ใครพรากความยุติธรรมไปจากเขา

หากภพภูมิมีจริงพ่อลูกคงได้มีโอกาสไปเจอกันแล้ว

มันเป็นชะตากรรมที่เลวร้ายสำหรับ “หัวอกคนเป็นพ่อ” เฝ้าอุ้มชูเลี้ยงดูลูกน้อยมาตั้งแต่แบเบาะ ประคมประหงมจนเด็กน้อยเติบโตสู่ช่วงชีวิตวัยรุ่น

ก่อนที่ “ความตาย” จะพรากลูกรักไปตลอดชีวิต

พ่อหัวใจสลายพยายามทำทุ่มเททุกวิถีทางเพื่อ “ทวงคืนความยุติธรรม” ให้ลูกชาย สุดท้ายต้องเลือก  “ฆ่าตัวตาย” ตาม เมื่อตามหาความเป็นธรรมไม่เจอ

แล้วใครที่พรากความยุติธรรมไปจากครอบครัวเขา

เป็นบทสะท้อนกระบวนการ “ตาชั่ง” เมืองไทยว่าเกิดอะไรขึ้นกับคดีฆ่า นายธนิต หรือเต้ ทัฬหสุนทร ขยายผลต่อเนื่องทำให้ นายศุภชัย ทัฬหสุนทร ผู้เป็นพ่อต้องกระโดดชั้น 8 อาคารศาลอาญา ลงมาเสียชีวิต

หลังจากศาลชั้นต้นยกฟ้อง นายณัฐพงษ์ หรือโจ้ เงินคีรี จำเลยในคดีฆาตกรรม

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องลงมากำชับด้วยตัวเองเพื่อคลายข้อกังขา มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มอบหมาย พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล เป็นคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง

ขณะที่ “ตำรวจโรงพักดินแดง” ต้นเรื่องปิดปากสนิท

ตั้งแต่เหตุเกิดวันที่ 15 เมษายน 2559 ฝ่ายสืบสวนสอบสวนโรงพักดินแดง เดินหน้าหาพยานหลักฐานกระทั่งจับกุม นายณัฐพงษ์ หรือ โจ้ เงินคีรี และเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีอีกรายเป็นคนร้ายในคดีฆ่าผู้อื่น

ไม่มีกองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 1 หรือ กองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล ลงไปร่วมไขคดี

อีกทั้งไม่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ

ปัญหามาเกิดขึ้นตรงที่ นายพีรวิชญ์ หรือ ตง ปุตตะจินารักษ์ อายุ 21 ปี ประจักษ์พยานปากสำคัญไม่มาขึ้นศาล อ้างมีอาการทางจิตต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ไม่สามารถมาเบิกความในชั้นศาลได้ และมีใบรับรองแพทย์มายืนยืน

เป็นพยานปากเดียวที่หายไปทำให้สำนวนคดีอ่อนยวบ

ส่วนพยานปากอื่นไม่มีมาเบิกความสนับสนุนข้อกล่าวจำเลยเช่นกัน ทั้งที่เหตุการณ์วันดังกล่าวเป็นการทำร้ายร่างกายกลายเป็นเหตุชุลมุน

เรื่องนี้ นายณัฐพงษ์ หรือโจ้ เงินคีรี จำเลยได้โอกาสออกมาพูดต่อสื่อมวลชนปฏิเสธเกี่ยวข้อง แต่ตำรวจกลับจับกุมดำเนินคดี

ซัด “ตำรวจจับแพะ” ทำลายความน่าเชื่อถือต้นธารของกระบวนการยุติธรรมฉาดใหญ่

เมื่อตำรวจมี “ต้นทุนทางสังคมต่ำ” ทำให้วาทกรรมหลากหลายกลายเป็น “ภาพติดลบ” อยู่เป็นประจำ

ไม่ได้มองถึงกระบวนการต่อสู้ทางคดี

บางที คนที่ถูกตัดสินว่า “ไม่ผิด” อาจไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ แต่หลุดข้อกล่าวหา เพราะขาดหลักฐานเอาผิดก็มีถมไป

 

 

RELATED ARTICLES