“เป็นห่วงอยู่อย่างเดียวประชาชนจะได้อะไรจากการพัฒนาระบบงานตำรวจ”

ได้รับทั้งช่อดอกไม้และก้อนอิฐในเวลาเดียวกันสำหรับ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีต อ.ตร.นายตำรวจใหญ่ที่ผูกพันกับกองหนังสือ ฝากผลงานด้านวรรณกรรมไว้มากมาย

หลังได้รับการแต่งตั้งจาก พล.ต.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2550 ให้เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ สังคายนาระบบงานตำรวจให้ผ่องใสจึงตั้งทีมงานศึกษางานตำรวจมากันอย่างเข้มข้น กระทั่งได้ตุ๊กตาหรือข้อสรุปแนวทางพัฒนาระบบงานตำรวจ 10 ด้าน พร้อมขอแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เสนอนายกฯ พิจารณา ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการ

สร้างปรากฏการณ์ทอล์กเอาเดอะทาวน์ไปทั้งวงการตำรวจที่ต่างวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ชนิดแทบพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์วงการสีกากีไทยกันอย่างหลากหลายและเข้มข้น

ทีมงานนิตยสาร COP’S ได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ให้เข้าเปิดใจถึงความรู้สึกกับภารกิจหินครั้งนี้ถึงห้องทำงาที่เต็มไปด้วยหนังสือ ซึ่งท่านได้ต้อนรับอย่างเป็นกันเองสร้างความประทับใจให้กับทีมงานรุ่นหลานที่คิดแล้วว่าวันนี้คงเข้าทางเปิดใจคุยกับได้อย่างสุด ๆ (ตีพิมพ์เมื่อฉบับเดือนสิงหาคม 2550)

 ทำไม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีจึงเลือก พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจครั้งนี้ เจ้าตัวบอกว่า  “ไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมท่านนายกฯ เลือกผม แต่กับท่าน รู้จักกันมาตั้งแต่รับราชการตำรวจอยู่ชายแดน ท่านเป็นคนที่ดี น่ารักมากตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ  เชื่อว่า การที่ท่านเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ คงไม่ได้คาดคิดมาก่อน เมื่อมีโอกาสท่านจึงอยากพัฒนาประเทศ อยากพัฒนาตำรวจ สำหรับ พล.อ.สุรยุทธ์ ผมว่าเปรียบเหมือนท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ได้เสียสละเข้ามาบริหารบ้านเมือง”

หลายคนคงทราบแล้วว่า แนวพัฒนาระบบงานตำรวจหรือที่เราคุ้นหูกันในช่วงนี้กับคำว่า ปรับโครงสร้างตำรวจ ผ่าตำรวจ ยำตำรวจ ตามแต่จะเรียกขาน หัวใจสำคัญได้กระจายอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปยังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ภาค และกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้อำนาจกันเบ็ดเสร็จเสมือนมีอธิบดีกรมตำรวจ 10 คน  คงอยากทราบที่ไปที่มา

“ผมรับราชการตำรวจมา 34 ปี เมื่อพ้นตำแหน่งจากกรมตำรวจเมื่อปี 2533 ยังไม่เคยหยุดศึกษาบทบาทของตำรวจ ถ้าอ่านบทความที่เขียนมาตั้งแต่อดีต ผมเขียนวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดเมื่อเริ่มรับราชการ ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรมตำรวจ ช่วงยศ พ.ต.ต.- พ.ต.อ.หน้าสุดท้ายหนังสือพิมพ์ เขียนคอลัมน์พูดจาประสาตำรวจ ได้แสดงความห่วงใย ไม่ได้ห่วงว่า ผู้ใหญ่รู้สึกอย่างไร ผมท้าท้ายรัฐบาลมาตลอดกับกับเรื่องตำรวจจนกระทั่งถูกตั้งกรรมการสอบสวน เพราะเขียนหนังสือ” พล.ต.อ.วสิษฐเปิดปูมหลัง

“หากถามว่าผมคิดว่าอย่างไรกับตำรวจ วันนี้ยังคิดเหมือนเก่าว่า ตำรวจยังไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องชีวิต และความปลอดภัยของประชาชนอย่างแท้จริง เรายอมรับเพียงในหลักการ พอเอาเข้าจริงตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐบาล มักอ้างเหตุผลความมั่นคงของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ที่แล้วมา การใช้ตำรวจเพื่อความมั่นคงยิ่งเห็นชัด  ใช้เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง ตำรวจไปยุ่งด้วยหมด รัฐมนตรีถูกฆ่าตายด้วยมือตำรวจก็ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ เราไม่ต้องพูดอะไรกันอีก”

อดีตนายพลตำรวจเจ้าของนวนิยายดังหลายเรื่องบอกว่า สิ่งที่น่าเสียดายคือการที่ผู้รับผิดชอบรุ่นหลังจะรู้สึกว่า ต้องเปลี่ยนแปลงภาระหน้าที่ของตำรวจให้ตรงกับคำว่าตำรวจเสียทีไม่มีใครทำได้ บางยุคอธิบดีกรมตำรวจ รมว.มหาดไทย ทำท่าเหมือนอยากให้ตำรวจเปลี่ยนแปลง มีการศึกษา เรามีส่วนเข้าร่วมตั้งแต่ยศยังน้อย ก็ไปไม่ถึงไหน ลงท้ายเป็นเพียงเอกสาร

“คราวนี้เมื่อท่านนายกรัฐมนตรี ตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ผมถูกใจมาก อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เมื่อเข้าประชุมกรรมการฯ ส่วนใหญ่คล้อยตามผมว่า ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่อยากเห็นคือ อยากเห็นตำรวจเอาประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เอาความมั่นคงของรัฐซึ่งเป็นคำที่กว้าง คลอบคลุมเกินไป ทั่วโลก หากพูดถึงหน้าที่ตำรวจเขาพูดถึงความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการถูกคุกคามของอาชญากร ไม่ได้บอกว่า ต้องให้ตำรวจเป็นกองทัพสนับสนุนทหารรบกับกองกำลังภายนอก มันไม่ใช่”

พล.ต.อ.วสิษฐย้ำว่า ตำรวจต้องเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงที่ให้ชาวบ้านนอนตาหลับ ปลอดจากอาชญากรรมถือเป็นหลักสากล พูดกับชาติไหนภาษาอะไรเขาก็ยึดหลักนี้ ยกเว้นประเทศจีน เพราะตำรวจคือเครื่องมือของรัฐ  เมื่อคำสั่งของนายกฯ บอกว่า อยากให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมโปร่งใส สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการ คือเจตนาที่แท้จริง  ปัญหาใหญ่ตั้งแต่อดีต เมื่อตั้งว่า ตำรวจคือเครื่องมือรักษาความมั่นคงของรัฐ นายตำรวจที่ใหญ่ที่สุด คืออธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลายเป็นเป้าที่ใหญ่ที่สุด ตำรวจเป็นกองทัพที่ 4 ผบ.ตร.เหมือนเป็นแม่ทัพตำรวจ คิดว่าเขาต้องการทำให้มีผู้บัญชาการต่อจาก ผบ.ทบ. ผบ.ทอ .ผบ.ทร. และ ผบ.ตร. ตำรวจถูกอุปโลกให้เป็นเหล่าที่ 4 มาช้านาน แม้แต่เครื่องแบบตำรวจเมื่อก่อนเป็นสีกากี คือสีแผ่นดินไม่ได้เป็นสีน้ำตาลคล้ายกับทหารอย่างนี้

         “กระบวนการทำตำรวจให้เป็นทหาร เริ่มจากการส่งนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรไปโรงเรียนเตรียมทหารปลูกฝั่งวินัยแบบทหารให้ตำรวจ มันติดมาการวางตัว แนวความคิดจึงไม่เป็นแบบชาวบ้าน มันเป็นแบบทหาร มีรุ่น เมื่อไปนั่งโรงพักโรครุ่นมันระบาดไปตามโรงพัก หรือตามหน่วยงาน การมีรุ่นเป็นอุปสรรคในการบริหาร  มันทำให้คนมองว่าพวกที่จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เห็นแต่สังคมของตัวเอง ฉะนั้นนายตำรวจที่จบมาจากสถาบันอื่นจึงเป็นพวกนอกสถาบัน ไม่มีรุ่น รุ่นที่ได้รับการอบรมเพียงสั้น ๆ จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่มีความหมายสำหรับพวกนี้” นายพลตำรวจชื่อดังระบุ

“เมื่อผมทักท้วงว่า อย่าส่งนักเรียนนายร้อยตำรวจไปอยู่โรงเรียนเตรียมทหาร มีคนโต้ว่า เป็นประโยชน์ในการประสานงาน ผมถามว่า ประสานงานกับใคร  ถ้าเช่นนั้นต้องส่งทุกคนเข้าโรงเรียนเตรียมทหารหมด  คนที่ไม่เข้าโรงเรียนเตรียมทหารเขาประสานงานไม่ได้อย่างนั้นหรือ เราจำเป็นที่ต้องทำตำรวจให้เลิกเป็นทหาร การฝึกเชิงทหารจำเป็นในตอนอยู่ในโรงเรียน เพราะตำรวจได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธ การใช้อาวุธต้องมีวินัยที่ต้องได้รับการปลูกฝังทำนองทหาร  โรงเรียนตำรวจทั่วโลกฝึกในเชิงทหารไม่ใช่ฝึกเพื่อให้เป็นทหาร ต้องฝึกตำรวจให้เป็นพลเรือนมือถืออาวุธ”

“ผมถูกปรักปรำว่าจะยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเสนอว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ควรออกจากระบบตำรวจ อย่าให้มีการตั้ง ผบช.รร.นรต.เหมือน ผบช.ทั่วไป เพราะไม่มีหลักประกันว่า เป็นนักการศึกษา สนใจการฝึกอบรมและอยู่นานช้ามากน้อยแค่ไหน กองบัญชาการศึกษาใครอยากอยู่นานบ้าง ต้องเขยิบขึ้นไป ผมอยากให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจมีฐานะเป็นสถาบันวิชาการตำรวจโดยเฉพาะ มีการบริหารทำนองเดียวกับมหาวิทยาลัย ผลิตนายตำรวจโดยสถาบันที่มีศักดิ์ศรี ถ้าไม่เป็นอิสระอย่างนี้ไม่มีวันที่ผลิตผู้ที่จะเป็นนายร้อยตำรวจได้ด้วยความมั่นใจว่า มีความรู้จริง ๆ เหมาะสมกับตำรวจจริง ๆ  การทำให้ปราศจากข้อครหาต้องทำให้เป็นสถาบันที่อยู่นอกระบบตำรวจ  โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเป็นสถาบันการศึกษาที่แท้จริง มีอธิการบดีเป็นหัวหน้าใหญ่สุด ทำหน้าที่ผู้จะมาเป็นตำรวจเท่านั้น คือเจตนาที่แท้จริงของผม” พล.ต.อ.วสิษฐย้ำ

ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจบอกว่า แนวคิดในการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกระจายอำนาจให้ระดับกองบัญชาการ อยากให้ย้อนดูตำรวจยุคที่ผ่านมาปลอดการเมืองหรือไม่ ยุคนี้ตำรวจปลอดการเมืองหรือเปล่า  ไม่อยากให้นักการเมืองเข้ายึดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ให้ ผบ.ตร.ใช้อำนาจกฎหมายแทรกแซงการแต่งตั้ง  ร่างกฎหมายที่แก้ไขเพื่อทอนอำนาจของ ผบ.ตร.ไม่ให้กว้างขวาง ลึกล้ำ ถึงเวลาแล้วที่ให้ ผบช.มีอำนาจในงานที่บังคับบัญชาอย่างแท้จริง

“นักการเมืองใน หรือนอก ครม.สามารถต่อรองกับตำรวจได้ ทำไมต้องยอม เพราะคนเหล่านี้มีอิทธิพลในการพิจารณางบประมาณ อย่าบังอาจไม่แย้แสนักการเมืองถึงเวลาพวกนี้มีอิทธิฤทธิ์มากและเขาทำได้ แต่เมื่อทำให้ ผบ.ตร.อำนาจน้อยลง แต่ ผบช.ภ.และ ผบช.เป็นคนสำคัญ ต้องมีคณะกรรมการกำกับระดับกองบัญชาการ เพื่อเป็นหลักประกันการแทรกแซง ผมไม่ได้เป็นโฆษกรัฐบาล แต่การปรักปรำว่าสมคบกัน ขอบอกว่าเหลวไหล  พบนายกฯ เพียง 3 ครั้ง รายงานความคืบหน้า นายกฯไม่เคยแทรกแซง แม้กระทั่งเขียนบันทึกมาสั้น ๆว่าให้ดูเรื่องไหนเป็นพิเศษ  ส่วนที่บอกว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราว ไม่ควรทำอะไร ถามว่า ถ้ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทำได้ง่ายหรือเปล่า  รัฐบาลนี้ได้จำกัดอำนาจของตัวเองลงต่างหาก หรือถ้าตำหนิว่า สนช.เป็นสภาใต้ท็อปบู้ตของทหาร ผมไม่เห็นด้วย  คนที่บอกว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเถื่อน สภาเถื่อน ไม่ควรออกความเห็นเกี่ยวกับการออกร่างกฎหมายสองฉบับ ไม่ต้องรับแนวคิดเลยแล้วไปสนามหลวงเสียใจเพราะเคยสอนมาด้วยตัวเอง  บางคนด่าโครงสร้างที่เขียนมาไม่รู้ว่าคนบ้าหรือคนเมาเขียน ”

  เป็นมุมมองและความรู้สึกของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร  ที่แสดงออกอย่างตรงกับตรงมาเมื่อถูกถามถึงปรากฏการณ์คัดค้านข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ภารกิจครั้งนี้จะสำเร็จแค่ไหนเพียงใดหรือไม่ พล.ต.อ.วสิษฐ ทิ้งท้ายว่า “ก็ไม่ได้เสียใจ ดีใจ ไม่ได้เดือดร้อน เป็นห่วงอยู่อย่างเดียวประชาชนจะได้อะไรจากการพัฒนาระบบงานตำรวจ”

 

RELATED ARTICLES