“พอเกษียณแล้วอยากไปต่างจังหวัด อยากไปสอน นำความรู้จากประสบการณ์ของผมไปถ่ายทอด”

 

สร้างคุณูปการประดับหน่วยมากมายตลอดระยะเวลาชีวิตรับราชการจวบจนปั้นปลายสุดท้ายก่อนเปิดหมวกอำลา

พล...นพ.ธนา ธุระเจน อดีตนายแพทย์ สบ 8 ลูกหม้อโรงพยาบาลตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์

มีอุดมการณ์ทำหน้าที่เพื่อตั้งใจ รักษาคนไข้ ตามตำราที่ได้ร่ำเรียนมาให้ดีที่สุด กระทั่งได้รับรางวัลจากผลงานการค้นคว้าเป็นเครื่องหมายการันตีความรู้ความสามารถ

ยกระดับ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นหน่วยแพทย์ชั้นนำที่ได้รับความน่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล

เป็นที่พึ่งพาของข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไปได้อย่างแท้จริง

 

ทายาทนายตำรวจภาคอีสาน มีอุดมการณ์เจริญรอยตามพ่อ

ย้อนประวัติเริ่มต้นชีวิตของ พล.ต.ท.นพ.ธนา ธุระเจน เป็นทายาทตำรวจภูธรภาคอีสาน บิดาเป็นผู้กองชุมแพ จังหวัดขอนแก่นแล้วไปขึ้นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี วัยเด็กถึงเติบโตในต่างจังหวัด มีความคิดอยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อ “คุณพ่อผมเป็นตำรวจสมัยที่ตอนนั้นท่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้าสู่สถานการณ์ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ภาคอีสาน ผมเห็นตำรวจบาดเจ็บเยอะมาก ทำให้เกิดความคิด 2 ทาง คือ  เป็นตำรวจไปสู้กับผู้ก่อการร้าย หรือเป็นตำรวจมารักษาคนเจ็บ คุณพ่อถามว่า อยากเป็นตำรวจไหม ตอนแรกตอบว่า อยากเป็น คุณพ่อกลับแนะนำว่า ให้เป็นตำรวจมารักษาคนน่าจะดีกว่า อย่าไปลุยเลย  อาจเพราะบุคลิกส่วนตัวของผม”

เป็นเหตุผลให้เขาเลือกเรียนหมอหลังจากมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซ็นคาเบรียลไปสอบติดแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำเร็จออกมาได้เกียรตินิยมอันดับ 2  มีความคิดอยากเป็นหมอตำรวจ ตัดสินใจมาสมัครที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยเพราะต้องการทำงานเพื่อตำรวจ เจ้าตัวเล่าว่า เห็นคนป่วยคนเจ็บมาอยากจะช่วยคน ปรากฏว่า โรงพยาบาลตำรวจยังไม่มีตำแหน่ง  ต้องไปใช้ทุนอยู่กระทรวงสาธารณสุข แต่ยังคิดว่า การแพทย์เมืองไทยต้องไปไกลกว่านี้  วางแผนจะไปเรียนอเมริกา ตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์

สุดท้ายได้กลับมารับราชการตำรวจ เริ่มตำแหน่งลูกแถวยศพลตำรวจเป็นนายแพทย์โท พล.ต.ท.นพ.ธนาบอกว่า สมัยก่อนโรงพยาบาลตำรวจยังเล็ก ไม่ค่อยแบ่งแผนก ทำให้มีแนวคิดจากพัฒนาโรงพยาบาล ให้เป็นสถาบันการเรียนการสอน และเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

บินไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา เพิ่มตำรารักษากระดูกและข้อ

ด้วยความคิดนี้เอง ทำให้ได้ไปเรียนหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ สาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หลังจากนั้นบินไปเรียนต่อที่รัฐโอไฮโอ ต่อเนื่องนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะเมืองไทยขาดแคลน มองว่าจะพัฒนาโรงพยาบาลให้ดีได้ต้องมีการเรียนการสอน หมอถึงจะเก่งขึ้น

“อยู่อเมริกา ทำให้เรารู้ระบบการแพทย์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะว่า โรงพยาบาลที่ไปอยู่ในแมนฮัตตัน โรงพยาบาลกระดูกและข้อแห่งแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ ศูนย์การแพทย์คอร์เนลเมดิคัลเซ็นเตอร์ มลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สอนให้เรารู้จักไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่ดีที่สุดอย่างเดียว  สอนให้คิดเพื่อพัฒนา เป็นสิ่งที่ผมได้กลับมาเมืองไทย พอกลับมาปุ๊บก็เริ่มพัฒนาโรงพยาบาลตำรวจ แต่เราจะมีมุมมองของการพัฒนาในความเป็นหมอ เฉพาะการรักษาก็เป็นหนึ่งต่อหนึ่ง  คือ คนที่ไม่สบาย ผ่าตัดเก่ง รักษาได้ดี เราจะมองว่า ตำรวจมีตั้งแสนกว่าคน อีกมุมมองที่เราเรียนรู้ คือ  ทำไมเราไม่ผลิตหมอของเราเองที่มีความสามารถในการรักษาให้สูงขึ้นหลายๆ คน รักษาได้หลายๆ คน เพิ่มการบริการมากขึ้น ทำให้ตอนนั้นโรงพยาบาลตำรวจพัฒนาหลักสูตรการสอนแพทย์ที่จบหมอมาแล้ว เหมือนหลักสูตรหลังปริญญาที่มีหลายสาขา”

อดีตนายแพทย์ สบ8 โรงพยาบาลตำรวจอธิบายว่า เรามีทั้งอนุสาขาเฉพาะที่ผ่าตัดผ่านกล้องใส่ข้อเทียม ซ่อมเอ็นหลัง  คิดว่าการพัฒนานอกจากทำให้โรงพยาบาลเจริญแล้ว เราจะได้หมอเก่งๆ สามารถดูแลตำรวจกว่า 2 แสนนายได้ด้วย ทำโรงพยาบาลตำรวจเป็นสถาบันการเรียนการสอน “ที่สำคัญ โรงพยาบาลตำรวจควรเป็นสถาบันที่ดูแลตำรวจอย่างมีคุณภาพสูง ทั้งการรักษาและการป้องกัน เรามีตำรวจอยู่ประมาณ 190,000 คน ผมก็คิดว่า เรื่องการรักษาอย่างดีพัฒนาไปเสร็จแล้ว เพราะผมมาจากอเมริกา แต่การดูแลตำรวจสมัยนั้น โครงการที่เริ่มตรวจป้องกัน รักษาตำรวจ ณ ที่ตั้ง แต่ไม่ใช่การเช็กอัพตำรวจ แค่ไปตรวจร่างกายแล้วกลับ ตำรวจก็งงๆ ว่า มาตรวจทำไม ไม่ได้รักษา”

ริเริ่มโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มีแนวคิดพัฒนายกระดับสถาบันหมอ

เขาถึงกลายเป็นผู้ริเริ่มโครงการออกหน่วยเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปรักษา ไปแจกยา กระทั่งได้รับการตอบรับที่ดี พล.ต.ท.นพ.ธนาขยายความว่า เพราะฉะนั้น การพัฒนาโรงพยาบาลตำรวจจากแค่สถาบันการศึกษาก็เป็นสถาบันที่บริการตำรวจในเชิงรุก  ทำให้โรงพยาบาลตำรวจมีชื่อเสียง ทั้งชื่อเสียงที่เป็นสถาบันวิชาการ และชื่อเสียงในเรื่องของสถาบันที่ดูแลตำรวจ จากในอดีตตำรวจไม่ค่อยมาโรงพยาบาลตำรวจ แต่ปัจจุบันเวลาตำรวจเป็นอะไรต้องมารักษาโรงพยาบาลตำรวจก่อน

หมอผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อบอกต่อว่า พอถึงจุดหนึ่ง เรามองอีกว่า ถ้าจะให้มากกว่านี้ควรที่จะทำอะไร  คิดว่าทุกอย่างจะต้องพัฒนา แต่การพัฒนามี 2 แบบ คือ การพัฒนาที่ไปเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาต้องไปซื้อมา ถ้ามองในอนาคต เราควรต้องใช้จ่ายเงินเพื่อสุขภาพอย่างมีคุณภาพ พัฒนานวัตกรรมเอง การใช้จ่ายในการดูแลคนของเรา นอกจากประหยัดแล้วยังได้คุณภาพที่ดีขึ้นด้วย ดีกว่าการไปซื้อแน่นอน สิ่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เราพยายามพัฒนาเรื่องการวิจัยพัฒนาโรงพยาบาลตำรวจ แทนที่จะใช้เงินไปซื้ออุปกรณ์เยอะๆ เราน่าใช้เงินอันนี้ไปซื้อของที่สามารถจะพัฒนามารักษาตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะน่าจะดีกว่าในอนาคต

