(29) ตะวันสยาม – โส ธนะวิสุทธิ์

 

ฮียโกโกวิท  สีตลายัน มาช่วยต่ออายุคนหนังสือพิมพ์ให้ผม หลังจากลาออกจากไทยรัฐไม่ถึงสัปดาห์ ผมก็ได้ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับที่ 4 หาเลี้ยงครอบครัว ไม่รู้ใครขีดเส้นชีวิตผมไว้ให้อยู่บนเส้นทางสายนี้

เมื่อเฮียโกให้ผมตัดสินใจเลือกเอาระหว่าง  “ดาวสยาม”  กับ “ตะวันสยาม”    ผมใช้เวลานิดเดียวก็ให้คำตอบได้ทันที

ผมขออยู่…..ตะวันสยาม

อันที่จริงชื่อชั้นของดาวสยาม ซึ่งอยู่อาคารหรูริมถนนราชดำเนินกลาง  มี “กะแช่”ประสาน  มีเฟื่องศาสตร์ เป็นกัปตัน เหนือกว่าตะวันสยาม ของ “โส ธนะวิสุทธิ์”

แต่ที่ผมเลือกตะวันสยาม เพราะดาวสยามมีเพื่อนผมอยู่ที่นั่นแล้ว “ปรีช กุลปรีชา” เคยหาข่าวด้วยกันสมัยเป็นนักข่าวท้องถิ่นอยู่ลพบุรี ปรีชาสังกัดพิมพ์ไทย ผมสังกัดเดลินิวส์

ปรีชาเป็นคนเก่ง ยิ่งข่าวในแวดวงทหารต้องยกให้เขา ปรีชาคนนี้แหละที่สำเร็จการกระโดดร่มจากเครื่องบินของศูนย์สงครามพิเศษ  และปรีชาคนนี้แหละที่ให้กำเนิดคำว่า   “บิ๊ก”  นำหน้าชื่อเล่นหรือชื่อจริงของนายทหารระดับสูง

ถ้าจำไม่ผิด  “บี๊ก”  ที่ปรีชามอบให้เป็นคนแรก เป็น “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร   คงสมพงษ์  อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ลพบุรี ซึ่งสนิทสนมกับปรีชาอย่างใกล้ชิด และคนต่อมาน่าจะเป็น “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต   ยงใจยุทธ

ปรีชาเคยร่วมงานกับผม  เป็นกระบี่มือหนึ่งตำแหน่งหัวหน้าข่าวหน้า 1 ของเดลินิวส์สี่พระยา

เมื่อดาวสยามมีปรีชา กุลปรีชา เป็นตัวหลัก ผมก็อยากให้เพื่อนทำงานอย่างสบายใจ  ไม่ต้องคิดมากว่าผมจะไปแย่งเก้าอี้เขา เพราะรักกันสนิทกันมาเนิ่นนาน รวมทั้งสาวสวย “แหม่ม”  เมียปรีชา ผมก็รู้จักมักคุ้นมานานเช่นกัน

ปรีชาตาย ผมไปงานสวดพระอภิธรรมศพที่วัดเทพศิรินทร์  พล.ท.รวมศักดิ์   ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพกองทัพภาคที่  3 และอดีตรองผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ นำทหารพลร่มชายหญิงจากลพบุรีมาเป็นเจ้าภาพในคืนนั้น เป็นการให้เกียรติอย่างสูง ในฐานะที่ปรีชาก็เป็นพลร่มภาคพลเรือนคนหนึ่ง

ถาม “แหม่ม” เมียปรีชาว่าจะเผาวันไหน แหม่มตอบว่าจะเก็บศพไว้ครบร้อยวัน   เพื่อขอพระราชทานเพลิง

จนบัดนี้ วันเวลาล่วงเลยเกือบสิบปี ผมไม่ได้ข่าวคราวเกี่ยวกับงานศพเลย จะสอบถามกับแหม่ม ผมก็ไม่มีเบอร์โทรของเธอ

เหตุผลที่ผมเลือกไปอยู่ตะวันสยาม เพราะผมกับ “เฮียโส  ธนะวิสุทธิ์” พอจะคุ้นหน้าคุ้นตากันบ้าง  สมัยที่ผมอยู่เดลินิวส์สี่พระยา เฮียโสไปหานายห้างแสง เหตระกูล อยู่บ่อย ๆ    นัยว่ามีธุรกิจค้าไม้ทางภาคใต้ร่วมกัน

อันที่จริงอายุอานามผมกับเฮียโส อยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน ครั้นจะเรียกชื่อเฉย ๆ  มันก็ดูยังไงอยู่ เลยเรียกเฮียตามคนทั่วไปก็เหมือนกับ  “เฮียโกวิท สีตลายัน” นั่นแหละอายุอ่อนกว่าผมด้วยซ้ำ แต่ผมเรียกเฮียทุกคำ มันได้ใจกันครับ

เฮียโกบอกวันรุ่งขึ้นจะมารับไปพบเฮียโส เพราะต้องไปนัดหมายกับเฮียโสก่อน

ณ พ.ศ.นั้น บ้านเฮียโสอยู่ในซอยเสนานิคม 1ขณะที่ผมอยู่ซอยเสนานิคม 2    ระหว่างซอย  1 กับซอย  2 มีซอยเล็กพอรถยนต์แล่นสวนทางกันได้ ทะลุถึงกัน เมียผมใช้เป็นเส้นทางเดินจูงลูกสองคนไปส่งโรงเรียนสมิทธิโชติ

เฮียโกขับรถมารับผมไปบ้านเฮียโส ซึ่งผมผ่านบ่อยแต่ไม่รู้เป็นบ้านใคร

โอ้โห แค่เห็นรั้วบ้านก็สุดจะอึ้งทึ่ง มันเป็นกำแพงคอนกรีตสูงท่วมหัว ไม่ว่าตีนแมวตีนหมาปีนไม่ได้หรอกครับ นอกจากจะใช้บันไดไม้ไผ่พาดกำแพง แต่ก็เสี่ยงกับลูกปืน

กดกริ่งหน้าประตู  สักพักหญิงรับใช้มาเปิดข่องเล็กที่บานประตูเหล็ก  ถามว่ามาหาใคร พอบอกว่ามาหาเฮียโสและนัดกันแล้ว หญิงคนนั้นหายไปรายงานเจ้านายสักพักก็มาเปิดประตูพาเราสองคนเข้าไปในบ้าน อันที่จริงต้องเรียกว่าคฤหาสน์ถึงจะถูก

เฮียโสนั่งรอที่ชุดรับแขกฮ่องเต้ฝังมุก สวมเสื้อยืดคอกลม กางเกงขาสั้น ข้างกายมีวัตถุสีดำมะเมื่อมวางอยู่ มันคือปืนพกขนาด 11 ม.ม. ซึ่งเฮียโสไม่เคยให้มันอยู่ไกลมือ  เพราะ    เฮียมีคติประจำใจ “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง”

เฮียโสบอกให้ไปทำงานได้เลย ผมไม่ถามเรื่องเงินเดือน ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น    พอเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน และเป็นค่าเทอมลูกที่จำเป็นต้องไปอยู่โรงเรียนระดับลูกเศรษฐีเรียน

สำนักงานหนังสือพิมพ์ตะวันสยามอยู่ในซอยวรพงษ์ บางลำพู เป็นสำนักงานเก่าไทยรัฐก่อนจะย้ายไปวิภาวดี ไม่รู้เฮียโสไปเจรจากับ  “ป๊ะกำพล วัชรพล”  อย่างไร ขออยู่หรือขอเช่าผมไม่ใส่ใจใคร่รู้

รู้แต่ว่าช่วงที่ผมเข้าไปนั้น ตะวันสยามกำลังขาดกัปตัน ดูเหมือน “พี่ไกรวัล ชูจิตต์”  กับ  “พี่กุศล ประสาร” เพิ่งเกี่ยวก้อยออกไปก่อนหน้าผมไปไม่กี่วัน

เฮียโสให้ผมดูแลกองบรรณาธิการ มีห้องทำงานส่วนตัวเป็นสัดส่วน  จำได้แต่ว่าตอนนั้น “กิตติ ชูพินิจ” ยัง เขียนข่าวสังคมหน้า  4 “ดาว ชาวเวียง” ลูกน้องคนสนิทของเฮียโส    เป็นหัวหน้าข่าวบันเทิง และอีกคนที่ไม่คาดคิดจะเจอก็ได้เจอ เป็นหัวหน้าข่าวหน้า  1 ครับ

“สมพงษ์ ทองสุข” หรือ “โอ๊ค ท่าหิน”  เพื่อนเก่าจากลพบุรี เคยหาข่าวโรงพักด้วยกัน รุ่นเดียวกับ  “ปรีชา กุลปรีชา” นี่แหละ

