา 17 เดือน พวกเขาช่วยได้ 307 ชีวิต “ ความรู้สึกผมค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ เพราะจำนวน 307 ชีวิตที่เราทำกันมา ไม่ได้ใช้งบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มีผลกระทบสูงมาก ผมว่า  HOPE Task Force คือ สัญลักษณ์ของตำรวจ ภาครัฐ กับภาคประชาชนมารวมตัวกัน”

         พ.ต.ท.ยิ่งยศยืนยันว่า ปฏิบัติการของพวกเขาเป็นรูปธรรมจับต้องได้จริง ๆ เมื่อเห็นเคสที่จะส่งมา เราจะรับไปทำต่อ เริ่มมีแพลตฟอร์มต่างๆ  ส่งมาจากต่างประเทศติดต่อเรา เมื่อเห็นความผิดปกติของคนกำลังจะฆ่าตัวตายจากเฟซบุ๊ก จะประสานมาที่เราช่วยหาข้อมูล ทีมเราถึงต้องเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมงร่วมกับกรมสุขภาพจิตสลับกันเข้าเวรประจำวัน

เขายกตัวอย่างการทำงานว่า หากได้รับการประสานเคสแล้วจะพยายามติดต่อไปยังเจ้าตัวที่คิดกำลังฆ่าตัวตาย หากโทรแล้วไม่รับสายจะประสานท้องที่เข้าไปด่วน บางรายคุยกันสด อีกฝ่ายไม่เห็นหน้าเรา ต้องใช้จิตวิทยาในการเจรจาเกลี้ยกล่อม คุยเล่นเหมือนเป็นเพื่อน ให้ไว้ใจเรา

 

ป้องกันความเสี่ยงไว้ก่อน  ดีกว่ามาย้อนเสียใจตอนหลัง

“ ตอนแรกยาก บางทีบางแพลตฟอร์มส่งมาเป็นไลฟ์กำลังกรีดข้อมือ ค่อนข้างเสี่ยงมาก รายไหนไม่ทันต้องประสานท้องที่เข้าไปดูทันที และประมินแต่ละรายด้วยว่า มีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายระดับไหน พร้อมติดตามอาการต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์ความตึงเครียดผ่านไปแล้ว”

นายตำรวจหนุ่มยังบอกอีกว่า เราพยายามทำหลายเรื่องขยายทีมให้กว้างมากขึ้นในอนาคต ปัญหาที่พบแรงจูงใจส่วนใหญ่มีทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องเงินกู้ ปัญหาหนี้สิน ครอบครัว ผิดหวังความรัก เมื่อได้ข้อมูลส่งสัญญาณว่าจะฆ่าตัวตายจากโลกโซเชียลมีเดียเราจะลงไปทันที หรือไม่ก็ประสานท้องที่หากรู้พิกัดตรงนั้น บางคนแค่พยายามคิดแต่ยังไม่ได้ลงมือ เราก็รู้สึกว่า เสี่ยง ป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าไปถึงแล้วเขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย เราจะเสียใจตอนหลัง

“ข้อดีของการที่เราได้มาทำตรงนี้ คือได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถามว่า เครียดไหมเมื่อมาเจอสภานการณ์แบบนี้ แรก ๆ เครียดนะ ตอนหลังโอเค เพราะเราอยู่อยู่แล้วว่า ต้องเจออะไรบ้าง คือ เราปรับตัวได้ ทุกคนในทีมจะรู้ดีกว่า เป็นต้องที่จะต้องทำ เหมือนที่ผมพูดไว้ก่อนหน้าว่า เราลืมอุดมการณ์ความเป็นตำรวจไปแล้วหรือเปล่าว่า ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เป็นสิ่งที่ตำรวจจะต้องทำ” พ.ต.ท.ยิ่งยศทิ้งท้าย

“ผมเชื่อว่า คนส่วนใหญ่เวลามีปัญหาอะไรในชีวิตจะมาระบาย มาแชร์ลงในโซเชียลมีเดีย

.ต.ต.กล้า สมบัติพิบูลย์ สารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 68 เคยร่วมทีมประชาสัมพันธ์เพจกองปราบปราม ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ยุค พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ยังเป็นผู้บังคับการปราบปราม

เจ้าตัวว่า จุดประสงค์ในการตั้งทีมประชาสัมพันธ์ตอนนั้นเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนทำให้เราได้สัมผัสกับปัญหาจากโซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งพบประชาชนประสบวิกฤติคิดจะฆ่าตัวตายส่งสัญญาณออกมาลักษณะไลฟ์บ้าง โพสต์สเตตัสบ้าง พอเจอแล้วตอนแรกเราไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะไปช่วยได้ ถึงมีการริเริ่มตั้งทีมขึ้นมาตามแนวคิดของผู้บังคับการปราบปรามขณะนั้นเพื่อจะเข้าไปแก้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“ถ้าเราไปหาเองไม่ได้ ก็ให้ตำรวจท้องที่เข้าไปหา เบื้องต้นหากทำได้เราจำเป็นต้องรีบติดต่อ พูดคุย ยับยั้งด้วยตัวเอง ทำด้วยตัวเราเองก่อน  หลังๆ ก็รู้สึกว่า ปัญหามันต้องได้รับการแก้ไขจากคนที่อยู่ด้านนี้จริง ๆ จากคนที่เป็นมืออาชีพ ถึงเข้าไปคุยกับกรมสุขภาพจิตเต็มใจจะยื่นมือเข้ามาช่วย ทีมปฏิบัติการ  HOPE Task Force ถึงเกิดขึ้นมา”

เจ้าตัวหยิบประสบการณ์ช่วยเหลือหญิงสาวรายหนึ่งกินยาฆ่าตัวตายถ่ายทอดสดออกเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า เรามาพบตอนกินยานอนหลับไปแล้ว 60 เม็ด รีบหาข้อมูลในเฟซบุ๊กย้อนหลังของเขาจนรู้ชื่อจริง จากไม่รู้อยู่ที่ไหน เริ่มค้นหาที่อยู่ ติดต่อคนรอบข้าง ได้ชื่อพ่อแม่ ประสานตำรวจท้องที่รับผิดชอบเข้าไปดูบ้าน แต่หญิงสาวรายนี้ขับรถหนีออกไปแล้ว

“ตำรวจต้องประสานจราจรในพื้นที่ให้ช่วยสกัดรถคันนั้น สักพักยาคงออกฤทธิ์ทำให้หลับจนรถประสบอุบัติเหตุอยุ่แถวนั้นสามารถช่วยเหลือส่งโรงพยาบาลล้างท้องจนพ้นขีดอันตรายได้ ก่อนส่งแผนกจิตเวชประจำจังหวัดที่อยู่ภายใต้กรมสุขภาพจิตดูแลระยะยาวต่อ”

พ.ต.ต.กล้าว่า หญิงสาวรายนี้มีประวัติป่วยซึมเศร้า ถ้าเราไม่สามาถไปเจอคงไม่มีทางช่วยได้ทัน เป็นตัวอย่างของเคสคนส่งสัญญาณจะฆ่าตัวตายทางโซเชียลมีเดีย เราถึงมีทีมคอยเตรียมพร้อมติดตามสิ่งบอกเหตุ เช่น โพสต์สเตตัสระบายความ ไม่อยากอยู่แล้ว ทำไมปัญหามันทับถม พอเราจับได้ เราจะเข้าไปตั้งแต่ต้นเลย  “เดี๋ยวนี้ปัจจุบัน น้อยคนที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย คนส่วนใหญ่ในสังคมจะมีโซเชียลมีเดียกันหมดแล้ว โซเชียลมีเดียเหมือนเป็นที่ที่เขาใช้ระบายลงเรื่องราวในชีวิต ผมเชื่อว่า คนส่วนใหญ่เวลามีปัญหาอะไรในชีวิตจะมาระบาย มาแชร์ลงในโซเชียลมีเดีย ถือเป็นประโยชน์ให้นำมาใช้ในเรื่องการทำงานช่วยเหลือได้ไม่น้อย”

 

 

“เห็นว่าเขามีกำลังใจในการอยากใช้ชีวิตต่อไป เราก็มีความสุข”

.ต.อ.กมลภพ หาญเวช รองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 69 ผ่านหลักสูตรเจรจาต่อรองจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทำให้มีพื้นฐานและทักษะการเกลี้ยกล่อมอยู่พอสมควร

ก่อนหน้าเข้าทีมปฏิบัติการพิเศษ  HOPE Task Force เขาอยู่ใรทีมประชาสัมพันธ์ของเพจกองปราบปรามอยู่แล้ว และด้วยความที่เคยเป็นพนักงานสอบสวนเก่าได้มีโอกาสพูดคุยกับประชาชนอยู่เรื่อยมากสามาถนำมาใช้เจรจาต่อรองการพูดในลักษณะดังกล่าวได้ไม่ยาก

ทันทีที่นายตำรวจรุ่นพี่ชวนเข้าทีม เจ้าตัวไม่ลังเล เนื่องจากชอบในการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเหมือนสมัยทำหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องรับฟังเสียงจากชาวบ้านที่เดือดร้อนมาแจ้งความแล้วคอยแก้ปัญหาบรรเทาทุกข์ได้ กระนั้นก็ตามยอมรับว่า ตอนแรกเหนื่อยระหว่างปรับตัว พอได้ทำงานแล้วรู้สึกดีขึ้น “ การได้เห็นคนที่พยายามจะฆ่าตัวตายกลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น กลับมาสู้ชีวิต มันเป็นกำลังใจให้เราทำงานต่อไป”

ร.ต.อ.กมลภพเล่าว่า มีรายหนึ่งขายทุเรียน ส่งทุเรียนมาขอบคุณ เราก็ดีใจ ตอนเข้าไปช่วยเหลือก็ไม่ได้หวังอะไรตอบแทนอยู่แล้ว แต่เขาตอบแทนในสิ่งที่เขามี ไม่ได้มากมาย เป็นการตอบแทนน้ำใจ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละรายที่ได้เข้าไปช่วยไม่ง่ายเสมอไป  ยากที่สุดน่าจะอยู่นครราชสีมาหาทางออกไม่ได้จริง ๆ มีปัญหาส่วนตัวเรื่องหนี้สินเงินกู้ ตัวเองยังเจ็บป่วยด้วยโรครุมเร้าอีก แถมเจอภาะทางครอบครัวเหมือนมืดไปหมด มืดแปดด้านมืดทุกอย่าง หาทางออกไม่ได้

            “ผมต้องโทรศัพท์ไปคุยอยู่หลายชั่วโมงจนแกะปัญหาได้และพยายามหาทางช่วย แก้ไปปัญหาไปทีละเรื่อง ใช้เวลาอยู่พอสมควร พอสำเร็จแล้วรู้สึกมีความภูมิใจ เวลาผมทำงาน ผมจะคิดว่าคนนั้นเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้า อยากช่วยจริง ๆ เหมือนเราได้แก้ปัญหาให้เพื่อน ให้พี่ ให้น้าได้สำเร็จแล้ว เวลาเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก มีปัญหาเข้ามาแล้วเขาจะบอกว่า ไม่เป็นไร ฉันสู้ต่อ อย่างนี้ เวลาเราติดตามในทางเฟซบุ๊ก เห็นว่าเขามีกำลังใจในการอยากใช้ชีวิตต่อไป เราก็มีความสุข มีกำลังใจที่จะทำต่อไป เป็นอย่างนั้นจริง ๆ” ร.ต.อ.กมลภพระบายความรู้สึก

 

     “ภารกิจเราไม่ใช่เรื่องการฆ่าตัวตายอย่างเดียวมันข้ามไปถึงเรื่องการทำร้ายร่างกายกันด้วย”

.ต.อ.หญิง กนกวรรณ รามด้วง รองสารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 71  เริ่มต้นชีวิตประดับดาวบนบ่าตำแหน่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองอ่างทอง ก่อนเข้ามาร่วมทีมประชาสัมพันธ์เพจกองปราบปราม นำสู่ภารกิจปฏิบัติการพิเศษ  HOPE Task Force

เธอเล่าว่า เดิมทีเป็นทีมเล็ก ๆ รับเคสมาทำกันเอง ยอมรับอาจจะยาก เพราะยังมีความรู้ไม่มาก พอปัจจุบันระบบเริ่มดีขึ้น ทำงานกันแบบงู ๆ ปลา กัน เป็นเรื่องการคุยการให้กำลังใจ ทำได้เท่าที่ทำ แต่รู้สึกว่าต้องแข่งกับเวลาเก็นเสี้ยววินาที ตื่นเต้นไหม ก็ตื่นเต้น เพราะเราไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ปราฏว่า เธอเป็นคนหนึ่งในทีมที่เจอภาพภารกิจตอนจบลงด้วยความเศร้า ร.ต.อ.หญิง กนกวรรณยกเรื่องราวที่ประสบหลังได้รับการประสานให้ดูแลน้องผู้หญิงคนหนึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเรียนปี 1 มีปัญหาเรื่องความรัก คบกับแฟนแล้วเลิกฝ่ายชายตามมารังควานตลอด  ไปไหนมาไหนจะตามแล้วขู่จะฆ่า พ่อแม่มาร้องขอความช่วยเหลือ

“เป็นเคสแรกเลยที่เราไปเจอน้องตัวต่อตัวระบายให้ฟัง แต่จะปิดบังในตอนต้น เราต้องพยายามไปเป็นเพื่อนเขาจนไว้ใจเล่าให้ฟังหมดเลยว่า เกิดเรื่องอะไรบ้าง  เราฝากตำรวจท้องที่ไว้ ย้ำว่า มีอะไรโทรมาหาได้ตลอด น้องเขาก็โทรมาปรึกษาอยู่ประจำ กลัวจะโดนทำร้าย เครียดมาก ช่วยได้สักพัก น้องบอกว่า โอเคแล้ว ไม่มีปัญหา เขาไม่ยุ่งกับน้องแล้ว”

           ผ่านไปประมาณเดือนกว่า นายตำรวจหญิงยังพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันเป็นประจำ กระทั่งทราบข่าวน้องคนนั้นถูกผู้ชายมายิงเสียชีวิต “เสียใจนะ มันเป็นช่วงเวลาที่ว่างเว้นไป ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่อง เพราะคิดว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ถือเป็นบทเรียนหนึ่ง ภารกิจเราไม่ใช่เรื่องการฆ่าตัวตายอย่างเดียวมันข้ามไปถึงเรื่องการทำร้ายร่างกายกันด้วย มีสิ่งบอกเหตุพวกนี้เยอะมาก เริ่มมีการปรึกษากับกรมสุขภาพจิต แล้ว มีการคุยกันว่าจะทำอย่างไรในอนาคต”

เธอยังบอกว่า ความร่วมมือระหว่างตำรวจกับทางกรมสุขภาพจิตจะพัฒนาขึ้นไป นอกจากป้องกันการฆ่าตัวตายแล้ว ยังมีเรื่องของการจัดการกับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต คลุ้มคลั่ง แล้วทำให้เกิดภัยคุกคามกับคนธรรมดา ประชาชน บุคคลทั่วไป เป็นประเด็นที่ไม่ใช่เฉพาะทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมาโฟกัสเรื่องนี้ และต้องมีเรื่องของการเพิ่มทักษะของตำรวจในการเจรจาต่อรองกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ข้ามไปไม่ได้ของการให้ความรู้ การอบรมเกี่ยวกับสุขภาพจิตของตำรวจ  อย่างที่เราทราบดีว่า ตำรวจเรามีความเครียดสะสมจากการทำงาน จากหลายๆ ปัญหาของชีวิต ทางกรมสุขภาพจิตยินดีที่จะเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา

“บางคนอาจบอกว่า มันเกินกว่าหน้างานตำรวจไปหรือเปล่า จริง ๆ ไม่เกินหรอก แต่ต้องใช้เวลา ความรู้สึกของพวกเราทุกคนในทีมที่คิดกัน คือ ความปลอดภัยในชีวิต จริง ๆ มัน คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องทำไม่ใช่หรือ” ร.ต.อ.หญิง กนกวรรณว่า

 

 

 

RELATED ARTICLES