(9) ศึกชนช้าง  2 นายพลหมวกแดง

 

ล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว ลพบุรีเป็นเมืองทหาร เป็นที่ตั้งของทหารบกหลายหน่วย ทั้งเหล่าราบ ปืนใหญ่ สรรพาวุธ แพทย์ มีทั้งกองบินของทหารบกและทหารอากาศ มีนายพลทหารบกมากเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ

แม้จะมีหน่วยทหารระดับใหญ่มากมาย แต่กรุงเทพฯไม่มีค่ายทหาร ส่วนลพบุรีน่าจะมีค่ายทหารมากที่สุดของประเทศ มีถึง  6  ค่าย

ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, ค่ายวชิราลงกรณ์, ค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา, ค่ายพหลโยธิน, ค่ายพิบูลสงคราม และค่ายจิรวิชิตสงคราม ส่วนค่ายเอราวัณเป็นชื่อที่เรียกขานกันโดยทั่วไปไม่ได้อยู่ในทำเนียบค่ายทหาร

ดังนั้น ที่ดินในจังหวัดลพบุรีโดยเฉพาะ อ.เมืองลพบุรี ไม่ว่าจะย่างก้าวไปตรงไหน ถ้าตรงนั้นไม่ใช่ที่ของทหาร ซึ่ง”จอมพล  ป. พิบูลสงคราม” กำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ก็ต้องเป็นที่ของกรมการศาสนา หรือไม่ก็เป็นที่ของราชพัสดุ

ทุกวันนี้ บริเวณสระแก้วที่มีศูนย์การค้าสระแก้ว และศูนย์การค้า  บขส.เป็นที่ดินของทหารทั้งหมด สองฝั่งข้างถนนนารายณ์มหาราชจากด้านหลังศาลพระกาฬผ่านวงเวียนสระแก้วถึงวงเวียนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพหลโยธินทางไปสู่อำเภอโคกสำโรงและอำเภอชัยบาดาล ส่วนใหญ่ล้วนเป็นที่ดินของกองทัพบกทั้งสิ้น

เมื่อ 60 ปีที่ผ่านมามีหน่วยงานเล็ก ๆ ของกองทัพบกชื่อ “สำนักงานผลประโยชน์บำรุงการทหาร”  ดูแลรายได้อันเกิดจากที่ดินทหารในจังหวัดลพบุรีทั้งหมด หัวหน้าสำนักงาน คือ    “พันโทเสน่ห์ สวัสดิผล” ไม่รู้เป็นญาติผู้ใหญ่ “พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล” หรือเปล่า

สำนักงานแห่งนี้ขึ้นสังกัดกับ “จังหวัดทหารบกลพบุรี” (ปัจจุบันยกฐานะเป็น   “มณฑลทหารบกที่  13”) ต่อมายุบสำนักงานไปเป็นหน่วยงานระดับกองในสังกัดเดิม

ผมรู้จักกับผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลพบุรี “พลตรีสวัสดิ์ เล็กชม” ทั้งบุคลิกและอุปนิสัยของท่านครองใจชาวลพบุรีทุกคน ทั้งประชาชนและทหารยกให้ท่านเป็น “พ่อพระ”ทุกครั้งที่เจอหน้าท่านจะพบแต่รอยยิ้มที่อ่อนโยนมีเมตตา พลตรีสวัสดิ์อยู่ลพบุรีจนเกษียณ และจนวาระสุดท้ายของอายุขัย

จังหวัดทหารบกลพบุรีมีสนามกอล์ฟ แม้จะเป็นสนามขนาดเล็กแต่ก็ให้กำเนิดนักกอล์ฟอาชีพระดับโลกของเมืองไทย “ธงชัย ใจดี” คนนั้นแหละ เขาสัมผัสกับหญ้าเขียวขจี “สนามกอล์ฟวัดไก่”  ตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวพำนักในโรงพยาบาลลพบุรีอยู่ตรงข้ามสนามกอล์ฟ

พลตรีสวัสดิ์ท่านเอ็นดูผมเหมือน ท่านเอ่ยปากจะให้ไม้กอล์ฟแก่ผมถุงหนึ่ง แต่ผมปฏิเสธด้วยความเคารพ เพราะใครจะไปตีกอล์ฟที่นั่นต้องมีรถยนต์ส่วนตัว แต่ผมโหนรถเมล์ไปหาข่าวเกือบทุกวันจะให้ผมแบกถุงกอล์ฟขึ้นรถเมล์คงไม่ไหวแน่

ลูกชายของท่าน “เฉลิมชัย เล็กชม” ก็คุ้นเคยสนิทสนมกันเมื่อครั้งที่ “เฉลิมชัย”เป็นผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ผมก็ได้รับน้ำใจจากทายาทพลตรีสวัสดิ์เป็นนมกล่องไทย-เดนมาร์กเดือนละ 4 หรือ 5 หีบจำไม่ได้ แต่ทุกสิ้นเดือนเมียผมต้องไปรับนมที่สำนักงาน อสค.ข้างตลาดนัด อตก.สวนจตุจักร จนกระทั่ง “เฉลิมชัย” พ้นจากตำแหน่ง

ขาไปเมียผมนั่งรถเมล์ ขากลับแบกหีบนมขึ้นรถเมล์ไม่ไหวต้องนั่งแท็กซี่มาที่แฟลตการเคหะคลองจั่นแล้วค่อย ๆ ลำเลียงนมขึ้นห้องพักชั้นที่ 3 ผมกับเมียและลูกกินนมไม่หมดหรอกครับ เมียผมเอาไปใส่บาตรทุกเช้า

ผู้บังคับบัญชาทหารอีก 2 หน่วยที่มีความสัมพันธ์กับนักข่าวในลพบุรีอย่างดี “พันเอกธเนศ ไม้สนธิ์” ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ และ “นาวาอากาศเอกจรรยา สุคนธทรัพย์”  ผู้บังคับการกองบินที่  2 โคกกะเทียม                                            พบปะสังสรรค์กับนักข่าวบ่อยครั้ง แต่เมื่อพันเอกธเนศย้ายมาเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ และไม่นานนักก็ย้ายเข้ากรุงเทพฯไปอยู่กองพลที่ 1  รักษาพระองค์ ส่วนนาวาอากาศเอกจรรยาย้ายไปเติบใหญ่ที่ดอนเมือง ผู้บังคับหน่วยคนใหม่ทั้งสองแห่งก็ไม่มีการสานสัมพันธ์เหมือนที่เคยเป็นมา ความสัมพันธ์จึงจืดจางไป

แต่ทหารทุกหน่วยทุกเหล่าในจังหวัดลพบุรีน่ารักเกือบทุกคน ไม่มีทหารสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชน เพราะผู้บังคับบัญชาเอาใจใส่ดูแลความประพฤติอย่างใกล้ชิด อย่างทหารพลร่ม มีช่วงหนึ่งที่สถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศไม่ดีนัก ทหารพลร่มถูกส่งไปปฏิบัติงานเพื่อชาติแบบปิดทองหลังพระที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ หลายคนไปฝังตัวอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนทำตัวเหมือนชาวบ้านธรรมดาแต่ทำงานด้านข่าวสาร หลายคนไปมีครอบครัวอยู่กับชาวป่าชาวเขา เมื่อครบกำหนดเวลาก็หาทางกลับมาอยู่หน่วยพลร่มตามเดิม

กำเนิดของทหารพลร่มรับช่วงมาจากตำรวจพลร่ม มีประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2493 “พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์” อธิบดีกรมตำรวจจัดตั้งค่ายฝึกตำรวจพลร่มที่บริเวณเขาสะพรึง    บ้านน้ำจั้น อ.เมืองลพบุรี ต่อมาเขาสะพรึงเปลี่ยนชื่อเป็นเขาเอราวัณ เพราะภูเขามีลักษณะเหมือนช้างสามเศียรหมอบอยู่

ตำรวจพลร่มได้ครูฝึกจากการช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาจำได้ว่า การกระโดดร่มจากเครื่องบินลำเลียงแบบโบราณ ตำรวจนายหนึ่งพอพ้นจากประตูเครื่องบินร่มก็กาง แต่ปรากฏว่า ลมพัดหวนกลับพาร่มไปติดกับหางเครื่องบิน ถ้าแก้ไขไม่สำเร็จตำรวจนายนั้นต้องประสบชะตากรรมอย่างแน่นอน

เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินวิทยุติดต่อกับนักบินให้บินย้อนทวนกระแสลมบินวนหลายครั้งในที่สุดร่มก็หลุดออกจากหางเครื่องบิน แถมร่มยังกางอย่างสมบูรณ์แบบ ตำรวจนายนั้นรอดตาย    ชื่อ “ประเสริฐ กวางแก้ว” เป็นพลร่มค่ายนเรศวรจนเกษียณ

ตำรวจพลร่มอยู่ที่เขาเอราวัณจนถึงปี พ.ศ.2496 จึงโอนค่ายฝึกแห่งนี้ให้กับกองทัพบก    แล้วตำรวจก็ไปบุกเบิกค่ายฝึกพลร่มใหม่ที่อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ “พ.ต.ต.ประเนตร  ฤทธิฤาชัย” เป็นผู้บังคับหน่วยคนแรก

นายทหารพลร่มอีกคนที่ต้องกล่าวถึง “พันเอกวิเชียร อ่อนนุช” ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 ค่ายวชิราลงกรณ์ ต.ป่าตาล อ.เมืองลพบุรี ที่รู้จักกันในชื่อ “พลร่มป่าหวาย”

ช่วงนั้นอยู่ในสถานการณ์สงครามเวียดนาม ระหว่างพักผ่อนทหารอเมริกันไม่ได้กลับประเทศ ลพบุรีจึงเป็นจังหวัดหนึ่งที่ทหารอเมริกันมาอยู่กันมาก เศรษฐกิจในจังหวัดก็ชุ่มฉ่ำเพราะดอลลาร์สะพัด ทั้งเมียเช่าบ้านเช่าเกลื่อนกลาด ทหารอเมริกันเหมือนทหารไทยอยู่อย่างหนึ่ง    คือ สโมสรจะแยกกันระหว่างสัญญาบัตรกับประทวน  ทหารอเมริกันมีสโมสรชั้นประทวนอยู่บริเวณวงเวียนสระแก้ว ส่วนชั้นสัญญาบัตรอาศัยสโมสรนายทหารของไทยอยู่ในศูนย์สงครามพิเศษ

แต่ที่สโมสรพลร่มป่าหวาย ทหารอเมริกันจะไปจัดภาคบันเทิงสัปดาห์ละครั้งด้วยการเล่น  “บิงโก” มีรางวัลไม่ใช่เงิน แต่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในครอบครัว เมดอินยูเอสเอ.    กลายเป็นแหล่งบันเทิงอีกแห่งของชาวลพบุรี

พันเอกวิเชียรเป็นนายทหารใจนักเลงพูดจาตรงไปตรงมาไม่กลัวใคร มีอยู่ปีหนึ่งวันเกิดของท่านจัดในบริเวณบ้านพักที่ป่าหวาย ในงานมี “ของมึนเมา” ทุกชนิดอยู่ในซุ้มหลายซุ้ม ใครต้องการใช้บริการต้องคลานเข้าซุ้ม นอกซุ้มก็มีการพนันขันต่อแบบไทยแท้ทุกชนิดเช่นกัน ไม่มีใครจัดงานวันเกิดได้เหมือนท่าน

อีกคนที่ต้องเอ่ยถึง “พลโทอุดม เกษพรหม” จปร. 9 ลูกหม้อทหารพลร่มขนานแท้ มีวีรกรรมของชีวิตมากมาย ส่วนใหญ่ “พี่ดม” จะขยายเล่าให้น้อง ๆ ฟังในวงเหล้า

เป็นพันเอกรองผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่  1 มาดักดานแล้วก็ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี     พี่ดมบอกว่าที่ได้เป็นนายพล เพราะไปด่านายในสนามกอล์ฟ

พี่ดมยังครองแชมป์กระโดดร่มสูงสุดและต่ำสุดอีกด้วย สูงสุด คือ พ้นจากประตูเครื่องบินก็กระตุกร่มกางทันที ต่ำสุดก็ คือ เหลืออีกไม่กี่ร้อยฟุตจะถึงพื้นดิน พี่ดมบอกว่าสถิติอันหลังนี้เป็นเพราะเมื่อคืนหนักไปหน่อยเลยงีบหลับกลางอากาศ

พลโทอุดมยังมีตำนานขำขันมากมาย ไม่ว่าเรื่องในถุงกอล์ฟมีไม้กวาดแทนไม้กอล์ฟ    เรื่องต่อปากต่อคำกับผู้พิพากษาในศาล เรื่องถูกตำรวจ สภ.ท่าหินจับในตัวเมืองลพบุรี เอาไว้ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง

แล้วก็มาถึงเรื่อง 2 บิ๊กหมวกแดงเปิดศึกชนช้าง เรื่องมันเป็นยังงี้ครับ

เมื่อปี พ.ศ.2529 มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ จังหวัดลพบุรีแบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 มี ส.ส.ได้ 3 คน ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2 มี ส.ส.ได้  2  คน

ที่ตื่นเต้นลุ้นระทึกก็เป็นเขต 1 มีอำเภอเมืองลพบุรี อำเภอท่าวุ้ง อำเภอบ้านหมี่ อำเภอพัฒนานิคม  เพราะ 2  บิ๊กหมวกแดงลงสมัครแต่อยู่คนละพรรค

พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษเพิ่งเกษียณหมาด ๆ เมื่อปี  2528 จากตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกโดดมาเล่นการเมืองเต็มตัวเป็นหัวหน้าพรรคราษฎร สมัคร ส.ส.ลพบุรีร่วมกับ “อาจารย์ชงค์  วงษ์ขันธ์” อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ “อุบลศักดิ์   บัวหลวงงาม”

พลโทอเนก บุณยถี อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษเกษียณเมื่อปี 2527    เพราะเป็นเตรียม ทบ. รุ่นพี่พลเอกเทียนชัยอยู่หนึ่งรุ่น สวมเสื้อพรรคชาติไทย สมัครร่วมกับ   2  อดีต ส.ส.ลพบุรี “กมล จิระพันธุ์วานิช” และ “สวัสดิ์ วงศ์กวี”

ตอนนั้นผมเข้ากรุงเทพฯ แล้ว และกำลังตกงานมีเวลาว่างก็ไปลพบุรี อยากรู้บรรยากาศในสนามชนช้าง เพราะผมรู้จักมักคุ้นทั้งพลเอกและพลโท

ไปถึงก็รู้ว่าพลเอกเทียนชัยมาแรง งานนี้แพ้ไม่ได้เพราะเป็นการสมัครครั้งแรก และเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองด้วย ถึงแม้อาจารย์ชงค์จะมีคนรู้จักทั้งเมือง มีลูกศิษย์มากมายรวมทั้งผมด้วย ส่วน “อุบลศักดิ์” ก็โด่งดังไม่น้อย สมัคร ส.ส.ลพบุรีทุกครั้งก็สอบเกือบได้ทุกครั้ง

แต่พลเอกเทียนชัยก็ไม่ประมาท เพราะทางพรรคชาติไทยมีอดีต ส.ส.ถึง 2 คน อดีตเจ้าพ่อหมวกแดงเห็นว่าถ้ายังหาเสียงแบบยกพวงมีหวังสอบตกยกพวงเช่นกันจึงใช้ยุทธวิธีหาเสียงเดี่ยว โดยมอบกระสุนดินดำให้ผู้สมัครร่วมทีม 2 คนเป็นทุนรอน แต่อาจารย์ชงค์ไม่รับ แม้สมัยนั้นยังไม่มี กกต.ก็ตาม

ผมเจอหน้าพลโทอเนกซึ่งผมเรียกท่านว่า “ลุงเหนก” ก็ได้รับทราบว่า พรรคชาติไทยเองก็ต่างคนต่างหาเสียง ตัวท่านเองเป็นน้องใหม่การเมืองก็คอยเกาะอดีต ส.ส.ร่วมทีมทั้งสองคนลงพื้นที่ไปกับ  “กมล”  เขาก็บอกกับชาวบ้านให้เลือกพลโทอเนกด้วย ไปกับ  “สวัสดิ์” เขาก็พูดอย่างนี้เช่นกัน สุดท้ายลุงเหนกของผมออกไปซาวเสียงตัวเอง ปรากฏว่า คะแนนเสียงอยู่ในระดับ   “เสียงแหบ”

ผมสงสารพลโทอเนก สุดท้ายผมตัดสินใจมาช่วยท่าน  ทั้ง ๆ ผมเองก็ไม่ประสีประสากับการเลือกตั้งที่ต้องใช้กระสุนดินดำเบิกทาง

ผมจัดตั้งศูนย์อำนวยการที่บ้านนายทหารยศพันตรีลูกน้องลุงเหนกที่ด้านหลังโรงภาพยนตร์ทหารบก สระแก้ว ดำเนินการตามครรลองการหาเสียงสากลที่ต้องใช้ “พระเดชและพระคุณ” กับหัวคะแนน มีคนดังเมืองละโว้อย่าง “ชำนาญ พันธุ์เจริญ” มาร่วมด้วยช่วยกันอย่างเข้มข้นจนกระทั่งคะแนนเสียงที่แหบแห้งกลับกลายเป็นเสียงสดใส

ในที่สุดศึกชนช้างก็ผ่านไป 3  ส.ส.ลพบุรี เขต 1 เมื่อปี  2529 ได้แก่ พลเอกเทียนชัย    สิริสัมพันธ์ พรรคราษฎร นายกมล จิระพันธุ์วานิช และพลโทเอนก  บุณยถี พรรคชาติไทย

พลเอกเทียนชัยได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาล “พลเอกเปรม ติณสุลานนท์”     เลือกตั้งครั้งต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาล “พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ” จนถึงต้นปี  2535  ท่านก็ล้างมือจากวงการเมือง ส่งไม้ให้ “พลเอกมานะ รัตนโกเศศ” เป็นหัวหน้าพรรคราษฎร

พลเอกเทียนชัยเปิดใจ ตนปกครองทหารนับแสนคน ไม่หนักใจเท่ากับเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มี ส.ส.แค่สิบ ต้องคอยเอาอกเอาใจสารพัด เดี๋ยวลูกพรรคอยากได้โน่นได้นี่    อยากเป็นโน่นเป็นนี่ เหมือนกับพวกเขาเป็นเจ้านายเรา อยู่บ้านเลี้ยงหลานสบายใจกว่าเยอะ

ส่วน พลโทอเนกเป็นแค่ ส.ส.อย่างเดียว และสมัยเดียวแถมยังไม่ครบเทอมด้วยซ้ำ    พอสมัยที่สองสอบตก เพราะกระสุนดินดำหมดเกลี้ยงคลังแสง สู้ไม่ไหวจริง ๆ

ปิดฉากศึกชนช้างในสมรภูมิการเมือง…..แพ้ทั้งคู่.

 

 

 

 

      

RELATED ARTICLES