“มีหลายคดียาก ไม่ใช่ง่าย ส่วนใหญ่ต้องเข้าถึงใจลูกน้อง ช่วยกันทำงาน” 

ตัดสินใจเดินตามรอยพี่ชายที่เป็นอัศวินแหวนเพชรเคียงข้างกาย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจคนดัง

ทำให้ พล.ต.ต.ชูเดช มัชฉิมานนท์ เลือกสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 6 มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นนายพลตำรวจใหญ่ อาทิ พล.ต.อ.มนัส ครุฑไชยันต์ พล.ต.อ.ชาญ รัตนธรรม พล.ต.ท.ธนู หอมหวล พล.ต.ท.นพเก้า ธัญญสิริ และพล.ต.ท.ชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ เป็นต้น

ตอนจบนายร้อยใหม่ๆ โชคไม่ค่อยดี เมื่อพี่ชายต้องลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศไปพร้อมอธิบดีเผ่า ศรียานนท์ หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้ตระกูลมัจฉิมานนท์ถูกมองเป็นทรราช ประวัติครอบครัวไม่ค่อยดี เขาถึงต้องไปลงบรรจุเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี

อยู่ได้ 2ปีย้ายเข้ามาโรงพักดุสิต  พญาไท และจักรวรรดิ ก่อนโดนเด้งไปไกลถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอสามเงา จังหวัดตาก เพียง 8 เดือน พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ เห็นฝีมือจึงดึงกลับมาลงพญาไทอีกครั้ง

ฃประเดิมเป็นรองสารวัตรโรงพักห้วยขวางรุ่นแรก ขึ้นสารวัตรประจำกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือแล้วย้ายเป็นสารวัตรใหญ่โรงพักบางเขน ได้ 2 ปีโยกขึ้น “รองผู้กำกับสืบสวนเหนือ” นาน 4 ปีขั้นเงินเดือนทะลุ จำเป็นต้องไปเป็นผู้กำกับการ 1กองตำรวจรถไฟ  และเลื่อนเป็นรองผู้บังคับการตำรวจรถไฟ

ไป ๆ มา ๆ กลับถูกดองนานถึง 9 ปีกว่าจะติดยศ “นายพล” ตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจรถไฟ   ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ยุคที่ พล.ต.ท.ธนู หอมหวล เพื่อนรักร่วมรุ่นนั่งเก้าอี้ “เจ้าพ่อสอบสวนกลาง”แต่พอเปลี่ยนยุคเพื่อน เขาก็ถูกส่งไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2537

เส้นทางชีวิตตำรวจของ พล.ต.ต.ชูเดช ถือว่าผ่านบู๊ และบุ๋นมามากพอสมควร แม้อาจไม่โด่งดังติดอันดับทำเนียบนักสืบเท่า พล.ต.อ.ชาญ รัตนธรรม หรือ พล.ต.ท.ธนู หอมหวล เพื่อน จปร.6 แต่หลายคดีใหญ่ที่สำคัญ ๆ มักมีเขาอยู่เบื้องหลังการแกะรอยสืบสวนเสมอ เพราะได้วิชาจากปรมาจารย์นักสืบชั้นเยี่ยมของกรมตำรวจอย่าง พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น

“ชีวิตผมผ่านอะไรมาเยอะมาก ตั้งแต่สมัยรองสารวัตรถูกส่งให้ไปอยู่โรงพักจักรวรรดิ ใครก็หาว่าเส้นมหึมา เพราะจักรวรรดิยุคนั้นคือทำเลทองของนครบาล แต่ผมได้ไปเนื่องจากขยันทำงาน ท่านมนต์ชัยจึงส่งให้ไปอยู่ ปรากฏว่าอยู่ได้ 8 เดือน ก็มีเรื่อง ผมเกลียดนายบางคนไม่ทำงาน มีรองสารวัตร 2 คน เข้าเวรเที่ยงออกเย็น เข้าเย็นออกเช้าอยู่อย่างเนี่ย แต่สารวัตรสอบสวนเส้นดี ไม่ค่อยมาเข้าเวร ปล่อยให่้พวกผมควง นานเข้าก็ทนไม่ไหว มันกินแรง ผมเลยยิงปืนบนโรงพัก ถึงถูกย้ายไปอยู่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก” พล.ต.ต.ชูเดช เริ่มต้นรำลึกเรื่องราวชีวิตของตัวเอง

“ผมทำงาน ได้พิจารณาเสนอ 2 ขั้นตลอด ท่านมนต์ชัยเห็นว่าทะลุแล้ว ถ้าไม่ย้ายขึ้นก็ไม่ได้ขั้น ตอนนั้นจึงจำเป็นต้องออกนอกหน่วยไปน่ังผู้กำกับที่กองตำรวจรถไฟ กะว่าเดี๋ยวค่อยย้ายกลับมาใหม่ แต่ท่านมนต์ชัยดันโดนคำสั่งปลดกลางอากาศ ผมเขว้งเลย กลายเป็นรองผู้การอาวุโสอยู่รถไฟนาน 9 ปี  เพราะเราไม่มีนาย คนอื่นย้ายข้ามมากินตำแหน่งผู้การหมด กระทั่งสมัยอธิบดีสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ศิษย์สำนักเดียวกันถึงได้เป็นนายพล”

พล.ต.ต.ชูเดชบอกว่า ชอบงานนักสืบตั้งแต่เป็นรองสารวัตร วันไหนออกเวรสอบสวนก็ไปสืบจับคดีในพื้นที่ ได้ทำสำนวนด้วย จับด้วย เพราะสืบสวนกับสอบสวนต้องไปคู่กัน แต่การที่จะเป็นนักสืบได้ต้องเสียสละ สมัยก่อนตำรวจชั้นประทวนจะขับรถไม่เป็น เราต้องทำหน้าที่ขับรถให้เขานั่ง ใช้รถส่วนตัว ควักกระเป๋าทำงานเอง ถ้าฐานะไม่ดีคงแย่ ทุกคนถึงรักเรา เพราะเราให้ใจเขา เฝ้าจุดนั่งโป่งรอจับผู้ต้องหากับเขาตลอด

“ชีวิตนักสืบของผม มันที่สุดก็ตอนอยู่กองสืบ กับพญาไท วิสามัญฆาตกรรมคนร้ายจริง ๆ ไม่ได้จัดฉาก 7 ราย  ช่วยกันทำคดีสำคัญมากมาย แต่ที่ประทับใจ คือการตามล่าแก๊งของเสือวิเชียร สร้อยจำปา ดาวปล้นร้านทองในพื้นที่ภูธร แต่แอบเข้ามาก่อคดีปล้นร้านทองย่านประตูน้ำแล้วใช้เรือหางยาวหลบหนี คดีนี้ใช้เวลาการสืบสวน แยกกันสืบ ผมตามเกาะจนเกือบจะติดคุก”

นักสืบรุ่นเก่าเล่าว่า วิเชียร สร้อยจำปา คือลูกพี่ของตี๋ใหญ่ มีสมุนมากมาย ตำรวจแบ่งทีมติดตามกระทั่งเริ่มรู้แหล่งกบดาน พล.ต.อ.มนต์ชัยมีคำสั่งกำชับให้เวลา 7 วันตามล่ามาให้ได้ “คิดดูล่ะกันว่าเครียดมั้ย ผมจะบ้าตาย    ไม่ใช่เก่ง ต้องมีดวงประกอบด้วย ไล่ล่ากันทรหด ผมตามลูกสมุนมันที่หนีไปราชบุรีเข้าคลองดำเนินสะดวก โผล่หมู่บ้านสระกระเทียม จังหวัดนครปฐม ตอนนั้น ผมก็เหมือนโจรใส่เสื้อเจ็กเกต สะพายปืนลูกซอง โดดขึ้นรถเมล์ ลงมาซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ ไปเจอที่โรงเรียนอนุบาล   เหมือนในหนังเลยเชื่อมั้ย ดวลปืนซัดกันสด ๆ จนมันตายคาที่ เดชะบุญที่กระสุนไม่ถูกใครเลย ส่วนวิเชียร ถูกจับในเวลาต่อมาก่อนหนีระหว่างพาไปศาล ทุกวันนี้หายสาบสูญไปไหนไม่รู้”

“มีอีกคดีที่หลายคนไม่รู้เลยว่า ผมทำ คือ แรมโบ้ คนเดียวถืออาวุธสงครามบุกปล้นธนาคารแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และหัวลำโพง ผมเป็น รองผู้การรถไฟ   ไม่ใช่เขตผม แต่ความทีี่ชอบสืบสวน และมีลูกน้องเก่าเป็นสายโทรมา เรียกผม ป๋า สงสัยทำไมไอ้นี่รวยได้ไง ซื้อปิกอัพขับ ควักกระเป๋าเติมน้ำมันเงินร่วงเป็นปึก อดีตเป็นจ่าทหารเรือ ปล้นแล้วกบดานอยู่ในทำเลดี ใครเข้าออกรู้หมด  ตอนนั้นผมพักร้อนพาครอบครัวไปเที่ยวพัทยา สายดันแอบตามไปบอกลักษณะท่าทางผู้ต้องสงสัย ผมเลยให้ภรรยากับหลานสาวเป็นสายสืบจำเป็นแกล้งเข้าไปซื้อหมาหลังอานเพื่อหลอกถามข้อมูล”นายพลมากประสบการณ์ยิ้มภูมิใจในความหลัง

 “ทีนี้ทำไงล่ะ ผมเป็นรองผู้การรถไฟ อยู่สอบสวนกลาง เหตุเกิดในนครบาล มนัส ครุฑไชยันต์กำลังขึ้น ผบช.น. ผมอยู่กับบุญชู วังกานนท์ ตายมั้ยเนี่ย ถ้านครบาลจับได้  ดำมืดอยู่พักใหญ่ ตัดสินใจติดต่อมนัส บอกธนู ที่เป็นผู้การใต้ ส่งตุ๊ กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ที่ตอนนั้นเป็นสารวัตรไปตั้งด่านตรวจกับชาวบ้านแต่เกิดหลุดจึงโทรบอกผม ผมบอกเอาใหม่ ให้เด็กที่เป็นสายพาออกมา ส่วนตำรวจแอบอยู่หลังตู้ ตั้งด่านจับใหม่ สุดท้ายก็จับได้ วันแถลงข่าว มนัส กับธนู ก็เรียกให้ไปด้วย แต่ผมเปิดตัวไม่ได้ สอบสวนกลางเล่นผมแน่  ที่ผ่านมาผมถึงทำหลายเรื่อง อยู่เบื้องหลังการถ่ายทำมาตลอด ตุ๊รู้ดี แม้จะออกจากกองสืบ ก็ไม่เคยทิ้ง”

อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 บอกเคล็ดลับด้วยว่า  มีสมุดบันทึกไว้เป็นเล่มติดตัวเสมอ เช่น คดีตี๋ใหญ่ ได้สืบสวนหาข้อมูลตั้งแต่มันโดนจับที่โรงพักบางซื่อ ข้อหาซ่องโจร ชื่อของมันตอนนั้นยังไม่ดัง ได้พยายามสอนพวกรุ่นน้อง เวลาไปไหนให้มีสมุดจดโน้ต บางทีมันลืม โรงพักไหนจับอะไรได้ เวลาเช้า ถ้ารู้จะขอเข้าไปนั่งสอบผู้ต้องหาเอง เหมือนตี๋ใหญ่ ได้เข้าไปคุยซักถามประวัติ ขยายผลเครือข่ายมีใครบ้าง พอมันแหกห้องขัง ถึงเริ่มดัง ตำรวจนครบาลจึงเริ่มสืบสวน แต่เราได้ข้อมูลก่อนหน้านี้แล้ว มี สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ กิตติโชติ แสงนิล ผจญยุทธ สิงหะ กฤษฎา พันธุ์คงชื่น และอีกหลายช่วยกันทำจนจับตายได้

“มีหลายคดียาก ไม่ใช่ง่าย ส่วนใหญ่ต้องเข้าถึงใจลูกน้อง ช่วยกันทำงาน เอาจริง กัดไม่ปล่อย บ้านช่องยังต้องทิ้งเลย  มีลูกน้องบางคนอย่าง สิทธิพร โนนจุ้ย มีฝีมือมาก ทำคดีเรียกค่าไถ่หลานนายแพทย์คนหนึ่งกว่าจะจับและช่วยเหลือตัวประกันได้เล่นเอาเหนื่อยไปหลายวัน แต่เมียของสิทธิพร ไม่เข้าใจคิดว่าไม่กลับบ้านเพราะเที่ยว ถึงขนาดเอากระเป๋าเดินทางใส่เสื้อผ้าผัวมาโยนทิ้งอยู่หน้ากองสืบ นี่แหละชีวิตนักสืบรุ่นก่อน ครอบครัวต้องเข้าใจเราด้วย”

เมื่อเอ่ยถึงคดีจับเด็กเรียกค่าไถ่ที่สมัยก่อนจะเกิดขึ้นถี่มาก พล.ต.ต.ชูเดชยอมรับว่า เป็นคดีสืบสวนที่ยาก และเคร่งเครียดเนื่องจากมีชีวิตของเหยื่อเป็นตัวประกันอยู่ ตลอดระยะเวลาการทำงานสืบสวนมา มีเพียงคดีเรียกค่าไถ่เรื่องเดียวที่ไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่ได้ และยังค้างคาใจอยู่ทุกวันนี้   ผู้ต้องสงสัยอยู่บ้านติดกับผู้เสียหาย อุ้มเด็กหญิงอายุเพียง 3ขวบลูกสาวร้านเฟอร์นิเจอร์ย่านสามเสนใส่กระเป๋าเดินทางไป รองเท้าเด็กยังอยู่ในบ้านเลย เรียกค่าไถ่ 3แสนบาท ตำรวจสืบสวนเหนือเอารถตามคนร้ายกันเป็นขบวนกว่า 20คัน ผู้ต้องสงสัยเป็นครูทำเหมือนในหนัง โทรศัพท์นัดวางเงินตรงนั้น ตรงนี้ พอไปถึงก็มีกระดาษเขียนให้ไปต่อที่อื่น กว่าจะรับเงินได้

“ผมอยากได้ตัวเด็กคืน ต้องแบ่งทีมสะกดรอยตามอีก มันดันเอาเงินไปเล่นม้าในสนาม  ลูกน้องผมคือไพจิตร อ่องศรี คอยยืนประกบตลอด บอกนายเงินที่มันได้ไปจะหมดแล้วนะ  เอายังไงล่ะ ผมก็ต้องเอาเลย ล็อกตัวพามาเค้นปากคำ ทำทุกอย่าง มันไม่รับเรื่องเด็ก แต่รับเรื่องเงิน โดนแค่ข้อหากรรโชกทรัพย์ เพราะเราไม่ได้ตัวเด็ก บีบหัวใจผมอยู่ถึงเดี๋ยวนี้ เสียใจมาก ที่ช่วยเหลือเหยื่อไม่ได้  หมดท่า ไม่ได้เด็ก ไม่เจอศพ กระเป๋าใบนั้นก็ไม่เจอ “

นายพลนักสืบรุ่นเดอะยังเล่าถึงความขมขืนในชีวิตราชการว่า เมื่อปี 2532 ตามสืบสวนจับกุมคดีคนร้ายปล้นนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไปยิงทิ้งจังหวัดชลบุรี ได้รับประกาศเกียรติคุณ แต่ที่ประชุมแต่งตั้งกลับบอกไม่เหมาะสมที่จะได้เป็นผู้การ “ผมเก็บประกาศเกียรติคุณไว้มากมาย พอเป็นแบบนี้ ผมเลยเอาใบประกาศมาตั้ง เอาปืนยิงเปรี้ยง เปรีี้ยง ได้มากี่ใบ ผมยิงทิ้งหมด  เวลานี้เหลืออยู่ใบเดียว ท่านอธิบดีเภา สารสินมอบให้  เพราะผมไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไร ถึงเวลาเลื่อนตำแหน่ง เขาหาว่าไม่เหมาะสม เอาอะไรมาวัด มีชื่อทุกปีจากข้างล่างแล้วไปตก ในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ   ผมผิดอะไร ไม่สบอารมณ์ผู้บังคับบัญชาเหรอ”

“ตอนคดีโจรกรรมเครื่องเพชรของสายการบินซาบีน่า มูลค่า 7ล้านบาทที่สนามบินดอนเมือง ผมเป็นสารวัตรใหญ่บางเขน ถูกดึงตัวไปช่วยติดตามคนร้าย แต่คลาดกัน เพราะมันขึ้นรถไฟไปแล้ว ผมต้องทำหน้าที่ขับรถแข่งกับรถไฟให้ทันที่สถานีอุบลราชธานี วันนั้น ทวี ทิพย์รัตน์ อยู่สืบสวนเหนือต้องคอยนวดคอให้ตลอดทาง   หยุดไม่ได้  ฉี่ยังไม่อยากฉี่  สุดท้ายตามดักจับได้ที่สถานี แต่ผลตอบแทนของผม ได้แค่ปากกาด้ามเดียว ส่วนคนอื่นได้ไปเมืองนอกหลายคน ทั้งที่ขับรถเป็นบ้าเลยคืนนั้น”

มือสืบสวนระดับตำนานฝากแง่คิดไว้ด้วยว่า ใครทำงานมาก ผิดมาก ทำน้อย ผิดน้อย โอกาสพลาดน้อย แต่พวกนี้กลับได้ดิบได้ดี  ยิ่งตำรวจสมัยนี้มีความขยันน้อยกว่าเมื่อก่อน “ตอนผมอยู่โรงพักเวลาเข้าเวร ใครมาต้องเข้าไปถามแล้วว่ามีเรื่องอะไรครับ แต่ปัจจุบันแทบไม่ใส่ใจชาวบ้าน ผมยังกลัวเลยโรงพัก  เดี๋ยวมันทำอะไรไม่ถูกใจเราก็ระเบิด เราไม่อยากจะอะไร เด็กสมัยนี้มันเหลือเกิน ขนาดลูกผมไปโรงเรียนมีตังค์ติดตัว 500บาท โดนตำรวจจับ มันจะเอา 200 บอกมีแบงก์ 500 มันก็พาเข้าปั้มน้ำมันเพื่อแลกทอน  ถ้าผมเอาเรื่อง มันออกมั้ย ผมถึงไม่ขึ้นโรงพัก กลัว  พอเอาความถูกต้องไปคุยก็ทะเลาะ หาว่า มีเรื่องกับเด็ก พูดจากใจจริงนะ นิ่งเฉยดีกว่า เลี่ยงได้เลี่ยง ไม่จำเป็นจะไม่ขึ้นโรงพักแน่นอน”

ชูเดช มัชฉิมานนท์ !!!

 

RELATED ARTICLES