(12) ประเดิมเก้าอี้  “รีไรเตอร์” เดลินิวส์

นังสือพิมพ์เดลินิวส์เมื่อปี 2517 ซ่อนตัวในตึกทรงโบราณสองชั้นริมถนนสี่พระยา   ฝั่งตรงข้ามเป็นลานกว้าง มีตึกเก่าอยู่หลังหนึ่งเป็นกรมสรรพสามิตในอดีต เดลินิวส์ใช้จอดรถส่งหนังสือพิมพ์ ส่วนกองบรรณาธิการกับฝ่ายบัญชีการเงินอยู่ชั้นสอง ชั้นล่างด้านหนึ่งเป็นกองจัดการ และอีกด้านเป็นห้องทำงานของประมุขเดลินิวส์ “นายห้างแสง เหตระกูล” ซึ่งนายห้างกับภรรยาจะมานั่งในห้องนี้ทุกวัน ตรงกลางเป็น

ผมเขกกะโหลกตัวเอง ฉบับที่แล้วดันเขียนชื่อผู้มีพระคุณของผมผิดพลาดไป “ไกรวัลย์”    ครับ ไม่ใช่ “ไกวัล”

เมื่อ “พี่ไกรวัลย์ ชูจิตต์” รักษาการหัวหน้ากองบรรณาธิการเป่านกหวีดเรียกผมไปเสริมทัพ ผมตัดสินใจไป “ชิมลาง” มีกระเป๋าเสื้อผ้าใบเดียวให้ครอบครัวรออยู่ที่ลพบุรีก่อน เพราะไม่รู้ว่าเนื้องานจะเป็นอย่างไร  และยังไม่รู้ว่าจะไปซุกหัวนอนที่ไหน

ครั้นจะไปอาศัยวัดสุทัศน์เทพวราราม คณะ 8 ที่เคยพำนักมาก่อนก็ดูจะกระไรอยู่ ตกลงไปเผชิญสถานการณ์เอาเบื้องหน้า เป็นไรเป็นกัน

ไปรายงานตัวกับพี่ไกรวัลย์ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “รีไรเตอร์” ทันที แบ่งเบาภาระ    “อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์” ซึ่งรับภาระหนักเป็นรีไรเตอร์เพียงคนเดียว

รีไรเตอร์ก็คือ คนเขียนข่าว เรียบเรียงข่าว เรียกให้โก้หรูหน่อยก็เป็น “ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า  1”  รับข่าวจากนักข่าวตระเวนข่าวอาชญากรรม ข่าวจากนักข่าวต่างจังหวัด พิจารณาสาระความสำคัญแล้วบรรเลงอักษรด้วยพิมพ์ดีด ส่งให้หัวหน้าข่าวหน้า  1

เขียนให้ผู้อ่านเหมือนกับอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ กะทัดรัดไม่เยิ่นเย้อ ไม่ใส่อารมณ์หรือความคิดของตัวเอง เพราะมันเป็นข่าวไม่ใช่ข้อเขียนของคอลัมนิสต์

คนที่จะเป็นรีไรเตอร์หน้า 1 ต้องผ่านการเป็นนักข่าวตระเวนโรงพักมาก่อน รู้เรื่องข่าวอาชญากรรม รู้เท่าทันลีลาปลาหลดปลาไหลของตำรวจ รู้จักยศ ชื่อนามสกุล และตำแหน่งอย่างดี

แม้ผมจะข้ามขั้นไม่เคยเป็นนักข่าวตระเวนโรงพักนครบาล แต่การหาข่าวโรงพักของผมที่ลพบุรีก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากนครบาล มิหนำซ้ำยังลำบากกว่านครบาลที่ต้องใช้ความสามารถส่วนตัวในการเสาะหาข่าวแต่ละวัน

เดลินิวส์เป็นหนังสือพิมพ์แนวอาชญากรรม ยึดข่าวอาชญากรรมเป็นหลัก แต่ก็มีข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ หรือข่าวอื่น ๆที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อยู่ในหน้า  1ด้วย       ซึ่งทุกข่าวขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้าข่าวจะเอาข่าวไหนพาดหัวใหญ่ หัวรอง

ดัมมี่หน้า 1 จากฝีมือฝ่ายศิลป์จะวางตรงหน้าหัวหน้าข่าว

หัวหน้าข่าวเป็นผู้สั่งเอาข่าวไหนวางตรงไหน นับตัวอักษรพาดหัวให้ลงตัวพอดีกับเนื้อที่

เรื่องที่หลับที่นอนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผม โชคดีไม่ต้องไปเช่าหอพัก เพราะด้านหลังกองบรรณาธิการใกล้กับห้องน้ำห้องส้วม มีห้องเล็ก ๆ มีเตียง 2 เตียง สำหรับผู้คนในกองบรรณาธิการต้องการเอนหลังพักผ่อน

ผมยึดห้องนั้นเป็นห้องนอน แม้จะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ นอกจากพัดลม   ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับผม แค่ซุกหัวนอนเท่านั้น

วันแรกยังไม่ได้นั่งเก้าอี้รีไรเตอร์เต็มก้น รุ่งขึ้นผมก็ถูก “ทดสอบ” เสียแล้ว

“พี่ไกรวัลย์” สั่งให้ไปทำข่าวที่มีนบุรี  มีเด็กเกิดใหม่ วันแรกที่ร้องอุแว้ ๆ ก็เห็นฟันน้ำนม  2  ซี่  พี่ไกรวัลย์บอกลายแทงเสร็จสรรพ เพราะบ้านพี่อยู่มีนบุรี รู้บ้านช่องห้องหับของครอบครัวนั้น

ผมไปกับช่างภาพอาวุโสร่างท้วม “พี่ศิริ” จำนามสกุลไม่ได้ เพราะสัมผัสกับพี่ไม่ทันไร    พี่ศิริก็ลาออกไปทำงานธนาคาร

นั่งรถโรงพิมพ์ไปถึงจุดหมาย ข่าวอย่างนี้ไม่ยากเย็นอันใดเลย ตัวเอกของเรื่องก็มีแล้ว   เพียงแต่เก็บรายละเอียดให้มากที่สุดเท่านั้น วิสัยของนักข่าวต้องเอาตัวเองเป็นคนอ่าน ตั้งโจทย์เอาไว้คนอ่านต้องการรู้อะไร เราก็ต้องแสวงหาสิ่งนั้นให้ครบถ้วน

สำหรับเรื่องราวของเด็กเกิดใหม่วันแรกก็มีฟันน้ำนม ลำบากตรงที่แม่ของเด็กไม่ต้องการเป็นข่าว ผมก็ต้อง “กล่อม” ให้เธอเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องแปลกประหลาด ผมก็หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำนี้ ซึ่งสุดท้ายเธอก็ยอมเปิดเผยรายละเอียด

ถ้ากลับโรงพิมพ์มือเปล่า ผมก็ไม่สมควรเป็นนักข่าว

ผมกับ “อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์”  ผลัดกันเข้าเวรวันเว้นวัน ข่าวไหนที่ต้องติดตามเราจะเขียนโน้ตไว้ให้อีกคนรับทราบจะได้สั่งให้นักข่าวติดตามความคืบหน้าของข่าวนั้น รีไรเตอร์ต้องเป็นคนช่วยชี้ทาง นักข่าวจะได้ทำงานสะดวกรู้เป้าหมายรู้ทิศทาง

ผมนอนในห้องเล็ก ๆ ห้องนั้น ไม่เหงาครับ มีเพื่อนร่วมห้องคือ  “อุโฆษ”

อันที่จริงอุโฆษก็มีบ้านเช่าอยู่แถวหลานหลวง แถววัดคอกหมู เยื้อง ๆ กับวัดสระเกศ    อยู่กับน้องสาว แต่อุโฆษเกรงใจน้อง เพราะกลับบ้านดึกดื่นต้องไปเคาะประตูเรียกก็เลยมานอนที่โรงพิมพ์

สมัยนั้นหนังสือพิมพ์รายวันมีกรอบเดียว หลังจากเสร็จหน้าที่แล้ว ผมก็เข้านอน แต่บางคืนต้องสะดุ้งตื่น เมื่ออุโฆษกลับจากข้างนอก ต่อยข้างฝาห้องโตรม  ๆ

ไม่ต้องถามก็เป็นอันรู้กัน เขาเมาครับ เขาระบายอารมณ์ค้าง ไม่ต้องต่อว่าต่อขานให้ขัดเคือง เมื่อรักจะเป็นเพื่อนเป็นมิตรกัน ต้องรู้จักให้อภัยต่อกัน

ไม่มีใครบ้าต่อยข้างฝาตั้งแต่ตี 1 ตี  2 ยันรุ่งเช้าหรอกครับ แค่โครมสองโครมอุโฆษก็เจ็บมือแล้วนอนหลับสบาย ผมแค่ลืมตามาดูหน่อยก็หลับตาม

อยู่เดลินิวส์หลายเดือน ทำงานอย่างมีความสุขและสนุกกับงาน พอสิ้นเดือนก็กลับลพบุรี    เอาเงินไปให้ครอบครัว มีเงินเดือน มีค่าครองชีพ มีเบี้ยเลี้ยงค่าเข้าเวร พออยู่ได้ไม่เดือดร้อน

เดลินิวส์มี “พี่ไกรวัลย์  ชูจิตต์” รักษาการหัวหน้ากองบรรณาธิการกับ “ลุงอาคม   คเชนทร์” หัวหน้าข่าวต่างประเทศเป็นแกนหลัก ไม่มีหัวหน้ากองบรรณาธิการตัวจริงเสียงจริง

“เหตระกูล” ให้ “ชูจิตต์” สลัดทิ้งคำว่ารักษาการ “ชูจิตต์” ก็ไม่เอา เพราะเกรงใจ  “คเชนทร์” ผู้อาวุโส เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา

แล้ววันนั้นก็มาถึง

ประมุขเดลินิวส์ “แสง เหตระกูล” เรียกประชุมกองบรรณาธิการทุกคน พร้อมด้วย    “ประสิทธิ์ เหตระกูล” ผู้อำนวยการ, “ประพันธ์ เหตระกูล” บรรณาธิการ

บก.ประพันธ์แจ้งว่า ถึงเวลาที่เดลินิวส์จะต้องก้าวหน้าเพื่อก้าวไกลจำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรเพื่อความแข็งแกร่ง และบุคลากรนั้นก็มิใช่ใครอื่น เป็นการคืนสู่เหย้าอีกคำรบของ “สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช”

บก.ประพันธ์บอกว่า ขณะนี้ “สุเทพ” มารออยู่ข้างล่างแล้ว อยากให้สุเทพมาปรากฏตัวกับกองบรรณาธิการ ซึ่งหลายคนไม่รู้จักเขารวมทั้งผมด้วย

สุเทพพาหนวดเรียวงามพร้อมกับรอยยิ้มขึ้นมาบนกองบรรณาธิการ มีเสียงปรบมือต้อนรับ แต่ก็มีเสียงโหวกเหวกจาก “หยด อ่อนอารีย์” หัวหน้าช่างภาพ

“สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช” ไม่ได้มาคนเดียวเพื่อเสียบตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการ     แต่เขามาพร้อมกับทีมงานมากหน้าหลายตา

“ชลอ อยู่เย็น” หัวหน้าข่าวการเมือง “เทพ ชาญณรงค์” หัวหน้าข่าวต่างจังหวัด   “สมชาย ฤกษ์ดี” หัวหน้าข่าวอาชญากรรม รวมทั้ง “โรจน์ งามแม้น” “วิภา สุขกิจ” “สอาด   จานแก้ว” “บุญสม รดาเจริญ”

เมื่อมี “ 2 เทพ” ในเดลินิวส์ ผมเขียนถึง “เทพ ชาญณรงค์” ก็เรียกว่า “พี่เทพเตี้ย”   เป็นอันรู้กัน ส่วน “สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช” เป็น “พี่เทพสิงโต” เพราะพี่มีนามปากกาเขียนข่าวสังคม “สิงโต ฮึ่ม ฮึ่ม”

คำว่า “สิงโต ฮึ่ม ฮึ่ม” นี้ พี่ไกรวัลย์เป็นคนตั้งไว้ สมัยที่พี่เทพสิงโตเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐเที่ยงห้านาที” ของ ผอ. “กำพล  วัชรพล” ซึ่งออกคู่กับ   “เสียงอ่างทอง” และพี่ไกรวัลย์รับผิดชอบด้านข่าวอาชญากรรม

เมื่อ “เดลินิวส์” ถือกำเนิดปี 2507 “สนิท เอกชัย” เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ พี่ไกรวัลย์เป็นบรรณาธิการข่าวอาชญากรรมเป็นคนชักนำพี่เทพสิงโตมาเป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ

พี่เทพสิงโตกลับมาเดลินิวส์รอบสองปลายปี  2517 พอถึงวันที่ 2 มกราคม 2518 พี่ไกรวัลย์ก็ลาออก ตามด้วยลุงอาคม

พี่ไกรวัลย์ไปอย่างสุภาพบุรุษ ไม่เอ่ยปากชักชวนใครให้ออกตาม ไม่เคยทวงบุญทวงคุณกับคนในตระกูลเหตระกูล ในฐานะตัวเองเป็นผู้กอบกู้สถานการณ์วิกฤติเดลินิวส์ที่ผ่านมา

มาทราบภายหลัง พี่ไกรวัลย์ไปอยู่หนังสือพิมพ์ “เสียงปวงชน” ของเสี่ยเต็ง “กำพล   พิริยะเลิศ” และปิดฉากตำนานนักข่าวผู้ทระนง ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านมีนบุรี พี่ไกรวัลย์เป็นที่ปรึกษา “ศูนย์ข่าวภาคตะวันออก”  ของหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการ” ที่ อ.ศรีราชา ชลบุรี

บ้านมีนบุรีของพี่ไกรวัลย์ ผมเคยไปเยือนสองสามครั้ง แต่ละครั้งก็มีความแปรเปลี่ยนไปน่าใจหาย เดิมทีมีเนื้อที่กว้างขวางมีรั้วรอบขอบชิด ด้านหน้าติดถนนในซอยเป็นสวนผลไม้หลายชนิด     ตัวบ้านอยู่ด้านหลัง ต่อ ๆ มาเนื้อที่ด้านหน้าค่อย ๆ หดลง เพราะพี่ไกรวัลย์ค่อย ๆ  เฉือนที่ดินขายให้คนรู้จักชอบพอกัน เขาซื้อไว้แต่ไม่เข้ามาครอบครอง พี่ไกรวัลย์จึงยังอยู่บ้านหลังเดิม

ไม่ต้องบอกนะครับ ทำไมพี่ไกรวัลย์ต้องเฉือนที่ดินขาย

ครั้งหลังสุดที่ผมไปบ้านพี่ไกรวัลย์ ไปกราบศพภรรยาของพี่ ศพนั้นอยู่บนเตียง พี่ไกรวัลย์นั่งเหม่อมองคู่ทุกข์คู่ยากอยู่คนเดียว

น้ำตาผมซึมไหลออกมา บางส่วนคงไหลอยู่ในทรวงอก  มันเหมือนกับมีอะไรมาจุกแน่นที่ทรวงอก เมื่อรู้ว่าทำไมภรรยาพี่ไกรวัลย์จึงต้องนอนบนเตียง โดยปราศจากโลง

“สุรัตน์ บัณฑิตย์” ตีรถจากชลบุรีมาจัดการศพให้ ป่าวร้องไปยังลูกศิษย์ลูกหาและผู้คนที่เคารพนับถือพี่ไกรวัลย์ ช่วยกันคนละไม้คนละมือซื้อโลงศพแล้วนำไปทำพิธีทางศาสนา ซึ่งพี่ไกรวัลย์กับภรรยานับถือศาสนาคริสต์

“พี่ไกรวัลย์ ชูจิตต์” เป็น “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” เกินร้อย ไม่แบมือขอใครกิน ตราบจนทุกวันนี้

กลับมาที่เดลินิวส์สี่พระยา ผมมึนกับสถานะตัวเอง ด้วยเป็นนักข่าวบ้านนอก ทีมงานชุดใหม่ผมไม่รู้จักใครเลย นอกจาก “พี่เทพเตี้ย” อดีตหัวหน้าข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ     สุภาพบุรุษร่างเล็กมีหนวดดกดำเหนือริมปาก

ผมเป็นนักข่าวเดลินิวส์ แต่รู้จักพี่เทพค่อนข้างคุ้นเคย เพราะพี่เทพไปลพบุรีบ่อย ไปทีไรบรรดาเจ้าถิ่นเมืองละโว้ ทั้งพ่อค้าข้าราชการจะร่วมกันต้อนรับอย่างดีเยี่ยม นักข่าวไทยรัฐที่ลพบุรีเชิญผมไปร่วมวงทุกครั้ง ผมกับพี่เทพคอเดียวกันครับ พวกคอทองแดง

“พลตำรวจเอกสมชาย วาณิชเสนี” ช่วงนั้นรับราชการอยู่ สภ.อ.เมืองลพบุรียังไปร่วมสังสรรค์ด้วย บนแพบ้างบนพื้นดินบ้าง ล้อมวงดื่มกินกันตามประสาตีนติดดิน

ขอกล่าวถึง “พี่เทพ ชาญณรงค์” อีกนิด เป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่เหมือนกับ “พี่ไกรวัลย์ ชูจิตต์” และดูจะด้อยกว่าพี่ไกรวัลย์ด้วยซ้ำ เพราะพี่เทพเตี้ยไม่บ้านของตัวเอง อาศัยบ้านคนอื่นอยู่    ถ้าจำไม่ผิดเป็นบ้านพักของรถไฟ พอพี่เทพตาย ครอบครัวก็ต้องออกจากบ้านหลังนั้น

ชื่อเสียงของพี่เทพเตี้ยสมัยอยู่ไทยรัฐขจรขจายไปทุกจังหวัด ผู้คนทุกวงการรู้จักเขา    บ่อยครั้งที่นักข่าวบางจังหวัดเอาชื่อพี่ไปหากินนอกลู่นอกทาง โดยที่พี่ไม่รู้เรื่อง พอมีคนมาบอก    พี่เทพเตี้ยพูดเรียบ ๆ “ก็ไปเชื่อมันทำไม”

เหมือนกับ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” มีคนไปสร้างเหรียญสร้างรูปหล่อหลวงพ่อออกขาย     อ้างว่าได้รับอนุญาตแล้ว ทั้ง ๆ หลวงพ่อคูณไม่รู้ พอท่านรู้จากลูกศิษย์มาบอก ท่านก็ตอบว่า “ช่างหัวมัน มันจะได้มีเงินใช้ แต่กูไม่รู้เรื่องด้วย”

แม้หลายคนทยอยตบเท้าออกจากเดลินิวส์ รวมทั้งเพื่อนต่างวัย “อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์”    ส่วนผมยังอยู่แบบทนอยู่ เพราะถ้าออกตามพวกเขาก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ทั้ง ๆ หนังสือพิมพ์รายวันสมัยนั้นมีไม่กี่ฉบับ แต่ผมไม่รู้จักใครเลย และไม่มีใครรู้จักผม

ตัดสินใจอยู่ต่อไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด มีฝีมือซะอย่างจะไปกลัวอะไร ถ้าผิดนักก็กลับบ้านเรา……แล้วผมก็ได้กลับลพบุรีดังที่คิด

 

 

RELATED ARTICLES