(16) จากบิ๊กขี้หลีถึงลึงค์ปลาวาฬ  

มีพรรคพวกที่สนิทชนิดตบไหล่ใช้ถ้อยคำมึง ๆ กู ๆกันได้ ป้อนคำถามในท่วงทำนอง ผมคิดยังไงถึงเอาชีวิตตัวเองมาเขียน ทั้งๆ ชื่อเสียงก็ไม่โด่งดังอะไร แถมคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักด้วยซ้ำหากเอ่ยขื่อ “ต้อย ต้นโพธิ์” มันเป็นใครกันวะ

ก็ถูกต้อง ในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ ผมกระจอกและต่ำต้อยที่สุด ไม่สามารถไปเปรียบเทียบกับใครได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านฐานะ หรือชื่อเสียง  แต่การเปลือยชีวิตตัวเองต่อสาธารณะ ผมคิดอย่างนี้ครับ

ผมสำบุกสำบันในอาชีพนี้มาอย่างโชกโชน 48 ปีในสมรภูมิข่าว ผมผ่านสนามรบของหนังสือพิมพ์รายวันกว่า 10 ฉบับ ส่วนกลางก็มี เดลินิวส์ เสียงปวงชน (หลังวัดตรีทศเทพ) ไทยรัฐ ตะวันสยาม     มหาชัย เสียงปวงชน (สุทธิสาร) รายวันสยาม สยามโพสต์ และไทยโพสต์ แถมด้วย วัฏจักร  (ราย  3  วัน)

รายวันต่างจังหวัดมี  2 ฉบับ ไทยนิมิต (ลพบุรี) กับ ลานนา (เชียงใหม่)

ประเภทรายสัปดาห์ รายครึ่งเดือน รายเดือน และรายสะดวกก็ผ่านมาไม่น้อย นิตยสารเบื้องหลังข่าวอาชญากรรม  191 ของเสี่ยเบี้ยว “สุวัฒน์ เก็จจินดา” อดีตรีไรเตอร์ไทยรัฐ หรือหนังสือเศรษฐกิจรายสัปดาห์ “ธุรกิจบ้านเรา” ของ “สงคราม ศิริโวหาร” แม้กระทั่งหนังสือของสมาคมนายจ้างแห่งประเทศไทยชื่อ “เจ้านาย” ผมก็อยู่มาแล้ว

จากฉบับนี้ไปฉบับนั้นแล้วก็ไปฉบับโน้น ผมไม่เคยถูกฉบับไหนให้ซองขาวไล่ออก แต่ผมเป็นฝ่ายยื่นซองขาวให้ผู้บริหารหรือเจ้าของ “ขอลาออก” หรือไม่ก็บอกกล่าวด้วยวาจ ”ผมไปละนะ”

แต่มีอยู่ฉบับหนึ่ง ผมไม่ได้ลาออก เจ้าของเขาบอก “เลิกจ้างยกทีม” ทั้ง ๆ หัวหน้าทีมเป็นเพื่อนน้ำมิตรกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชื่อ “วัฏจักร” ตอนนั้นอยู่ที่คลองสาน ฝั่งธนฯ เป็นหนังสือพิมพ์ที่แปลกประหลาด เอาไว้ถึงตอนที่ผมอยู่วัฏจักรแล้วจะเล่าสู่กันฟัง

ก็นี่แหละจึงมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านมาสู่ชีวิตของผมมากมาย เหมือนบทเพลงของ “สุรพล   สมบัติเจริญ”  ……ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวาน และขมขื่น

ไม่มีอะไรหรอกครับ ไม่ได้อยากเด่นอยากดัง เพียงแต่อยากให้ผู้คนในแวดวงสื่อ หรือวงการตำรวจได้รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น เอาเป็นว่า ประดับความรู้ก็แล้วกัน โดยผมเป็นคนนำร่องนำเรื่อง

“ต้อย ต้นโพธิ์” โห่ในเดลินิวส์สี่พระยาด้วยความสบายใจ เพราะผมรู้จักตำรวจไม่กี่คน ซัดตำรวจน้ำเลวอย่างอิสระไม่ลังเล ถ้าถึงขั้นเลวมาก ผมก็บันทึกชื่อสีกากีสารเลวคนนั้นใส่ “บัญชีหนังหมา” ให้คนอ่านรู้ถึงความระยำ  เพราะมันเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ประเภท “เราอยู่ไหนประชาวุ่นวายทั่วกัน”

ครับ ในจำนวนหลายพันเรื่อง ข้อเขียนของผมเป็นเรื่องของสังคม สะท้อนภาพความทุกข์ระทมกับความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้คนที่ขาดคุณธรรมจริยธรรม

ข้อเขียนของผมไม่ได้ราบเรียบเหมือนผ้าถูกเตารีดนาบ หากแต่มีความรุนแรงตามเหตุการณ์ มีแต่ก้อนอิฐ นาน ๆ  ครั้งจึงจะมีดอกไม้ให้คุณ

ครั้งที่อยู่สี่พระยา มีเหตุการณ์จลาจลย่อย ๆ เกิดขึ้นที่ถนนจันทน์ เมื่อนักศึกษาของโรงเรียนกนกอาชีวศึกษาอาละวาดอย่างบ้าคลั่ง ปิดถนนส่วนหนึ่งไล่ตีรถเมล์ทุกคันที่แล่นผ่าน ชาวบ้านส่วนหนึ่งถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บ

เดลินิวส์อยู่ใกล้เหตุการณ์กว่าทุกฉบับ ระดมช่างภาพที่ไม่มีภารกิจเท่าที่อยู่ในออฟฟิศไปสมทบกับรถตระเวนในที่เกิดเหตุ  “พี่สุทัศน์ พัฒนสิงห์” ช่างภาพสายพระราชสำนัก “ประธาน มหาสุวรรณ”  ช่างภาพส่วนกลางยังต้องไปกดชัตเตอร์เก็บภาพอาชญากรรม

อย่าว่าแต่รถเมล์ทุกคันที่แล่นผ่าน คนขับและกระเป๋าจะอ่วมอรทัย ช่างภาพทุกฉบับยังถูกไล่ตีกระเจิง ต้องวิ่งหนีหัวปักหัวปำ

“บุญเลิศ พุ่มภักดี” ช่างภาพรถตระเวนผู้ช่ำชองในสนามโดนนักศึกษากลุ่มหนึ่งไล่กวด บุญเลิศ หรือเล็กที่รู้จักกันดีในวงการแฉลบเข้าร้านตัดผมริมถนนจันทน์ เล็กขึ้นนั่งเก้าอี้ตัดผม บอกเจ้าของร้านว่านักศึกษาไล่มาพร้อมตวัดผ้าคลุมใส่ร่างตัวเอง  ขอให้เจ้าของร้านทำทีตัดผมให้ นักศึกษาสองสามคนตามเข้ามาในร้านเห็นแต่ช่างกำลังตัดผมให้ลูกค้า ตรงไปสำรวจหลังร้านก็ไม่พบใคร นักศึกษาเกาหัวแกรก ๆ    วิ่งออกไปปฏิบัติภารกิจต่อก็เห็นอยู่กับตานี่นาว่า มีช่างภาพวิ่งเข้าร้านตัดผม

นี่คือปฏิภาณและไหวพริบของ “เล็ก” ช่างภาพอาชญากรรมชั่วโมงบินสูง

ตำรวจสอบสวนได้สาเหตุเกิดจากนักศึกษาไม่ยอมจ่ายค่าโดยสารจึงมีเรื่องกับกระเป๋ารถเมล์      ผมจำไม่ได้ว่าเป็นสายอะไรที่แล่นผ่าน นักศึกษาคงได้รับบาดเจ็บ พอเพื่อนรู้เรื่องกลับเป็นเดือดเป็นแค้น     หาว่ารถเมล์เป็นฝ่ายผิด ยกพวกออกมาปิดถนนก่อจลาจลย่อย ไล่ตีทุกคนที่ขวางหน้า รถราหลายคันพลอยรับเคราะห์ด้วย

ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยถ้อยคำรุนแรง ประณามการกระทำของนักศึกษา ซึ่งจะเป็นอนาคตสดใสของประเทศชาติ  แต่ไม่มีปัญญาไตร่ตรองถึงความผิดถูกกับเหตุที่เกิดขึ้น

วันรุ่งขึ้น วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งไปเยือนเดลินิวส์ พอขึ้นไปชั้นสองก็เจอโต๊ะโอเปอเรเตอร์เป็นด่านแรก      หนุ่มวัยรุ่นกลุ่มนั้นบอกกับ “หน่อย” โอเปอเรเตอร์สาวร่างเล็ก พวกเขามาจากกนกอาชีวศึกษา ขอพบ  “ต้อย ต้นโพธิ์” เพราะข้องใจข้อเขียนของผม ซึ่งตีพิมพ์ในฉบับเช้าวันนั้น

“หน่อย” ตอบว่าผมยังไม่ได้เข้าออฟฟิศ และไม่แน่ใจว่าวันนี้จะเข้าหรือเปล่า

ผมเข้าที่ทำงานหลังจากกลุ่มกนกอาชีวศึกษากลับไปแล้ว “หน่อย” เล่าให้ฟังว่า พวกเขาท่าทางกระเหี้ยนกระหือรือ และผิดหวังที่ไม่ได้พบผม แต่ก่อนจากไปพวกเขาบอกว่า “ต้อย ต้นโพธิ์” น่าจะอยู่ในซอยต้นโพธิ์ ท่าน้ำถนนตก พวกเขาจะไปควานหาให้พบจนได้

บอกตามตรงผมวิตกครับ เป็นธรรมดาของคนจ้องกับคนต้องระวังตัว ยังดีที่ว่าผมกลับบ้านไม่เป็นเวลา แต่ก็เอาละอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อย่างเบาะ ๆ   ก็แค่สลบ หรือเลวร้ายกว่านั้นก็ตายจะเอากันถึงตายผมก็ไม่รู้จะระวังอย่างไร

แต่พระคุ้มครองครับ ไม่มีอันตรายใด ๆ มาแผ้วพานผมหรือครอบครัว

เคยบอกกับ “หน่อย” ไว้ว่า ผมไม่รับเรื่องร้องทุกข์ทางโทรศัพท์ ถ้าใครจะร้องทุกข์ให้มาที่เดลินิวส์     ถ้าผมไม่อยู่ก็มีคนรับเรื่องแทน รู้สึกจะเป็น “ลุงบุญมา” ผู้อาวุโส

แล้วผมก็เจอคนเดือดร้อนรายหนึ่งเป็นหญิงสาวขึ้นมาบนกองบรรณาธิการขอพบผม “หน่อย”   เดินมาบอกว่าเธอเดือดร้อนเรื่องเงิน มีความจำเป็นจริง ๆ ไม่รู้จะไปพึ่งใคร คงเคยอ่านข้อเขียนของผม   แล้วเห็นผมเป็นศาลาพักร้อน มีหน้าที่เขี่ยผงที่เข้าตาให้คนอื่น

ผมให้ “หน่อย” ไปบอกหญิงคนนั้น ให้เธอมารับเงินในวันรุ่งขึ้น ไม่ต้องถามชื่อแซ่หรือที่อยู่ของเธอ “หน่อย” มากระซิบบอกผมภายหลัง เธอมีสีหน้าแช่มชื่นขึ้นจากไปด้วยความหวัง

ถ้าจำไม่ผิด ผมใส่ซอง  500 บาทฝากไว้กับ “หน่อย” แล้วเธอก็มารับจริง ๆ ตามนัด นอกจากไม่รู้จักชื่อแล้ว ผมไม่ได้เห็นหน้าเธอด้วยซ้ำ

500 บาทสมัยนั้น ผมว่าก็พอเหมาะพอควรสำหรับผมที่มีเงินเดือนไม่กี่พันบาท ผมมีความสุขครับมีโอกาสเป็นผู้ให้ ได้แบ่งเบาความเดือดร้อนของเธอ แม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม

เกี่ยวกับตำรวจ ผมเขียนไว้มากมายหลายพันเรื่อง

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี “นางทิช ณ  นคร” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (บ้านกาญจนาภิเษก) กระทรวงยุติธรรม หมิ่นประมาท พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เหตุเกิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2546

คุณทิชาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์และเขียนบทความเรื่อง “จดหมายจากองค์กรผู้หญิงถึงนายกรัฐมนตรี” หลังจากมีข่าว “นายพลขี้หลี”  ปรากฏในหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง  ๆ

11  ปีแห่งความหลัง ผมทำงานที่ไทยโพสต์จำได้แม่นถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี     ในการประชุม  ครม.สัญจรของ “ทักษิณ ชินวัตร” ผมเขียนเรื่องนี้ในคอลัมน์ “เสียบซึ่งหน้า” ด้วย

พลตำรวจเอกคนหนึ่งนำกำลังไปรักษาความสงบในการประชุม มีนักข่าวจากส่วนกลางไปทำข่าวกันมาก พลตำรวจเอกคนนั้นยืนหน้าห้องประชุมแวดล้อมด้วยบริวารสีกากี

สายตาพลตำรวจเอกจับจ้องไปที่นักข่าวสาวคนหนึ่ง ไม่ได้ห้อยป้ายชื่อ เธอเป็นผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ผิวขาวละมุน หน้าตาสะสวยเหมือนสาวเกาหลีอันเป็นสเปกของพลตำรวจเอกคนนั้น

เขาเรียกเธอมาถาม ทำไมไม่ห้อยป้ายชื่อสื่อมวลชน ทำงานที่ไหน เดินทางมาอย่างไร มากับใคร     แล้วจะกลับกรุงเทพฯ เมื่อไหร่

คืนนั้น มีกระดาษแผ่นหนึ่งสอดเข้าไปในประตูห้องของนักข่าวสาว มีข้อความว่าพรุ่งนี้เครื่องบินตำรวจจะเข้ากรุงเทพฯ มีที่ว่างหนึ่งที่นั่ง ถ้าเธอประสงค์จะนั่งเครื่องตำรวจให้แจ้งได้ที่เจ้าของข้อความ      ซึ่งเป็นนายตำรวจระดับพลตำรวจตรี 2 นาย ได้รับคำสั่งจากพลตำรวจเอกให้ดำเนินงานชิ้นนี้

ผมเขียนคอลัมน์ด้วยความโกรธ เกลียด ขยะแขยง ชิงชังกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนองหื่นกาม การสนองตัณหาเจ้านาย หรือแม้กระทั่งเมื่อปรากฏเป็นข่าวฉาวโฉ่ทั่วแผ่นดิน เพราะนักข่าวสาวคนนั้นเอาเรื่องไปปรึกษากับผู้อาวุโสในวงการสื่อ รวมทั้งพลตำรวจเอกคนนั้นกลับมีคำสั่งแต่งตั้งพลตำรวจตรีทั้ง 2 นายที่ตัวเองใช้ไปติดต่อกับนักข่าวสาวให้เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

ผมเขียนเรื่องนี้โดยไม่ได้ระบุชื่อใครทั้งสิ้น  เพราะสังคมรู้กันแจ่มแจ้งแล้วว่า พลตำรวจเอกกับพลตำรวจตรี 2 นายเป็นใคร และนักข่าวสาวอยู่โทรทัศน์ช่องไหน

เขียนไปแล้วก็ไม่ได้ติดตามอะไร บทความของคุณทิชาก็ไม่ได้อ่าน รู้แต่ว่าไทยโพสต์ถูกฟ้องกรณีเสนอข่าวทำให้เสื่อมเสียขื่อเสียง แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นกับผมนั้น ทำให้พลตำรวจตรีคนหนึ่ง ก็หนึ่งในสองคนนั่นแหละ โกรธผมมากตัดขาดการติดต่อกับผมทันที เพราะบรรทัดสุดท้ายของข้อเขียน ผมเขียนว่า

“พฤติกรรมอย่างนี้ เลวระยำหมา”

อยากโกรธก็โกรธไป ผมไม่ได้อาลัยอาวรณ์อะไรเลย แต่เสียดายที่ผมกับเขารู้จักกันมานานถึงขั้นสนิทกันพอสมควร

ศาลฎีกาพิพากษาคดีหมิ่นประมาทมาราธอน ตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีที่คุณทิชาเป็นจำเลยคดีหมิ่นประมาท

มีข้อความในคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เป็นประเด็นสำคัญของการยกฟ้องน่าสนใจมากครับ    ศาลฎีกาท่านบอกว่า

เนื้อหาในการให้สัมภาษณ์ หรือการเขียนบทความของจำเลย (คุณทิชา ณ นคร) เป็นเรื่องที่มุ่งเสนอปัญหาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและให้ความสนใจว่า พฤติกรรมที่ตกเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นประเด็นทางสังคมที่คุกคามต่อความปลอดภัยของผู้หญิงจึงไม่ใช่ว่าข่าวดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้น จากการให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความของจำเลยเป็นรายแรก

อีกทั้งหลังจากนั้น คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุของวุฒิสภาได้นำเรื่องนี้เข้าประชุมโดยถือเป็นกรณีคุกคามทางเพศ และคุกคามต่อสื่อมวลชน

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ด้วยความเป็นธรรมเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสตรี ไม่ได้เป็นการใส่ความโจทก์ร่วม (พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์) ที่จะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่น

จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ผมอยากให้นายพลตำรวจที่โกรธขึ้งผม อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซัก50  เที่ยวจะได้รู้ว่าข้อเขียนของผมเมื่อ 11 ปีนั้นตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

หมุนเวลาย้อนหลังไปอีก 6  ปีเมื่อวันที่ 10  มิถุนายน 2551 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในคดีแพ่งที่  พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เป็นโจทก์ฟ้อง 17  จำเลย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเจ้าของหนังสือพิมพ์ เป็นบรรณาธิการ เป็นนักข่าว มีทั้งมติชน ข่าวสด ผู้จัดการ ไทยโพสต์ รวมทั้งบุคคลนอกวงการสื่อ ในความผิดฐานละเมิด

เรียกค่าเสียหาย 2,500 บาท

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์พูดคุยกับนักข่าวสาวไปในทางชู้สาว แม้อาจจะมีข่าวที่ยั่วยุล้อเลียน แต่เป็นเพราะในตอนแรกโจทก์ไม่ได้ยอมรับ ทำให้สื่อมวลชนต้องลงข่าว แต่ไม่ได้เกินไปจากข้อเท็จจริง    หรือฝ่าฝืนต่อความจริงแต่อย่างใด

ขณะที่โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สมควรวางตัวให้เหมาะสม

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้อง

นายแน่มากนะพ่อสูงยาวเข่าดี  คดีหมิ่นประมาทสู้กันยันเกถึง 3 ศาล คดีแพ่งก็ว่ากันถึง   2   ศาล  แล้วก็แพ้ทุกศาล

ผมไม่รู้ว่า พล.ต.อ.สันต์เป็นสาวกถั่งเช่าเหมือนพลเอกที่เดินตุปัดตุเป๋เหมือนเป็ดหรือเปล่า แต่อายุอานามขนาดนี้ว่ากันว่า  พล.ต.อ.สันต์ยังปึ๋งปั๋ง เลยมีเสียงนินทากันแซ่ด ท่านชอบไปกินอาหารที่โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ เพราะเจ้าของเป็นเพื่อนกันนั่นประการหนึ่ง

แต่ประการสำคัญนั้นว่ากันว่า เชฟโรงแรมนี้มีฝีมือปรุงอาหารจานเด็ด เฉพาะแขกพิเศษเท่านั้น     คนธรรมดาไม่มีวาสนาเห็นอาหารในจานนั้นหรอกจะบอกให้

3  เมนูเปิบพิสดารก็มี ปลาหน้าหนู…..ปูสีเหลือง……ลึงค์ปลาวาฬ.

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES