(13)นับหนึ่งอีกครั้งที่  “เดลินิวส์”  สี่พระยา

ลังจาก “สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช” กลับ “เดลินิวส์” รังเก่า พร้อมทีมงานมากหน้าหลายตา จนกระทั่ง  “พี่ไกรวัลย์ ชูจิตต์” กับ “ลุงอาคม คเชนทร์” ลาออกไป แต่ผมยังทำงานในตำแหน่งเดิมเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 ด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว

ผมรู้ตัวเองว่าตกอยู่ในสายตาของ “พี่เทพสิงโต” หัวหน้ากองบรรณาธิการคนใหม่ คงมีการเหล่แล้วเหล่อีก อาจจะไม่ไว้ใจผม อาจสงสัยว่าทำไมผมซึ่งเป็นเด็กพี่ไกรวัลย์ ไฉนไม่ลาออกตามไปด้วย หรือว่ามีวาระซ่อนเร้นอะไร

และแล้วมิช้ามินาน สิ่งที่ผมคาดคิดไว้ก็เป็นไปตามนั้น

มีคำสั่งให้ผมทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า  1  อย่างเดิม แต่มีข้อแม้ไม่ต้องเข้าเวรตามปกติที่เคยปฏิบัติ

นี่ไง…..พี่เทพสิงโตเขาไม่ไว้วางใจผมจริง ๆ ฟันธงว่า เป็นทีมงานเก่า ทั้ง ๆ ผมเพิ่งเดินเข้ามาในชายคาเดลินิวส์ไม่กี่เดือน

เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำยังไงดี ผมตั้งคำถามกับตัวเองแล้วก็ได้คำตอบทันที

“ออกดีกว่า”

ผมไม่เคยดูถูกดูหมิ่นใคร แต่ก็ไม่ชอบให้มาดูผมผิด แม้จะมีตำแหน่งเรี่ยดิน แต่ผมก็มีศักดิ์มีศรีเหมือนกัน

การเข้าเวรมีความสำคัญอย่างยิ่งกับผม มันหมายถึง “ค่าเข้าเวร”  เพิ่มพูนรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน เงินค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุดราชการ และเงินค่าครองชีพประจำเดือน

ผมไม่จำเป็นต้องชี้แจงอะไร เพราะในคำสั่งไม่ให้ผมเข้าเวรก็ไม่ได้แจ้งเหตุผลอะไรไว้และไม่จำเป็นต้องสอบถามเรื่องนี้ นอกจากเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋ากลับลพบุรีบ้านเราดีกว่า คนลพบุรียังต้อนรับผมทุกเวลา

ถ้อยคำนี้ไม่ได้คุยเขื่องคุยโวโอ้อวด ผมพิสูจน์มาแล้วเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา คนลพบุรีรู้จักผมดี

เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตการทำมาหากินในอาชีพนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์     ที่ผม “ออกมา” โดยไม่มีการ “ลาออก”

ลพบุรีมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกิดใหม่อีก 2 ฉบับ ชื่อแปลกดี “ไทยนิมิต” กับ “เทพนิมิต”      มีเจ้าของคนเดียวกัน “อุทัย เก่าประเสริฐ” เพื่อนนักข่าวที่เคยร่วมทีมอยู่ในร้าน “มิตรไทย”    ตลาดท่าโพธิ์ อ.เมืองลพบุรี ที่ผมเขียนถึงในตอนแรก ๆ ว่านักข่าวในยุคที่จังหวัดลพบุรีมีรถรางแล่นระหว่างตลาดท่าโพธิ์กับเมืองใหม่ และพวกผมรวมกลุ่มกันที่ร้านมิตรไทยแห่งนั้น

ไทยนิมิตกับเทพนิมิตทั้งสองฉบับ ออกเป็นรายลอตเตอรี่  “อุทัย” ซึ่งมีโรงพิมพ์เองชื่อ   “อุทัยพิทยา” อยู่แถวประตุชัย ชานเมืองลพบุรีด้านทิศใต้ บอกเหตุผลการออกหนังสือพิมพ์ทีเดียว 2 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างกัน เพราะตอนนั้นการขอหัวหนังสือพิมพ์ไม่ง่าย มีขั้นตอนของทางราชการหลายอย่างจึงยื่นขอกับผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ขอทีเดียว  2 ฉบับเพื่อกันเหนียว

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายลอตเตอรี่ส่วนใหญ่เน้นเรื่องผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล     ข่าวหลักก็เป็นข่าวสังคม นอกนั้นเป็นข่าวแจกของหน่วยงานราชการ สำหรับรูปที่จะลงหนังสือพิมพ์ ต้องส่งรูปไปทำ “บล็อก” ที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาพอสมควร ส่งไปรูปเดียวร้านทำบล็อกแถววงเวียน 22  กรกฎา เขาก็ไม่รับงาน ทำบล็อกหลายรูปก็เพิ่มค่าใช้จ่าย ขณะที่รายรับน้อยนิด    ได้จากขายหนังสือพิมพ์กับค่าโฆษณาสินค้าไม่กี่ตังค์

ผมคลุกคลีกับการเป็นนักข่าวภูธรมานานจึงรู้และเข้าใจความลำบากยากเข็ญของผู้ที่เลือกการเป็นนักข่าวเป็นอาชีพหลัก รายได้ไม่พอยาไส้จริง ๆ นักข่าวในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อยจึงต้องหารายได้เสริมด้วยการรีดไถที่ลพบุรีก็มีหลายคนครับ

ช่วยปรับปรุงรูปโฉมให้ “ไทยนิมิต” กับ “เทพนิมิต” ไม่นานนัก

พี่เทพเตี้ย “เทพ ชาญณรงค์” มาลพบุรี  ถามว่า ทำไมผมจึงออกจากเดลินิวส์ ผมก็ตอบไปตามความเป็นจริงในความคิดของผม โดยเฉพาะเรื่องการไม่ได้เข้าเวร พี่เทพเตี้ยพยักหน้าในทำนองเข้าใจแล้วบอกว่า พี่เทพสิงโตให้มาตามผมกลับไปเดลินิวส์ตามเดิม

แน่นอน การเข้าไปอยู่ในสำนักงานหนังสือพิมพ์รายวัน ระดับยักษ์ของเมืองไทย มันเป็นโอกาสที่หาได้ยาก มีเส้นทางยาวไกลที่ให้เราก้าวเดิน และแน่นอนมันย่อมดีกว่าอยู่ในต่างจังหวัด

หลังจากพี่เทพเตี้ยแจกแจงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แล้ว ผมก็หิ้วกระเป๋าเสื้อผ้าใบเดียว เข้าไปซุกหัวในห้องนอนเล็ก ๆ บนชั้นสองของเดลินิวส์สี่พระยาไปรายงานตัวกับพี่เทพสิงโต จากนั้นจึงเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

คราวนี้ไม่ได้เป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า  1 เหมือนเดิม เพราะมีคนมานั่งเก้าอี้แทน ผมเลยไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวต่างจังหวัด อยู่กับพี่เทพเตี้ย ประสานงานและประสานใจกับนักข่าวต่างจังหวัด เวลาตกข่าวใหญ่ในจังหวัดนั้น  เราจะโอภาปราศรัยกับเขาอย่างไร เพราะนักข่าวต่างจังหวัดไม่มีเงินเดือน

ข่าวและภาพที่นักข่าวต่างจังหวัดส่งมา ถ้าได้ลงตีพิมพ์ถึงจะได้เงิน โดยมี “บงกช เชยกีวงษ์” พนักงานของฝ่ายข่าวต่างจังหวัด ทำหน้าที่วัดความยาวของข่าวแต่ละชิ้น แล้วคิดเป็นเงินค่าข่าว พอสิ้นเดือนก็จัดส่งไปให้นักข่าวแต่ละคน ส่งกระดาษเขียนข่าวและซองจดหมายปิดแสตมป์ไปให้นักข่าว ใครส่งงานอะไรมาจะถูกบันทึกเพื่อการตรวจสอบการทำงาน ไม่ใช่เป็นนักข่าวแต่ชื่อ

“บงกช” เป็นภรรยาของ “ชนา อินทรักษ์” พ่อบ้านใหญ่กองบรรณาธิการเดลินิวส์ สี่พระยา ปัจจุบัน “บงกช” ไปปักหลักสร้างฐานอยู่ต่างประเทศ

ฝ่ายข่าวต่างจังหวัดอยู่หน้าด่านของกองบรรณาธิการเปิดประตูเข้ามาก็จ๊ะเอ๋กัน ผมอยู่ตรงนั้นบรรยากาศค่อนข้างดี ตอนกลางวันพักเที่ยงจะมีสาว ๆ จากฝ่ายบัญชีมาหาพี่บงกช ผมก็มีอาหารตาแทนอาหารกลางวัน และทุกวัน

การดำรงชีวิตในเดลินิวส์รอบสองก็เหมือนกับรอบแรก นอนในห้องเล็ก ๆ บนกองบรรณาธิการ เสื้อผ้าจ้างซัก อาหารเกือบทุกมื้อฝากท้องไว้กับร้านข้าวแกงอยู่ในตึกแถวด้านหลังตึกแถวริมถนนสี่พระยาติดกับสำนักงานเดลินิวส์ ไม่มีชื่อร้านแต่ชาวเดลินิวส์เรียกว่า “ร้านคุณแม่”   เพราะมีลูกสาวสาย ผมพลอยเรียกคุณแม่ไปด้วย

็็็็          อตอนเช้าเด็กร้านคุณแม่จะถือโพยอาหารขึ้นมาในกองบรรณาธิการใครสั่งอะไรเด็กจะจดใส่กระดาษ สักพักก็ลำเลียงอาหารมาถึงโต๊ะ เงินทองยังไม่ต้องจ่าย เอาไว้จ่ายทีเดียวตอนสิ้นเดือน

กลางวันก็มีแม่ค้าข้าวเหนียวไก่ย่างส้มตำ ตั้งหาบที่ทางเข้าโรงพิมพ์ส่งลูกสาวคนเล็กไปล่าลูกค้าในกองบรรณาธิการ ลูกสาวคนโตหน้าตาสะสวยไม่แพ้ลูกสาวคุณแม่จะช่วยแม่ตำส้มตำจัดอาหารอยู่ข้างล่าง ทำให้หนุ่มเดลินิวส์หลายคนมักจะลงมาสั่งอาหารกับลูกสาวคนโต

เยื้องกับเดลินิวส์เล็กน้อยเป็นร้านข้าวต้มพุ้ยมีกับแกล้มมากมายหลายกะละมัง เป็นร้านที่ชาวเดลินิวส์ฝากท้องไว้อีกแห่ง ทั้งกินข้าวและกินเหล้า หรือใครมีรสนิยมอาหารญี่ปุ่นฝั่งเดียวกับเดลินิวส์ไปทางท่าน้ำสี่พระยา มีร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อ “ฮานาย่า”  เจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่น แม้จะซ่อนตัวอยู่ในหลืบริมถนน แต่คออาหารญี่ปุ่นรู้จักกันดี ขนาดไปยืนรอก่อนร้านจะเปิด เพราะไม่รับจองโต๊ะ ฮานาย่าจึงยืนยงตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้

ตำรวจ  สน.บางรักก็นิยมอาหารญี่ปุ่น สมัยโน้นเข้มงวดเรื่องเวลาจำหน่ายสุรา ถ้าขายก่อนเวลาจะถูกจับถูกปรับ ผมเห็นบ่อยครั้งประมาณ 4 โมงเย็น สายตรวจจักรยานยนต์จะเข้าฮานาย่า     กินอาหารญี่ปุ่นครับ กินเสร็จก็ขี่รถออกไปไม่ต้องจ่ายเงิน

อยู่ฝ่ายข่าวต่างจังหวัดพอหอมปากหอมคอ พี่เทพสิงโตก็ให้ไปทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1  ได้เข้าเวรและได้ค่าเข้าเวรตามเดิม

หัวหน้าข่าวหน้า 1 ของเดลินิวส์มี 3 คน “พี่ทัศน์ สนธิจิตร” “พี่เติบโต วิสุทธศิริ”      “พี่สมาน คำพิมาน”

ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวต้องหมุนเวียนเข้าเวรกับหัวหน้าข่าวทั้ง 3 คน ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานของหัวหน้าข่าวแต่ละคน ซึ่งมีลีลาไม่เหมือนกัน

พี่ทัศน์บุรุษรองเท้าขาว ลูกแม่รำเพยนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ เป็นผู้ใหญ่ใจดีแต่ค่อนข้างเงียบ ฝีไม้ลายมืออยู่ในขั้นเทพ สมัยนั้นหนังสือพิมพ์มีกรอบเดียว ทำงานกันสบาย ๆ ไม่รีบเร่ง     พอตอนเย็นผมบอกให้พี่ทัศน์ไปกินข้าว ผมจะอยู่โยงเฝ้าหน้า 1 เอง เผื่อมีข่าวอะไรเข้ามา แต่พี่ทัศน์บอกไม่ต้องห่วง แถมให้ผมไปกินข้าวก่อน เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่ผมเข้าเวรกับพี่ทัศน์

ตอนหลังจึงถึงบางอ้อ พี่ทัศน์เขามีภารกิจกับหนังสือพิมพ์จีนรายวันก็ไม่ว่ากัน

พี่เติบโตเป็นขาประจำร้านข้าวต้มเยื้องโรงพิมพ์ ใช้เวลานานพอสมควร จนกระทั่งผมหิวข้าวเดินไปดูที่ร้านข้าวต้ม พี่เติบโตจะนั่งหันหลังให้หน้าร้าน แต่บนโต๊ะมีแม่โขง 1  กั๊ก โซดา 1  ขวดกับแกล้ม  1 จาน

สำหรับพี่หมานเป็นคนโผงผาง ไม่ชอบอะไรจะพูดออกมาตรง ๆ รายนี้ไม่พึ่งร้านอาหารแถวโรงพิมพ์ ทุกเย็นจะมีรถเก๋งมารับไปกินข้าว คนขับเป็นหญิงสวยที่ทุกคนรู้จักดี เป็นดาราระดับแถวหน้าของวงการบันเทิงไทย เอ่ยชื่อก็ร้องอ๋อ แต่อย่าเอ่ยดีกว่า

ผมทำงานเข้าขากับหัวหน้าข่าวหน้า 1 ทั้ง 3 คนอย่างดี ทำงานด้วยความสนุก เพราะเดลินิวส์เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยรัฐ ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 สามารถสั่งงานให้นักข่าวรถตระเวนอาชญากรรมไปติดตามข่าวแต่ละชิ้นได้

วันหนึ่งผมเข้าเวรผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า  1 มีรายงานข่าวตำรวจภาคเหนือคุมตัวผู้ต้องหาคดีสำคัญมากรุงเทพฯ ทางรถไฟด้วยขบวนรถด่วนเชียงใหม่ ผมเช็กเวลาแน่นอนแล้วจะมาถึงสถานีบางซื่อเวลาเท่าใด ผมติดต่อรถตระเวนสายเหนือสั่งนักข่าว “อนุ เรืองเกษตร” ที่ผมเรียกว่า   “ปุ๊เฮีย”  เพราะอายุมากกว่าผม  ปุ๊เฮียเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์รุ่นเดียวกับพี่ทัศน์ สนธิจิตร แต่ยังเป็นนักข่าวรถตระเวนอาชญากรรมอยู่

ผมให้ปุ๊เฮียกับช่างภาพไปดักขึ้นรถด่วนที่บางซื่อให้คนขับนำรถไปรอที่หัวลำโพง    ปรากฏว่า ปุ๊เฮียกับช่างภาพทำงานได้ผลดีเลิศ มีเวลาอยู่บนรถไฟนาน ได้สัมภาษณ์ผู้ต้องหา   สัมภาษณ์ตำรวจ พร้อมภาพหลายช็อต ขณะที่นักข่าวทุกฉบับไปดักรอที่หัวลำโพง ไม่ได้รายละเอียดอะไร นอกจากภาพตำรวจนำผู้ต้องหาลงจากรถไฟ

ไม่อยากคุยหรอกครับว่า มันเป็นเรื่องของไหวพริบ ใครจะเหนือกว่ากัน

พี่เทพสิงโตเอาใจใส่กับข่าวมาก เข้าโรงพิมพ์แต่เช้า อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ     โดยเฉพาะข่าวของเดลินิวส์ พี่เทพสิงโตจะอ่านทุกบรรทัด ผมมักถูกเรียกไปยืนหน้าโต๊ะในห้องหัวหน้ากองบรรณาธิการ ถ้าข่าวบางชิ้นไม่สมบูรณ์ พี่เทพสิงโตจะตั้งคำถามว่า ทำไมไม่สั่งนักข่าวรถตระเวนให้เจาะประเด็นนั้นประเด็นนี้ เพื่อให้ข่าวมีรสชาติมากกว่าฉบับอื่น

ทุกคำถามที่ถูกจี้ไช ผมถือว่าเป็น “ครู” ผมจดจำและนำมาใช้เมื่อผมเติบโตขึ้นเป็นหัวหน้าข่าวหน้า  1 ไม่จำเป็นต้องจบนิเทศศาสตร์ที่เอาตำราสื่อสารมวลชนของฝรั่งมังค่ามาสอนเด็กไทย ความรู้แค่ ม.6  นี่แหละ  ผมมีประสบการณ์ด้านข่าวมากพอตัว

ผมมันคอแม่โขง ประเภทเหล้ากั๊กโซดาสองน้ำแข็งหนึ่ง บางวันไม่ได้เข้าเวรเลิกงานแล้ว     ผมจะมีคอเดียวกันไปกินเหล้าชมวิว อยู่บนบาทวิถีถนนราชดำเนินกลาง แถว ๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่นั่นมีร้านขายเหล้าขายกับแกล้มอีสาน มีรถเข็นขายผลไม้ มีรถราไม่มากนักแล่นผ่านไปผ่านมา

ถ้าไปกับ “อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์”  ไม่เปลืองกับแกล้ม ไม่ต้องสั่งลาบ หรือหมูน้ำตก    เพราะกับแกล้มของโปรดของอุโฆษมีอย่างเดียว มะยมดองครับ กรอกเหล้าเข้าปากแล้ว อุโฆษจะค่อย ๆ  แทะมะยมดองอย่างมีความสุข

ครั้งหนึ่งผมไปกับ “สุคนธ์ ชัยอารีย์” ก็แถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั่นแหละ มลภาวะยังไม่เป็นพิษเหมือนทุกวันนี้ มีลมพัดผ่านตลอดเวลา วันนั้นหมดไปหลายกั๊กติดลมครับ เมาแอ๋กันทุกสองคน ทีนี้ก็มีปัญหามันดึกแล้ว  เจ้าของร้านเขาจะปิดร้านเก็บโต๊ะเก้าอี้แล้วเราจะกลับกันอย่างไร

สุคนธ์เอารถเก๋งคันเล็กมาด้วย บ้านอยู่แถวโรงพยาบาลทหารเรือฝั่งธนบุรี เมาจนลืมตาไม่ขึ้นขับรถไม่ไหว ผมก็เมาพอ ๆ กันแถมขับรถไม่เป็นอีก ครั้นจะนอนบนบาทวิถีมันก็สังเวชตัวเอง     ตกลงเอายังงี้ครับ เอาน้ำแข็งที่เหลือลูบหน้าลูบตาพอให้ชุ่มชื่น

ให้สุคนธ์นั่งประจำที่คนขับ ผมนั่งข้างเป็นคนบอกทาง มุ่งหน้าไปโรงแรมเล็ก ๆ ที่อยู่ตรงข้ามโบสถ์พราหมณ์ ผมแป้นเด็กวัดสุทัศน์เทพวรารามจำได้ สุคนธ์เกาะพวงมาลัยมีหน้าที่บังคับพวงมาลัยตรงไป  ซ้ายขวาตามคำพูดของผม ดีที่รถราสมัยนั้นไม่มากมายอะไร

จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเข้าถนนดินสอ ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร แต่ใช้เวลาพอสมควร   อุตส่าห์ไปถึงโรงแรมจนได้  ผมต้องข่มความมึนเมาเอาไว้ ขืนฟิวส์ขาดอีกคนก็ยุ่งแน่ ประคองสุคนธ์เข้าไปในห้องได้ พอล้มตัวนอนสุคนธ์ก็อาเจียนทันที ยังดีที่นอนบนพื้นไม่ทันได้ขึ้นเตียง     ผมเรียกบ๋อยมายัดแบงก์ใส่มือ ให้เขาช่วยมาทำความสะอาด   อย่างน้อยก็ดับกลิ่นอาเจียนลงได้

          ก็เป็นเรื่องรา เมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา เอามาเล่าสู่กันฟังตามประสาคนแก่ที่ยังฝังใจกับความหลัง  ไม่อยากมองเบื้องหน้าในวัยที่ตัวเองกำลัง “นับถอยหลัง”

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES