“พอแต่งงานชีวิตก็เปลี่ยนไปอีกแบบ”

 

าจารย์สาวมหาวิทยาลัยรังสิต ภรรยาคู่ชีวิต พ.ต.อ.ประสงค์ ศิริทิพย์วานิช  ผู้กำกับการกลุ่มงานบริการประชาชน กองแผนงานพิเศษ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 51

“คุณหน่อง”ปนัสยา อังศุวัฒนานนท์ หญิงเก่งเกิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนย่านเยาวราช พ่อแม่เปิดร้านขายยา เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 8 คน ตอนเด็กเรียนประถมโรงเรียนวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ใช้ชีวิตอยู่กับตายาย ก่อนคืนกรุงมาเรียนโรงเรียนสายปัญญาด้วยความฝันอยากเป็นครู พอจบมัธยมปลายถึงมุมานะสอบเข้าเรียนคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อด้วยปริญญาโทสาขาประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับบทแม่พิมพ์สมความตั้งใจเมื่อไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และพุทธศาสนาอยู่โรงเรียนรุ่งอรุณ

เธอให้เหตุผลว่า ชีวิตคลุกคลีอยู่กับครูมาตั้งแต่เด็ก น้าสาวก็เป็นครูที่ใจดีมาก พี่ ๆ ก็สอนอะไรเรามาเยอะถึงอยากเป็นครู สอนอยู่โรงเรียนรุ่งอรุณซึ่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธก็มีความสุขดี เน้นสอนให้เด็กคิดเองปฏิบัติเอง เช่น มัธยม 5 เรียนเรื่องข้าว ทุกวิชาก็จะเกี่ยวกับข้าวหมด ไม่เว้นภาษาอังกฤษ เด็กจะเรียนรู้การปลูกข้าว การหุงข้าว ทำกับข้าวเป็นกันทุกคน

แต่สอนอยู่ไม่นาน ครูหน่องก็เบนเข็มมาเป็นอาจารย์สอนหลักสูตรอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยเพราะว่าตัวเองลงเรียนปริญญาเอก สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล และกำลังอยู่ในช่วงทำวิทยานิพนธ์จึงนำมาเป็นวุฒิสมัครเข้าทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ ครูสาวบอกว่า เหตุที่เลือกเรียนสาขาอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม เพราะต้องการเรียนเกี่ยวกับว่า ทำไมคนถึงกระทำความผิด และจะหาทางป้องกันแก้ไขผู้กระทำผิดอย่างไร จะลดอาชญากรรมได้แค่ไหน

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตั้งแต่ลงเรียนระดับปริญญาโทจะมีส่วนทำให้เธอพบเนื้อคู่เป็นนายตำรวจหนุ่มอนาคตไกล ทั้งที่ใจไม่เคยนึกชอบคนในเครื่องแบบสีกากีแม้แต่น้อยกลายเป็นนิยายรักบทหนึ่งที่ทำฝ่ายหญิงแหกกฎเหล็กของตัวเองตกลงแต่งงานสร้างครอบครัวฝ่าปัญหาชีวิตร่วมกัน

พบกันครั้งแรก คุณหน่องเล่าว่า ฝ่ายชายกำลังเรียนระดับปริญญาเอก ส่วนเราเรียนปริญญาโท หลักสูตรอาชญาวิทยากับหลักสูตรประชากรจะอยู่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วยกัน วันปฐมนิเทศพักทานข้าวที่โรงอาหารก็จะมาทานร่วมกัน เขาเข้ามากับกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกันอยู่แล้ว แต่ไม่บอกเป็นตำรวจ แรก ๆ เราก็เฉย ๆ ยอมรับว่า ตัวเองเกลียดตำรวจ เพราะที่บ้านค้าขาย รู้ว่าเทศกาลตรุษจีนเบื่อมาก ถามว่า เคยประทับใจตำรวจไหม ก็มีบ้างตอนเวลาเห็นจูงเด็กนักเรียนข้ามถนนหน้าโรงเรียน ช่วงใกล้ปีใหม่โรงเรียนสายปัญญาก็จะสั่งนักเรียนถักผ้าพันคอให้ตำรวจ เราถักไม่เป็นก็ซื้อสำเร็จรูปมาส่ง

เธอบอกอีกว่า ตอนนั้นไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมต้องให้ตำรวจ แต่มันเป็นธรรมเนียมที่ทำมาตั้งแต่มัธยม 1 ยันมัธยม 6 เราก็จำว่า ถ้าจะให้ตำรวจต้องเป็นสีฟ้า หรือสีอะไรที่มันไม่ใช่สีชมพู รู้แค่นั้น ถามว่าได้สัมผัสตำรวจจริงไหม ก็ไม่ได้สัมผัสหรอก ไม่อยากคลุกคลี แม้กระทั่งบ้านแม่ที่นครปฐมติดกับโรงเรียนนายร้อยสามพราน เวลาเจอจะรู้สึกว่า เขาอยู่อีกสังคมหนึ่ง

