ก้าวที่ 21 เหยียบขี้ไก่

หัวเราะกันพอให้แอลกอฮอล์ในเลือดจางเดินลงมาจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ ผมยังมีปมคาใจเกี่ยวกับคู่นกแก้วมาคอว์สัตว์เลี้ยงแสนโปรดของผู้กำกับนักสืบคนใหม่ทายาทอดีตอธิบดีกรมตำรวจตระกูลพันธุ์คงชื่น

“ทำไมนกร้องเหมือนคนถูกทรมาน” ผมคิดลำพัง ยังไม่รวมถึงเสียงร่ำลือเรื่องรถตู้ผีสิงทำเอาแม่ค้าใต้ถุนตึกหวาดผวา “หรือว่ามันได้ยินเสียงโหยหวนของการทรมานเพื่อให้คายปากคำจนชิน” ผมจินตนาการ “หรือตำรวจเอามันมากลบเกลื่อนเสียงร้องของมนุษย์”

แปลกดีพิลึก แต่มันเป็นเรื่องจริงที่ผ่านเข้าในประสบการณ์คนหนังสือพิมพ์น้องใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการมาไม่นาน

“เหยียบขี้ไก่ฝ่อหรือเปล่าก็ไม่รู้” บางคนพยายามหมิ่นเด็กหนุ่มอย่างผม

ยอมรับเหมือนกันว่า การเข้ามาเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ช่วงแรกรู้สึกอึดอัดที่ต้องโดดเดี่ยว อาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะหยิบใช้สอยได้มีเพียงวิทยุสื่อสารตัวเดียวเป็นทรัพย์สินอันล้ำค่าของต้นสังกัดที่บริษัทย้ำหนักย้ำหนาว่า “หายไม่ได้”

พร้อมรหัสเรียกขานประจำตัว “คลองเตย 33” ไว้ติดต่อในเครือข่ายพิฆเนศที่ค่ายของหนังสือพิมพ์มติชนเป็นแม่ข่ายหลัก

ขณะที่กล้องถ่ายรูปอาศัยช่างภาพประจำที่วิ่งวนมาช่วยงานบางครั้ง ผมแค่ติดกล้อง Nikon FA มรดกตกทอดจากพ่อไว้ใช้ถ่ายในยามฉุกเฉิน อาทิ งานแถลงข่าวคดีก๊อกแก๊กในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนพาหนะในการเดินทางไม่ต่างนักหนังสือพิมพ์หัวเล็กที่ต้องอาศัยสัมพันธไมตรีส่วนตัวช่วยเคลื่อนทัพ

หมู่พวกผมเรียกมันว่า “รถเกาะ” ขอเกาะติดไปทำข่าวด้วย แต่บ่อยครั้งที่เจอลูกเล่นอันแสนเขี้ยวลากดินของบรรดารถตระเวนข่าวประสบการณ์เก๋า

“ไม่ไปว่ะ มีคนไปแล้ว”

“ลองถามคันอื่นล่ะกัน รถกูเต็มแล้ว”

ผมแทบลิ้นห้อยละเหี่ยใจ

“พี่ศักดาไปไหม” ผมมักถามรถคันประจำที่นั่งบ่อยที่สุดของนักข่าวเดลิมิเรอร์เป็นรถบุโรทังส่วนตัวที่บางเวลาต้องอาศัยอารมณ์ของโชเฟอร์เป็นองค์ประกอบด้วย

“ไกลว่ะ” แกส่ายหน้า “เดี๋ยวรอขอข่าวเขาก็ได้”

ผมได้แต่ยิ้มเจื่อน “ไม่เป็นไรครับพี่”

คำว่า “ขอข่าว” หรือ “โทรเช็ก” หากไม่สุดวิสัยจริง ๆ จะไม่อยู่ในหัวของผม ผมมองเสมอว่า การได้ไปย่ำที่เกิดเหตุเห็นภาพเหตุการณ์จริงตรงหน้าเป็นอะไรที่ละเอียด และแน่นกว่าการใช้โทรศัพท์ถามหาร้อยเวร หรือลอกเพื่อนพ้องนักข่าวที่คงไม่สามารถบรรยายภาพบอกเรื่องราวได้มากกว่าตัวเราไปพิสูจน์เอง

ที่สำคัญเวลาโทรศัพท์ถามตำรวจทีไร ผมจะได้รับฟังน้ำเสียงบอกปัดอยู่เป็นประจำ

“คุณลองมาเองเถอะ ผมยุ่ง ไม่มีเวลาคุย” ตัดบทเสร็จก็วางสายทิ้ง อาจเป็นเพราะสมัยก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือเกลื่อนเหมือนในยุคปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารต้องอาศัยโทรศัพท์เข้าตามโรงพัก ครั้นจะตามตัวนายร้อยเวรต้องอาศัยโชคชะตาฟ้าลิขิตกระมัง

ผมถึงกระสับกระส่ายทุกครั้งเวลาได้ยินวิทยุแจ้งเหตุ มีความกระหายอย่างลงสนามเก็บรายละเอียด แต่กลัวจะสะดุดเมื่อมองซ้ายมองขวาหารถเกาะไม่เจอ จะลนลานตาลีตาเหลือกห้อยโหนรถประจำทางก็ช้าเกินไป จะอาศัยโบกรถเรียกแท็กซี่ก็ขัดสนเงินในกระเป๋า

มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ผมไม่เคยลืม น้ำตาแทบไหล คิดในใจตลอดเส้นทางว่า ทำไมการเป็นนักข่าวฉบับเล็กนอกจากต้องทนทรหดอดกลั้นแล้วอาจต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อแลกผลงานที่ไม่รู้ว่า คุ้มค่าความเสี่ยงเพียงใด และข้างในโรงพิมพ์มันจะเห็นหัวเราหรือเปล่ากว่าจะได้มาเป็นข่าวปรากฏอยู่บนหน้า 1 หนังสือพิมพ์เช้าวันรุ่งขึ้น

วันนั้นตรงกับสายวันที่ 24 สิงหาคม 2535 ศูนย์วิทยุของมูลนิธิร่วมกตัญญูแจ้งอุบัติเหตุรถเมล์ชนกับรถบรรทุกมีผู้โดยสารบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เหตุเกิดใกล้บริษัทซีพี จำกัด ถนนสุวินทวงศ์ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร

“ขณะนี้กู้ภัยพระนคร ว.10 ที่เกิดเหตุ ว.15 ผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10 ราย ผู้บาดเจ็บนำ ว.25 โรงพยาบาลใกล้เคียง”

ผมกำลังเดินลงจากแฟลตด้วยอาการยังไม่ทันสร่างเมาฟังแล้วถึงกับสะดุ้งโหยงรีบโกยอ้าวไปยังห้องผู้สื่อข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลเดิม ไม่มีใครอยู่สักคน พอย้อนกลับไปที่ชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรมใต้ถุนห้องประชุมใหญ่กองบังคับการตำรวจดับเพลิงก็ไม่มีวี่แววผู้ใดอยู่ในห้องเลย

มีนบุรีสมัยนั้นเป็นชานเมืองที่ไกลกรุงมาก แวบแรกคิดถึงรถเมล์สมองตีบตันทันทีเมื่อมองแล้วว่ากว่าจะต่อรถอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิดั้นด้นไปยังจุดเกิดเหตุคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เม็ดฝนเริ่มตกพร่ำ ๆ ยิ่งทำเม็ดเหงื่อในความหวาดวิตกกังวลของผมพลุ่งพล่านขึ้น

ตัดสินใจเดินออกไปแยกศรีอยุธยา สายตาจ้องหามอเตอร์ไซค์รับจ้างเห็นอยู่ข้างโรงพยาบาลสงฆ์ใจเริ่มชื้นขึ้นมาหน่อย

“ไปมีนบุรีเท่าไหร่”

เจ้าหนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างทำหน้างง “ตรงไหนครับพี่”

“ถนนสุวินทวงศ์”

“มันไกลมากนะครับพี่” น้ำเสียงมันอิดออด

“จะไปไหม เท่าไหร่” ผมเริ่มหงุดหงิด

มอเตอร์ไซค์หนุ่มครุ่นคิด ผมกำลังแข่งกับเวลาต้องลุ้นตามความคิดของมัน

“180 บาทล่ะกันครับ”

“โอเค” ผมไม่มีลังเลกระโดดค่อมซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์บึ่งออกไปท่ามกลางสายฝน ซิกแซกในช่วงแรก พอทะยานออกนอกเมืองเข้าถนนรามคำแหงต่อสุขาภิบาล 3 ถนนโล่ง สิงห์นักบิดฉายแววนักซิ่งควบรถเครื่องทำเอาผมต้องเกาะอานแน่น

มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานมากครั้งหนึ่งในชีวิต เมื่อต้องเอาชะตากรรมไปแขวนไว้กับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หากพลาดพลั้งแฉลบหินก้อนเดียวล้มกลิ้งผมคงไม่เหลือสภาพ ตลอดทางทำเอาแทบถอดใจ หูอื้อ ตาพร่าเพราะลมตีสลับฉากกับเม็ดฝน และผงฝุ่น

“จอดตรงนี่แหละ” ผมชี้ตรงไทยมุง

“อะไรหรือพี่”

“รถเมล์ชนกับรถบรรทุก”

“ตกลงพี่มาทำข่าวหรือ เป็นนักข่าวก็ไม่บอก”

ผมไม่ตอบก่อนหยิบเงินค่าเสี่ยงตายให้มันไป 200 บาท “ไม่ต้องทอน ขอบคุณครับพี่”

ลงจากอานรถขาแทบแข็ง ไข่แทบผอง บิดไปบิดมาอยู่นาน พอจะคว้ากล้องถ่ายรูปก็เหลือบไปเห็นช่างภาพในสังกัดคนหนึ่ง ผมเก็บกล้องใส่กระเป๋าตามเดิมเปลี่ยนหยิบปากกากับกระดาษมาเป็นอาวุธแทน

ภาพสยดสยองปรากฏอยู่ตรงหน้า ซากรถประจำทางขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือย่อกันเป็นอันเข้าใจว่า ขสมก.สาย 131 วิ่งระหว่างลำผักชี-มีนบุรี ทะเบียน 11-8068 กรุงเทพมหานคร สภาพตัวถังรถด้านขวาพังทั้งแถบไม่ต่างเศษเหล็กที่ฉีกขาดวิ่น มีกลิ่นคาวเลือดคลุ้งกระจาย ละเลงสีแดงฉานเต็มซากรถเมล์มรณะ ใกล้กันพบรถพ่วง 18 ล้อบรรทุกหิน ทะเบียน 81-1920 สระบุรี คู่กรณีที่ตัวถังด้านหน้าพังยับ

ผมมาช้าเกินไป ร่างไร้ลมหายใจที่ตกเป็นเหยื่อถูกมูลนิธิร่วมกตัญญูเก็บไปหมดแล้ว เนื่องจากต้องคลี่คลายการจราจรที่ติดขัดยาวเหยียดตลอดเส้นสุวินทวงศ์ที่สมัยนั้นยังเป็นถนน 2 เลนรถสวนกันได้อยู่ ลังเลอไม่นาน ผมหันไปหาสุทัศน์ สุขแก้ว ช่างภาพหนุ่มสายกีฬาที่อยู่ชายคาเดียวกัน

“สวัสดีครับ มาถ่ายรูปเองหรือ”

“ใช่ครับ ข้างในใช้มา ผมก็ตีรถด่วนมาเลย”

“มาทันหรือเปล่า” ผมถาม

“เกือบไม่ทัน”เขาหัวเราะ “แล้วนี่จะไปไหนต่อล่ะ”

“คงไปโรงพักดีกว่ายังไม่ได้ข่าวเลย”

“แล้วมายังไงล่ะ ขับรถมาเองหรือ”

ผมยิ้มเจื่อน “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง”

“ถ้าอย่างนั้นขึ้นรถผมดีกว่า” หนุ่มช่างภาพเพื่อนใหม่เชื้อเชิญขึ้นรถกระบะนิสสัน บิ๊กเอ็มสมบัติส่วนตัวของเขา ทำผมพักหายเหนื่อยได้บ้างแม้เส้นทางจากที่เกิดเหตุเข้าโรงพักมีนบุรีจะอยู่ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร

ตายคาที่ 10 ศพ อีก 3 รายไปตายโรงพยาบาล มีผู้บาดเจ็บอีก 24 คน

สุดยอดโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญชานเมืองหลวงครั้งประวัติศาสตร์นี้สืบสาวราวเรื่องได้ความว่า ก่อนหน้าเกิดเหตุนายอุดม พิมพ์แจ่ม โชเฟอร์รถร่วมขนส่งมวลขนกรุงเทพสาย 131 ขับรถรับผู้โดยสารชายหญิง และเด็กจำนวนมากจากหนองจากจะไปยังปลายทางตลาดมีบุรีมาตามถนนสุวินทวงศ์ พอถึงบริเวณเกิดเหตุได้มีรถพ่วง 18 ล้อบรรทุกหินเต็มคันรถห้อมาด้วยความเร็วกินเลนสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถประจำทางเสียงดังสนั่นหวั่นไหวจนรถเมล์ยับเยินทั้งแถบ

นายอุดม พิมพ์แจ่ม โชเฟอร์รถประจำทางบาดเจ็บสาหัส

“แล้วคนขับรถบรรทุกล่ะครับ” ผมถามนายร้อยเวร

ร้อยตำรวจเอกภคพงษ์ เฉียบแหลม ยิ้มเป็นกันเองแม้สีหน้า แต่แววตายังคงเคร่งเครียดกับคดีใหญ่ที่กองพะเนินอยู่ตรงหน้า “หนีตามระเบียบ”

“ชื่ออะไรหรือครับ”

“เขาว่าชื่อวิรัตน์ หรือเปี๊ยก ไม่ทราบนามสกุล ตำรวจกำลังตามตัวอยู่” นายตำรวจหนุ่มเสียงแข็ง

ใช้เวลาปะติดปะต่อรายละเอียดของข่าวครึกโครมบนโรงพักชั่วโมงเศษ อิดโรยเดินลงบันไดมายังเห็นสุทัศน์เตร็ดเตร่อยู่แถวนั้น

“กลับกับผมไหม”เขาว่า

“จะไปไหนล่ะ”

“เข้าโรงพิมพ์”

“อืม ก็ดีเหมือนกัน” เป็นสิ่งที่ผมต้องการเพื่อนมากที่สุดในเวลานั้น เพราะตอนระหกระเหินมาจากกลางกรุงเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 30 กิโลเมตรจนไปถึงจุดหมายแทบไม่มีเวลาคิดถึงขากลับเลยว่า จะทำอย่างไรต่อไป

มันทำให้ผมมาคิดทบทวนรอยต่อของชีวิตคนข่าวในยามที่สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เอื้อเท่าที่ควร ขนาดนักข่าวสายกีฬายังต้องควบกระบะส่วนตัวมาช่วยถ่ายรูปสายข่าวอาชญากรรม

“ผมสนุก ผมไม่คิดอะไรหรอก” สุทัศน์ระบายออกมาระหว่างทางกลับออฟฟิศคลองเตย

เขาเป็นหนุ่มไฟแรงจากพะเยา เคยตระเวนถ่ายรูปคร่ำหวอดอยู่กับกีฬามวยไทยมาก่อนหน้าจนถูกทาบทามจากสนั่น หุนธนเสวี หัวหน้าข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ที่ขยับตัวขึ้นมานั่งเก้าอี้แทนอาจารย์ศักดิ์ศรี แสนสุข

เพื่อนหนุ่มเมืองเหนือของผมคนนี้แก่กว่าผมไม่กี่ปี ไม่เคยสัมผัสข่าวอาชญากรรมเพิ่งมาลองลิ้มรสชิมลางเลือดจากอุบัติเหตุครั้งใหญ่บนถนนสุวินทวงศ์ครั้งนี้โดยไม่การเกี่ยงงอน ยอมลงทุนเสียสละเอารถตัวเองมาขับผลงานท้าทายความสามารถ

จุดประกายให้ผมท้อแท้ไม่ได้ จะเหนื่อยยากเพียงใดต้องฝ่าไปให้ถึงจุดหมาย

“ขอบคุณนะ”

“ไม่เป็นไรครับ มีอะไรเรียกใช้ได้เสมอ ผมรหัสคลองเตย 05”

“ยินดีครับ ไว้ไปกินเหล้ากัน”

ถัดจากวันนั้น ผมลงลุยงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองลบความสบประมาท ขณะที่สุทัศน์กลายเป็นเพื่อนร่วมก๊วนเฮไหนเฮนั้นหามรุ่งหามค่ำตามแบบฉบับชีวิตลูกผู้ชายกับกลุ่มขาประจำตัวหลักอย่างผม พฤกษ์ รัตน์นราทร และเรืองชัย ชาญวนิชย์กุลชัย

ประเดิมตั้งวงตอนย่ำค่ำหลังเสร็จงานอยู่ที่ร้านเจ๊เขียว กับลาบ ส้มตำ น้ำตก และไส้ย่าง เมนูประจำยอดฮิตผสมผสานน้ำกลั้วคอยี่ห้อแสงทิพย์ อยู่หน้าปั้มเชลล์ ริมถนนสุนทรโกษา  ก่อนพากันระเริงราตรีต่อกันที่โต๊ะสนุกเกอร์ย่านเพลินจิต วันดีคืนดีก็แอบสุมหัวอยู่ในห้องมืดบนกองบรรณาธิการเปิดตำรานับเลขบนการ์ดพลาสติกบนมือ

สุทัศน์ถือเป็นเซียนพนันดวงดีคนหนึ่งในกลุ่ม เป็นหนุ่มหล่อเจ้าเสน่ห์มนุษยสัมพันธ์ชั้นเลิศ

เสียดายที่เขาต้องจากไปก่อนเวลาอันควร

“หมอบอกสมองบวม ถ้าใครจะไปเยี่ยมก็ไปเยี่ยมซะ” สนั่นมาบอกข่าวร้ายพวกผม

ภาพของเขานอนอยู่บนเตียงห้องไอซียู โรงพยาบาลเดชา สลดหดหู่บาดตาผมมาก “สรุปแล้วเกิดอะไรขึ้น” ผมถามคนใกล้ชิดเขา

“ตำรวจบอกรถมอเตอร์ไซค์ล้ม แต่ไม่มีใครเชื่อ”

“หมายความว่ายังไง”

“เขากลับจากขี่รถไปส่งแฟนแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีคนบอกว่า เขาถูกตี”

ในที่สุดสุทัศน์ สุขแก้ว ก็สิ้นลมเป็นปริศนาคาใจผมจวบปัจจุบันนี้ เสียดายตอนนั้น ผมยังเป็นแค่นักข่าวหนังสือพิมพ์หัวฝนฉบับเล็กไม่มีแรงกระตุ้นให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการตำรวจหันมาคลายข้อกังขาในเรื่องที่เกิดขึ้น

ผมนั่งรถไปพะเยาบ้านเกิดของเขา เคารพร่างไร้วิญญาณเพื่อนเป็นครั้งสุดท้าย

ภาพที่นั่งรถคุยกันวันที่ผมเหยียบขี้ไก่ครั้งนั้นผมไม่เคยลืม

RELATED ARTICLES