พระเสด็จสู่สวรรคาลัย ทรงสถิตในดวงใจ ตำรวจไทยตราบนิรันดร์

 

 ครบรอบ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2560

พสกนิกรชาวไทยคงยังไม่หยุดน้ำตาไหลถวายอาลัยคิดถึงพระองค์ท่าน

พระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติตลอดระยะเวลา 70 ปี ทรงทุ่มเทพระวรกาย ทรงห่วงใย และสนพระราชหฤทัยในกิจการตำรวจไม่ต่างจากการเสด็จพระราชดำเนินไปถิ่นทุรกันดารเพื่อสดับรับฟังทุกข์สุขของราษฎร

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อเหล่าข้าราชการตำรวจอย่างหาที่สุดมิได้

พระองค์จะทรงสถิตอยู่ในดวงใจตำรวจไทยตราบนิรันดร์

 

ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ สัญลักษณ์ตัวแทนรัชกาลที่ 9

พระมหากรุณาธิคุณที่เหล่าตำรวจไม่มีวันลืม เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ทรงพระราชทาน ธงชัยประจำหน่วยตำรวจให้แก่หน่วยงานตำรวจ 6 หน่วยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  13  ตุลาคม พ.ศ.2495 เนื่องในพิธีสวนสนามวันตำรวจ ณ ลานพระราชวังดุสิต และได้พระราชทานพระบรมราโชวาท มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นประธานในงานพิธีสวนสนามของตำรวจในวันนี้ และที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือ ได้มามอบธงชัยประจำหน่วยต่าง ๆ ในกรมตำรวจด้วยตนเองอีกด่วย ควรนับได้ว่า เป็นวาระสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของตำรวจไทย สำหรับตัวข้าพเจ้าก็จะระลึกอยู่เช่นกัน ….”

“ธงนี้นับว่า เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนตัวข้าพเจ้า ผู้ซึ่งเอาใจใส่ตัวท่านทั้งหลายตลอดเวลา เพราะเป็นที่หมายที่เคารพในเวลาที่กองตำรวจได้เข้าเป็นหมวดหมู่อยู่ประจำ และเมื่อถึงวาระจำเป็น เข้าที่คับขัน เมื่อท่านได้ระลึกถึงธงชัยนี้แล้ว ก็จะเป็นเครื่องชักนำให้องอาจ กล้าหาญ และร่าเริงใจที่ประกอบหน้าที่บำเพ็ญตนให้สมเป็นตำรวจของชาติไทย อย่าให้ผู้ใดติเตียนว่า เราเกิดมาเสียชาติได้ …”

ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ  มีลักษณะเช่นเดียวกับธงชาติ  ภายในยอดธงบรรจุเส้นพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กเรียกว่า “พระยอดธง”  เอาไว้  ธงชัยเฉลิมพลจึงถือเป็นตัวแทนของชาติ  ศาสนา  และพระมหากษัตริย์  ซึ่งเหล่าข้าราชการตำรวจ  นักเรียนนายร้อยตำรวจ  และปวงชนชาวไทยให้ความเคารพ  โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจด้วยพระองค์เอง  ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2495

ทุกปี ในวันที่ 13 ตุลาคม เป็นวันตำรวจเหล่าข้าราชการตำรวจและนักเรียนนายร้อยตำรวจจะอัญเชิญธงชัยประจำหน่วยตำรวจเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามเป็นประเพณีติดต่อกันยาวนานกว่า 64 ปี

 

เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธาน งานพิธีถวายสัตย์ครบ 100 ปี รร.นรต.

อีกพระราชกรณียกิจสำคัญใน 4 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจแห่งใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2499

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2444  ณ มณฑลนครราชสีมา  อันเป็นรากฐานเริ่มต้นของโรงเรียนนายร้อยตำรวจยุคปัจจุบัน กระทั่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพขณะดำรงพระยศพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ลงวันที่19 เมษายน  ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445)  กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจไปตั้งที่ตำบลห้วยจระเข้ อำเภอเมืองนครปฐม นครปฐม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาและลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความกราบบังคมทูล

โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ถือเอาวันที่ 19 เมษายน  พ.ศ.2455 เป็นวันสถาปนาโรงเรียนนายร้อยตำรวจตั้งแต่นั้นมา แต่มีการย้ายสถานที่ตั้งอีกหลายครั้ง จนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ถึงเสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม อย่างเป็นทางการ

และเมื่อวันที่19 เมษายน พ.ศ. 2545 พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามในโอกาสครบรอบ 100 ปีโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกครั้ง  ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของข้าราชการตำรวจและนักเรียนนายร้อยตำรวจที่อยู่ในความทรงจำเสมอมา

 

กระบี่พระราชทานคู่สุดท้าย ทรงหมายให้เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือได้

ภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้สำเร็จการศึกษาออกรับราชการเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร นับเป็นรุ่นแรก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2493

พระมหากรุณาธิคุณแก่บรรดานักเรียนนายร้อยตำรวจมายาวนานในงานพระราชทานกระบี่ “ว่าที่ร้อยตำรวจตรี” เดิมพิธีจะทำขึ้นที่ศาลาดุสิดาลัย  พระราชวังดุสิต  แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปร พระราชฐาน  ณ  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  จึงเปลี่ยนสถานที่เป็นอาคารเอนกประสงค์  พระราชวังไกลกังวล

กระทั่งมาถึงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กระทำพิธีพระราชทานกระบี่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ  ณ ห้องประชุมชั้น 14  อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช  มีตัวแทนนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า  นักเรียนนายเรือ  นักเรียนนายเรืออากาศ และนักเรียนนายร้อยตำรวจ เหล่าละ 2 นายเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์พระองค์คู่สุดท้ายในประวัติศาสตร์

พระองค์ยังมีพระบรมราโชวาทว่า  “ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มอบกระบี่แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาของทหารและของตำรวจในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมกับทุก ๆ  คน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ หน้าที่สำคัญที่รอท่านอยู่เบื้องหน้านั้น กล่าวโดยสรุป ได้แก่การจรรโลงรักษา ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ทุกคนจึงต้องตั้งใจให้มั่นคงแน่วแน่ ที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้นให้เต็มกำลังความรู้ความสามารถ  และให้เที่ยงตรง ถูกต้อง เป็นธรรม อีกอย่างหนึ่งจะต้อง เข้าใจด้วยว่า การปฏิบัติงานของท่าน จำเป็นต้องได้รับการร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ท่านจึงต้องระมัดระวังประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ให้เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือได้ ถ้าทำได้ดังนี้ งานในภาระหน้าที่ทุกอย่างก็จะสำเร็จผลที่พึงประสงค์ คือ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข และชาติบ้านเมือง มีความมั่นคงปลอดภัย ขออวยพรให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุกคน และผู้ที่มาร่วมประชุมในพิธีนี้ทุกท่าน มีความสุข ความเจริญ จงทุกเมื่อทั่วกัน”

 

หัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจ 2 รุ่น ซาบซึ้งพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ 

สำหรับตัวแทนของนักเรียนนายร้อยตำรวจ 2 นาย คู่สุดท้ายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณครั้งนั้น คือ  พ.ต.ต.ปรัชญา กัมลาศพิทักษ์ หัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 62 ปัจจุบันรักษาราชการแทนสารวัตรสายตรวจและอารักขา กองกำกับการม้าตำรวจ กองบังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ

เจ้าตัวเผยความรู้สึกว่า มีความภาคภูมิใจและตื่นเต้นที่สุดในชีวิต เพราะการเข้ารับพระราชทานกระบี่ ย่อมเป็นความความภาคภูมิใจสูงสุดของนักเรียนนายร้อยทุกเหล่าทัพ แต่การเข้ารับพระราชทานกระบี่ครั้งนี้ มีเฉพาะในส่วนตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่าทัพและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จำนวน 8 นายเท่านั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และจะได้นำหลักคำสอนตามพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติ ให้สมกับการเป็นข้าราชการ ข้าของแผ่นดินต่อไป

อีกนาย ว่าที่ พ.ต.ต.กันต์กวี อดุลยาศักดิ์ สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม หัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 63 บรรยายความรู้สึกว่า ภาคภูมิใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ได้เป็นตัวแทนของเพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 63 เข้ารับพระราชทานกระบี่ มีโอกาสน้อมนำแนวพระราชดำริของพระองค์ไปเป็นแรงผลักดันในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ย่อท้อ ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงเป็นผู้ปฏิบัติดี ข้าราชการตำรวจที่ดี และสร้างคุณประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติต่อไป

 

พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์  ตั้งโรงเรียน ตชด.สอนชาวม้งภาคเหนือ

ขณะเดียวกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ บนดอยบวกห้า ด้านหลังดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่  ระหว่างทางพระราชดำเนิน ครูตำรวจตระเวนชายแดนนำนักเรียนชาวเขาเผ่าม้งมาเข้าแถวรับเสด็จและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถวาย  เมื่อรถพระที่นั่งหยุด พระองค์ได้รับสั่งถามผู้ตามเสด็จว่า ใครเป็นผู้สอนให้เด็กชาวเขาร้องเพลง ทรงได้รับคำตอบว่า “ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้สอน  โดยมาตั้งโรงเรียนสอนชาวเขาเผ่าม้งที่ดอยปุย”

พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่โรงเรียนชาวเขาเผ่าม้งบนดอยปุย  หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ 30,000 บาท เพื่อจัดสร้างโรงเรียนสำหรับชาวเขาขึ้นครั้งแรกที่บ้านแม้วดอยปุย  ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนแห่งนี่ได้รับพระราชทานนามว่า  “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1”

ต่อมาได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเติมอีกตามลำดับเพื่อสร้างโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ในถิ่นทุรกันดารทั่งประเทศรวม 10 โรงเรียนด้วยกัน จากพระมหากรุณาธิคุณครั้งนั้น ทำให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคจำนวน 213 โรงเรียน ที่จะให้โอกาสทางการศึกษาเพื่อสร้างภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิต สัมฤทธิ์ผลความมั่นคงในถิ่นทุรกันดารสืบไป

 

จากห้วยมงคลถึงห้วยทราย เกิดได้ด้วยน้ำพระราชหฤทัยในหลวงภูมิพล

นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2495 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เส้นทางสัญจรมีสภาพเป็นหลุมบ่อและหล่มโคลน ทำให้การขนผลผลิตทางการเกษตรออกมาจำหน่ายที่ตลาดในอำเภอหัวหินเสียเวลา และไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงทรงพระราชทานรถแทรกเตอร์แก่ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร เพื่อใช้ในการพัฒนาเส้นทางให้กับประชาชนกลายเป็นถนนห้วยมงคล บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ที่ทอดไปสู่ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” อื่น ๆ ทั่วทุกภูมิภาคในเวลาต่อมา

โครงการถนนห้วยมงคลนับเป็นโครงการพัฒนาชนบทตามพระราชดำริโครงการแรกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อเนื่องมาถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือกำเนิดขึ้นเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่เสื่อม- โทรมในเขตภาคตะวันตก ตลอดจนการพัฒนาด้านอื่น ๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพียงแห่งเดียวจากทั้งหมด 6 ศูนย์ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นหน่วยประสานงานหลัก ดำเนินงานของศูนย์ให้บรรลุตามพระราชประสงค์ของพระองค์

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรพื้นที่ “ห้วยทราย” ทรงมีพระราชดำรัสด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยว่า “พื้นที่นี้มีความเสื่อมโทรม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด ให้พัฒนาพื้นที่นี้เป็นศูนย์ศึกษา การพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ และเกษตรกรรมให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิม มีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าไม้ ได้ประโยชน์และอาศัยผลผลิตจากป่าไม้ โดยไม่ต้องบุกรุก เข้าทำลายป่าไม้อีกต่อไป”

พระองค์ทรงตระหนัก เป็นอย่างดีว่าพื้นที่นับล้านไร่ ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ มีปัญหาทั้งทางเคมี และทางฟิสิกส์อยู่หลายลักษณะ และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรทำการเพาะปลูกได้ผลผลิตต่ำจึงมีฐานะยากจน เช่น พื้นที่ดินพรุ พื้นที่ดินเปรี้ยวจัด พื้นที่ดินเค็ม พื้นที่ดินทรายและพื้นที่ดินที่แข็งเป็นดาน จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้น เป็นความภาคภูมิของตำรวจตระเวนชายแดนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองงานพระราชดำริ “ฟื้นดิน คืนป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต”พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนในเวลาต่อมา

 

ทรงเล็งถึงปัญหาจราจรเมืองกรุง ปัดเป่าวิกฤติยุ่งตามโครงการพระราชดำริ

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม  พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ละ 4 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8 ล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อรถจักรยานยนต์ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่สายตรวจจราจร และซื้อวิทยุสื่อสาร รวมทั้งเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเล็งเห็นว่าปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องเคารพกฎจราจร มีมารยาท และต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาจราจร

ที่สำคัญที่สุด พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางการปฏิบัติในโครงการจราจรพระราชดำรินี้ไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย 1.แสวงหาแนวทางให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎจราจร และมีมารยาท 2.ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วแก้ปัญหาจุดที่รถติด เสมือน “รถนำขบวน” โดยรถจักรยานยนต์จะเข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้ขบวนรถเคลื่อนที่ไปได้  3.ใช้รถจักรยานยนต์ดูแลการจราจรบนถนน ให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆตามความเหมาะสม 4.ถนนที่เป็น “คอขวด” ให้รถจักรยานยนต์เข้าไปแก้ไขให้เคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ เสมือนเทน้ำออกจากขวด 5.ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจราจร

ปัจจุบัน หน่วยรถจักรยานยนต์กองร้อยพิเศษเคลื่อนที่เร็ว เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปํญหาบนท้องถนน มีภารกิจสำคัญ 4 ประการ ภารกิจที่ 1 การจัดชุดจราจรสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนไปจนถึงประชาชนให้มีความเข้าใจเรื่องกฎจราจร  รวมถึงการแก้ปัญหาฉุกเฉินบนท้องถนน ภารกิจที่ 2  เข้าสนับสนุนแก้ไขปัญหาจราจรในจุดที่ติดขัด  (หมอถนน) ภารกิจที่ 3  ช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บ  ผู้ป่วย  และหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล  (หมอคน) ภารกิจที่ 4 จัดชุดตำรวจช่างเข้าแก้ไขรถยนต์ที่จอดเสียกีดขวางการจราจร  (หมอรถ)

กองบังคับการตำรวจจราจรได้สานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอย่างเนื่อง

ทรงห่วงพสกนิกรพื้นที่แห้งแล้ง ได้กองบินตำรวจร่วมจัดแจงทำฝนหลวง

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2498 คราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร อันเนื่องมาจากความแปรผันและความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ  เช่น ฤดูฝนที่มาล่าช้า  ฝนทิ้งช่วงนาน  หรือฝนหมดเร็วกว่าปกติ จึงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง”(Artificial rain) ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  เทวกุล ไปดำเนินการ ก่อนเกิดโครงการค้นคว้า

หน่วยงานต่างๆได้เข้าถวายงานรับใช้ตามโครงการ หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติการนั้น คือ “กองบินตำรวจ” เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนเครื่องบินแบบปอร์ตเตอร์ พร้อมนักบิน และบุคลากรเพื่อให้ภารกิจฝนหลวงสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระราชทานเครื่องบินเพื่อใช้ปฏิบัติการไว้ในความรับผิดชอบของกองบินตำรวจอีกด้วย ด้วยความสำเร็จของโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียม หรือฝนหลวงจึงได้เกิดการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ.2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวง มีกองบินตำรวจเป็นหน่วยสนับสนุนด้วยพระอัจฉริยภาพของในหลวงภูมิพล

 

 

สนพระทัยวิทยุและเครื่องมือสื่อสาร  ภายใต้พระนามเรียกขาน “กส.๙”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ยังทรงสนพระทัยเรื่องเกี่ยวกับวิทยุและเครื่องมือสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์เมื่อครั้งยังประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์  ทรงรวบรวมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาประกอบเป็นเครื่องวิทยุแบบใช้แร่ เป็นเครื่องรับวิทยุรุ่นแรกๆของโลกจนสามารถรับฟังสถานีส่งวิทยุกระจายเสียงบางแห่งในทวีปยุโรปได้

พระองค์ทรงเริ่มศึกษาค้นคว้าในเรื่องเทคนิคการสื่อสารทางวิทยุอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2511 โดยทรงตระหนักถึงความสำคัญว่า การสื่อสารทางวิทยุจะเป็นสื่อที่ดีที่สุด  ซึ่งจะช่วยให้พระองค์ได้ทราบข่าวสารสารทุกข์สุขดิบของพสกนิกรราษฎรได้อย่างรวดเร็ว สามารถทรงช่วยเหลือบำบัดทุกข์ได้ทันต่อเหตุการณ์

นับเป็นความภาคภูมิใจของเหล่าตำรวจสื่อสาร เมื่อหัวหน้ากองการสื่อสาร ได้ทูลเกล้าฯถวายเครื่องวิทยุ  FM-1 และ FM 5 พร้อมทั้งอุปกรณ์ประกอบต่างๆ  กับเครื่องโทรพิมพ์  ตลอดจนประมวลรหัสสัญญาณ (โค้ด ว) ที่ใช้ในราชการตำรวจเพื่อทรงใช้ติดต่อสื่อสารในข่ายปทุมวันและข่ายผ่านฟ้า  พร้อมกับได้กราบบังคมทูลถวายพระนามเรียกขานประจำพระองค์ว่า  “กส.๙”

พระองค์ทรงใช้พระนามเรียกขาน “กส.๙” ในการสื่อสารตามระเบียบการสื่อสาร   ดังได้ปรากฏพบใน ส.ค.ส.พระราชทาน เป็นบัตรส่งความสุข  ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เองเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการตำรวจศูนย์วิทยุปทุมวันและพสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำหลายปีต่อเนื่องกัน และทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า “กส.๙”  เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร

 

 

 

RELATED ARTICLES