(1)   ปฐมบทย้อนยุคการศึกษา

 

ผมเกิดที่ห้องแถวไม้สองชั้น ริมถนนพระราม ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรีเป็นย่านการค้าที่อยู่ริมแม่น้ำลพบุรี การสัญจรเข้ากรุงเทพฯ นอกจากทางบกแล้ว ยังมีเรือเมล์บรรทุกผู้โดยสารและสินค้า ระหว่างลพบุรีกับกรุงเทพฯ  มีเรือเมล์แดงและเรือเมล์เขียว จอดกันคนละท่า บ้านผมอยู่ตรงข้ามกับตรอกท่าเรือเขียว  เรียกว่า ตลาดล่าง

ผมอยู่กับยาย บ้านยายมี  2  คูหา ด้านหนึ่งขายเครื่องจับสัตว์น้ำ จำพวกแห สวิง ตาข่าย    เบ็ด และฉมวก รวมทั้งสายเอ็นสำหรับผูกกับเบ็ด และตะกั่วเล็ก ๆ ถ่วงน้ำหนัก ซึ่งตัวเบ็ดก็มีหลายขนาด สำหรับตกปลาเล็กอย่างปลาหมอ ไปจนถึงปลาใหญ่อย่างปลาช่อน วางในกระบะไม้ซึ่งแบ่งเป็นช่อง ๆ ตามขนาด และมีฝากระจกปิดเปิดอีกด้านหนึ่ง

ที่บ้านยังรับตัดเสื้อผ้าสตรีแม่ และน้าสาว 2  คนช่วยกันดูแลกิจการทั้งสองด้าน

โตขึ้นพอรู้ภาษาคน ผมก็ถูกส่งเข้าเรียนอนุบาลชาวตลาดลพบุรีรู้จักกันดีในชื่อ   “โรงเรียนตาตู่” อยู่เยื้องกับประตูด้านหน้าของวังนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กมากกว่า ผมไม่เคยเห็นหน้าค่าตา  “ตาตู่” แต่ครูผู้หญิงร่างอ้วนป้อมชื่อ “ครูสวาท” คอยดูแลเด็ก     เวลาเด็กงอแงครูสวาทมีวิธีปราบได้ชะงัด ด้วยการ “หนีบเนื้อที่แขน”  แล้วสะบัดมือ ครูสวาทไม่ใช้การ “หยิก”  แต่จะเอานิ้วชี้กับนิ้วนางข้างขวา งอเจ้าหาฝ่ามือแล้วหนีบเนื้ออย่างว่า ใครอยากรู้รสชาติเจ็บหรือไม่เจ็บก็ลองทำดู

ครบ  2 ปีก็ไปอยู่ ร.ร.สหะกิจวิทยาของ “ครูประจบ มณิปันตี” เรียนตั้งแต่ชั้น ประถม  1   ถึงประถม 4 ระหว่างที่อยู่ชั้นประถม 2 ภาษาไทยพอกระดิกหูผมก็ถูกยัดไปเรียนพิเศษที่ ร.ร.กงฮัก ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนล้วน ๆ

สาเหตุที่ถูกยัดเยียด เพราะเตี่ยอยากให้ผมเรียนรู้ภาษาจีน เตี่ยผม  “แซ่โง้ว” ครับ และแม่ก็เห็นชอบด้วย เพราะแม่มีเชื้อสายมาจาก “แซ่ตั้ง” มารู้ทีหลังว่าตอนเล็ก ๆ ผมพูดภาษาจีนได้พอสมควร  ต้องยอมรับว่า ภาษาจีนยากมากทั้งการเขียน และการอ่าน เรียนได้ไม่กี่เดือนก็เกิดสงครามโลกครั้งที่  2

ทหารญี่ปุ่นยึดตัวเมืองลพบุรีไว้ในกำมือ เอาเชลยศึกฝรั่งตัวแดง ๆ ผอมโซซี่โครงขึ้นมาทำงานที่วัดพระศรีมหาธาตุ หลังสถานีรถไฟลพบุรี ชาวลพบุรีเอากล้วยเอาน้ำเอาของกินไปให้เชลยศึกต้องแอบส่งให้ผ่านรั้วลวดหนาม ถ้าทหารญี่ปุ่นเห็นมันจะรี่เข้ามาปัดมือเชลยโยนสิ่งของเหล่านั้นทิ้ง

ทหารพันธมิตรส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในตัวเมืองลพบุรี ผมยังจำเสียงไซเรนได้ชนิดฝังติดหู มันดัง “หวด ๆ ๆ” ขึ้นมาเมื่อไหร่ไม่ว่าเวลาใดจงรีบออกจากบ้านไปยังที่ปลอดภัยโดยเร็ว เพราะหลังจากสิ้นเสียงหวอไม่ถึงอึดใจ เสียงเครื่องบินพันธมิตรจะดังอยู่เหนือหัว ตามด้วยเสียงระเบิดบึ้ม ๆ ๆ ไม่ขาดระยะ ใช้เวลาไม่นานมันก็บินจากไป