“ตอนแฟนมาจีบ ที่ไม่ได้บอกเป็นตำรวจ เพราะเขาไปทำคนรู้จักหน่อง รู้ว่าหน่องเกลียดตำรวจ เขาก็เลยโมเมบอกทำธุรกิจส่วนตัว ทำอพาร์ตเมนต์ ยิ่งเห็นบุคลิกหน่องยิ่งเชื่อ เพราะหน้าตี๋ ผิวขาว เหมือนนักุรกิจ หน่องเชื่ออย่างนั้นมาตลอด เขาก็โทรมาหาประจำ คุยกันไปคุยกันมานาน 8 เดือนความก็แตก หน่องถึงรู้ความจริงว่าถูกหลอก” อาจารย์มหาวิทยาลัยสาวจำไม่ลืม

เหตุการณ์วันนั้นคล้ายจะเหมือนรถไฟชนกัน แต่กลับเป็นจุดพลิกผันให้เธอตัดสินใจ  คุณหน่องถ่ายทอดเรื่องราวว่า มีสารวัตรอยู่โรงพักห้วยขวางชอบเราเหมือนกัน นัดกันไปกินข้าว คุยไปคุยมา แฟนเดินมาทักเรา พอเจอหน้ากันความก็แตก สองคนนั้นรู้จักกัน เพราะแฟนเราเคยอยู่ห้วยขวางโรงพักเดียวกันมาก่อน สารวัตรคนนั้นยังถามเลยว่า ไม่รู้หรือว่า เขาเป็นตำรวจ “หน่องอึ้งไปเลย เสียใจเหมือนกันที่โดนหลอก เขาแก้ตัวว่า ไม่ได้เป็นตำรวจโรงพัก แต่ตามนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ดีที่ตอนนั้นเริ่มรู้สึกดีกับตำรวจ ด้วยความที่เรียนกับตำรวจ เขาโกหกเพราะเขารู้ว่า หน่องไม่ชอบตำรวจ สุดท้ายหน่องคิดว่าจะต่อความยาวสาวความยึดก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา 8 เดือนที่ผ่านมา มันก็เริ่มรักไปแล้ว เขาเป็นคนเอาใจเก่ง เขาก็เป็นคนดี”ฝ่ายหญิงสารภาพรัก

เมื่อความจริงเปิดเผย สาวหมวยเยาวราชบอกว่า เราก็จะเห็นหน้าที่การงานแท้จริงของเขาแล้ว เขาจะตามนาย ไม่ได้อยู่โรงพัก เป็นแฟนได้สักพัก คำสั่งออกมา เขาขึ้นเป็นนายเวรผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1  ชีวิตเริ่มเปลี่ยน จากที่เคยมาหาที่บ้านเยาวราชเป็นเวลา เริ่มหายไป เริ่มห่าง เพราะต้องตามนาย เราก็รู้สึกว่า การตามนายไม่เห็นสนุกเลย ไม่มีเวลาให้เรา เสาร์อาทิตย์ก็ต้องตาม เคยเสนอเขาว่า ถ้าเป็นไปได้ เป็นตำรวจลงโรงพักดีกว่าไหม เหมือนกับตำรวจหลายคนที่ถึงจุดหนึ่งจะถามตัวเองว่า เป็นตำรวจแบบไหน เรามองว่า ตำรวจจริงมันต้องอยู่กับประชาชน รับใช้ประชาชน แต่ไม่ได้มองถึงความเจริญก้าวหน้าของเขา

ต่อมา ขั้วการเมืองเปลี่ยน ฝ่ายชายย้ายลงเป็นสารวัตร โรงพักบ้านแพรก พระนครศรีอยุธยา เกิดอุปสรรคความรักที่อยู่ห่างกัน แม้นายตำรวจหนุ่มจะพยายามวิ่งย้ายกลับเข้ามาในเมือง ถึงกระนั้นก็ตาม มันทำให้อีกฝ่ายเข้าใจมากขึ้นว่า ระบบตำรวจ มีเรื่องของการเมืองเข้ามาแทรกแซงตลอด และไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร “บางทีคนในองค์กรเขาพอใจแบบนี้ มันไม่สามารถจะป้องกันได้เอง ตอนหลังแฟนได้ย้ายมาอยู่บางกรวย นนทบุรี พอดีหน่องมีบ้านอยู่ท่าอิฐ นนทบุรี ไม่ไกลเท่าไหร่ ถึงตัดสินใจวางแผนแต่งงานกัน รู้สึกว่าไม่ต้องไปอยู่ไกลแล้ว หลังคบกัน 6-7 ปี ลุ้นเหมือนกันว่าจะเกิดอาถรรพณ์รัก 7 ปีหรือไม่ สุดท้ายก็แต่งงานกัน ถามว่า ชีวิตต่างกันไหม หน่องว่า โชคดีที่หน่องมีเพื่อนเยอะ เคยมีอยู่ช่วง หน่องก็ไม่สนใจเลย ไปเที่ยวกับเพื่อนอย่างเดียว เสาร์อาทิตย์ถึงเจอกันบ้าง”

“พอแต่งงานชีวิตก็เปลี่ยนไปอีกแบบ รู้สึกปัญหาของเขาเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรามากขึ้น เมื่อก่อนมีแต่งตั้งโยกย้ายไม่ค่อยซีเรียสจะไปไหนก็ไป หน่องไปหาได้ ถ้าไม่ไกลถึงขนาด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปสิงห์บุรี สระบุรี อยู่ในพื้นที่ภูธรภาค 1 ถ้าย้ายก็เหมือนหน่องได้ไปเที่ยวที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ ตอนเป็นแฟนกันไม่จำเป็นต้องตามไปอยู่ด้วย แต่พอแต่งงานมันจะเริ่มเครียดแล้ว เพราะเรามีหน้าที่การงานต้องทำจะหอบเสื้อผ้าย้ายตามสามีไปก็ลำบาก” คู่ชีวิตนายตำรวจหนุ่มเปิดมุมคิด

“ตอนมาอยู่ปากเกร็ดเกิดคดีโจรปล้นร้านทองเยอะ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นอีก ตัวสามีเป็นรองผู้กำกับก็โดนตำหนิมา เริ่มคุยกันแล้วว่า ถ้าโดนย้ายจะทำอย่างไร ถึงรู้สึกว่า การแต่งงานมันก็เปลี่ยน ปัญหาของเขาเป็นปัญหาของเรา มีคดีเกิดขึ้น หน่องกลับมาเห็นเขาเครียด มันก็เริ่มมองว่าทำไมต้องทำงานเหนื่อยขนาดนี้ ยิ่งผู้บังคับบัญชากระตือรือร้นจะทำผลงาน เขาก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น ทำให้รู้ว่า ชีวิตตำรวจไม่สนุกเลย เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้เที่ยว วันหยุดสงกรานต์ หรือเทศกาลไหน ๆ ก็อด”

แม่บ้านสาวร่ายยาวว่า ทะเลาะกันบ่อยมากเรื่องไม่มีเวลา เราต้องประคอง คือ ต้องทำใจ เขาพยายามมองว่า ประชาชนเดือดร้อน เขาเป็นตำรวจก็ต้องปกป้องดูแลประชาชน เราก็มาน้อยใจว่า เราก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญเรามองว่า ถ้าเขามีความสุขในการทำงานก็ยอม เราพยายามสังเกตดูว่า เขามีความสุขที่อยู่กับเรา หรือมีความสุขที่ได้อยู่กับงานมากกว่ากัน ปรากฏว่า เขามีความสุขกับการทำงานงานมากกว่า เราก็รู้เลย แม้ว่า ตอนที่อยู่กับเราเขาก็พยายามเอาใจพาไปทานข้าว วันวาเลนไทน์ก็พาไป แต่เวลากินเขาก็เครียด เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องระดมป้องกันเหตุ เราก็รู้ว่า ความสุขของเขาไม่ใช่การที่อยู่กับเรา ความสุขของเขา คือการทำงาน

“เคยถามเหมือนกันว่า ตกลงมีความสุขกับการทำงานใช่ไหม สามีบอกว่าไม่ใช่ แต่งานหน้าที่ของเขามันเยอะ แรงกดดันก็สูง ตัวเขาก็อยากเจริญก้าวหน้าต่อไปเป็นผู้กำกับ ผู้การ หน่องก็มองว่า ถ้าเขามีความสุขกับการที่จะเจริญก้าวหน้าแล้วมันก็ส่งผลดีกับเราด้วย หน่องไม่ห้ามดีกว่า ให้เขาไปทำสิ่งที่เขามีความสุข ส่วนเราก็มาหาแม่ อยู่กับพี่น้อง แก้ปัญหาไป ดีกว่ามานั่งร้องไห้ พยายามเข้าใจว่า นั่นคือความสุขของเขา ความสุขในการติดตามจับคนร้ายได้”ภรรยาผู้พิทักษ์สินติราษฎร์แนะหลักการดำเนินชีวิตครอบครัว

เธอยกตัวอย่างตอนคดีพริตตี้โดนฆ่าเผาหมกอพาร์ตเมนต์ สามีเครียดมาหลายวัน ตื่นขึ้นมาก็หน้าเครียด เราก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องสนใจ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องไปหาหมอกับเราด้วยในการวางแผนมีลูกด้วยกัน เพราะวางแผนกันมานาน แต่งงานกันมาแล้ว 5 ปี หมอจะบอกเสมอว่า แฟนเครียดกับงานมาก ส่วนเราก็เรียนปริญญาเอกด้วย ต่างคนต่างเครียดเลยมีบุตรยาก ก็พยายามประคับประคอง อะไรที่เป็นความสุขของเขา เราก็ปล่อย

ทั้งนี้ แม่บ้านคนเก่งยังมีส่วนช่วยอยู่เบื้องหลังสามีบ้าง โดยเอาความถนัดของตัวเองที่ทำงานสายวิชาการมาเป็นแนวเขียนโครงการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมแนะสามี เธออธิบายว่า อย่างกรณีร้านทองโดนปล้น เราก็มานั่งคิดว่า ทำไมตำรวจไม่ขอความร่วมมือจากร้านทองให้ปิดตรงตามเวลา เราพบว่า ทองที่โดนปล้น เนื่องจากร้านปิดไม่ตรงเวลา กำหนดให้ปิด 1 ทุ่ม ยืดไป 3 ทุ่ม เพราะรอว่า อาจจะมีลูกค้าเข้ามา บางร้านดื้อ สิ่งที่พบคือ เวลาเกิดปัญหาก็มาหาตำรวจ จริง ๆ ร้านท้องต้องป้องกันตัวเองก่อน ต้องให้รู้ว่าภยันตรายเกิดขึ้นจากตัวเองประมาท เราถึงต้องขอความร่วมมือ ด้วยการเขียนโครงการให้สามี อบรมร้านทอง ร้านสะดวกซื้อ ให้พนักงานมีความรู้ในการป้องกันตัวเอง มันเป็นทฤษฎีที่เราเรียนมา

ว่าที่ด็อกเตอร์หญิงไขทฤษฎีว่า การเกิดปัญหาอาชญากรรม หรือการเกิดคดีใดคดีหนึ่ง ต้องประกอบไปด้วยหลัก 3 ประการ ประการแรก ตัวของเหยื่อเองพร้อมตกเป็นเหยื่อ เพศ หรือโง่เขลาเบาปัญญา หรือประมาท ประการที่สอง คือ ตัวอาชญากร มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ เช่นจะปล้นร้านทองก็ต้องรู้ทางหนี ประการสุดท้าย คือ โอกาส จะเกิดขึ้นได้อย่างไรก็หมายความว่า ร้านค้าเปิดโอกาสให้คนร้ายเข้ามาก่อเหตุ ไม่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด แสงสว่างไม่เพียงพอ ทฤษฎีเหล่านี้เราเชื่อว่า สามารถจะมาช่วยในการวางแผนป้องกันอาชญากรรมให้เป็นระบบได้ อาจเป็นการป้องกันแบบเฉพาะเจาะจง หรือป้องกันทั่วไป

นักวิชาการสาวระบุด้วยว่า บางทีตำรวจเน้นจับมากไปจะไม่มองการป้องกันก็มีส่วนสำคัญ ไม่ใช่พอเกิดคดีตามจับคนร้ายถือเป็นผลสำเร็จ มันไม่ใช่ จริง ๆ แล้วต้องมานั่งวางแผนกันว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดขึ้นอีก เราก็บอกสามีนะว่าสิ่งที่ทำก็ดี ในการเร่งรัดระดมจับคนร้าย แต่เขาก็จะเหนื่อยอยู่เรื่อย ๆ ถ้าไม่ให้คนที่โดนกระทำตระหนักเองว่า เป็นเหยื่อที่ยั่ว เป็นเหยื่อที่ยุ ไม่รู้จักวิธีป้องกันตัวเอง ปัญหามันไม่ไกลตัวเราเลย วันหนึ่งอาจขึ้นกับเราก็ได้

“ถามว่า สามียอมรับหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับวิธีการคุย จริง ๆสามีไม่มีอีโก้ รับฟังลูกน้อง รับข้อเสนอแนะทุกอย่าง โครงการนี่สามีก็นำเสนอผู้บังคับบัญชาบ้างแล้ว หน่องแค่อยากช่วย ห่วงนะ เพราะเขาเป็นคนจริงจังกับงานมาก แต่ก็ทำให้หน่องภูมิใจในตัวสามี ทำให้รู้สึกว่า ความรับผิดชอบเขาสูงมาก”เธอทิ้งท้าย

 

RELATED ARTICLES