ก้าวที่  44  ลั่นระฆังวิวาห์

มีผู้หญิงไม่กี่คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมฐานะคนรัก

ความเป็นคนขี้อาย ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนผู้ชายล้วนมา 6 ปี ดูเหมือนผมไม่ประสีประสาเรื่องหวานสำหรับผู้หญิงเอาเสียเลย ยิ่งเข้าสู่วัยทำงานบนสนามข่าวที่เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือด เชือดเฉือนกันในวงการนักหนังสือพิมพ์

ผมเลยไม่ค่อยอินกับความรัก หลังเคยผ่านเรื่องราวอกหักมาหลายครา

กระทั่งมาเจอเธอคนนั้น

“ใครวะไอ้พฤกษ์” ผมสะกิดเพื่อนร่วมค่ายแต่อยู่สายกีฬาของหนังสือพิมพ์สยามโพสต์

เพื่อนหนุ่มจากโรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพทำหน้างง เราเพิ่งชำแหละมื้อเที่ยงเสร็จท่ามกลางผู้คนจอแจยามเที่ยงในซอยใกล้โรงพิมพ์ซึ่งน้อยครั้งมากที่ผมจะแวะไปหาอะไรยัดท้องยามนั้น ชีวิตคนข่าวสายอาชญากรรมของผมส่วนใหญ่ประจำอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล หากไม่มีภารกิจสำคัญจะไม่เลือกเดินทางฝ่าการจราจรอันแสนติดขัดเข้าสู่รังคลองเตย

“อ่อ ลูกน้องพี่สดใส” พฤกษ์กว่าจะอารัมภบททำไมวะ มึงชอบหรือ”

ผมยังสงวนท่าที แต่เพื่อนตัวดีของผมดันกันท่า “น่ารักดีเหมือนกัน กูก็แอบมองเขาอยู่”

“อ้าว ไอ้ฉิบหาย”

“ล้อเล่น กูอำมึง”

แต่สุดท้ายผมก็ปล่อยภาพเธอลอยผ่านไปลับตา เป็นภาพแรกของผู้หญิงคนนี้ที่ทำเอาผมสะดุด ฉุดหัวใจให้ตื่นเต้นอีกครั้ง

ทว่าวันเวลาผ่านไป ภาพนั้นยังคงเตะตาชวนให้ผมค้นหา

“ตุ้น แกรู้จักลูกน้องพี่สดใสหรือเปล่า”

จารุณี ถนอมกชกร เลขานุการหัวหน้าข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ยักคิ้วหันมองหน้าเป็นเครื่องหมายคำถาม

“ใครวะ”

“ลูกน้องพี่สดใสที่อยู่ฝ่ายสมาชิกอะ”

“ทำไมยะ” เพื่อนสาวร่วมแผนกยียวน

“สนใจล่ะซิ” หล่อนจับไต๋ “มิหน้าพักนี้เข้าโรงพิมพ์บ่อย คนไหน ปุ๊ก หรือหญิง”

ผมเริ่มเขิน “คนสูง”

“อ๋อ ปุ๊ก รู้จักสิ น่ารัก นิสัยดีนะ” จารุณีบรรยายสรรพคุณ “ว่าแต่แกสนจริง หรือว่าหยอกเล่น อย่าเชียวนะโว้ย” น้ำเสียงทำกันท่า

ผมตอบไม่ถูก มันเป็นความรัก หรือลุ่มหลงชั่วขณะ แต่หากไม่เปิดใจลองดู มันกระวนกระวายอึดอัดยังไงพิกล “มีเบอร์ป่ะ”

“มีสิ เบอร์บ้านนะ แต่ชั้นยังไม่ให้ ขอไปถามเขาก่อน”

“ได้ แล้วเราจะรอคำตอบ”

กลับไปนอนแฟลตดับเพลิงพญาไท เย็นนั้นงดงานสังสรรค์ในรังซุ้มมะรุม แสงอาทิตย์ยามเย็นทอแสงอ่อนใกล้ลาขอบฟ้า สองจิตสองใจโทรศัพท์ไปถามเลขานุการของหัวหน้าอำพร พิมพ์พิพัฒน์ อีกครั้งเพื่อตามความคืบหน้า

“ปุ๊กบอกโอเค”

ผมโล่ง ทว่าลังเล ใจสั่น ขาดความมั่น

“รีบโทรไปสิ ป่านนี้กลับถึงบ้านแล้วมั่ง” เพื่อนสาวยุ

“บ้านอยู่แถวไหนหรือ”

“แถวกล้วยน้ำไทเอง”

“อยู่กับใคร” ผมเลียบเคียงซักประวัติ หวั่นใจกลัวสาวเจ้ามีคนรักแล้ว

“อ่อ ปุ๊กมันยังไม่มีแฟน” จารุณีเดาคำถาม “มันอยู่กับน้องสาว โทรไปได้เลย มันอาจรออยู่” ประโยคสุดท้ายไม่รู้ว่าเพื่อนที่สวมวิญญาณแม่สื่อเอ่อออเองหรือเปล่า

สูดอากาศเข้าเต็มปอดกอดความคิดแน่วแน่ถ่ายเลือดสู่ป้ายนิ้วกดแป้นโทรศัพท์ตรงหัวเตียงตามเบอร์ที่ได้มา มันส่งสัญญาณดังตามจังหวะเต้นของหัวใจไม่กี่ครั้ง

“ฮัลโหล” ผู้หญิงรับสาย

“เอ่อครับ ขอสายปุ๊กครับ”

“สวัสดีค่ะ กำลังพูดอยู่ค่ะ จากไหนคะ”

นับเป็นสัมผัสแรกของความรู้สึกแช่มชื่นที่ผมขาดมานาน แต่ไม่วายตะกุกตะกักตื่นเต้นเสียงสั่น “ ผมโต้งครับ อยู่ข่าวอาชญากรรม เพื่อนตุ้นอะ คุยได้เปล่าครับ”

“หรือคะ คุยได้ค่ะ ว่ามาเลย” สาวแผนกฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์หนังสือพิมพ์สยามโพสต์โทนเป็นมิตร เราคุยกันครู่ใหญ่ ผมทิ้งท้ายว่าจะโทรไปหาใหม่จะเป็นการรบกวนไหม ฝ่ายหญิงเอ่ยคำยินดี เล่นเอาโลกของผมเย็นวันนั้นมีความหวัง

หวังที่จะก้าวไปรู้จักผู้หญิงคนใหม่กับหัวใจที่สดใส

ผมสานต่อความสัมพันธ์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เธอเป็นทายาทศิลปินวาดรูป อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร มีน้องสาว 3 คน จบจากโรงเรียนศึกษานารีวิทยา เคยเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่ไม่จบถึงเปลี่ยนสายไปเรียนหลักสูตรเลขานุการ ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีเซนต์เทเรซาบริหารธุรกิจ และเริ่มต้นทำงานบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ก่อนตามเจ้านายเก่ามาอยู่หนังสือพิมพ์สยามโพสต์

ความรักในวัยทำงานก่อร่างสร้างความสนิทสนมง่ายกว่ารักในวัยเรียน ผมเข้านอกออกบ้านตึกแถวปากซอยกล้วยน้ำไท ท่ามกลางสายตาผู้ใหญ่ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ไม่ปิดกั้น กระทั่งมุ่งด่านสำคัญ คือพ่อแม่ของเธอริมแม่น้ำนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม

อาจารย์พิชัย นิรันต์ บรรเลงพู่กันอารมณ์สุนทรีในบ้านกึ่งทรงไทย มีบุญเรือน นิรันต์ แม่ของเธอต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรี แม้การเดินทางไม่สะดวกสบาย ต้องอาศัยเรือจ้างข้ามลำแม่น้ำ แต่บรรยายกาศถือว่า สุดยอด

“ไปพายเรือเล่นกันไหม” หญิงสาวเอ่ยชวน

“เอาสิ” ผมนึกสนุก

ผมเติบโตริมคลองบางกอกใหญ่ ที่ปัจจุบันเรียกกันใหม่ว่า คลองบางหลวง แก้ผ้ากระโดดน้ำเล่นจนว่ายน้ำเป็นก็ที่คลองนั่น แต่ผมไม่เคยมีโอกาสจับไม้พาย เมื่ออยู่ต่อหน้าสาวคนรัก ผมพยายามทำท่าทะมัดทะแมงหยิบพายจ้วงน้ำวาดลำเรือออกจากฝั่ง เธอนั่งหัวเรือยิ้มให้ เป็นภาพรอยยิ้มชวนให้โลกสีชมพูที่ผมไม่เคยลืม แม้เรือที่นั่งจะวนไม่ไปไหน เพราะวัดน้ำไม่เป็นโล้ เป็นพาย

“พ่อแม่ว่าอะไรหรือเปล่า”

“เปล่านี้ บ้านปุ๊กต้อนรับทุกคน ถ้าไม่หลอกกัน” เธอดักคอ

ผมยิ้มจริงจังเป็นคำตอบแทน

นาฬิกาเร่งเวลารัก ผมและเธอพากันไปนั่งชมวิวอยู่ผาเดียวดาย ยอดเขาใหญ่ ฝูงนกเหงือกบินผ่านท่ามกลางอากาศหนาวกำลังพอดี

มันเป็นผาเดียวดาย แต่เรานั่งเคียงกายอบไออุ่น

“โต้งรักปุ๊กนะ” ผมสารภาพ

“ดูกันไปก็แล้วกัน” เธอยังสงวนท่าที

“ไว้ไปเที่ยวทะเลกันนะ” ผมวางโปรแกรม

และเป็นครั้งแรกที่ผมพาหญิงคนรักไปเที่ยวกับหมู่เพื่อนเทพศิรินทร์ ท่องทะเลตรัง สู่เกาะกระดาน เกาะไหง เกาะลิบง หาดทรายขาว สร้างเรื่องราวหวานไว้มากมายสำหรับเราทั้งคู่ ที่ต่างเติมเต็มหัวใจซึ่งกันและกัน

กลับจากทริปครั้งนั้น เกลียวคลื่นเหมือนม้วนตามขึ้นฝั่งมาผูกเกลียวใจของผมและเธอให้แน่นแฟ้นเพิ่มขึ้น

วันที่ 21 กรกฎาคม 2538

บรรยากาศห้องสื่อมวลชนประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลตอนเช้าตรู่เงียบยังไงพิกล ไม่มีเสียงพูดคุย ทั้งที่มีกระจอกข่าวนั่งเกือบเต็มห้อง พจน์ สุขเมือง สังกัดหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เดินเข้าพอพูดถึงขั้นตอนพิธีพระบรมศพ

ผมรู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น

“สมเด็จย่าสิ้นแล้วอย่างสงบที่สุด สมเด็จย่ารักตำรวจมาก  ช่วยดูแลงานต่าง ๆ ของตำรวจ เป็นอย่างดี เป็นการสมควรที่ตำรวจทุกคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่โดยเข้มแข็ง อย่างสุดความสามารถ เพื่อประเทศชาติ เพื่อจะได้เป็นพระราชกุศลต่อสมเด็จย่าต่อไป ” กระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสกับ พลตำรวจตรีพงษ์ศักดิ์ โรหิโตปการ ผู้บังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี ขณะรอรับเสด็จอยู่โรงพยาบาลศิริราช

แผ่นดินไทยโศกสลด ระทมทุกข์ต่อการสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ส่วนผมกลับต้องเจอการตัดสินใจสำคัญของชีวิต

“แต่งงานกันนะ” ผมบอกเธอในช่วงเวลาอาจไม่ถูกกาลเทศะของประเทศ “แน่ใจหรือว่าทำเพราะรัก”

ผมพยักหน้าให้คำมั่นอยู่ปากซอยทองหล่อ

ในที่สุดระฆังวิวาห์ก็ดังขึ้นในเย็นวันที่ 24 กันยายน 2538 ภายหลังผมย้ายไปสังกัดใหม่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ไม่ถึงเดือน

“นักข่าวตระเวนคนใหม่แต่งงานแล้ว” เสียงแซวในหมู่สหายร่วมสำนัก

ฝนตกพร่ำ อากาศกำลังเย็นสบาย ไบรท์-วรวิทย์ นิมมานศิริกุล รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถูกเลือกให้เป็นพิธีกรขึ้นเวทีสวนอัมพร สถานที่ประกาศสละโสดของเราทั้งคู่ เป็นเวทีที่สมัยผมเรียนอนุบาลโรงเรียนสมาคมสตรีไทยไปแสดงละครเด็กเล่นเป็นผึ้งน้อยตอนชั้นอนุบาลหนึ่ง และบทกระต่ายป่าสวมชุดขาวสวมเขากระดาษกระโดดโลดเต้นในปีถัดมา

ไม่น่าเชื่อ ผ่านเวลาไป 20 ปี ผมคืนสู่เวทีในฐานะเจ้าบ่าวของงานเลี้ยงฉลองสมรส

พลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร ผู้มีพระคุณต่อครอบครัวผมให้เกียรติเป็นเจ้าภาพคล้องพวงมาลัยบ่าวสาว ขณะที่ พลตำรวจโทโสภณ วาราชนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับหน้าที่ประธานกล่าวโอวาท

“ขอแสดงความยินดีกับพ่อแม่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ทุกคนอย่างเห็นลูกมีความเจริญก้าวหน้า ผมก็มีลูก 2 คน สิ่งสำคัญที่สุดของพ่อแม่ คือเห็นลูกประสบความสำเร็จในชีวิต ขอยินดีแก่ผู้บ่าวสาว การที่ได้เข้าพิธีสมรสเสมือนการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต” พลตำรวจโทโสภณร่ายยาว “เจ้าบ่าวเป็นครอบครัวตำรวจ พ่อเป็นคนดี เป็นตัวอย่างที่ดีของตำรวจนครบาล ส่วนเจ้าบ่าวเป็นสื่อมวลชนประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล น่ารัก และน่าจะมีอนาคตที่ดี ผมอยากฝากเจ้าสาวดูแลเจ้าบ่าวด้วย”

แขกเหรื่อทยอยมาเต็มงานชูแก้วยกไชโยตามประธานส่งสัญญาณหลังเสร็จสิ้นอวยพร

ผมเดินนำสาวที่เข้ามาเป็นคู่ชีวิตลงเวทีไปจุดเทียนมงคลสมรส สราวุธ วัชรพล หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย เพิ่งเดินทางมาถึง อลงกฎ จิตต์ชื่นโชติ หัวหน้าข่าวอาชญากรรม อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์ หัวหน้าข่าวหน้า 1 เข้ามายืนแถวถ่ายรูปร่วมกับพ่อแม่เจ้าบ่าวเจ้าสาว

ไบรท์-วรวิทย์ ทำหน้าที่พิธีกรไม่หยุดปาก

“อย่าถามอะไรยาวนะพี่” ผมตกลงสคริปต์ ก่อนขึ้นสู่เวทีอีกครั้ง “อะไรที่ทำให้คุณโต้ง เจ้าบ่าวของเราเลือกคุณปุ๊กเป็นเจ้าสาวในวันนี้” พิธีกรหนุ่มที่กำลังผันตัวเป็นนักร้องตามความฝันลำดับพิธีการ

ผมตั้งสติไม่นานแล้วตอบไปว่า “เขาเป็นผู้หญิงที่ดีมากคนหนึ่งที่ผมคิดว่า คงหาผู้หญิงที่ดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว”

ฝ่ายเจ้าสาวตอบคำถามเดียวกันว่า “เชื่อว่าเขาน่าจะนำเราไปสู่อนาคตและประสบความสำเร็จได้”

“จะให้คำสัญญาได้ไหมว่าทั้งคู่จะรักกันตลอดไป” ไบรท์ป้อนคำถามเรียกความสนใจแขกในงานต่อ

“ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่ออนาคต เพื่อครอบครัวครับ”

“เราจะช่วยกันประคองชีวิตไปให้สำเร็จที่สุดค่ะ”

ราตรีของคืนวิวาห์ครั้งเดียวในชีวิตของผมและเธอสิ้นสุดลงด้วยความบกพร่องกระท่อนกระแท่นหลายอย่าง

แต่เราก็จบมันด้วยดี แม้อาจไม่เป็นที่ประทับใจแขกผู้ใหญ่ เนื่องมาจากผมฝักใฝ่เอาแต่เพื่อนร่มสถาบันโรงเรียนเก่าและมหาวิทยาลัยขึ้นไปร้องเพลงเชียร์หวังสร้างสีสันที่ไม่เหมือนใคร ทว่ากลับกลายเป็นไม่ให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่ที่เดินทางมาร่วมงาน

ชีวิตคู่ผมเริ่มต้นไล่เลี่ยชีวิตนักข่าวตระเวนอาชญากรรมเต็มตัว

สิ่งที่หวาดกลัวระรัวอยู่ภายใต้จิตสำนึกตลอดเวลาว่า มันจะประคับประคองผ่านทุกเรื่องไปได้อย่างไร

 

 

RELATED ARTICLES