ดังนั้น  พล.ต.ท.นพ.ธนาถึงได้มุมมองความเป็นสถาบันการแพทย์เพื่อการเรียนการสอนจากสถาบันบริการตำรวจสู่การพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม ยกตัวอย่างช่วงสถานการณ์ไข้หวัดโควิดระบาด โรงพยาบาลตำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ขึ้นมาใช้งาน ทุกวันนี้ยังทำต่อเกี่ยวกับเรื่องแขนกลอัจฉริยะเพื่อที่จะผ่าตัดทางไกลได้ เพื่อช่วยหมอในต่างจังหวัด เพราะว่าการบาดเจ็บของตำรวจ ข้าราชการ เราอยากให้มีหมอเก่งๆ อยู่ทุกแห่ง

ใช้สเต็มเซลล์และเกล็ดเลือด เป็นทางเลือกตามแผนนวัตกรรมใหม่

ทว่าในความเป็นไปได้ในปัจจุบัน นายแพทย์ลูกหม้อโรงพยาบาลตำรวจกังวลว่า มีข้อจำกัด แต่ถ้ามีระบบที่ว่าขึ้นมาจะช่วยหมอตามต่างจังหวัดกับหมอที่อยู่ทางนี้ได้ เหมือนเรามองไว้ในอนาคต ส่วนอีกอันที่เราคิด คือว่า ตำรวจอายุเยอะแล้ว แก่กันเยอะ การผ่าตัดรักษาจะเพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไบโอเทคโนโลยี ในอเมริกาจะเห็นว่า คนของอเมริกาจะทานยาน้อยลงครึ่งหนึ่ง ผ่าตัดน้อยลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น เทคโนโลยีตัวนี้ ในการศึกษาระดับโลกว่า เป็นเทคโนโลยีทางสุขภาพที่เปลี่ยนโลก เรียกว่า การทำให้มนุษย์เองซ่อมตัวเองได้พัฒนาเรื่องการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ และเกล็ดเลือดในการรักษาข้อเสื่อม

“ตัวผมเอง เป็นหมอศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ผมก็พัฒนาในเรื่องนี้มาก่อนเมื่อสักประมาณ 10 ปีที่แล้ว เราเริ่มที่นี่ เริ่มต้นด้วยสเต็มเซลล์ ต้องขอบคุณอาจารย์ 2 ท่านที่มีบุญคุณกับผม คือ พล.ต.อ.จงเจตน์ อาวเจนพงศ์ และนายแพทย์ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ ให้ทุนวิจัยจนเราพัฒนาเรื่องการรักษาปลูกถ่ายกระดูกอ่อนสำเร็จด้วยเลือด ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติไปแล้วถึง 4 ฉบับ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกไม่สำคัญเท่ากับใช้ได้กับคนทุกคนได้ ด้วยข้อจำกัดของเซลล์ ต้นกำเนิด และเรื่องราคา รวมถึงทางกฎหมาย”

             เจ้าตัวคิดว่า องค์ความรู้ตัวนี้จะทำอย่างไรให้คนทุกคนใช้ได้ สมัยนั้นพอเราคิดเสร็จ เราตีพิมพ์แล้วคิดว่า พอไม่ต้องทำแล้วในความเป็นนักวิชาการ แต่ในความเป็นหมอ เรายังรักษาทุกคนไม่ได้ เพราะโรคนี้เป็นโรคของทุกคน เรื่องข้อเสื่อม เลยมานั่งพัฒนาต่อว่า จริง ๆ แล้ว สมัยนั้นเราคิดว่า สเต็มเซลล์ดีที่สุด เกล็ดเลือดก็เป็นสิ่งที่ได้ใช้กัน อันนั้นเป็นความรู้สักเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ก่อนตัวเองจะเดินทางไปอเมริกา ไปยุโรปเพื่อจะศึกษาว่า จริงๆ แล้ว ความรู้ใหม่ คือ อะไร

 

ตั้งใจตรวจคนไข้ให้ดีที่สุด เพื่อสาธารณสุขของประเทศ

พล.ต.ท.นพ.ธนาได้รับคำตอบว่า ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นพบว่า เซลล์ต้นกำเนิดมีอยู่ทุกคนในร่างกายเราอยู่แล้ว ทำไมไม่เช็กของเราที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องเก็บออกมา แนวคิดอันนี้เป็นแนวคิดอันหนึ่งที่เปลี่ยนไป เพียงแต่ว่า เราจะต้องใช้ของที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงในการรักษา เปรียบเทียบเหมือนการปลูกบ้าน เราใช้วิศวกร เขียนแบบ แต่คนที่ปลูกจริง ๆ คือ ช่าง มีอิฐ หิน ดิน ทราย เมื่อเราทราบว่า มีพิษอยู่แล้ว แล้วโรคนั้นไม่ใช่โรคที่รุนแรง เราคงไม่ต้องใช้วิศวกรมาเป็นช่าง แค่ไปหาช่างดี ๆ เอาอิฐ หิน ดิน ทราย มาทำบ้านก็ทำได้ นี่เป็นบริบทปกติในมนุษย์ที่ทำกัน ด้วยเหตุผลนี้เอง เราเลยพัฒนาเรื่องนี้ต่อ

“เป็นเหมือนกับเป็นเกล็ดชีวิต จุดประสงค์หลักที่เราทำเนี่ย ตั้งใจที่จะให้การรักษาทุกคนให้ดีที่สุดแบบนี้ ไม่ใช่ว่าดีที่สุด แต่อยู่บนหิ้ง รักษาใครไม่ได้เลย อย่างที่ผมบอก การพัฒนานวัตกรรมเป็นความจำเป็นกับประเทศมาก ในสมัยนั้นเราจะเห็นว่า ช่วงโควิดเราไม่ได้ทำอะไรในประเทศน้อยมาก พอมีปัญหาพวกนี้ ความมั่นคงทางการบริการสาธารณสุข เราต้องมาดู โชคดีที่เรามีเพื่อนดี ใคร ๆ ก็ช่วยเรา แต่ต้องไปซื้อมา คำถาม คือ แล้วทำไม เราไม่ทำเองในประเทศ”

พล.ต.ท.นพ.ธนามีความเห็นว่า พอถึงจุดเปลี่ยนตรงนี้พบว่าเลยนวัตกรรมไปแล้ว เป็นความยั่งยืนที่ทำให้ทุกคนในประเทศใช้ได้ แทนที่เรามีความรู้เยอะ แต่เราไปซื้อของต่างประเทศมาหมด ต้องคิดว่าของพวกนี้ควรพัฒนาในประเทศเราให้ได้มีประโยชน์สูงสุด ในแนวคิดนี้เอง โชคดีตรงที่ว่า มีโอกาสได้ไปคุยแล้วได้ทุนสนับสนุนเรื่องนี้จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในแง่การส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศให้ดีขึ้น  “เป็นที่มาของการพัฒนาเกล็ดเลือดคุณภาพสูง ที่ปั่น 3 ครั้งเพื่อที่จะเอามารักษาคนไทย ในปัจจุบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเอง ต้องการทำเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่เพื่อการรักษาให้ดี แต่เราอยากทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าคนไทยเรามีความสามารถทั้งจินตนาการ แล้วก็ความสามารถเรื่องเกี่ยวกับการรักในวิชา และความทุ่มเท ที่สำคัญ คือ หลักความจริง ภาษาหมอ เรียกว่า หลักฐานเชิงประจักษ์ 3 สิ่งนี้ ทำให้เราสามารถรักษาสิ่งที่ดีที่สุดในคนไทยได้ ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติมากนัก เป็นเรื่องที่ดีของหมอไทย พยาบาลไทย และคนไทยทุกคน พอเราทำสำเร็จแล้ว หลังจากเรามีความรู้เรื่องสเต็มเซลล์ เราก็พัฒนาความรู้อันนี้ต่อ พอพัฒนาตรงนี้ต่อปุ๊บ เราก็ทำและตีพิมพ์ไปในวารสารนานาชาติ 3 ฉบับ” พล.ต.ท.นพ.ธนาว่า

ตระเวนบรรยายหลายจังหวัด จัดเผยแพร่ชื่อเสียงของโรงพยาบาลตำรวจ

อดีตนายพลตำรวจโทหมอตำรวจยืนยันว่า ปัจจุบันโครงการนี้เป็นที่ยอมรับ ใช้อย่างแพร่หลาย เราได้ไปบรรยายในโรงพยาบาลต่างจังหวัดถึง 20 แห่ง  มีโอกาสบรรยายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านทางออนไลน์ และรักษาคนไข้ไปกว่า 3,000 คนแล้ว มีโอกาสสอนพยาบาล ไม่ใช่ให้ความสำคัญทางความรู้กับหมอเท่านั้น คิดว่าคนทุกระดับก็มีความสำคัญ เพื่อจะเห็นว่า เป็นมุมมองที่ทำให้ภาพพจน์ของโรงพยาลตำรวจ นอกจากเป็นสถาบันวิชาการ สถาบันการบริการในการป้องกันตำรวจ ยังเป็นที่พัฒนานวัตกรรม สำหรับประเทศไทยคิดว่า สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก

เขายังบอกด้วยว่า ในอดีตเราถูกสอนให้คนของเราไปเรียนต่างประเทศเพื่อการรักษาที่ดีที่สุดกลับมารักษาคนไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคือว่า ค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของเราเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ถ้าเราสร้างสถาบันความเป็นนวัตกรรม แม้เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ก็ตาม ถึงแม้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี แต่เงินทั้งหมดยังอยู่ในประเทศ เราก็สามารถที่จะรักษาคนไทยได้ดีที่สุดเทียบเท่าต่างชาติ เพราะฉะนั้น จุดสำคัญที่เราทำ คือการพัฒนานวัตกรรม เพื่อประเทศไทย

“ผมถึงมีความภูมิใจที่มาอยู่โรงพยาบาลตำรวจ โตที่นี่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงโรงพยาบาลเล็ก ๆ แต่ว่าการมาถึงจุดนี้ ทำให้ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นของมูลนิธิศัลยแพทย์ข้อสะโพกข้อเข่า เป็นรางวัลที่ผมภูมิใจมาก อีกความภาคภูมิใจ คือ ผมได้มีโอกาสไปต่างจังหวัดถึง 20 จังหวัด พบปะหมอเยอะแยะมากมายหลายคน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองในเรื่องดังกล่าว ทำให้ได้เผยแพร่ชื่อเสียงโรงพยาบาลตำรวจว่าเป็น โรงพยาบาลหนึ่งหนึ่งที่ได้ทำงานเพื่อสังคม ได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 51” อดีตนายแพทย์ สบ 8 โรงพยาบาลตำรวจระบายความรู้สึก

 

อยากให้คนไทยมีความสุข ปลุกมุมมองเรื่องทำให้สุขภาพแข็งแร

“ผมคิดว่า เรื่องเกล็ดเลือดอันนี้ เราถือว่าเป็นเกร็ดชีวิตที่สำคัญ ผมอยากให้คนไทยกลับมาเดินได้อย่างมีความสุขอีกครั้งหนึ่งตลอดไป ทำไมเราถึงคิดอย่างนี้ สมัยก่อนเราคิดในมุมมองของหมอออร์โธปิดิกส์ว่า ข้อเข่าดีก็ดี แต่จริง ๆ แล้วมันมีผลกระทบทางประชากรศาสตร์มากกว่าเยอะ พวกเราทราบว่า ในอดีตที่ผ่านมา การแพทย์เจริญขึ้น คนอายุยืนขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือ 10 ปีสุดท้ายอยู่กับโรงพยาบาล อยู่โรงพยาบาลเป็นบ้าน ใช้เงินกับที่โรงพยาบาลหมด  พวกเราดีใจนะที่ได้ดูแลคน  คำถาม คือ จะดีกว่านั้นไหม ถ้าแข็งแรงแล้วได้ไปเที่ยวเยอะ ๆ มาโรงพยาบาลน้อย ๆ ใช้ชีวิตไปกับสิ่งที่เราอยากใช้ เพราะฉะนั้นโดยคอนเซ็ปต์อันนี้เองในอเมริกา คิดว่า การพัฒนานอกจากการแพทย์ชั้นสูงแล้ว การแพทย์ชั้นสูงที่เป็นไบโอเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อให้มนุษย์เรามีความแข็งแรง”

พล.ต.ท.นพ.ธนาชี้ว่า มนุษย์ที่อายุยืน มีปัจจัยสำคัญ ๆ 3 อย่าง อันที่ 1 คือ การนอน อันที่ 2 เรื่องอาหาร อันที่ 3 เรื่องการออกกำลังกาย ทุกคนรู้หมด แต่สังเกตว่า ผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 60 เจ็บเข่า ใช้งานออกกำลังกายไม่ได้  เมื่อเราพัฒนาตรงนี้ขึ้นมา ทุกคนจะออกกำลังกายได้หมด ส่งผลดีต่อประเทศตรงที่ฐานประชากรของสังคมผู้สูงอายุ ไม่ใช่มองเพียงแต่ว่า ทำอย่างไรจะสร้างโรงพยาบาลมีที่อยู่เยอะ ๆ ทำอย่างไรจะมีกองทุนเยอะ

“ต่างจากมุมมองของผม คิดว่าผู้ใหญ่หลายท่านน่าจะเห็นด้วยที่ผมเสนอ  คือ ทำไมเราไม่ทำให้คนเหล่านี้แข็งแรงจะได้ไม่ต้องใช้บริการโรงพยาบาล ประเทศเราจะแข็งแรง ไม่มีภาระ เป็นเหตุผลหนึ่งที่อยู่บนพื้นฐานที่จะต้องพัฒนาการรักษาข้อเสื่อมให้มันดี เพราะว่า คนเราถ้าออกกำลังกายได้ ทุกอย่างจะดีตาม เป็ฯมุมมองใหม่ๆ ที่ผมมอง จะเห็นว่า เป็นการรักษาเฉพาะบุคคล ลดการกินยา ประเทศเราล้างไต นี่ 1 ใน 4 เกิดจากการกินยาแก้ปวด ลดการผ่าตัด ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือ ฐานประชากรศาสตร์ของเราจะแข็งแรงขึ้น”

 

ร่วมฝ่าวิกฤติไข้หวัดโควิดระบาด มีบทบาทคลี่คลายผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ในชีวิตรับราชการของ พล.ต.ท.นพ.ธนามองอีกว่า นอกจากการเริ่มต้นด้วยการเป็นหมอ การอยากไปเมืองนอก การอยากทำโรงพยาบาลตำรวจให้เป็นสถาบันการแพทย์ที่ดี เป็นสถาบันที่บริการตำรวจที่ดีในเชิงป้องกัน ทำให้เป็นสถาบันพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศไทย และจะมีผลต่อความแข็งแรงของประชาชนส่วนร่วมเป็นทั้งหมดในความเป็นหมอ มากกว่าความเป็นหมอกระดูกที่เรามองเห็น

เจ้าตัวยังได้รับความไว้วางใจจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปเป็นกรรมการแพทย์ประกันสังคม มีบทบาทสำคัญในช่วงสถานการณ์โรคโควิดระบาด เนื่องจากกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงในโลกเพียงแห่งเดียวที่องค์กาอนามัยโลกมาเยี่ยมชม และมีคำถามว่า ทำไมกระทรวงแรงงานไทยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ประเทศอื่นไม่มี

เขาตอบไปว่า สถานการณ์โควิดมีผลกระทบอย่างรุนแรง กระทรวงสาธารณสุขอาจเป็นมาตรฐานของประเทศ แต่ประเทศต้องเดินด้วยระบบเศรษฐกิจ ช่วงนั้นระบบส่งออกอาหารเสียไปส่วนหนึ่ง  ระบบการเงิน ระบบเกี่ยวกับเรื่องยานยนต์กำลังจะเสีย เช่นเดียวกับระบบเกี่ยวกับไอที ถึงมีความจำเป็นต้องต้องให้ความสำคัญต่อแรงงานไม่ให้ไปกระทบต่อเศรษฐกิจ

 

 ยอมรับหลายเรื่องล้าสมัย พรุ่งนี้ก็เปลี่ยนไปตามวิถีเปลี่ยนโลก

“เราไม่ควรปิดโรงงาน เพราะว่าโรคโควิดเป็นโรคที่หายได้ เหมือนการรักษาไก่ ไก่ที่ไม่สบาย เราไปฆ่าไก่ทั้งเล้า คงจะไม่ค่อยดี ไก่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงก็ต้องรักษา พอหายก็เอาไก่กลับไป แล้วทุกคนก็มีชีวิตอยู่ดีมีสุข  ตอนนั้นผมเสนอว่า ไม่ควรปิดโรงงาน พร้อมเสนอให้ฉีดวัคซีนเชิงรุก เราฉีดวัคซีนไปประมาณสัก 4-5 ล้านคน ชี้แจงนายกยกรัฐมนตรีว่า วิกฤติมหาศาลที่ต้องช่วยกัน ไม่ใช่หน้าที่พวกผม ในเมื่อภัยมาถึงครอบครัวแล้ว ผมว่า มือไหนก็ต้องช่วยกัน เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่รับผิดชอบคน 12 ล้านคนก็ต้องมาช่วย”

นายแพทย์ระดับตำนานของโรงพยาบาลตำรวจร่วมคลี่คลายสถานการณ์โรคระบาดของประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นในเวลาต่อมาในด้านของแรงงงาน ในด้านการรักษา และเกี่ยวกับการป้องกันโควิด เรียกความมั่นใจในการลงทุนสูงของชาวต่างชาติจากมุมมองของความเป็นหมอ ความเป็นนักวิจัย และเป็นนักบริหาร

“ผมคิดว่า ที่เล่ามาเป็นอดีตไปหมดแล้ว อดีตมีความสำคัญอย่างเดียว คือ เรื่องแนวคิด เชื่อว่าสิ่งที่ผมทำ พรุ่งนี้ก็ล้าสมัยแล้ว ไม่คิดว่าจะทันสมัยอยู่ตลอด เพราะว่า คนรุ่นใหม่ จะต้องเกิดมาด้วยมุมมองใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ   แต่ว่าการเรียนรู้ในอดีตกับหลักการ มักจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจากประสบการณ์เล็ก ๆ ตลอดระยะเวลาประมาณสัก 30 ปีของผม อยากให้มีประโยชน์ เป็นแนวคิดให้คนรุ่นใหม่ ให้ดูว่า เรามีแนวคิดอย่างไรในการทำงาน เราเป็นหมอผ่าตัด แต่กลับจะต้องมีฉีดวัคซีน เราเป็นหมอกระดูก แต่ว่า มาพัฒนาเรื่องเกล็ดเลือดในการรักษา หรือว่า เราเป็นหมอตรวจคนไข้กลับจะต้องมาทำงานบริหาร”

 

หวังให้ทุกคนทุ่มเทในสิ่งที่ทำ ออกชี้นำเพื่อนร่วมอาชีพทั่วประเทศ

พล.ต.ท.นพ.ธนามั่นใจว่า เราจะทำอะไรก็ทำได้ ถ้ามีจินตนาการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ที่สำคัญ ควรจะมีความรัก และความทุ่มเทในสิ่งที่เราทำ หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า แพสชั่น แต่แค่นวัตกรรมไม่พอ ต้องเป็นนวัตกรรมเชิงประจักษ์  ทำแล้วได้ผลก็ไม่พอ ต้องใช้ได้ การใช้ได้ คือ เราต้องเดินไปหาคนที่ใช้ ถามคนไข้ว่า ใช้ได้ไหม อย่าคิดว่า เราทำเสร็จแล้วใช้ได้

ไม่เป็นเพียงแค่เรื่องการรักษาเท่านั้น เจ้าตัวมีความฝันอยากทำให้คนไทยแข็งแรง เพราะทุกวันนี้ มนุษย์ทุกคนไม่ได้รักษาเพื่อให้อายุยืน ถ้าเรารักษาให้เป็น ทำให้คนไทยแข็งแรง เชื่อมั่นเหลือเกินว่าจะดีกับประเทศอย่างแน่นอนในภาพรวม ทำให้ภาระของประเทศน้อยลง ความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ประเทศสามารถที่จะก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้ได้

“ในเกร็ดชีวิตเล็ก ๆ ของผม พอเกษียณแล้วอยากไปต่างจังหวัด อยากไปสอน นำความรู้จากประสบการณ์ของผมไปถ่ายทอด ก่อนหน้าผมไปมา 20 จังหวัดแล้ว ยังไม่ครอบทั่วประเทศไทย สิ่งที่ผมฝัน คือ ผมอยากจะไปเป็นอาจารย์ต่อความฝันของเด็กรุ่นใหม่ ไปสร้างแรงบันดาลใจ ไปสร้างจินตนาการ  ไปตอบปัญหาว่า จะแก้อย่างไร อยากจะใช้ชีวิตหลังเกษียณไปให้ครบทุกจังหวัด ไปแลกเปลี่ยนไอเดีย ผมเชื่อว่า คนไทย มีศักยภาพสูง นั่นเป็นความฝันอันเดียวที่ผมอยากจะทำ” พล.ต.ท.นพ.ธนาทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES