ตราพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ (3)

ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นนำไปประกอบการพิจารณา

เหลือเวลาถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2561

ไม่รู้เหมือนกันว่า หลายคนศึกษารายละเอียดได้ลึกซึ้งขนาดไหน และเห็นว่าเหมาะหรือไม่จะนำมาใช้ปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตามแบบฉบับ “เฒ่ามีชัย ฤชุพันธ์” ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร

ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกบทของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ขออนุญาตว่ากันต่อถึง ลักษณะ 4 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ร่างกฎระเบียบ “ใหม่เอี่ยมอ่อง” ที่มองกันว่าจะปลดเปลื้องระบายทุกข์ผดุงความยุติธรรมแก่ข้าราชการตำรวจที่โดนรังแกจากผู้บังคับบัญชา

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ ระบุชื่อย่อ “ก.พ.ค.ตร.”ไว้ในมาตรา 25  ประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวนเจ็ดคนที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 27

กรรมการทั้งหมดต้องทำงานเต็มเวลา

ให้เลขาธิการคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน และผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้ช่วยเลขาธิการของ ก.พ.ค.ตร.

คณะกรรมการทั้งหมดที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

มีหน้าที่และอำนาจ ตั้งแต่ เสนอแนะต่อคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 129 (2) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามมาตา 136 พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมตามมาตรา 138 เป็นต้น

ตามมาด้วย ลักษณะ 5 คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เรียกโดยย่อว่า “ก.ร.ตร.” มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ

คณะกรรมการชุดนี้จะประกอบด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประชุมร่วมกันคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน ผู้เคยรับราชการในตำแหน่งตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือเทียบเท่าขึ้นไปและได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการจำนวนหนึ่งคน

ผู้เคยรับราชการตำแหน่งตั้งแต่อัยการพิเศษศาลอุทธรณ์หรือเทียบเท่าขึ้นไปและได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการอัยการจำนวนหนึ่งคน ผู้เคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไปจำนวนสามคน ที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติคัดเลือกจากบุคคลและวิธีการที่กำหนดในมาตรา 36

นอกจากนี้ยังมี ทนายความที่ประกอบอาชีพทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปี สภาทนายความจะเป็นผู้คัดเลือกมาจำนวนหนึ่งคน และผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลสองคน ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลคัดเลือกที่อย่างน้อยต้องเป็นสตรีหนึ่งคน

มาตรา 42 ระบุไว้เลยว่า

“ผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือพบเห็นข้าราชการตำรวจประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย และละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ให้มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ…”

การไต่สวนและการพิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรการในการรักษาความลับ มาตรการในการดำเนินการให้เกิดความรวดเร็ว และการรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา

ในการไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น ต้องเรียกผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นใดมาชี้แจงหรือแสดงความเห็น หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณา ก่อนแจ้งผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจที่ถูกร้องเรียน

พิจารณาสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่อื่นเป็นการชั่วคราวระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น

ทั้งนี้จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยอัตราและวิธีการจ่ายค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนพยาน กรณีที่จำเป็นต้องให้พยานมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อหน้าคณะกรรมการ

ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ร้องเรียนและพยาน ผู้เรียกต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนและพยาน และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือภาระเกินสมควร

เพื่อการนี้จะกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองร้องเรียนและพยายามตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด หรือกรณีเห็นสมควรจะมอบหมายให้สำนักงานคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการคุ้มครองพยานให้ก็ได้

ให้ถือว่าผู้ร้องเรียนและพยานตามพระราชบัญญัตินี้เป็นพยานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญาด้วย

 

RELATED ARTICLES