“พวกผมทำงานกันแบบไม่มีคำว่า นาย ลูกน้อง เมื่อมันลงเรือลำเดียวกัน”

ถือเป็นตำนานนายพลมากคุณภาพประสบการณ์ครบเครื่องอีกคน

พล.ต.ท.ประกาศ ศาตะมาน อดีตผู้บัญชาการสำนักงานวิทยาการตำรวจ เกิดที่จังหวัดตรัง ตอนพ่อย้ายเป็นหัวหน้าศาลจังหวัดตรัง พออายุ 4 ขวบเข้ากรุงเทพมหานคร เริ่มต้นเรียนโรงเรียนวชิราวุธ กระทั่งจบมัธยมปลายสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เจ้าตัวย้อนความหลังว่า ไม่ได้ตั้งเป้าจะเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษา แม้ครอบครัวจะอยู่ในแวดวงตุลาการ จังหวะมาพลิกเพราะมีอาเป็นนายตำรวจ ถึงตัดสินใจเข้าอบรมเป็นนายตำรวจอยู่สำนักงานเลขานุการกรมตำรวจ มีท่านพงษ์อำมาตย์ อมาตยกุล เป็นพี่เลี้ยง จากนั้นเริ่มชีวิตตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติดที่ยังเป็นเพียงแค่ศูนย์ปราบปรามยาเสพติด ทำงานให้ ท่านเภา สารสิน

เส้นทางชีวิตข้าราชการ พล.ต.ท.ประกาศ เล่าว่า ส่วนใหญ่ทำงานด้านปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่ตอนนั้น ไต่เต้าย้ายเข้าสังกัดกองกำกับการ 7 กองปราบปราม รับผิดชอบงานยาเสพติดล้วนๆ เป็นรองผู้กำกับการจนขึ้นเป็นผู้กำกับการ 7 กองปราบปราม ดูแลปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศอำนาจเต็มมือ มีทั้งสืบสวน สอบสวน และจับกุม เหมือนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดในปัจจุบัน

“สมัยนั้นจะทำงานร่วมกับหน่วยดีอีเอของสหรัฐอเมริกา ตามพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ เน้นไปที่เฮโรอีน หน่วยปราบปรามยาเสพติดของอเมริกาจะเข้ามาช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้นคงทำได้ไม่เต็มที่ งบประมาณของไทยน้อยมาก ต้องอาศัยอเมริกัน มีเราคอยหาข่าวว่า ใครเป็นใครอยู่ตรงไหน ใครเป็นตัวการใหญ่ ยุคนั้นอเมริกาจะให้ความสำคัญกับข้อมูลกลุ่มผู้ค้าเฮโรอีนมาก” พล.ต.ท.ประกาศ ลำดับความทรงจำวัยหนุ่ม

“ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ สมัยก่อนจับแบบลูกทุ่ง ไม่มีอะไร เครื่องไม้เครื่องมือ อะไรต่ออะไร อาศัยใจรัก จับเสร็จก็หายเหนื่อย แต่ก่อนจะจับก็ไปเฝ้ากัน พวกเราไม่มีหัวหน้า ไม่มีลูกน้อง อะไรหรอก ทำงานเท่ากันหมด ขับรถไล่กัน ถ้ามันข้ามเกาะกลาง เราก็ข้ามเกาะไป ยิ่งกว่าในหนัง สนุกด้วย ลืมตัวด้วย ลืมว่ามีลูกมีเมีย พวกผมทำงานกันแบบไม่มีคำว่า นาย ลูกน้อง เมื่อมันลงเรือลำเดียวกัน ไปตามต่างจังหวัด ขึ้นรถ ลงเรือ ไล่ยิงกัน สารพัด เสียดายนะ ไม่ได้จด ไม่ได้เก็บอะไรไว้ เพราะไม่ได้คิดเอาดีตรงนี้”

เป็นผู้กำกับการ 7 กองปราบปราม ตามโครงสร้างเก่านาน 3 ปี ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองปราบปรามอีก 3 ปี ขยับขึ้นผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 4 ไม่กี่เดือนกลับมารับงานถนัดในบทผู้บังคับการประจำกรมตำรวจทำหน้าที่รองหัวหน้าส่วนปราบปรามยาเสพติด 2 ถึงเป็นผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ช่วยจเรตำรวจ แล้วเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขึ้นผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการสำนักงานวิทยาการตำรวจ ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2546

พล.ต.ท.ประกาศบอกว่า ทำงานไม่ได้หวังอะไรมาก อยู่มาได้จนเป็นผู้บัญชาการก็บุญแล้ว ประสบการณ์มีเยอะ ประทับใจหลายเคสที่ทำงาน แต่บางเรื่องเล่าไม่ได้ แม้คดีหมดอายุความแล้ว เช่น จับตัวการค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่สุดส่งให้สหรัฐอเมริกา ถึงขนาดอเมริกันต้องนำเครื่องบินมารับตัวเอง ทำงานจับผู้ต้องหาเครือข่ายค้ายาเสพติดเยอะมาก สมัยนั้นยังไม่มีเทคนิคอะไร ทำงานแบบลูกทุ่ง ไปจับสอบสวนขยายผลถามซื้อจากไหนก็ต่องาน พยายามเน้นจับตัวใหญ่

ถึงกระนั้นก็ตาม อดีตมือปราบยาเสพติดยอมรับว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดมีมานาน และเยอะมาก ถ้าจะจับกันจริงคงไม่มีทางหมด หากมีนโยบายการทำงานกันแบบนี้ มันปลายเหตุ ต้นเหตุมันอยู่ที่สถาบันครอบครัว สถาบันโรงเรียน เหมือนเด็กสมัยนี้ ปัญหาหนักที่สุด คือ โรงเรียน ปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าเรียน นั่นแหละ คือ ยุวอาชญากร ยกตัวอย่างเช่น แคมป์ก่อสร้าง พ่อโบกปูน แม่ทาสี อยู่อย่างนั้นปล่อยลูกไม่ได้เรียนหนังสือ

“อยากถามว่า ใครจะไปสอนเด็กพวกนี้บ้างว่า ตรงนี้ดี ตรงนี้ไม่ดี ศีล 5 คืออะไร ลักเล็กขโมยน้อยไม่ดียังไง กฎหมายว่าไว้ยังไงบ้าง พวกนี้โตขึ้นมาจ้าง 500 บาทก็ยอมทำผิดกฎหมายกลายเป็นคนไม่มีความคิด ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ยิ่งเรื่องยาเสพติดมันก็ง่าย มันก็ขายคนพวกนี้ แล้วถามว่า เอาเงินมาจากไหน ก็นั่นแหละ บ้านไหนมีทรัพย์สิน งัดรถ ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก เงินทั้งนั้น ผมยังคิดเล่นๆ เลยว่า ทำไมไม่ผลิตยาบ้าปลอมแข่งบ้าง”

นายพลวัยเกษียณมีอารมณ์ขันทว่าแฝงไปด้วยแนวคิดจริงจังว่า ขบวนการค้ายาเสพติดในตลาดผลิตสัก 20 ล้านเม็ด เราน่าจะออกข่าวว่า ว้าแดงกับว้าดำแย่งตลาดจนทะเลาะกัน ผลิดยาเสพติดผมไซยาไนด์ปล่อยสู่ตลาด หากมีศพถูกประหารชีวิต หรือศพไร้ญาติ ต้องบอกว่า ผ่าพิสูจน์ศพแล้วพบในร่างกายมีสารไซยาไนด์จากการเสพยาบ้า เป็นอีกหนทางแก้ปัญหาให้ลูกค้าเข็ดขยาด เราต้องทำให้ยาเสพติดมันไร้ค้า

อีกส่วนหนึ่ง พล.ต.ท.ประกาศว่า ต้องปลูกฝังเด็กอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ผู้ว่าฯ มีใครบ้างไหมที่จะรณรงค์สอนเด็กให้เห็นยาบ้าว่า เป็นยังไง อันตรายมากน้อยแค่ไหน ยิ่งโรงเรียนสำคัญมาก เด็กสมัยนี้ไปเรียนหนังสือมีการปลูกฝังให้คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อก เดี๋ยวนี้ถ้าผู้ใหญ่ไม่ใส่เข็มขัด เด็กว่าเลยนะ มันได้ผล ฉันใดก็ฉันนั้น มันต้องทำ “ไม่ใช่อะไรๆ ก็ตำรวจ อะไรก็ตำรวจ ตำรวจไม่มีหน้าที่ไปสอนเด็ก อย่าสูบ อย่ากินยาบ้า อย่าฉีดเฮโรอีนนะ แต่หน้าที่สอนตรงนี้มันหน้าที่อีกหน่วยหนึ่ง เป็นหน้าที่สื่อมวลชน เป็นหน้าที่ครู ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ว่าตอนนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็มาขายเองอีก อะไรทำนองนี้ นี่คือทางแก้”

“ ไม่ใช่พยายามเรียกมาประชุมร่วมกันทุกหน่วยเพื่อปัญหายาเสพติด กลายเป็นว่า ประชุมเสร็จก็หอบแฟ้มกลับไป ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่อะไรๆ ก็ตำรวจ ตำรวจมันมีหน้าที่ไปสอนได้ยังไงว่าอย่าไปเสพยาบ้านะ มีแต่ไปจับ มีแต่พระเดช เพราะฉะนั้นโรงเรียนต้องทำ เดี๋ยวนี้ก็ทำมากเกี่ยวกับวินัยจราจร ผมมองว่า ได้ผลนะ แต่หลักสูตรให้หน้าที่ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นของตำรวจการแก้ปัญหาเหล่านี้ผิดมาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว ผิดมาตั้งแต่ลูกร้องไห้ก็ขู่ว่า เดี๋ยวจะเรียกตำรวจมา ก็เกลียดตำรวจมาตั้งแต่เด็ก” อดีตผู้บัญชาการสำนักงานวิทยาการตำรวจสีหน้าจริงจัง

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ประกาศ ยังมีมุมมองถึงองค์กรตำรวจยุคปัจจุบันว่า ตำรวจยุคใหม่น่าสงสารนะ เพราะชีวิตทุกคนก็อยากจะเติบโต แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามทำนองครองธรรมเท่าที่ควร ไม่ต้องอะไรมาก ตำรวจแก้นิดเดียว คนที่ไต่เต้ามาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  พอจะแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติบอกเอาใครก็ได้ สมมติว่า เอาคนที่ 5 เป็นแล้วอีก 4 คน ไม่ดีตรงไหน ถ้าอธิบายได้ ต้องกรรมการสอบสวนให้พักราชการ ให้ออกจากราชการ แสดงว่า ไม่ดี ถึงไม่ได้เป็นผู้นำองค์กร

พล.ต.ท.ประกาศแนะว่า จำเป็นต้องเน้นอาวุโสตามลำดับ ใครก็ตามเป็นนักการเมืองคุมตำรวจไม่ตั้งอาวุโสลำดับ 1 ต้องมีความผิด เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และต้องตั้งได้ภายใน 30 วัน หลังจากคนเก่าพ้นตำแหน่ง ถ้าเกินกว่านั้น ต้องมีเหตุผลแล้วให้เวลาอีกไม่เกิน 15 วัน ถ้าไม่ตั้ง ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากแบบนี้ไม่มีใครวิ่งไปหาการเมืองเลย ทุกคนจะตั้งใจทำงาน ผู้บังคับบัญชาลำดับล่างก็จะนับถือ

“แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ ผู้บัญชาการสั่งรองผู้บัญชาการ หรือผู้บังคับการไม่ได้ เพราะไม่กลัว ถูกไหม มันถึงต้องแก้ตรงนี้นิดเดียวเท่านั้น ตำรวจจะเข้าแถวหมดทั้งประเทศ ต้องดูเรื่องอาวุโส คนที่เป็นผู้บัญชาการแล้วมาขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะบอกว่า ไม่มีความเหมาะสมถ้าเรียงตามอาวุโส ไม่เห็นต้องนั่งแก้อะไรเลย แค่นี้เอง”

เจ้าตัวมีความเห็นอีกว่า ปัญหาทั้งหมด คือ การเมืองเข้ามาครอบงำแล้วตำรวจก็ต้องไปเข้าหาการเมือง ไม่อย่างนั้นเขาไม่ตั้งเรา หลังจากผู้บัญชาการคนเก่าพ้นตำแหน่ง คนที่ยังเป็นรองผู้บัญชการอยู่ก็ต้องมองแล้วว่า ใครจะมาเป็นต่อ สุดท้ายก็ต้องไปวิ่งเกาะหลังนักการเมือง พวกการเมืองก็อยากตั้งพวกตัวเองเป็น แปลกที่ทำไมองค์กรตำรวจไม่ทำเหมือนเลือกประธานศาลฎีกา เขารู้ล่วงหน้าเลยว่า 20 ปีต่อไปใครจะเป็น แต่ระหว่างนั้นอยู่ที่บุญวาสนา ความประพฤติ หรือตายไปก็เลื่อนลำดับกันไป ไม่เห็นจะยุ่งเลย

“ ถ้าตำรวจเป็นแบบนี้นะ จบเลย ใช่ไหม แต่ความจริงมันทำไม่ได้ เพราะว่า สมมติ ผมเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องเป็นคนของผม ไม่อย่างงั้นเดี๋ยวโดนจับกันฉิบหายหมดเลย ใช่ไหม ไม่ได้คิดเอาหัวใจของประชาชนคนไทยมาเลยว่า พวกเขาต้องการอะไร” พล.ต.ท.ประกาศสะท้อนความจริง

เขายืนยันแนวความคิดว่า ถ้าใครที่เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องเรียงลำดับอาวุโสออกเป็นกฎหมาย เป็นพระราชบัญญัติตำรวจว่า การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องเป็นไปตามอาวุโส เว้นแต่มีความผิดต้องชี้แจงเหตุผล หากมีการกล่าวหา ไม่เหมาะสม ให้ตั้งกรรมการสอบสวน มีประธานศาลฎีกา ศาลปกครองมาสอบเลย ถ้าผิด ไม่ใช่ย้าย ต้องออกจากราชการ เป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้ รับรองว่า ตำรวจอยู่ในแถวหมด ไม่มีการข้ามอาวุโส

อย่างไรก็ดี อดีตนายพลตำรวจผู้ช่ำชองในยุทธจักรสีกากียกหลักการแค่ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับนายตำรวจระดับล่างที่อาจต้องมีข้ามอาวุโสกันบ้าง เพราะบางทีมีช้างเผือก ทำงานเก่งก็ต้องได้รับการพิจารณาขึ้นมา เพราะองค์กรยังต้องการคนเก่งด้วย ทั้งความรู้ความสามารถ และอาวุโสควบคู่กันไป แต่เมื่อมาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วต้องดูอาวุโสเป็นหลัก อย่าบอกไม่เหมาะสม ไม่มีความสามารถเป็นผู้นำ ฟังแล้วมันขัดกัน

ทิ้งท้าย พล.ต.ท.ประกาศ อยากจะฝากตำรวจรุ่นน้องไว้ด้วยว่า การทำหน้าที่ต้องระมัดระวังเรื่องอารมณ์คำพูด กิริยาท่าทาง เนื่องจากเป็นยุคของสังคมสื่อสาร สังคมไลน์ สังคมเฟซบุ๊ก พร้อมจับผิด พร้อมแชร์ได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันให้พยายามหาอาชีพเสริมด้วย ลำพังที่ว่าจะซื่อสัตย์สุจริตแล้วจะอยู่ได้โดยเงินเดือนเท่านั้น ชาติหน้าบ่ายๆ เถอะ

“เป็นตำรวจปืนก็ต้องซื้อเอง วิทยุสื่อสารก็ต้องซื้อเอง โต๊ะ เก้าอี้ โยกย้ายทีต้องซื้อใหม่หมด ถ้าของหลวงไม่มี จบเป็นนายร้อยมาก็ต้องดิ้นรน เริ่มต้นด้วยซื้อมอเตอร์ไซค์ แล้วก็พยายามหารถ แล้วเงินจะเอาจากไหนล่ะ ผู้บังคับบัญชาควรแก้ตรงนี้ ต้องให้ความสำคัญตำรวจที่สัมผัสกับประชาชนตามโรงพัก ต้องให้เขาเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นรถ น้ำมัน ค่าใช้จ่ายในการสืบสวน ต้องป้อนเขาเต็มที่”

นายพลตำรวจรุ่นเก่าว่า ผลพวงอีกส่วนมาจากการแต่งตั้งโยกย้าย โรงพักหนึ่งมีรองผู้กำกับการ 5 คน แต่ผู้กำกับสั่งใครไม่ได้สักคน เพราะรองคนนั้นเป็นเด็กผู้ใหญ่คนนี้ คนโน้น แบบนี้จะบริหารกันได้อย่างไร ความจริงต้องให้อำนาจผู้กำกับเลือกทีมของตัวเองไม่ว่าจะเป็นรองผู้กำกับ สารวัตร แต่ถ้าทำไม่เข้าตาก็ไปกันทั้งทีม ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องให้เงินสืบสวน มีเงินทำคดี มีเงินให้สายลับ ฆ่ากันในเขตพญาไท ผู้ต้องหาหนีไปเพชรบุรี สายสืบต้องตามไปจับ ก็ต้องมีเงิน ไม่ใช่ให้ออกไปก่อน

“เราต้องมีมาตรฐาน ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างหาทุนไปเอง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นล่ะ ผู้ประกอบการก็โดนขอค่าน้ำมัน เฮียขอตรงนี้หน่อยกลายเป็นบุญคุณ แล้วศักดิ์ศรีอยู่ที่ไหน ทั้งที่ความจริงเขาไม่ได้มีเจตนาจะรีดไถนะ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้ยังไง ถ้าผู้ใหญ่มุ่งเฉพาะโรงพัก เท่ากับช่วยประชาชนได้ถูกจุดที่สุด ไม่ใช่ชาวนาไปแจ้งความโรงพัก ควายผมหายครับ เมื่อมาก็ต้องไปตามให้ เป็นตำรวจของประชาชน ไม่ใช่ไปยุ่งกับพรรคการเมือง วิ่งเต้นหาตำแหน่งดี ๆ ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ก็แก้ไม่ได้”  

ประกาศ ศาตะมาน !!!

RELATED ARTICLES