ตั้งแต่ผมจากลพบุรีมาปักหลักเป็นชาวเมืองหลวง อยู่หนังสือพิมพ์รายวันมา 3  ฉบับ ไม่ได้ติดต่อกับไอ้โอ๊คเลย จู่ ๆ ก็มาพบเพื่อนที่ตะวันสยาม ถามไถ่ได้ความว่า เช่าบ้านอยู่ใกล้บ่อนเตาปูน เมียเป็นแม่ค้าขายผัก ยิงกระสุนไปหลายร้อยนัด ไม่ยักกะมีลูกด้วยกัน

แม้จะได้รับมอบหน้าที่ให้ดูแลกองบรรณาธิการเหมือนเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ แต่ผมก็ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายสายงานต่าง ๆ เพียงแค่เห็นว่าอะไรที่ไม่ค่อยเข้าท่าก็จัดให้เข้าที่เข้าทาง

ก้าวย่างแรกที่เข้าไปในอาณาเขต ผมประทับใจกับแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่ติดไว้ด้านล่างของตัวอาคาร  อยู่ตรงบันไดทางขึ้นกองบรรณาธิการ ตรงนั้นเป็นที่ทำงานของฝ่ายยานพาหนะ  ใครจะก้าวขึ้นบันไดต้องเห็นป้ายนี้ เห็นแล้วน่าจะมีความรู้สึกเหมือนกัน ๆ เพราะป้ายนั้นมีตัวอักษรชวนให้เสียวสันหลังว่า

“ใครอมน้ำมันรถ…..ตาย”

ไม่ต้องบอกว่าเป็นคำสั่งของใคร พนักงานขับรถทุกคนซึมทราบดี

ตะวันสยามมีคอลัมน์เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม อยู่หน้าหลังเหมือนคอลัมน์  “ไว ตาทิพย์” ของไทยรัฐ ชื่อคอลัมน์ “วันดี  วันดวล” ของ “วันดี ทองประภา” ผมเรียกเขาว่า   “น้า” และเขาเรียกผมว่า “พี่” น้าวันดีเป็นเจ้าของหัวหนังสือพิมพ์ตะวันสยามครับ

ผมอยู่ฉบับไหนผมทิ้ง “ต้อย ต้นโพธิ์” ไม่ได้ อยู่ไทยรัฐผมก็เปิดคอลัมน์ของผม   ในหน้าข่าวภูมิภาค ไม่ได้ไปแย่งซีนหรือเทียบชั้นพี่ปั๋น “ไว  ตาทิพย์” แม้จะเป็นคอลัมน์แนวเดียวกัน แต่คนละลีลาและเนื้อหา อยู่เสียงปวงชนก็มี  “ต้อย ต้นโพธิ์” คู่ทุกข์คู่ยาก

ที่ตะวันสยาม ผมเปิดคอลัมน์ “ต้อย ต้นโพธิ์” ของผม ซึ่งน้าวันดีเข้าใจผมดี    เหมือนกับพี่ปั๋นเข้าใจผม เพียงแต่น้าวันดีมาพูดคุยด้วย ขอผมอย่างหนึ่งอย่าเขียนถึง เพราะน้าอยู่ในวงการนี้  น้าวันดีขอไม่ให้เขียนเรื่องบ่อนการพนัน

ผมกับน้าวันดีมองตากันทะลุเข้าไปถึงหัวใจของกันและกัน น้าเข้าใจผม ๆก็เข้าใจน้า ไม่มีปัญหาอะไร ดีเสียอีกที่มาบอกให้รู้ล่วงหน้า เหมือนกับตอนอยู่ไทยรัฐ “คงคา ทับมณี” เลขานุการป๊ะกำพลก็มาขอไม่ให้ผมโจมตีตำรวจหน่วยหนึ่ง เพราะตำรวจหน่วยนั้นเขามีน้ำจิตน้ำใจกับไทยรัฐ ผมว่าดีที่บอกกันก่อนจะได้ไม่ผิดใจกัน

น้าวันดีรู้ว่าผมมาอยู่ตะวันสยามเงินเดือนมันน้อยนิด  ที่หน้าโรงพิมพ์เป็นห้องแถวไม้ มีร้านข้าวแกงอยู่ร้านหนึ่ง น้าวันดีให้ผมไปกินข้าวที่นั่นแล้วลงบัญชีเขา ไม่ต้องจ่ายเงิน    น้าวันดีไปบอกเจ้าของร้านไว้แล้วว่า ผมชื่ออะไร ผมก็สนองศรัทธาน้าวันดีโดยไม่เกี่ยงงอน

“วันดี ทองประภา”  เป็นนักเลงทั้งกายและใจ  วงการบู๊ลิ้มรู้จักดีผมออกจากตะวันสยามไม่นานนัก ไปทำงานที่เชียงใหม่ก็ได้ข่าวเศร้าสลดและหดหู่ น้าวันดีถูกยิงตายคาบันไดทางขึ้นกองบรรณาธิการตะวันสยาม น้าวันดีไม่ได้อมน้ำมันรถ แต่มือปืนมันหาญกล้ามาก

เฮียโสก็เป็นนักเลง ปากกับใจตรงกัน กับผมเฮียโสไม่ค่อยปิดบังสถานะตัวเอง    ไม่ว่าจะเรียนจบแค่ประถม  4 หรือการสู้ชีวิตเพื่อให้มีที่ยืนในสังคม

ผมเดินผ่านห้องเฮียโสทุกวัน เห็นชายหนุ่มผิวขาวคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้อง ก็นึกว่าเป็นแขกของเฮียเขา แต่เมื่อเห็นเป็นประจำทุกวัน ผมก็อยากรู้ว่าเป็นใคร แล้วก็ได้รู้ว่า เขาชื่อ “กัมพล  ตันสัจจา” หรือ  “เสี่ยโต้ง”  วงการบันเทิงรู้จักดี เพราะเขาเป็นเพื่อนชายคนพิเศษ    ของดาราหญิงแห่งยุค “เนาวรัตน์ ยุกตะนันทน์”

เสี่ยโต้งเป็นลูกชาย “พิสิษฐ์  – นงนุช ตันสัจจา” เจ้าของธุรกิจจำหน่ายภาพยนตร์ไทย เจ้าของโรงภาพยนตร์สกาล่า ขณะที่เฮียโสก็มีธุรกิจจำหน่ายภาพยนตร์ไทยเช่นกัน และมีโรงภาพยนตร์ต่างจังหวัดอยู่ในกำมือทั่วประเทศ

คุณนงนุชโกรธลูกชายที่ปันใจมาอยู่ฝ่ายเฮียโส ถึงขนาดเสือกไสไล่ส่ง เสี่ยโต้งก็เลยหนีร้อนมาพึ่งเย็นมานั่งผึ่งแอร์ที่ห้องเฮียโสทุกวัน

ต่อมาเมื่อเฮียโสมีปัญหาต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ เสี่ยโต้งไปเคลียร์กับแม่ และกลับมาคืนดีกันดั่งเดิม เสี่ยโต้งไปบุกเบิก  “สวนนงนุช” ที่พัทยา เนื้อที่  105  ไร่ ซึ่งแม่ซื้อไว้นานแล้ว เดิมเป็นสวนผลไม้  แต่บัดนี้และวันนี้กลายเป็นอุทยานดอกไม้ และสถานท่องเที่ยวธรรมชาติ    โด่งดังไปทั่วโลก

งานประกวดการจัดสวนดอกไม้ระดับโลกที่อังกฤษ สวนนงนุชครองเหรียญทองมาติดต่อกันถึง  5  ปี และปีนี้เสี่ยโต้งก็นำทีมงานไปจัดสวนเข้าประกวดอีก และคว้าเหรียญทองมาครองเป็นปีที่   6

ใครไปเที่ยวสวนนงนุชจะไม่เห็นหน้าเสี่ยโต้ง แต่พนักงานสวนนงนุชทุกคน รู้ว่าเจ้านายเขาทำงานทุกวัน คลุกคลีอยู่กันดินและต้นไม้

ชายวัยกลางคนสวมกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดคอกลม สวมหมวกปีกกว้างกันแดด    เดินไปทั่วบริเวณ เขาคนนั้นคือเสี่ยโต้ง ผู้ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับกาลเวลา สวนนงนุชจึงเพิ่มความอลังการทุกปี

เสี่ยโต้งเดินตรวจงานทุกซอกทุกมุม มีชายคนหนึ่งเดินตามหลัง ในมือถือสมุดและปากกา ทุกก้าวย่างของเสี่ยโต้งในอาณาจักสวนนงนุช เขามีความคิดสร้างสรรค์ และถ่ายเทความคิดไปสู่ชายคนนั้นเพื่อรับคำสั่งไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

ชายหนุ่มอีกคนที่ผมเห็นอยู่ในห้องเฮียโสเป็นประจำ เป็นดาราหนังครับ แม้ผมจะห่างไกลจากหนังไทย แต่ก็คุ้นหน้าชายหนวดงามคนนั้นพอประมาณ

“ดามพ์ ดัสกร” ดาวร้ายชื่อดังของวงการหนังไทย

ดามพ์มาปรากฏกายที่ตะวันสยามบ่อยครั้ง เป็นขาประจำของห้องเฮียโสอีกคน ทั้งเสี่ยโต้งและดามพ์ไม่ได้มาเดินฉุยฉายทั่วกองบรรณาธิการ แต่จะปักหลักอยู่ในห้องเฮียโส ผมกับสองหนุ่มจึงไม่มีโอกาสพูดคุยกัน  ยกเว้นครั้งหนึ่งเฮียโสชวนผมไปกินกาแฟที่โรงแรมเอราวัณ    มีดามพ์ ดัสกร ไปด้วย

รสชาติกาแฟระดับโรงแรมชั้นหนึ่งน่าจะอร่อยลิ้น แต่ผมคิดไปเองว่ามันไม่อร่อย   เพราะมัวแต่คอยมองซ้ายมองขวา กลัวลูกหลงครับ

ทุกคนในตะวันสยามกลัวเฮียโสมาก เพราะเฮียเป็นคนดุ

แต่เนื้อแท้จริง ๆ เท่าที่ผมสัมผัสมาแรมเดือน เฮียโสเป็นคนมีเหตุผลน่านับถือครับ

ที่ว่าดุ ๆ นั้น เพราะเฮียโสพูดเสียงดัง พูดอะไรไป ลูกน้องก็ได้แต่  “ครับผม ๆ”   ไม่มีใครกล้าโต้แย้ง

สำหรับผมไม่ใช่ลูกน้องประเภทนั้น

วัน ฮียโสไปที่โต๊ะหัวหน้าข่าวหน้า 1 ไอ้โอ๊คเพื่อนผมเข้าเวรพอดี อันที่จริงเฮียโสอยากรู้ว่าจะพาดหัวข่าวอะไร  แต่พอมีเฮียโสยืนอยู่ข้าง ๆ ไอ้โอ๊คออกอาการลนลานจนมือสั่น    ผมเห็นท่าไม่ได้ไปสะกิดแขนเฮียโส แล้วเดินออกมาห่างจากไอ้โอ๊ค

บอกกับเฮียโสว่า อย่าไปยืนดูลูกน้องทำงานเลย เห็นมือมันสั่นไหม มันคงประหม่าหรือกลัวเฮียจนไม่มีสมาธิ เดี๋ยวงานจะเสีย ถ้าพาดหัวข่าวไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง เฮียมาบอกผมเดี๋ยวผมจะจัดการเอง

เฮียโสเชื่อผมครับ บอกว่าเฮียก็แค่อยากรู้ว่ามันพาดหัวอะไรเท่านั้น

เหมือนกับเรื่องเฮียโสไม่สบอารมณ์กับผงชูรสยี่ห้อหนึ่ง เฮียโสจะเล่นงานบริษัทนั้น ผมต้องไปชี้แจงเหตุและผลให้ทราบ อะไรที่สมควรและไม่สมควรเพื่อยกระดับหนังสือพิมพ์ของเรา จะว่าผมไปสอนเฮียโสก็สุดแล้วแต่

เชื่อไหม เฮียโสรับฟังเหตุผลแล้ว ตกลงไม่เล่นข่าวนั้น

และอีกหลายเรื่องหลายข่าวที่ต้องพับไป อย่างเช่นข่าวเสี่ยโต้งตกยาก อันที่จริงก็น่าเล่นเป็นข่าวได้ เพราะเสี่ยโต้งเป็นลูกเศรษฐีมีชื่อเสียง ผู้คนรู้จักดี แถมมีความสัมพันธ์กับดาราสาวแห่งยุค

ผมบอกกับเฮียว่า ข่าวเสี่ยโต้งตกยากนี่เล่นได้ สำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น แต่ไม่ใช่ตะวันสยาม เฮียโสเชื่อคำทัดทานของผมครับ เพราะเหตุผลนั้นคือ

  “เสี่ยโต้งกำลังหนีร้อนมาพึ่งเย็น    เราจะขายเพื่อนกินไม่ได้.

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES