ตราพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ (4)

ขออนุญาตข้ามไปถึงไฮไลต์สำคัญใน ลักษณะ 7 ระเบียบข้าราชการตำรวจ

หมวด 2 ตำแหน่งและการกำหนดตำแหน่ง

ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารของคณะทำงาน “มีชัย ฤชุพันธ์ุ” ตกผลึกแล้วตามมาตรา 53 กำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจมี 5 สายงาน

สายงานบริหาร

สายอำนวยการและสนับสนุน ได้แก่ งานที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติกำหนด

สายงานสอบสวน ได้แก่ งานเกี่ยวกับการสอบสวนและงานสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการสอบสวน และกฎหมายอื่น

สายงานป้องกันและปราบปราม ได้แก่ งานสอบสวน งานป้องกันและปราบปราม และงานตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงงานที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติกำหนด

สายงานวิชาชีพเฉพาะ ได้แก่ งานเกี่ยวกับแพทย์ พยาบาล การพิสูจน์หลักฐาน และการสอนในกองบัญชาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือสถาบันการศึกษาอื่นในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และงานอื่นที่มีลักษณะเป็นวิชาชีพตามที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติกำหนด

อีกส่วนที่สำคัญอยู่ หมวด 3 การบรรจุ การแต่งตั้ง และการเลื่อนชั้นเงินเดือน

มาตรา 66 ในการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในชั้นสัญญาบัตรที่มิใช่ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ ผู้บังคับบัญชาต้องแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสายอำนวยการและสนับสนุนอย่างน้อยหนึ่งปี สายงานป้องกันและปราบปรามอย่างน้อยสองปี และดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนในการสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งปี และดำรงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวนอย่างน้อยสองปี

ในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับสารวัตรขึ้นไปในสายงานใด ให้พิจารณาตามความรู้ความสามารถ ทักษะ ความสมัครใจ และความจำเป็นของทางราชการประกอบกัน

มาตรา 67 ภายในบังคับมาตรา 69 การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไงดังต่อไปนี้

ตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอกที่ดำรงตำแหน่งรองจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ให้คำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถในการบริหารงาน และประสบการณ์ในงานด้านสอบสวน งานป้องกันและปราบปรามประกอบกัน

ตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจโท หรือพลตำรวจเอก แต่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือรองจเรตำรวจแห่งชาติมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี

สำหรับตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการในสายงานสอบสวนอย่างน้อยหนึ่งคนและผู้บัญชาการในสายงานป้องกันปราบปรามอย่างน้อยหนึ่งคน  หากไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาแล้วถึงสองปี ให้แต่งตั้งผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินานที่สุดเรียงตามลำดับ

ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ รองจเรตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจโท และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการสอบสวน หรือจเรตำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี โดยจะต้องแต่งตั้งผู้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนอย่างน้อยสองคนและรองผู้บัญชาการในสายงานป้องกันและปราบปรามอย่างน้อยสองคน

ตำแหน่ง ผู้บัญชาการและจเรตำรวจ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรีหรือพลตำรวจโท และเคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ หรือรองจเรตำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

ตำแหน่ง รองผู้บัญชาการ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรี และเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

ตำแหน่ง ผู้บังคับการ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอกที่ได้รับอัตราเงินเดือนพันตำรวจเอก (พิเศษ) หรือพลตำรวจตรีและเคยดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี

ตำแหน่ง รองผู้บังคับการ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอก หรือพันตำรวจเอกที่ได้รับอัตราเงินเดือนพันตำรวจเอก (พิเศษ) และเคยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี

ตำแหน่ง ผู้กำกับการ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจโท หรือพันตำรวจเอก และเคยดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี

ตำแหน่ง รองผู้กำกับการ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจโทและเคยดำรงตำแหน่งสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่าสี่ปี

ตำแหน่ง สารวัตร ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจเอกขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าพันตำรวจโท และเคยดำรงตำแหน่งรองสารวัตรมาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปี

ตำแหน่ง รองสารวัตร ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจตรีขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าร้อยตำรวจเอก

ตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศสิบตำรวจตรีขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าดาบตำรวจ

ตำแหน่ง รองผู้บังคับหมู่ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจ

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้นับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งจริง มิให้นับระยะเวลาทวีคูณ และให้นับจนถึงวันที่ 30 กันยายนของปีปฏิทินที่ตำแหน่งว่างลง

   เป็น “บันไดกฎเหล็ก” ของร่างตราพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่นี้

         

 

RELATED ARTICLES