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ระเบิดที่พันธมิตรถล่มทุกวัน ไม่เคยหล่นใส่ตัวเมืองลพบุรีเลยสักลูกเดียว แต่เป้าหมายกลายเป็นสถานีรถไฟ โบกี้รถไฟถูกทำลายพินาศ หลังเครื่องบินลับสายตา     เสียงไซเรนก็ดังอีกครั้งแสดงว่า ปลอดภัย  ผมยังไปเก็บหน้าต่างรถไฟที่ทำด้วยไม้อย่างดีที่กระจัดกระจายเกลื่อนหล่นเอามาทำเป็นไม้บรรทัด  คนเฒ่าคนแก่ ซึ่งอยู่แถวถนนหน้าพระกาฬ อยู่หน้าศาลพระกาฬเล่าให้ลูกหลานฟังว่า พอมีเสียงเครื่องบินพันธมิตร ตัวเมืองลพบุรีก็ถูกปกคลุมด้วยเมฆมืดครึ้ม บนศาลพระกาฬจะมีเงาทะมึนเหมือนร่างคน ยืดถือผ้าผืนใหญ่สะบัดไปมาอยู่ตลอดเวลา ทำให้นักบินพันธมิตรไม่เห็นตัวเมืองในเบื้องล่าง ท่านผู้เฒ่าเล่าว่า เงาทะมึนนั้นคือ    “เจ้าพ่อพระกาฬ” ที่มาช่วยชาวลพบุรีให้ปลอดภัย

สงครามทำให้เกิดการขาดแคลนเครื่องอุปโภค ไม่มีสบู่ใช้ต้องเอาขี้เถ้าจากเตาถ่านไปผสมน้ำ แล้วกรองเอาน้ำด่างมาใช้สอยทำความสะอาด ไฟฟ้าก็ดับ ๆ เปิด ๆ โรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างก็ตามมา ที่ขึ้นชื่อไม่แพ้โรคทางเดินอาหารก็คือ “แผลกลาย” ชื่อมันอย่างนั้นจริงๆ ใครเป็นแผลนิดเดียวไม่ช้ามันจะลุกลามเป็นแผลใหญ่  ผมก็เป็นแผลกลายที่ตาตุ่ม มียารักษาได้อย่างเดียวถ้าจำไม่ผิดชื่อ  “โอโรฟอร์ม” เป็นผงโรยใส่แผลไม่กี่วันแผลแห้ง แล้วก็ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้รำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่  2

ในที่สุดครอบครัวผมต้องอพยพจากตัวเมือง ไปอาศัยบ้านญาติที่ตำบลบางขันหมาก    อำเภอเมืองลพบุรี ที่ร้ายกว่านั้นมีการเนรเทศต่างด้าวออกจากตัวเมืองด้วย เตี่ยผมถูกส่งไปอยู่อำเภอบ้านหมี่จนสงครามสงบจึงได้กลับ

เมื่อผมเป็นลูกคนจีน ผลพวงที่เกิดจากตัวผมในขณะนั้น กลัวถูกเนรเทศเหมือนเตี่ย    ผมจึงไม่ยอมพูดภาษาจีนอีกรวมทั้งวิชาภาษาจีนทั้งการเขียนและการอ่านที่ร่ำเรียนมาถูกลบไปจากสมองในทันทีทันใด ผมกลายเป็นลูกจีนที่พูดภาษาจีนไม่เป็นจนบัดนี้

จบชั้นประถม  4ไปสอบเข้าชั้นมัธยม  1 โรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี “พิบูลวิทยาลัย”    อยู่ข้างศาลพระกาฬ  เป็นโรงเรียนชายล้วน ม.1 ถึง  ม.6 ปักอักษรย่อที่อกเสื้อ ล.บ.1แถวถัดมาเป็นเลขประจำตัว ผมได้เลขประจำตัว  3932  ส่วนโรงเรียนประจำจังหวัดหญิงล้วน ชื่อ  “เทพสตรีวิทยาลัย” ปักอักษรย่อ ล.บ.2 ปัจจุบันพิบูลวิทยาลัยกลายเป็นโรงเรียนสหศึกษาสอนถึงเตรียมอุดมศึกษา ส่วนเทพสตรีวิทยาลัยกลายเป็นสถาบันราชภัฏเทพสตรี

การศึกษายุคโน้นสมัยโน้น ก็เป็นไปตามคำชวัญ “กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การศึกษาย่อมเป็นไปฉันนั้น” ของ ม.ล.ปิ่น  มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ม.1 เพิ่งเรียนภาษาอังกฤษ เอ. บี. ซี. ดี. และสอนกันแบบนกแก้วนกขุนทอง เอ.ตรงกับสระแอ บี.ตรงกับบ.ใบไม้ ซี.ตรงกับ ซ.โซ่  ดี.ตรงกับ ด.เด็ก เป็นต้น ทุกวันนี้ภาษาอังกฤษกับผมจึงอยู่ในประภท  “โหลยโท่ย” อ่านพอออก แต่แปลไม่ได้ และพูดไม่ได้

ขออนุญาตเขียนถึงครูเท่าที่จำได้ เป็นความภาคภูมิใจของผมที่มีครูดีเด่นมากมาย    ครูใหญ่ชื่อ “ดอกเตอร์สาย ภาณุรัตน์” สำเร็จปริญญาเอกเมื่อ 60 ปีโน่นต้องเก่งขนาดไหน     ต่อมาเป็นอาจารย์ใหญ่ชื่อ “ครูอาคม ชาติกำแหง” ครูสอนวิทยาศาสตร์  “ครูชงค์ วงษ์ขันธ์”     อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บุกเบิกสวนสาธารณะจตุจักร และอดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดลพบุรี

“ครูอนันต์ อ่ำพันธุ์” เป็นครูประจำชั้น “ครูวัลลภ นิ่มเทียน” สอนขับร้องและดนตรี      “ครูบุรพินธ์ สนานพันธุ์” นักรบสงครามโลกครั้งที่  1  สอนวิชาลูกเสือ “ครูไขศรีวิไล จุลพิเชษฐ์”    สอนภาษาอังกฤษ “ครูสง่า สุขเกษม” สอนภาษาไทย  “ครูหวล ทวีคูณ”  สอนวาดเขียน “ครูเชิด    บรรเทิงประทุมรัฐ” สอนศิลปะการแสดง “ครูผ่องพรรณ สุขารมณ์” คุณแม่ของ น.ท.นพ.เดชา   สุขารมณ์ รน. ก็มาสอนตอนผมอยู่   ม.6

ถึงตรงนี้ก็ขออวดโอ้เรื่องเพื่อนร่วมรุ่นที่จบ ม.6 พร้อมกัน คนแรกคือ พล.อ.อ.อมร    แนวมาลี อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ไล่เรียงลงมาก็มี พล.ต.ต.สุธรรม เศวตนันทน์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.อ.ต.ธำรงฤทธิ์ กายสิทธิ์   (ถึงแก่กรรม) พ.อ.เผด็จ เอมวงศ์    ปัจจุบันเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เอมพันธุ์ ตรงข้ามตลาดบองมาเช่  พ.อ.ชาญ อมะรักษ์ อดีตทหารม้าที่ยังตีกอล์ฟได้ทุกวัน นายวินัย เต่าทอง อดีตผู้อำนวยการาเขตปทุมวัน นายเกียรติ สรัคคานนท์     ลูกเขย พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเวลา  60 ปีผมไม่เคยพบเพื่อนที่เอ่ยชื่อนี้เลย

กล่าวสำหรับ  พล.อ.อ.อมร แนวมาลี เพิ่งเข้าเรียนตอน ม.6 เพราะบิดาคือ พล.อ.เล็ก    แนวมาลี ตอนนั้นมียศแค่นายพัน ย้ายมาอยู่ศูนย์การทหารราบ ค่ายสมเด็จะพระนารายณ์มหาราช     (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ส่วนศูนย์การทหารราบไปอยู่ค่ายธนะรัชต์     อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

ครูบุรพินธ์ สนานพันธุ์  หรือ “ครูกลึง” มีสายเลือดนักรบสงครามโลกครั้งที่  1 เต็มร่าง     ถึงเวลาครูกลึงเข้าสอน ครูจะให้นักเรียนจัดโต๊ะเรียนเป็นรูปเครื่องบิน มีลำตัวและปีกไม่ต้องมีแพนหาง ครูบอกว่า เป็นเครื่องบินแบบ “แบรเก้ต์”  ที่บรรทุกทหารไทยไปฝรั่งเศส เวลาครูสอนครูจะไม่สบอารมณ์ถ้ามีนักเรียนขัดจังหวะ ขออนุญาตปัสสาวะไปอุจจาระ ครูบอกว่า นักเรียนไม่ต้องขออนุญาต เดินออกมาโค้งคำนับแล้วออกไปทำธุระได้

ไม่รู้ว่าเด็กชายอมร แนวมาลี ไปทำอีท่าไหน ครูกลึงโมโหมาก เรียกมายืนหน้าห้องแล้วหวดด้วยไม้เรียวที่แก้มก้น เด็กชายอมรร้องไห้โฮ ก็นี่แหละ “ไม้เรียวครูกลึง” น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ศิษย์เก่าเขียว – แดง พิบูลวิทยาลัยก้าวไกลเป็นถึงผู้นำเหล่าทัพ

พล.ต.ต.สุธรรม เศวตนันทน์  ก็ติดตามบิดา พ.ต.อ.จรุง เศวตนันทน์ จากยะลามาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรีมาอยู่ชั้น ม.6  ก.  ห้องเดียวกับผม ผมเรียกเขาว่า “ไอ้รองเง็ง”    เพราะหน้าตาเหมือนคนใต้

ตอนที่ผมทำงานอยู่เดลินิวส์ สี่พระยา มีงานเลี้ยงงานหนึ่งที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล     ผมไปงานนั้นด้วย เห็น พล.ต.ต.สุธรรม ยืนอยู่ที่โต๊ะอาหารบุฟเฟ่ต์ ผมจำเขาได้เพราะรูปร่างหน้าตาไม่ได้ผิดไปจากาตอนเรียน ม.6 เท่าใดนัก แต่เขาจะจำผมได้หรือเปล่าไม่รู้ ผมเดินเข้าไปที่โต๊ะนั่นทำทีตักอาหาร พล.ต.ต.สุธรรมหันมายิ้มให้ก็แค่นั้น เขาจำผมไม่ได้แน่นอน ผมยิ้มตอบก็เป็นอันจบข่าว

จนบัดนี้ ไม่รู้ว่า ม.6 พิบูลวิทยาลัย รุ่นปี  2495 จะเหลือกี่คน เพราะขาดการติดต่อกันมานาน และไม่มีใครเป็นตัวประสาน แม้เพื่อนอีกคน ร.อ.ชูชีพ พานิชชอบ ทหารปืนใหญ่จะเคยเป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าพิบูลวิทยาลัยก็ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องการรวมรุ่น

ที่เหลืออยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เห็นจะมีแค่งานสังสรรค์ประจำปีที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย    ทุกวันที่ 6  เมษายน จัดโดยสมาคมนักเรียนเก่าพิบูลวิทยาลัย แต่ก็ไม่คึกคักเท่าที่ควรเนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ ศิษย์เก่าที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ได้รับการติดต่อ ไม่ได้รับทราบงานของโรงเรียน

ชื่อพิบูลวิทยาลัยก็ย่อมเป็นที่รู้ว่า มาจากชื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ศิษย์เก่าก็เป็นใหญ่เป็นโตมากมายในแผ่นดิน อย่างเช่น พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ม.6 ปี 2492 พล.อ.บุญเลิศ    แก้วประสิทธิ์ ม.6 ปี 2501 ไม่ยักกะมีใครไปเติมเชื้อไฟให้ท่าน

ยุคหนึ่ง คุณหมอเดชา สุขารมณ์ ม.6 ปี 2494  เคยเป็นโต้โผจัดงานสังสรรค์ศิษย์เก่าพิบูลวิทยาลัย จัดที่โรงพยาบาลเดชา พอคุณหมอได้เป็นรัฐมนตรีมีงานล้นมือ ท่านก็วางมือเรื่องศิษย์เก่า และไม่มีใครสานงานนี้ต่อจนบัดนี้

ผมจบ  ม.6  ยังไม่รู้จะเรียนอะไร หรือไปทำมาหากินอะไร เพราะสมัยนั้นดอกกล้วยไม้ของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ยังไม่ออกดอกออกช่อ ไม่มีการแนะแนวให้นักเรียนจบ  ม.6 เห็นเส้นทางการสร้างอนาคต จบแล้วให้ประกาศนียบัตรมาหนึ่งใบ จากนั้นใครจะไปไหนก็ช่าง

แม้ลพบุรีจะเป็นเมืองทหาร มีหน่วยทหารบกและทหารอากาศตั้งอยู่หลายแห่ง เป็นเมืองที่มีนายพลทหารบกมากที่สุด รองจากกรุงเทพฯ แต่ผมก็ไม่คิดจะเป็นทหารบก ด้วยในใจอยากเป็นทหารเรือ

เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมัยทรงพระเยาว์ฉลองพระองค์ในชุดกลาสี     ผมใฝ่ฝันอยากเป็นทหารเรือ

ไม่มีทางเลือก จบ  ม.6 แล้วต้องเข้ากรุงเทพฯ ประการเดียว ผมเคยไปกรุงเทพฯ   ไม่กี่ครั้ง ไม่รู้จักถนนหนทาง ไม่รู้จะไปพักที่ไหน และไม่รู้จะไปเรียนอะไร แต่อย่างไรก็ต้องไปครับ ไปตายเอาดาบหน้า เพราะเราเกิดมาในสมัยกล้วยไม้ยังไม่ออกดอก

RELATED ARTICLES