(11) วิกฤติ  “เดลินิวส์” คว่ำเคสคืนฝนตก

 

ปี 2511 ไฟไหม้ตลาดลพบุรีครั้งใหญ่ ห้องแถวไม้ริมถนนพระรามทั้งสองฝั่งจากตลาดล่างซึ่งอยู่ทางทิศเหนือไล่ไปถึงตลาดท่าขุนนางราบเรียบเป็นหน้ากลอง ทั้งราบและเรียบจริง ๆ เห็นแต่  “ศาลลูกศร”เป็นศาลเจ้าจีนก่ออิฐถือปูนตั้งโดดเด่น โดยที่ไฟไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีรอยไหม้แม้แต่นิดเดียว

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ขนาดนายกรัฐมนตรี “จอมพลถนอม กิตติขจร” สวมเครื่องแบบทหาร กับ “ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร” ไปตรวจสภาพความบอบช้ำยังทึ่งกับอภินิหารของศาลลูกศร

ตำนานศาลลูกศรเท้าความไปถึงเรื่อง “รามเกียรติ์” หลังจากเสร็จศึกสงครามโดย  “พระราม”ได้ชัยชนะต่อ “ทศกัณฐ์” พระรามปูนบำเหน็จแก่ทหารเอก “หนุมาน” ให้มาครองเมืองละโว้ด้วยการแผลงศร เมื่อศรตกตรงไหนให้หนุมานสำแดงฤทธิ์ใช้หางกวาดพื้นที่โดยรอบเป็นอาณาเขตของเมือง แต่ศรของพระรามมีความร้อนแรงมาก ทำให้ดินกลายเป็นสีขาวที่เรียกขานกันต่อมาว่า “ดินสอพอง”

ศรพระรามมาตกที่ริมถนนพระรามด้านตะวันออกเป็นแท่งหินไม่สูงใหญ่เท่าใดนัก ชาวจีนในลพบุรีสร้างศาลเจ้าตรงนั้นอัญเชิญเจ้าพ่อชื่ออะไรผมไม่รู้ไปประดิษฐานกราบไหว้บูชาตามศรัทธา ส่วนแท่งหินที่เชื่อว่าเป็นศรพระรามนั้นอยู่ตรงลานหน้าศาลอยู่ในบ่อขนาดเล็กหล่อเลี้ยงด้วยน้ำ ว่ากันว่าถ้าน้ำในบ่อแห้งเมื่อไหร่จะเกิดไฟไหม้เมืองเมื่อนั้น ก็ไม่รู้ว่าไฟไหม้ครั้งนั้น อาแป๊ะที่เฝ้าศาลลืมตักน้ำใส่บ่อหรือเปล่า

ห้องแถวสองคูหาของแม่ของยาย และอีกห้องของน้าสาววอดวายไม่มีอะไรเหลือ   “เดลินิวส์” เรี่ยไรเงินในกองบรรณาธิการให้  “อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์” เอามาให้ผมที่ลพบุรี    เกือบ 2,000  บาท เงินจำนวนนี้เมื่อ 40 กว่าปีก่อนโน้นมันก็หลายตังค์อยู่

แม่กับน้าสาวไปเช่าอาคารพาณิชย์  2 ชั้นอยู่ตลาดบนเมืองลพบุรีค้าขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปทุกชนิด ส่วนผมไปเช่าห้องแถวไม้สองชั้นข้างโรงเรียนอาภาพิทยาไม่ไกลจากอาคารพาณิชย์ที่ว่าเท่าใดนัก เพราะวันเวลาที่ผ่านไปเผลอแผล็บเดียว ผมมีลูกสาวที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาถึง 3   คน

ผมโชคดีที่ไม่เล่นการพนัน ถั่วโปไฮโลน้ำเต้าไม่กระดิกหู อย่างเก่งก็แค่รัมมี่เอาเงินเข้ากองกลางแล้วไปซื้อเหล้ากินกัน วันเสาร์อาทิตย์ผมจะไปบ้านนายช่างการประปาเทศบาลเมืองลพบุรี “ปรีดา ชุมวรานนท์” ถนนปรางค์สามยอดตั้งวงรัมมี่ ขณะเดียวกันกลิ่นหอมฉุนก็โชยออกมาจากครัว มันเป็น “ผัดงูเห่า” กับแกล้มเหล้าอันเผ็ดร้อนของพวกเรา ประเดิมด้วยเหล้าขาวใส่เลือดงูคนละจอก วงรัมมี่ก็ครื้นเครงในวันหยุดราชการ

ผมมีรายได้ไม่มากนักจึงต้องอยู่อย่างพอเพียง ต้องประหยัดไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่สำหรับผม   “เงินไม่ใช่พระเจ้า”  เมื่อมีเงินบริสุทธิ์ในมือ ผมก็ใช้มันหาความสุขตามอัตภาพ ตอบแทนสองมือสองเท้าและหัวใจแกร่งที่ต้องทำมาหากินด้วยเหนื่อยยาก

ดำเนินชีวิตพออยู่พอกินไปอย่างนั้นจนกระทั่งได้  “ข่าวร้าย” จากกรุงเทพฯ มันเป็นวิกฤติการณ์ของ “เดลินิวส์”ที่เกิดขึ้นในคืนฝนตกหนักของวันที่ 7 สิงหาคม 2517

ผมปะติดปะต่อเรื่องราวได้ความอย่างนี้ครับ

หลังจากทำหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 8  สิงหาคม 2517 เสร็จสิ้นแล้ว “สนิท เอกชัย” หรือ  “เรือใบ” หัวหน้ากองบรรณาธิการยกทัพทั้งกองบรรณาธิการและฝ่ายผลิตจำนวนมากไปสร้างอาณาจักร “เดลิไทม์” ที่กล้วยน้ำไท

แค่นี้คงไม่เป็นไร กองบรรณาธิการที่เหลือยังช่วยกันเข็นหนังสือพิมพ์ออกจนได้ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น ปรากฏว่ามีรายการ “คว่ำเคส” เกิดขึ้น เป็นปัญหาใหญ่ของขบวนการผลิต

เกือบ 40 ปีที่ผ่าน ขบวนการผลิตยังไม่ก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน เมื่อฝ่ายผลิตได้รับต้นฉบับพิมพ์ดีดจากกองบรรณาธิการ “ช่างเรียง” จะเรียงพิมพ์ด้วยวิธีทันสมัยในยุคนั้น หยิบอักษรแต่ละตัวซึ่งทำด้วยตะกั่วใส่ในสติ๊กทำด้วยทองเหลือง สามารถตั้งขนาดได้เท่ากับคอลัมน์ที่ต้องการ มีกระดาษแข็งกั้นแต่ละบรรทัด

ตัวอักษรตะกั่วกลับด้าน ทั้งสระและพยัญชนะบรรจุในช่องเล็ก ๆ ช่างเรียงจะรู้ว่าแต่ละช่องที่เรียงแถวลดหลั่นกันมานั้นเป็นตัวอักษรใด ช่องทั้งหมดนี้อยู่ในกระบะไม้ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า   “เคส”

หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีเคสจำนวนมากหลายสิบเคส

การคว่ำเคสหมายถึงเทตัวตะกั่วในเคสทั้งหมดไปกองปนเปรวมกัน ช่างเรียงผลัดเช้าไม่สามารถทำการเรียงพิมพ์ได้ต้องรีบสั่งตัวตะกั่วชุดใหม่ทั้งหมดเอามากรอกใส่ช่องแต่ละช่อง ใช้เวลามิใช่น้อย

ผมเชื่อว่า “เรือใบ” ไม่ได้สั่งให้ทำอย่างนั้น เพราะไม่ใช่วิธีการของสุภาพบุรุษลูกน้ำเค็ม      แต่เป็นฝีมือของฝ่ายผลิตบางคนไม่ต้องการให้เดลินิวส์ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2517 ออกได้ตามกำหนดนั่นเอง

ผมยังอยู่ที่ลพบุรี ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ทราบความจริงในเวลาต่อมา เดลินิวส์ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2517 ออกได้ครับ

“แสง เหตระกูล” ประมุขของเดลินิวส์ยืนหน้าแท่นพิมพ์หายใจไม่ทั่วท้อง พอหนังสือพิมพ์ฉบับแรกหลุดจากแท่น “เตี่ยแสง” ชูหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นร้องตะโกนลั่น

“เราทำได้แล้ว เราทำได้”

แต่กว่าเสียงตะโกนจะดังลั่นเดลินิวส์ สี่พระยามีการกู้วิกฤติอย่างชุลมุน

ช่างเรียงจากสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่งกรอกตัวตะกั่วใส่เคสอย่างขะมักเขม้น

กองบรรณาธิการที่เหลือขมีขมันทำหน้าที่ของตนในความรับผิดชอบแต่ละหน้า

“พินิจ พงษ์สวัสดิ์” หรือ “ตี่” แกนหลักของเดลินิวส์ (พ่อ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์   อาจารย์จุฬาฯ คนดังของ  “วอยซ์  ทีวี”) รับคำสั่งจากรักษาการกัปตัน “ไกวัล ชูจิตต์” ติดต่อไปยังสิงห์ภูธร “สุรัตน์ บัณฑิตย์” เจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น “เสียงตะวันออก” และเป็นผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ประจำจังหวัดชลบุรีให้ส่งกำลังพลด้านการผลิตมาช่วยด่วนที่สุด

“สุรัตน์” บึ่งรถเข้ากรุงเทพฯพร้อมกับยอดฝีมืออีก 4คนจากหนังสือพิมพ์เสียงตะวันออก    ยอดฝีมือที่ว่านี้เชี่ยวชาญด้านการ “เข้าหน้า” มีชายร่างเล็กผิวเหลืองผอมเกร็งชื่อ “ตี๋” รวมอยู่ด้วย

ตี๋คนนี้ภายหลังได้ร่วมงานกับผมในฐานะหัวหน้าช่างเรียง กับผมในฐานะหัวหน้าข่าว    ทั้งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และมหาชัย

ช่างเรียงนั้นหาไม่ยาก แต่คนที่มีความสามารถเข้าหน้าหนังสือพิมพ์ได้นั้น หายากมากโดยเฉพาะหน้า  1 ฝีมือต้องเนี๊ยบเฉียบขาด ต้องประสานกับหัวหน้าข่าวหน้า 1 ทุกระยะ คอยควบคุมข่าวให้พอดีกับเนื้อที่

ทีมงานของ “สุรัตน์ บัณฑิตย์” จึงเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งจะเรียกว่า เป็นวีรบุรุษกอบกู้วิกฤติให้เดลินิวส์ ทำให้ประมุขเดลินิวส์ตะโกนลั่นด้วยความดีใจก็ไม่ผิดจากความเป็นจริงแต่ประการใด

กล่าวสำหรับ “สุรัตน์” สิงห์ภูธรที่แกร่งกล้าด้วยความสามารถเป็นนักข่าวที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณ ผู้คนในชลบุรีรู้จักกิตติศัพท์และให้ความนับถือ จากระดับรากหญ้าไปจนถึงเจ้าพ่อ    ก็ดูเอาเถิดเมื่อเดลินิวส์เกิดวิกฤติ เขายอมหยุดหนังสือพิมพ์ของตัวเองไว้ชั่วคราว พาพลพรรคจากเมืองน้ำเค็มมาช่วยกอบกู้วิกฤติจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะปกติ

จากอดีตพนักงานหน่วยปราบปรามมาลาเรีย “สุรัตน์” ผันตัวเองมาเป็นนักข่าวเดลินิวส์ประจำจังหวัดชลบุรีอยู่ในทีมงานของ “อรุณ ศิริสุวรรณ” หัวหน้าศูนย์เดลินิวส์ชลบุรี ผลงานยอดเยี่ยมของเขา ทำให้เดลินิวส์เป็นฉบับเดียวที่เสนอข่าวพระเอก “มิตร ชัยบัญชา” ตายขณะถ่ายหนังเรื่องอินทรีทองที่ศรีราชาเมื่อเดือนตุลาคม 2513

“สุรัตน์” อยู่อำเภอเมืองชลบุรี แต่ได้ข่าวพระเอกมิตรหล่นจากบันไดลิงเฮลิคอปเตอร์โหม่งพสุธา และศพอยู่ห้องดับจิตโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา เพราะเมียพันตำรวจโทคนหนึ่งซึ่งนับถือชอบพอกับ “สุรัตน์” เป็นคนแจ้งข่าว

เขาขี่มอเตอร์ไซค์จากตัวเมืองชลบุรีไปถึงโรงพยาบาลสมเด็จ  ณ  ศรีราชาเข้าไปถ่ายรูปในห้องดับจิต พระเอกมิตรนอนบนเตียงเข็นในสภาพเหลือแต่กางเกงในตัวเดียวได้ข่าวได้รูปมาคนเดียว เพราะ “สุรัตน์” มีแต่คนให้ความเคารพและนับถือ ไม่ว่าจะเป็นเมียพันตำรวจโทคนนั้น    หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนั้น

เดลินิวส์ฉบับละ 1 บาท มีข่าวพระเอกมิตรตก ฮ.ตายเพียงฉบับเดียว ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถ้าแท่นพิมพ์พูดได้มันคงร้องครวญคราง “เหนื่อยเหลือเกินแล้วครับเตี่ยแสง”

นอกจากนี้ “สุรัตน์” ยังมีผลงานระดับโบแดงอีกชิ้น เขาขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในการออกสัมปทานขุดแร่ให้กับ “เทมโก้” ด้วยการลุยภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นซีรีส์ข่าวโดดเด่นของเดลินิวส์ ทำให้ “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” นายกรัฐมนตรีสั่งยกเลิกสัมปทานในเวลาต่อมา

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชลบุรีชื่อ “พยัพ วิรัชกุล” เป็นนักเรียน ม.7 ไพศาลศิลป์ ยศเสปีเดียวกัน จากไพศาลศิลป์ก็แยกกันไปคนละทิศละทาง มารู้ทีหลัง “พยัพ” กลับบ้านเกิดเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำจังหวัดชลบุรี

ทั้ง “สุรัตน์” และ “พยัพ” ดังพอ ๆ กันในจังหวัดนั้น แล้วเสือสองตัวก็คำรามใส่กันในเรื่องข่าว เกิดเป็นปากเสียงทะเลาะกันลั่นในร้านข้าวแกงหน้า สภ.อ.เมืองชลบุรี ยังไม่ได้ลงไม้ลงมือกัน แต่มีการท้าทายกัน ขึ้นเวทีสวมนวมตะบันหน้ากันจะมันกว่า

แล้วก็สมความปรารถนาของนักข่าวหัวเขียวกับหัวสีบานเย็น “พันตำรวจเอกวิจิตร ไตรสุวรรณ” ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีจัดให้ทั้งสองได้ขึ้นเวทีชั่วคราวริมทะเล ปัจจุบันเป็นยิมเนเซียมเมื่อวันตำรวจ 13 ตุลาคม 2509 หารายได้สร้างห้องพักให้ตำรวจ

คู่เอก “สุวิทย์น้อย ลูกบางปลาสร้อย”  กับ “พิชิตกิติชัย ลูกบ่อน้ำมันฝาง” ส่วน “สุรัตน์ – พยัพ” เป็นคู่อาฆาต เชื่อไหมครับ รายการนั้นเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาเก็บค่าผ่านประตูได้ถึงแสนกว่าบาท

“พยัพ” เคยเป็นแชมป์มวยสากลนักเรียน ซึ่ง “สุรัตน์” รู้ดีในข้อด้อยของตัวเองไม่เป็นมวย นอกจากเป็นคู่อาฆาตแล้ว ยังเป็นศึกศักดิ์ศรีอีกด้วย เขาจึงเข้าค่ายมวย “ลูกบางปลาสร้อย”   ฝึกซ้อมอย่างหนักทั้งชกลมชกกระสอบทราย เขาวิ่งวันละ 10  กิโลเมตรลงนวมกับนักมวยของค่ายดังจนร่างกายฟิตเปรี๊ยะ

ครบ 5 ยก “สุรัตน์” เป็นฝ่ายชนะคะแนนแล้วทั้งสองก็จับมือคืนดีเป็นมิตรต่อกัน    ตราบจนกระทั่ง  “พยัพ” ตายจากไปก่อน ส่วน “สุรัตน์” ยังทำหน้าที่สื่อมวลชน ทุกวันนี้เป็นหัวหน้าศูนย์ข่าวภาคตะวันออกของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

ผมกลับไปอยู่ลพบุรีมีความสุขอย่างพอเพียง มีลูกเล็ก 3 คนกำลังเรียนชั้นอนุบาล 1   คน   อีก 2 คนก็เตรียมตัวเข้าอนุบาลจึงไม่คิดโยกย้ายไปไหนต่อไหน

แต่เมื่อเดลินิวส์เกิดวิกฤติ ผมก็ได้รับการติดต่อจากเดลินิวส์ให้ไปช่วยงานกองบรรณาธิการ เพราะกำลังพลยังขาดแคลน โดยเฉพาะหน้า  1

พี่ไกวัล ชูจิตต์ ส่ง “ฉอ้าน วุฑฒิกรรมรักษา” มาพบผมที่ลพบุรี

ขณะนั้น “ฉอ้าน” เป็นนักข่าวฝึกงานของเดลินิวส์ ทำหน้าที่ตระเวนข่าวทั่วไป ถ้าออกต่างจังหวัด “ฉอ้าน” จะติดรถส่งหนังสือพิมพ์ไปตามจังหวัดต่าง ๆพบกับนักข่าวจังหวัดนั้น ๆ   แล้วก็กลับกรุงเทพฯ

แต่สุดท้ายของชีวิต “ฉอ้าน” หันไปเอาดีทางการศึกษาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีคำว่า “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” นำหน้าชื่อ

ผมฝาก “ฉอ้าน” ไปบอก “พี่ไกวัล” ขอเวลาตัดสินใจ 2วันแล้วจะให้คำตอบ     เพราะมันเป็นจังหวะชีวิตสำคัญ

ผมน่ะพร้อม แต่ครอบครัวต้องพร้อมด้วย

 

 

 

RELATED ARTICLES