(14)  เดลินิวส์สะบึม – ไทยรัฐสะท้าน

มุนเวลาย้อนอดีตเมื่อ 38 -39 ปี ประเทศไทยมีหนังสือพิมพ์รายวันไม่กี่ฉบับ ที่ว่า “ไม่กี่ฉบับ” นั้น ผมยอมรับว่าจำไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ  ก็คือ…. “ไทยรัฐ” เป็นยักษ์ใหญ่ และ “เดลินิวส์” เป็นยักษ์เล็ก    

ผมสังกัดยักษ์เล็ก ปักหลักที่ถนนสี่พระยา มีสิงโตเทพ “สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช”     เป็นแม่ทัพ

แม้จะเป็นยักษ์เล็ก แต่การทำงานทุกภาคส่วนของเรา “สนุกมากครับ” ทุกคนรู้ดีว่าเรากำลังแข่งขันกับใคร เป้าหมายอยู่ตรงไหน ไม่ต้องบอกกล่าวหรือย้ำเตือน

ไม่รู้คณะวารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เขาสอนลูกศิษย์เรื่องธุรกิจหนังสือพิมพ์ว่าอย่างไร หรือเปรียบเทียบธุรกิจหนังสือพิมพ์เหมือนอะไร แต่ในความเป็นจริงที่สัมผัสมา      ผมคิดว่าเหมือนกับ “ขายข้าวแกง” อยากให้ลูกค้าเข้าร้านมาก ๆ เคล็ดลับอยู่ที่ทุกชีวิตในร้านนั้น    ต้องมีคุณภาพมีความสามารถในภารกิจที่รับผิดชอบ

นักข่าวแต่ละแผนก ไม่ว่าจะเป็นข่าวอาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาบันเทิง    หรือข่าวกีฬา เหมือน “คนจ่ายตลาด” ต้องเลือกเฟ้นเอาแต่ “ของสดมีคุณภาพ” หิ้วตะกร้ากลับเข้าร้าน

กองบรรณาธิการโดยหัวหน้าข่าวแต่ละแผนกเป็น “พ่อครัวแม่ครัว” สำแดงฝีมือจัดการต้มยำทำแกง ปรุงรสชาติให้ถูกปากคนกิน มีรสเปรี้ยวหวานมันเค็มและเผ็ดร้อนอยู่ในฉบับ     หัวหน้ากองบรรณาธิการมีสถานะเป็น “หัวหน้าเชฟ”

กองจัดการมีหน้าที่ขายข้าวแกงร้อน ๆเอาสินค้าไปเสิร์ฟให้ลูกค้าทุกจังหวัดอย่างเร่งด่วน

ธุรกิจหนังสือพิมพ์จึงเหมือนกับขายข้าวแกงเป็นสินค้าที่ต้องพยายามขายให้หมด หรือเหลือน้อยที่สุด ถ้าพ้น  24  ชั่วโมงไปแล้ว สินค้าจะบูดเน่าจึงต้องผลิตกันวันต่อวัน เพียงแต่การขายข้าวแกงจะได้เปรียบหนังสือพิมพ์อยู่นิดหนึ่ง ถ้าขายไม่หมดก็อุ่นไว้ขายในวันรุ่งขึ้นได้ แต่หนังสือพิมพ์ทำอย่างนั้นไม่ได้

ทำหนังสือพิมพ์วันที่  1 เพื่อขายวันที่ 2 หนังสือพิมพ์ที่ขายในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเป็นฉบับประจำวันที่ 2 แต่ถ้าต่างจังหวัดที่ต้องใช้เวลาในการขนส่งด้วยรถยนต์จะเป็นฉบับประจำวันที่ 3 ลงวันที่ล่วงหน้าเพื่อให้เป็นของใหม่เท่านั้น

อย่างที่บอกไว้ เดลินิวส์ยุคนั้นทำงานสนุกครับ คนจ่ายตลาดก็สนุก พ่อครัวแม่ครัวก็สนุก      คนขายก็สนุก เพราะยอดลูกค้าเพิ่มขึ้นทุกวันทุกเดือน จะเรียกว่าทำงานไปร้องเพลงไปก็ได้ในทำนองนั้น

ทั้งนี้ต้องยกนิ้วให้กับความสามารถของหัวหน้าเชฟ “สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช”

พี่เทพสิงโตเข้าโรงพิมพ์ทุกวันและทุกเช้า ไม่ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แต่รู้ได้ในไม่กี่นาทีว่า วันนี้เดลินิวส์ตกข่าวอะไรบ้าง และมีข่าวเด่นที่ทุกฉบับไม่มีเป็นข่าวอะไร เพราะบนโต๊ะจะมีรายงานวางอยู่

เป็นตารางรายงานเปรียบเทียบข่าว เช้านั้นหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีข่าวอะไรบ้าง และเดลินิวส์มีข่าวอะไรบ้าง

สมมติเดลินิวส์ตกข่าวอาชญากรรม คนจ่ายตลาด คือ นักข่าวรถตระเวนจะถูกเรียกเข้าห้องหัวหน้ากองบรรณาธิการให้ชี้แจงว่าตกข่าวนี้เพราะเหตุใด  จากนั้นหัวหน้าข่าวอาชญากรรมจะถูกเรียกไปสัมมนาเป็นคนที่สอง

พี่เทพสิงโตถือว่า การตกข่าว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เป็นความผิดใหญ่หลวง ต้องมีการลงโทษจากเบาไปหาหนัก

แต่ถ้าเป็นข่าวเดี่ยวที่ฉบับอื่นไม่มี นักข่าวคนนั้นจะได้รับรางวัลเชิดชูเป็นกำลังใจด้วยการให้ซองขาวที่มีธนบัตรปึกใหญ่อยู่ในนั้น ไม่ใช่โล่ หรือประกาศนียบัตรที่กินไม่ได้

“สอน สุขบรรจง” นักข่าวตระเวนอาชญากรรมเคยถูกสิงโตเทพเรียกเข้าห้อง ไม่ได้ให้ไปรับรางวัล แต่เพราะตกข่าว สอนบอกว่า ตอนไปยืนหน้าโต๊ะพี่เทพสิงโตถึงกับ “เหงื่อแตก” ทั้ง ๆ  ในห้องนั้นเย็นฉ่ำด้วยแอร์

ตกข่าวครั้งแรกจะถูกคาดโทษ  หากมีครั้งต่อมาจะเจอมาตรการไม่ให้ลงรถตระเวนข่าว     ไม่ได้เบี้ยเลี้ยงตระเวนข่าว ให้มานั่งในกองบรรณาธิการสุดแล้วแต่หัวหน้าข่าวจะใช้งาน ขั้นต่อไปคือ “ตัดเงินเดือน” และถ้ายังไม่หลาบจำก็มาสิ้นสุดที่มาตรการสุดท้าย “ตัดหาง” ไล่ออก

หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับต้องมี “เสน่ห์” ของตัวเอง เสน่ห์ที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องข่าว ใครจะมีสกู๊ปเด็ด ๆ ซึ่งการหาข่าวไม่มีการแข่งขัน หรือชิงดีชิงเด่นเหมือนสมัยก่อน เพราะมีการลอกข่าวกันแล้ว

แต่เสน่ห์นั้น คือ คอลัมน์ต่าง ๆ อย่างเช่น ข่าวสังคมซึ่งมีกันทุกฉบับ และต้องอยู่หน้า 4   เหมือนกัน (ไม่รู้เพราะอะไร) คนเขียนคอลัมน์นี้ต้องมีสำบัดสำนวน “โดนใจ” หน้า 4 ของเดลินิวส์ “สิงโตฮึ่มฮึ่ม”  จากปลายนิ้วบนแป้นพิมพ์ดีดของพี่เทพสิงโตจึงกลายเป็นพระเอก

นอกจากนี้พี่เทพสิงโตยังเปิดคอลัมน์ประเภทใกล้ตัวคนอ่านมากที่สุด เรียกว่า ตอบปัญหาทางเพศก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อเขียนจากประสบการณ์ของตัวเอง พี่เทพสิงโตใช้นามปากกา    “ชมพู ชูพวง”

อีกคอลัมน์ที่นับว่า เป็นเสน่ห์ของเดลินิวส์ เป็นของ “สมชาย ฤกษ์ดี” หัวหน้าข่าวอาชญากรรม ใช้นามปากกา “กระเบนธง” ฟาดฟันคนชั่วไม่ว่า ตำรวจทหารหรือผู้มีอิทธิพลด้วยสำนวน “หวายแช่เยี่ยว” ที่เจ้าตัวประกาศชัด

สกู๊ปข่าวที่ฉุดเดลินิวส์ให้ผงาดเทียบยักษ์ใหญ่ เป็นคดีรถเบนซ์หนีภาษี ตัวละครที่เกี่ยวข้องพัวพัน มีทั้งนายพลทหาร และพระภิกษุ ฮือฮากันมากครับ เดลินิวส์ใช้ความพยายามไปสัมภาษณ์บุคคลเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมาก

วงการเซเลบระดับไฮโซใน พ.ศ.นี้มีชื่อ “ศุภลักษณ์ ตัณฑาภิชาติ” อยู่แถวหน้า แต่หมุนเวลาย้อนหาอดีตใน พ.ศ.นั้น ศุภลักษณ์เป็นช่างภาพสังคมของเดลินิวส์ ศุภลักษณ์ถูกใช้ให้ไปสัมภาษณ์พระรูปหนึ่ง เป็นราชาคณะชั้นต้น ชื่อเสียงโด่งดังคนรู้จักกันทั่วประเทศ และมีชื่อเกี่ยวกันกับคดีนี้

เดลินิวส์เอาใจเราไปใส่ใจผู้อ่าน แน่นอนทุกคนอยากรู้ว่าเจ้าคุณรูปนี้จะบอกกล่าวกับสังคมอย่างไร เดลินิวส์เห็นว่า ศุภลักษณ์ใช่แต่กดชัตเตอร์เป็นเท่านั้น แต่มีความสามารถของนักข่าวอยู่ในตัวจึงให้ศุภลักษณ์ไปทำข่าวนี้ เพราะเป็นผู้หญิงมีความอ่อนโยนอ่อนหวาน เป็นคุณสมบัติที่คิดว่า เจ้าคุณคนดังคงไม่ปฏิเสธ

ศุภลักษณ์สะพายกล้องเข้าวัดมหาธาตุ แต่เจ้าคุณไม่เปิดประตูต้อนรับ ในที่สุดศุภลักษณ์ใช้ลูกตื้อไปนั่งอยู่ข้างกุฏิ รอจังหวะเจ้าคุณเปิดหน้าต่างจะได้ขอสัมภาษณ์  ซึ่งเจ้าคุณรูปนั้นก็เปิดหน้าต่างโผล่หน้ามาทักทาย

“เป็นยังไงโยม สบายดีไหม” ยังไม่ทันที่ศุภลักษณ์จะเอ่ยปาก เจ้าคุณก็ปิดหน้าต่างทันที     ศุภลักษณ์ไม่สามารถนั่งรอจนมืดจนค่ำจึงต้องล่าถอยกลับโรงพิมพ์

เจ้าคุณรูปนั้นชื่อ “กิตติวุฒโฑ” ครับ

ศุภลักษณ์ลาออกจากเดลินิวส์ไปทำงานโรงแรมอิมพีเรียลของเสี่ยใหญ่ “อากร ฮุนตระกูล”  ปัจจุบันศุภลักษณ์เป็นตั้วเจ๊ในแวดวงโฮโซไฮซ้อเมืองไทย

ทางด้านข่าวการเมืองก็เข้มข้น “ชะลอ อยู่เย็น” เป็นหัวหน้าข่าว มีเหยี่ยวข่าวหญิงที่นักการเมืองทุกคนให้ความเคารพนับถืออย่างจริงใจ เธอคือ “วิภา สุขกิจ” ผมเรียกเธอว่า   “เจ๊วิภา”

เจ๊วิภาชอบทำอาหารเลี้ยงผู้คนในกองบรรณาธิการที่เรียกว่า ทำอาหารนั้นเจ๊ลงมือทำเอง     มีเครื่องครัวครบครันอยู่ในกองบรรณาธิการ เจ๊จะมีความสุขเมื่อเห็นทุกคเอร็ดอร่อยกับฝีมือปลายจวักของเธอ

ยามว่างจากงานประจำจะมีวงรัมมี่อยู่ในห้องหัวหน้าข่าวการเมือง เจ๊วิภาเป็นตัวยืน ผมมักจะร่วมวงอยู่เสมอ เจ๊เป็นมือระดับสโมสรรัฐสภา รัมมี่แต้มละ  1 บาทถือเป็นเรื่องธรรมดา     เมื่อมาเล่นกับน้องนุ่งแต้มละ 10  สตางค์ เจ๊วิภาชอบน็อกมืด เก็บไพ่ได้เธอก็ไม่เก็บจึงบ่อยครั้งที่เจ๊ลบมืด

ผมมีรายได้พิเศษจากรัมมี่วงนี้ครับ เจ๊วิภาดูมีความสุขอีกอย่างที่เสียเงินในวงรัมมี่แต้มละ  10  สตางค์ วันละเป็นร้อย ผมก็มีความสุขที่ได้กินเงินเจ๊ แต่รัมมี่วงนี้ไม่ยืนยง เมื่อพี่เทพสิงโตมาขอร้องกลัวจะตกเป็นขี้ปากของนักข่าวเด็ก ๆ เอาไปนินทาลับหลัง ผมเลยขาดรายได้พิเศษตรงนี้ไป

ข่าวกีฬาก็ใช่ย่อย  “ร.ต.อ.มานิตย์ ลือประไพ” นายตำรวจนอกราชการ นักเรียนนายร้อยอบรมรุ่น 14 รุ่นเดียวกับ ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ เป็นหัวหน้าข่าว พรั่งพร้อมด้วยทีมงานแข็งโป๊ก

ข่าวบันเทิงก็ซู๋ซ่ามีทีเด็ดอยู่ไม่วางเว้น “นคร วีระประวัติ” เป็นหัวหน้าข่าว

เมื่อเดลินิวส์ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ แต่มั่นคงทุกย่างก้าว แม้จะไม่ดังเหมือนกับจุดพลุ แต่ก็ทำให้ไทยรัฐสะท้านสะเทือนมิใช่น้อย เพราะฝ่ายจัดจำหน่ายของไทยรัฐเขาเช็กตลาดอยู่ตลอดเวลา เอาไว้เมื่อถึงตอนผมอยู่ไทยรัฐจะเล่าให้ฟัง

จู่ ๆ คนดังของไทยรัฐระดับขุนพล 2  คนก็ควงแขนกันมาอยู่เดลินิวส์

“โกวิท สีตลายัน” กับ “ระวิ โหลทอง”

ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ ทั้งสองเป็นกำลังสำคัญของไทยรัฐอย่างไร และก็ไม่ต้องสงสัยว่าทำไม “กำพล วัชรพล” ผอ.ใหญ่ไทยรัฐ มีแผนอะไรในใจ

เมื่อพี่เทพสิงโตยอมรับคนสนิทของ “ป๊ะกำพล” เข้ามาร่วมชายคาเดลินิวส์ พวกเราก็ยังทำงานเป็นปกติ และสนุกกับงานเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“โกวิท สีตลายัน” มาช่วยงานด้านข่าวสังคมและบันเทิงตามความถนัด ส่วน “ระวิ โหลทอง” ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกีฬามาทดลองเป็นหัวหน้าข่าวหน้า  1 เป็นครั้งแรกที่เดลินิวส์ ผมจึงได้รู้จักเฮียโกวิทกับคุณระวิเป็นครั้งแรก

เท่าที่ได้สัมผัสในช่วงเวลาไม่มากนัก ทั้งสองเป็นสุภาพบุรุษในวงการหนังสือพิมพ์ครับ     เมื่อมาอยู่เดลินิวส์ระยะหนึ่ง ทั้งสองก็กลับไปอยู่ไทยรัฐตามเดิม นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังควรรับรู้

แต่ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญเกิดจากคนชื่อ “สุเทพ  เหมือนประสิทธิเวช”

คืออย่างนี้ครับ เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า วันที่ 5 มีนาคมเป็นวันนักข่าว

ครั้งกระนั้น สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยอยู่ที่อาคารถนนราชดำเนินกลาง ทุกวันที่  4   มีนาคม นักข่าวทุกสำนักจะไปรวมตัวกันที่นั่น ทำการเลือกนายกสมาคมนักข่าวฯ และกรรมการชุดใหม่เสร็จแล้วมีการเลี้ยงสังสรรค์กันตรงนั้น ใช้บาทวิถีหน้าสำนักงานสมาคมเป็นที่จัดเลี้ยง

มีซุ้มอาหารที่หน่วยงานต่าง ๆ  ส่งมา ไม่มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่ง พวกเราถือแก้วเหล้าเดินสังสรรค์ทักทายเพื่อนฝูง ดื่มกินสรวลเสเฮฮา เด็ก ๆ ในละแวกนั้นก็มาเอาอาหารกลับไปกินที่บ้าน      จนกระทั่งพลบค่ำจึงแยกย้ายกัน บางสำนักจะพาพลพรรคไปพักผ่อนต่างจังหวัด

เพราะวันที่  5 มีนาคม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะหยุดงาน หนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่   6 มีนาคมไม่มีจำหน่าย เป็นที่รู้กันยาวนานหลายสิบปี แม้เดลินิวส์ก็ถือปฏิบัติตามธรรมเนียมนั้น

พี่เทพสิงโตนี่แหละ ยกพลพรรคไปฉลองวันนักข่าวแถวชายทะเลในวันที่ 4 มีนาคม เมากันเละในคืนนั้น ไม่มีภารกิจอะไรมากวนใจนอกจากดื่มกินให้สำราญ เพราะรุ่งขึ้นวันที่  5   มีนาคม พวกเราไม่ต้องทำงาน

อยู่ ๆ พี่เทพสิงโตก็ปฏิวัติวันนักข่าว เดลินิวส์เป็นฉบับแรกที่ไม่หยุดการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นวันนักข่าว หรือวันไหน ๆ  ก็ตาม เรียกว่า ทำงานกัน 365 วันไม่ว่างเว้น

ตอนนั้นก็มีเสียงคัดค้านเสียงประณามจากวิชาชีพเดียวกัน แต่พี่เทพสิงโตไม่ใส่ใจ     เพราะยึดหลักว่า ประชาชนต้องได้อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน

แล้วทุกวันนี้เป็นยังไง มีฉบับไหนที่หยุดงานวันนักข่าว

วิญญาณที่เทพสิงโตคงมีความสุขในสรวงสวรรค์

แต่เสน่ห์วันนักข่าวที่เคยสุขสำราญกันริมถนนราชดำเนินกลาง หรือแม้กระทั่งย้ายสมาคมมาอยู่ถนนสามเสนจัดงานวันนักข่าวกันที่นั่น บรรยากาศเหล่านั้นเลือนหายไปหมดสิ้น เมื่อนักข่าวนักหนังสือพิมพ์รุ่นต่อมา ยกระดับจิตวิญญาณตัวเองไปจัดงานในโรงแรมหรูหรา

ผมไม่เคยไปร่วมงานของสมาคมนักข่าวที่ไปจัดกันในโรงแรม แต่ผมยังจ่ายค่าบำรุงให้สมาคมอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งวาระสุดท้ายของการทำงาน ไม่เคยได้อะไรจากสมาคมเลย

กลายเป็นหมาไล่เนื้อเขี้ยวกร่อน ตราบเท่าทุกวันนี้

RELATED ARTICLES