ก้าวที่  37 นายพลอารมณ์ดี

หันหลังมุ่งหน้ากลับเมืองหลวงตั้งแต่เช้าตรู่

ฉากโศกนาฏกรรมน้ำป่ากลืนร่างมนุษย์ในอุทยานวังตะไคร้ที่ตะบึ่งมาทำข่าววันแรกเหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อวันวาน

แหล่งท่องเที่ยวดังของจังหวัดนครนายกที่มีตำนานอันเก่าแก่เกิดขึ้นด้วยปณิธานการเป็นผู้ให้ของ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร  เดิมชื่อ “จุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ อุทยาน” มาจากชื่อ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรม (พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5) และชายา คือ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร

ส่วนวังตะไคร้ ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันมา เนื่องจากลำห้วยบริเวณนั้นเป็นวังน้ำกว้างมีต้นตะไคร้หางนาค หรือ “ต้นตะไคร้น้ำ” ขึ้นเต็มริมฝั่งห้วย ทั้งสองพระองค์ทรงโปรดปรานธรรมชาติและการท่องเที่ยวตามขุนเขาลำเนาไพร เมื่อได้มาพบวังตะไคร้จึงขอซื้อที่ดินและปลูกตำหนักเพื่อเป็นที่ประทับพักผ่อนส่วนพระองค์และญาติมิตร เสด็จในกรม

หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นอนุสรณ์แด่เสด็จในกรม จึงได้ทุ่มเทเวลากว่า 10 ปี ดำเนินงานอย่างหนักในการวางแผนจัดสถานที่และปรับสภาพพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นอ้อและหญ้าคาจนกลายมาเป็นสนามหญ้าเขียวชอุ่ม รวมถึงได้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศมาปลูกในวังตะไคร้โดยหวังให้เป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์

ด้วยความที่หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ต้องการให้บุคคลอื่นๆ ได้เห็นความงดงามของวังตะไคร้เช่นเดียวกับท่านจึงให้เปิดวังตะไคร้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2505  บ้านพักบางหลัง อาทิ บ้านธารทิพย์ บ้านแก่ง บ้านเกาะ บ้านใหญ่  มีรูปแบบใกล้เคียงกับตำหนักของท่านในที่อื่นๆ ซึ่งมีความเรียบง่าย แต่แฝงด้วยเสน่ห์ของความเป็นบ้านไทยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างประเภทไม้และหินน้ำตกซึ่งเข้ากับสถานที่ตั้งได้เป็นอย่างดี มีหน้าต่างรอบบ้านทำให้อากาศ ภายในบ้านเย็นสบาย การจัดให้มีระเบียงกว้างเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่

“ในที่สุดข้าพเจ้าหวังว่า สถานที่วังตะไคร้ซึ่งเสด็จในกรม และข้าพเจ้าฝังจิตใจไว้ จะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอันถาวรสร้างความสดชื่นสนุกสนานรื่นเริง พร้อมทั้งความรู้ทางพฤกษศาสตร์แก่ทุกท่านตลอดไปชั่วกาลนาน”

ผมหยิบหนังสือวังตะไคร้ที่หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร บันทึกไว้มานั่งอ่านระหว่างรอเติมน้ำมันรถกลับกรุง ในใจยังคิดว่า รู้จักอุทยานแห่งนี้ไม่ลึกซึ้งพอกระทั่งได้มาอ่านประวัติอย่างละเอียดตอนผมเลือกเดินจากออกมาแล้ว

ใช้เวลาเหยียบร่วม 2 ชั่วโมงกลับมาเผชิญสภาพความจอแจบนท้องถนนหลวง ผิดกับวันห้อตะบึงท้านรกไปทำข่าววันแรกที่แข่งกับเข็มนาฬิกาข้อมือเพียง 30 กว่านาที

ทันทีที่ถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาลรีบขึ้นไปซอยนายพลเก็บกวาดงานที่ค้างคาตามคำสั่งของอัมพร พิมพ์พิพัฒน์ หัวหน้าข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์สยามโพสต์

“อ้าว ว่าไงคุณโต้ง” ร้อยตำรวจเอกสุจิตต์ อินทร์กงทักทายตามประสาคนคุ้นตา

“นายอยู่ไหม”

“อยู่ แต่กำลังเซ็นงาน” นายตำรวจกระซิบ “มีอะไรหรือเปล่าครับ”

“จะว่างกี่โมง ผมจะขอสัมภาษณ์หน่อยครับ”

“เรื่องอะไรหรือครับ”

“นโยบายการทำงานครับพี่”

หน้าห้องนายพลตำรวจตรีที่จ่อขึ้นเป็นนายพลตำรวจโทอีกไม่กี่วันข้างหน้าเกาหัว “ไม่แน่ใจว่านายจะให้สัมภาษณ์หรือเปล่านะคุณโต้ง ไว้ผมจะลองหารือให้ รอให้นายว่างก่อน”

หัวใจผมแทบวูบ แผนที่วางไว้หากล้มเหลวหัวหน้าคงเล่นงานแย่ “น่านะพี่ เรียนนายหน่อย เดี๋ยวผมขึ้นมาใหม่”

ขึ้นลงอยู่หลายรอบ คำตอบไม่ต่างจากครั้งแรก คือ “นายยังไม่ว่าง” นึกน้อยใจอะไรวะตอนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้าง่าย พอจะเลื่อนตำแหน่งใหญ่ขึ้นกลับเล่นตัว ประวัติศาสตร์เก่าในยุคหน้ากากเสือ-พลตำรวจโทชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ จะซ้ำรอยอีกหรือ

เย็นมากแล้ว ผมยังไม่มีอะไรอยู่ในมือ ตัดสินใจสุดท้าย ถ้าไม่ได้ก็ไม่กลับ ดักมันหน้าห้องอยู่อย่างนี้ เสียงลูกบิดประตูห้องเปิด ร้อยตำรวจเอกหนุ่มโผล่หน้ามา “เชิญครับคุณโต้ง นายว่างแล้ว” ผมถึงกับใจชื้นโล่งอก

“สวัสดีครับท่านรอง เอ๊ยท่านผู้บัญชาการสิ ถึงจะถูก” ผมเปิดฉากแซว เจ้าตัวฉีกยิ้มถอดแว่นขยี้ตาบ่งบอกถึงอาการคร่ำเคร่งต่อกองแฟ้มมาตลอดทั้งวัน

“ความจริง ผมยังไม่อยากให้สัมภาษณ์หรอกนะ เพราะยังไม่ได้รับตำแหน่งเต็มตัว”

“ไม่เป็นไรครับ เอากว้าง ๆ ไม่ต้องละเอียดมาก” ผมพยายามเว้าวอน

“กว้าง ๆ หรือ ยังไงดี” แกไม่หุบยิ้มสวมแว่นตามเดิม

“ประวัติอะไรอย่างนี้แหละครับ”

ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยอมเริ่มฉากจากอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เดินเตาะแตะเข้าโรงเรียนประชาบาลวัดท่าพูดในถิ่นเกิด โดยที่ตัวเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในอนาคตจะเจริญเติบโตเป็นถึงนายพลตำรวจใหญ่ หลังจบมัธยมโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเบนเข็มเข้าสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหารหันเลือกเหล่านายร้อยตำรวจสะสมรุ่นที่ 13

รับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2503 ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โด่งดังเมื่อเป็นนายตำรวจแชมป์พิมพ์ดีดเร็วที่สุดของกรมตำรวจ ผ่านงานสืบสวนสอบสวนจนได้เลื่อนชั้นเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต 2 เป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลบางรักปีเดียว ขยับขึ้นตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลเหนือ ก่อนข้ามฝั่งไปที่กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลใต้ได้นั่ง “ผู้กำกับสืบใต้” ถึง 2 ครั้ง ในปี 2523 และ ปี 2527 แล้วก้าวขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลใต้

ปี 2532 ชีวิตพลิกผันต้องออกนอกหน่วยนครบาลแต่ได้ติดยศ “นายพล” ตำแหน่งผู้บังคับการข่าวสาร สำนักงานสารนิเทศ กรมตำรวจ นานกว่า 2 ปี คืนถิ่นเก่าเข้านั่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองในรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเมื่อปี 2534 พอปีถัดมาขยับเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคุมงานสืบสวนปราบปรามคดีอาชญากรรมทั่วเมืองหลวง

กระทั่งกำลังก้าวสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

“ผมชอบงานสืบสวนมาตั้งแต่เป็นรองสารวัตร เมื่อก่อนเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนเขาจะไม่ค่อยทำสืบสวน ให้สอบสวนอย่างเดียว ส่วนงานสืบมีแค่จ่าเป็นหัวหน้า แต่เราอยากเป็นนักสืบเลยอาสาสมัครกับสารวัตรขอช่วยสืบสวน เป็นหัวสืบสวนไปโดยปริยาย” แกเล่าความหลัง “เหตุเพราะมันสนุก คล้ายกับว่า ถ้าเราจับเองจะรู้หลักฐานหมด ทำสำนวนง่ายเบาะแสต่างๆ อยู่ที่เราเยอะ คิดว่า หากจะปราบปรามอาชญากรรมให้สำเร็จ งานสืบสวนกับสอบสวนต้องคู่กัน แยกกันเมื่อไหร่ก็เจ๊ง”

สมัยเป็นรองสารวัตรยศร้อยตำรวจโทอยู่โรงพักพลับพลาไชยเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากเหตุการณ์ระทึกบนโรงพัก หลังจากสารวัตรป้องกับปราบปรามจับลูกน้องของ “ตี๋เซี๊ยว” หรือ “ตี๋บ้า” นักเลงเยาวราช  “ระหว่างเข้าร้อยเวร มันเดินเข้ามานั่งตรงหน้าโต๊ะ ผมเห็นท่าไม่ค่อยดีเลยถอยเก้าอี้เอามือปลดซิบปืนข้างเอว มันบอกให้ปล่อยลูกน้องมันเดี่ยวนี้พร้อมเอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋าสะพายจึงตัดสินใจกระโดดกอดรัดตัวไม่ให้มันดิ้น ขู่ให้มันปล่อยของในมือไม่อย่างนั้นมีเรื่องแน่ พอมันปล่อยเท่านั้นแหละถึงรู้ว่าเป็นระเบิดมือ รีบถีบมันกระเด็นตกโต๊ะแล้วช่วยกันล็อกตัวเอาไว้”

ยุคนั้นมาเฟียย่านเยาวราชอาละวาดเต็มไปหมด ถูกแกจับนำมาทำประวัติให้พวกมันเลิกก่อความเดือดร้อน มังกรจีนชื่อดัง อาทิ เก๊าม้าเก็ง  ล้อ วงเวียน  เหลา สวนมะลิ หรือเจ้าพ่อแคล้ว ธนิกุล  ก่งก๊ง  เล่าถิ  ชั่ง โรงหมู และ เกชา เปลี่ยนวิถี ล้วนถูกจับทำประวัติลงแฟ้มหมด

พอเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลใต้มีโอกาสทำงานสืบสวนแบบเต็มตัว มีคดีสำคัญเกิดขึ้นมากมาย ทั้งคดีจับคนเรียกค่าไถ่ ชิงทรัพย์หน้าธนาคาร  ปล้นรถสิบล้อเอาคนขับไปฆ่าทิ้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่คดีนั้นคนร้ายถูกแกกับพวกจับตายรวดเดียว 4 ศพ

ทีมงานสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมที่ดีที่สุดในประเทศยุคนั้น แกยืนยันว่า ไม่มีทีมไหนสู้กองสืบสวนใต้ ด้วยการมอบนโยบายให้เน้นการทำงานเป็นทีมไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเก่ง ได้ลูกน้องมือดีเข้ามาช่วย ตั้งแต่   อังกูร อาทรไผท  ชาลี เภกะนันทน์ สุรศักดิ์ สุทธารมณ์   สมคิด บุญถนอม  ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ และทรงพร สารพานิช เป็น 6 นายตำรวจหลักของหน่วย

มีหลายคดีลึกลับซับซ้อนที่ต้องใช้หลักการทำงานแบบสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานก่อนแล้วค่อยจับกุมเพราะบางครั้งยังไม่มีผู้เสียหาย ยกตัวอย่าง คดีคนร้ายปล้นเงินจากชาวบ้านที่ไปถอนแล้วเดินออกมาหน้าธนาคารเกิดขึ้นบ่อยมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจพอจะรู้ตัวว่าใครเกี่ยวข้อง แต่จำเป็นต้องมีการวางแผนว่าจะจับตอนไหน อย่างไร ให้ได้หลักฐานครบ

“ เมื่อรู้กลุ่ม เราได้ส่งคนตามสะกดรอย ใช้รถเก๋ง 5คัน จักรยานยนต์ 2 คัน ผู้ต้องสงสัยมีอยู่ 4คน ตามไปทุกธนาคารที่มันเข้าออก จดบันทึกไว้ว่าใช้รถกี่คัน มีวิธีการดูเหยื่ออย่างไร ตามกันอยู่ 38 วันทำการของธนาคาร กว่าพวกมันจะลงมือที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาตะนาว” นายพลว่าที่ผู้นำทัพตำรวจเมืองหลวง

“มีพวกมัน 2 คนอยู่ในธนาคารส่งซิกให้อีก 2 คนด้านนอกรอแล้วตรงเข้าจี้ชิงเงินขึ้นรถจักรยานยนต์หนี เชื่อไหมว่าลูกน้องผมตามไม่ทัน ผมเลยต้องสั่งให้ตามคนที่เหลือในธนาคาร เพราะเดี๋ยวมันต้องนัดเอาเงินไปแบ่ง สุดท้ายตามไปเจอหน้าอาบอบนวด ริมถนนศรีอยุธยา เกิดการยิงต่อสู้จับตายไป 2 คน ที่เหลืออีก 2 คนจับเป็น มีผู้หญิงท้องแก่อยู่ในแก๊งทำหน้าที่ชี้เป้าด้วย” อดีตผู้กำกับสืบสวนใต้ว่า

ผมนั่งฟังนึกภาพเพลิน นายพลลูกหม้อนครบาลเล่าต่อว่า นักสืบไม่ใช่พอเป็นแล้วไม่คำนึงถึงพยานหลักฐานเอาข้อเท็จจริงจากการข่าวมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้พยาน ไม่เช่นนั้นผู้ต้องหาจะหลุดหมด ทุกคดีที่เราจับแทบไม่หลุดเลย อาศัยประสบการณ์จากงานสอบสวน เมื่อใครจับแล้วพยานคนจับต้องให้ตำรวจกองสืบสวนทำบันทึกสอบปากคำเองแล้วส่งให้เราดูสำนวนเองก่อนส่งโรงพัก กองกำกับสืบสวนรุ่นนั้นถึงต้องเลือกทีมนายตำรวจที่มีความรู้การสอบสวนเข้ามาด้วย เช่น วิศิษฐ์ นิมิตรกุล  มานิต ธนสันติ เพื่ออาศัยทำคำให้การในสำนวนมัดผู้ต้องหาไม่ให้หลุดในกระบวนการชั้นศาล

ที่ผ่านมา แกถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตนักสืบพอสมควร เพราะแม้จะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลยังไม่เคยทิ้งงานสืบสวน มีหลายคดีที่ลงเป็นหัวหอกช่วยลูกน้องสืบสวนคลี่คลายปม นำประสบการณ์เข้าไปเสนอแนะ บางคดีถึงขั้นลงทุนเช่ารถแท็กซี่ปลอมเป็นโชเฟอร์ขับตระเวนหาข่าวและดูให้กำลังใจลูกน้องถึงจุดแบบหามรุ่งหามค่ำ

ผมถามถึงนโยบายการบริหารงานหลังรับตำแหน่งผู้นำจะเป็นอย่างไร “เอาไว้รับตำแหน่งก่อนดีกว่า พูดไปตอนนี้คงจะไม่เหมาะหรอก” แกปฏิเสธจะพูด แต่แย้มว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหน้าตาของประเทศ คดีเกิดในกรุงเทพฯ เป็นข่าวดัง ตำรวจนครบาลถือเป็นครูฝึกให้ตำรวจสัญญาบัตรที่ออกจากโรงเรียน เป็นหน่วยครู ถ้าไม่คิดจะปรับปรุงให้ครูมันดี เมื่อครูไม่ดีแล้วนักเรียนจะดีอย่างไร

“ผมจำเป็นต้องวางหลักการทำงาน ไม่ใช่อยากจับอะไรก็ไปจับ คดีที่ต้องปราบ เกิดแล้วเป็นผลให้เกิดคดีอื่นต่อเนื่อง เช่น ยาเสพติด ต่อเนื่องปล้นทรัพย์ ประทุษร้ายต่อชีวิต สื่อลามก ส่งผลให้เกิดคดีทางเพศ ทำร้ายต่อชีวิต ต้องเอาให้อยู่ คดีแก๊งอิทธิพลก็ต้องเอา ไม่เช่นนั้นจะเกิดเรื่อย” บิ๊กตำรวจนครบาลสีหน้าจริงจัง “พอหรือเปล่า”

“เกินพอเลยครับ ขอบคุณมากเลยครับ”

“มีอะไรก็ยังเหมือนเดิม บอกพวกเราทุกคนด้วย” แกทิ้งท้าย

ผมลากลับออกมาอย่างสบายใจภารกิจเสร็จสิ้นพอนำไปเกลาเป็นสกู๊ปพิเศษวันอาทิตย์ได้แล้ว ลงมานั่งพักในห้องสื่อมวลชน ผู้คนหายผมแล้วตัดสินใจขับรถมุ่งสู่พระราม

“นุช แสงทิพย์แบน” ผมส่งสัญญาณความกระหาย “เจ๊เป้า ข้าวหมูกระเทียมไข่ดาวจาน”

ชุมทางนักสืบยังหนาตาเหมือนเช่นเคย ทุกคนมีประกายตาความหวังจะเห็นเหลาบรรดามือปราบกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เมื่อได้นายตำรวจลูกหม้อนักสืบผงาดขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บางคนถึงกับขัดทำสะอาดปืนรอไว้แล้ว

“ผมโคตรชอบเลยว่ะพี่ คิดได้ยังเนี่ย” นักข่าวกรุงเทพธุรกิจทัก หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ฉบับวันอาทิตย์คลอดแล้ว

“อะไรวะ”

“สกู๊ปวันอาทิตย์ที่พี่ทำ”

“ทำไมหรือ”

“เปิดใจนายพลอารมณ์ดี กับเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจโทโสภณ วาราชนนท์” คนข่าวรุ่นน้องเสียงเหน่อว่า “พี่คิดได้ยังไงนายพลอารมณ์ดี ฉายานี้ผมชอบเลย มันใช่เลยพี่”

ผมยิ้มรับคำเยินยอ

“นั่นสิ ตั้งแต่รู้จักแกมา ไม่เห็นแกอารมณ์เสียสักครั้ง” ผมคิดเองเออเอง

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES