ก้าวที่ 18 สัมผัสโผ

 

ล่วงเข้าเดือนกันยายน กลิ่นไอของฝุ่นบรรยากาศการแต่งตั้งโยกย้ายในองค์กรพิทักษ์สันติราษฎร์เริ่มตลบอบอวลตามฤดูกาลของมัน

“เอ็งต้องตามเกาะโผนครบาลด้วยนะ” อัมพร พิมพ์พิพัฒน์ หัวหน้าข่าวกำชับ

“โผ” ผมชะงัก

“เออ..โผแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจนั่นแหละ ระวังอย่าให้หลุด”แกย้ำ

คำว่าอย่าให้หลุด ภาษาคนข่าวรู้ถึงสัญญาณดี การหลุด คือ การตกข่าว แต่นักข่าวน้องใหม่ที่เพิ่งหัดบินอย่างผมจะเอาปัญญาอะไรไปแกะบัญชีรายชื่อแต่งตั้งนายตำรวจระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ถือเป็นกองทัพน้อยของวงการสีกากี

หากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ระดับไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด แย้มรายชื่อออกมาก่อนคลอดอย่างเป็นทางการ ผมมิหัวขาดหรือ ถึงแม้สยามโพสต์เป็นเพียงหนังสือพิมพ์หัวเล็ก ไม่เน้นข่าวอาชญากรรม ไม่ฝังรากลึกขุดคุ้ยอาณาจักรตำรวจมากนัก แต่ด้วยสำนึกในจิตวิญญาณของความเป็นนักหนังสือพิมพ์

ผมจะทำเมินเฉยเป็นหูทวนลมรอเวลาตกข่าวไม่ได้เป็นอันขาด

ทว่า ก่อนหน้าที่ถ้ำนครบาลจะขยับทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย ระดับนายพลชั้นบริหารของกรมตำรวจมีกระแสการปรับเปลี่ยนรายชื่อชั้นแม่ทัพตั้งแต่เก้าอี้รองอธิบดีกรมตำรวจไปจนถึงผู้บัญชาการในแต่ละหน่วยลงยันผู้บังคับการที่ต้องผ่านการประชุมของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.บ้างแล้ว

พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ยังได้รับการไว้วางใจให้นั่งบทผู้นำกรมปทุมวัน เขาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 13 เป็นอธิบดีกรมตำรวจคนแรกที่ผ่านรั้วสามพราน เมื่อผลัดใบเข้าสู่ฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายไม่แปลกที่เหล่าบรรดานักเรียนสามพรานในแต่ละรุ่นที่มีความสนิทสนมชิดเชื้อกับผู้กุมบัลลังก์องค์กรจะขยับเชิดเพดานบินสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีรุ่น

“เอ็งลองเข้าไปที่กรมตำรวจหน่อย” หัวหน้าข่าวมากประสบการณ์สั่งงาน วันนั้นเป็นอาทิตย์ที่ผมมีภาระหน้าที่สลับมาเข้าเวรประจำการอยู่ที่กองบรรณาธิการสยามโพสต์ “ไปดูซิว่า เขามีประชุมแต่งตั้งกันหรือไม่” อัมพรย้ำ

“ครับพี่” ผมรับบัญชาส่งเดช ทั้งที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก

ย่างเหยียบเข้ากรมปทุมวัน อาณาจักรแม่ทัพชั้นเอกของผู้ปกครองไพร่พลสีกากีเหยียบแสนชีวิต สำนักงานของอธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้นอยู่ที่อาคาร 19 ชั้น 12 ตึก 13 ชั้น ที่สูงตระหง่านเต็มไปด้วยมนต์ขลัง และประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในกองทัพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หลังผ่านพ้นเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาทมิฬ 2535

ห้องนักข่าวประจำกรมตำรวจอยู่บนชั้น 13 ติดห้องประชุมใหญ่ในบ่ายวันอาทิตย์แสนเงียบเชียบวังเวงสิ้นดี ผมเดินดุ่มไปมาไร้เงาผู้คน ส่วนสำนักงานอธิบดีกรมตำรวจก็มีสภาพไม่ต่างกัน “พี่เขาสั่งให้กูมาทำไมวะเนี่ย” ผมคิดลำพัง

ผมหย่อนก้นนั่งพิงโซฟาข้างโต๊ะปิงปองที่เขาว่า พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำเจ้าของรหัสพิทักษ์ 1 ชอบแวะมาดวลลูกเซลลูลอยด์กับบรรดานักข่าวประจำกรมตำรวจบ่อยครั้งในยามเย็น จำนวนนั้นมีอรุณ ลานเหลือ บรรณาธิการผู้อาวุโสของสยามโพสต์รวมอยู่ด้วย

ลุงอรุณ เป็นนักข่าวรุ่นใหญ่ที่อธิบดีกรมตำรวจนับหน้าถือตามากสุดคนหนึ่งด้วยความที่เป็นนักหนังสือพิมพ์เปี่ยมล้นอุดมการณ์ยากหาใครเทียบเคียง แกเกิดอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช  เข้ากรุงเทพมหานครมาเรียนระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนพระเชตุพนตั้งตรงจิตรวิทยาลัย แผนกภาษาต่างประเทศ และคณะสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ รุ่นแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อปี 2499 ประเดิมเข้าวงการหนังสือพิมพ์ตามคำชวนของสว่าง ลานเหลือ ผู้เป็นอา รับบทนักข่าวสายกรมตำรวจที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพรายวัน และยืนหยัดอยู่บนเส้นทางข่าวมาตลอด เพราะมีความรักในวิชาชีพ รักษาจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด ตั้งมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เคยทรยศต่อวิชาชีพที่ใช้เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

ชีวิตนักข่าวของแกหมุนเวียนไปหลายฉบับ เริ่มที่กรุงเทพรายวัน ไปแนวหน้า เสียงอ่างทอง หลักเมือง ข่าวภาพ เกียรติศักดิ์ ซินเสียนเยอะเป้า ตงฮั้ว ไทยใหม่ บางกอกเวิลด์ ก่อนมาเป็นบางกอกโพสต์ ทำหน้าที่เป็นนักข่าวสายอาชญากรรมคร่ำหวอดอยู่ในวงการสีกากีประจำกรมตำรวจยาวนานเกือบ 40 ปี

เคยได้รับความไว้วางใจจากเป๊าะสู หรือปะซู วาแมดีซา อดีตครูประชาบาลที่รัฐบาลขึ้นบัญชีเป็นหัวหน้าขบวนการก่อการร้ายพื้นที่ภาคใต้ให้เข้าไปทำข่าวถึงรังบนเทือกเขาบูโด เป็นนักข่าวคนเดียวที่รับรู้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการเป๊าะสูอย่างใกล้ชิดเพื่อรายงานกลับมายังกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กระทั่งโดนกล่าวหาว่าอยู่ร่วมแกนโจรแบ่งแยกดินแดน สร้างความเจ็บปวดภายในจิตใจของแกเป็นอย่างมาก

ต่อมาปี 2535 แกถึงได้รับการทาบทามจากผู้บริหารบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด ให้มานั่งตำแหน่งบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ในเครือเดียวกับบางกอกโพสต์ กลายเป็นเส้นทางที่ผมกับแกโคจรมาเจอกัน

แกบอกเสมอว่า “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ก็คือ เสรีภาพของประชาชน หนังสือพิมพ์ไม่ได้มีเสรีภาพเหนือกฎหมายแต่อย่างใด มีฐานะเหมือนบุคคลอื่นๆ สังคม เช่นเดียวกับ ในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลกหนังสือพิมพ์จะต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมายที่มีลักษณะเป็นบรรทัดฐานคล้ายกัน”

ผมเคลิบเคลิ้มมองภาพลอยอยู่เหนือท้องฟ้า มองชะตาชีวิตคิดฝันเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่จะต้องตั้งมั่นอยู่ในอุดมการณ์ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ออกจากวิชาชีพเพราะ “แบล็กเลเบิล” แค่ขวดเดียวเหมือนตัวอย่างที่ผมประสบพบเจอมากับเพื่อนร่วมงาน

“มาหาใครวะมึง” เสียงหญิงวัยกลางคนลั่นตะโรปลุกผมตื่นจากภวังค์

“เอ่อ” ผมอ้ำอึ้งยกมือไหว้สวัสดี “ผมอยู่สยามโพสต์ครับ”

“อ๋อ ลูกน้องไอ้ต๊อก ไอ้ทินหรือ” เธอไม่เบาโทนเสียง

“ครับ”

“แล้วมาทำไมวะ วันนี้เขาหยุดงานกัน”

“ข้างในเขาสั่งให้มาดูว่า มีประชุมแต่งตั้งหรือเปล่าครับ”

หญิงสวมแว่นตามาดห้าวหัวเราะเยาะ “แล้วมึงมานั่งอยู่ตรงนี้ มึงจะรู้เรื่องไหม”

“ตกลงมีประชุมหรือครับ”

“มานี่ ตามกูมา” เธอวางกล้ามพาผมเดินลงไปชั้น 12 ระหว่างลงบันได ผมก็พอจะเดาออกแล้วว่าหญิงคนนี้ คือ ใคร เพราะกิตติศัพท์ของเธอเป็นที่รู้กันในหมู่นกกระจอกประจำทุ่งปทุมวัน

“นี่หรือเจ้าแม่กรมตำรวจ” ผมนึกในใจไม่กล้าเอ่ยปาก

“ชื่ออะไรมึง”

“โต้งครับพี่”

“กูพี่เจี๊ยบ แนวหน้านะ” เธอแนะนำ ก่อนสาธยายเรื่องราวจิปาถะ คุยไปคุยมาพอเธอรู้ว่า ผมจบเทพศิรินทร์ น้ำเสียงดุดันของเธอเปลี่ยนทันที

“เด็กเทพหรือวะ แฟนพี่ก็จบเทพ มีอะไรบอกได้นะ”

นั่นปะไร แม่รำเพยดลใจช่วยผมแล้ว

“แฟนพี่รุ่นไหนครับ”

“อย่าไปพูดถึงเขาเลย เขาตายไปแล้ว”เธอส่ายหัว

“ตกลงมีประชุมไหมครับ ผมจะได้ส่งข่าวถูก” ผมเลยถือโอกาสหักเรื่อง

รังสิมา จิระเกียรติ ที่นักข่าวร่วมอาชีพหลายคนเรียกติดปาก “เจ๊เจี๊ยบ” สัมผัสแรกผมมองว่า แกปากร้าย แต่ใจดี ไม่น่ามีพิษมีภัยสำหรับนักข่าวน้องใหม่อย่างผม วันนั้น เจ๊แกแนะนำอะไรหลายอย่างให้ผมเก็บเกี่ยวเป็นองค์ความรู้ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย การวิเคราะห์รายชื่อ หรือโผแต่งตั้งว่า ใครจะไปใครจะมาต้องดูความสนิทสนมชิดเชื้อผู้มีอำนาจของแต่ละตัวบุคคล ดูรุ่น ดูประวัติความเป็นมา และอุปนิสัยว่า เป็นมือทำงาน หรือนักวิ่งเต้นเข้าหานาย

“จำชื่อคนนี้ไว้ ชาญ รัตนธรรม” นักข่าวสาวใหญ่ประจำกรมตำรวจกระซิบ เธอว่า คนนี้จะได้ขยับจากผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจขึ้นเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่งเบียดพลตำรวจโทวิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจอีกคนที่เป็นน้องนักเรียนนายร้อยสามพรานรุ่น 14 ของพลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์

ผมบอกลาเจ้าแม่สนามข่าวตำรวจกำชื่อนายพลมือปราบไปเสนอโรงพิมพ์ ผมคิดว่า การเหยียบเวทีใหญ่บนอาณาจักรโล่เงินครั้งแรกในชีวิตของผมคุ้มแล้วที่ได้มาเจอเจ้าที่เจ้าทางเปิดโลกในการสัมผัสข่าวแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับสูง

ถัดจากนั้นไม่นาน ชื่อของพลตำรวจโทชาญ รัตนธรรม ได้ขยับเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจตามที่เจ้าแม่ทำนายไว้จริง แต่ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ผมมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เมื่อพลตำรวจโทจำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ข้ามห้วยมานั่งตำแหน่ง น.1 แทนพลตำรวจโทณรงค์ เหรียญทอง ที่จะเกษียณปลายเดือนกันยายนนี้ การมาของพลตำรวจโทจำลอง ทำเอานักข่าวขนอุยอย่างผมเซอร์ไพรส์ เพราะคิดว่า คนที่จะมาทำหน้าที่แทนในเก้าอี้แม่ทัพคนต่อไปน่าจะเป็นคนของหน่วยตำรวจเมืองกรุงมากกว่า

แต่กระจอกข่าวผู้เจนจัดหลายคนมองไม่แปลก เหตุเพราะพลตำรวจโทจำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 13 เพื่อนร่วมรั้วสามพรานพลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพลตำรวจตรีสุนทร บุญเรือง นายตำรวจรุ่นลักกี้นัมเบอร์อีกคนโผล่มากินตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ แทนพลตำรวจตรีวัฒน์ ศรีดามา ที่จะเกษียณอายุราชการเช่นกัน

“รุ่น 13 กำลังมาแรง”เป็นอีกประโยคที่เจ๊เจี๊ยบเคยทิ้งท้ายไว้

ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่เท่าปรากฏการณ์แปลกประหลาดของแรงกระเพื่อมสื่อมวลชนกดดันกรมตำรวจให้หยิบชื่อของพันตำรวจเอกวรรณรัตน์ คชรักษ์ ขึ้นติดยศนายพล หลังจากตกรถไฟอกหักมาก่อนหน้า พอทุกสื่อรวมตัวกันประโคมข่าวนายตำรวจยอดฝีมือแห่งกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือไม่เจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการ ส่งผลให้พลตำรวจตรีบุญชอบ พุ่มวิจิตร ผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี ต้องหลั่งน้ำตาเสียสละเก้าอี้ขอขยับตัวเองขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดทางให้ “นักสืบหน้าหยก” วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นผู้การธนบุรี สมใจบรรดาสื่อ

“นักข่าวมีอิทธิพลขนาดนั้นเชียวหรือ” ผมหลงลำพอง “แล้วถ้าผมจะฝากพ่อขึ้นเป็นผู้กำกับล่ะได้หรือเปล่า” ผมตั้งคำถามให้ตัวเอง

พันตำรวจโทประสงค์ กฤษณสุวรรณ เป็นรองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง นานนับ 10 ปี แกไม่ใช่นักวิ่งเต้น นักประจบสอพลอ วัน ๆ เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน เลิกงานหลวงก็ไปรับงานราษฎร์เป็นหัวหน้าดูแลรักษาความปลอดภัยโรงแรมนารายณ์ หาเงินเลี้ยงครอบครัว

ผมไม่รู้หรอกว่า พ่อคิดยังไง แต่ผมพอเดาได้ว่า พ่อคงเครียดที่ไม่ได้ขึ้นผู้กำกับสักที ขณะที่เพื่อนคนอื่นแซงข้ามหัวเป็นใหญ่กันหมดแล้ว

พลันทีพันตำรวจเอกชาตรี สุทัศน์ ณ อยุธยา รองผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง ลูกหม้อนักผจญไฟขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง ในโผเดียวกันนี้ มันทำให้ผมรู้สึกว่า โอกาสของพ่อมาแล้ว เนื่องจากว่าที่นายพลท่านนี้ที่พ่อและแม่เรียกกันติดปากว่า “รองชาตรี” สนิทสนมคุ้นเคยกันดี

คำว่า สนิทสนมใกล้ชิดผู้มีอำนาจ มันตรงกับที่เจ๊เจี๊ยบเคยกระซิบหลักการให้ผมฟังไว้

สัญญาณการแต่งตั้งในกองบัญชาการตำรวจนครบาลดังขึ้นแล้ว ผมอาศัยเดินตามนักข่าวรุ่นพี่เข้าซอยนายพลออกห้องโน้นทะลุห้องนี้สดับตรับฟังไปเรื่อย ใจผมเต้นระรัวอยากถามแค่คนเดียวว่า “พันตำรวจโทประสงค์ กฤษณสุวรรณ มีชื่อขึ้นผู้กำกับหรือไม่” แต่ที่สุด ขากรรไกรผมก็แข็งเอื้อนเอ่ยข้อคับข้องใจไม่ออก

เดินมาถึงห้องพลตำรวจตรีธีระชัย เหรียญเจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมาดเข้มที่นักข่าวหลายคนคุ้นเคย วันนั้นแกค่อนข้างอารมณ์ดีหัวเราะร่วนเวลาสนทนาสารพัดหัวข้อ หรืออาจเพราะตัวแกขยับเลื่อนอาวุโสครองรหัส น.2 จ่อคิวเป็นผู้บัญชาการในอนาคตแล้วกระมัง

“ท่านครับ บัญชีลงตัวหรือยังครับ” สุวิตร โสรจชนะ พี่ใหญ่ค่ายบางกอกโพสต์ถามนำ

“เกือบแล้ว” นายพลตำรวจมือสอบสวนของนครบาลว่า

“เปลี่ยนเยอะไม่ครับ”

“จำไม่ได้ว่ะ”แกเริ่มเล่นตัว

ผมหันไปสบตาสุวิตรพยักหน้าส่งคำถาม

คนข่าวอาวุโสผู้มากบารมีเข้าไปขนาบข้างกายนายพลเจ้าของห้องส่งเสียงกระซิบ แต่เจตนาผมให้ได้ยิน “ท่านครับ ผมถามชื่อเดียว ประสงค์ มีไหมเที่ยวนี้”

“ประสงค์ไหนวะ”

“ประสงค์ กฤษณสุวรรณ รองผู้กำกับดับเพลิง โผนี้ได้ขึ้นผู้กำกับหรือเปล่าครับ พ่อไอ้เจ้านี่มัน” สุวิตรชี้มาทางผม

พลตำรวจตรีธีระชัย เหรียญเจริญ ขมวดคิ้วจ้องหน้าผมถมึงตึง

RELATED ARTICLES