(26)  “สารวัตรกำพล” ทลายบ่อน “ชัย ราชวัตร”

 

มวิ่งหนีอาชีพรับราชการมาแล้ว มันเหมือนกับตัวเองถูกขีดเส้นอยู่ในกรอบ เช้าไป  เย็นกลับ หยุดเสาร์อาทิตย์ วงจรชีวิตจำเจอยู่ตรงนั้น เมื่อเดินเข้าสู่ถนนหนังสือพิมพ์ ผมหลงรักอาชีพนี้ครับ เป็นงานอิสระที่แตกต่างกับงานราชการ ถึงจะไม่มีวันหยุด แต่ก็มีเวลาพักผ่อน

เมื่อมาอยู่ใต้ชายคายักษ์ใหญ่ไทยรัฐ แม้ทางโรงพิมพ์มีความหวังดีต่อพนักงานส่งรถมารับผมถึงหน้าบ้านทุกเช้า ส่วนตอนเย็นตัวใครตัวมัน แต่ผมมีความรู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในกรอบที่เคยวิ่งหนีมาแล้ว

จึงตัดสินใจเอาความอึดอัดนี้ไปบอกกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

เข้าไปในห้อง “พี่สมิต มานัสฤดี” หัวหน้ากองบรรณาธิการร่างเล็ก แต่มันสมองใหญ่ ผมเล่าถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น บอกตามตรงผมไม่อยากให้รถโรงพิมพ์มารับ ไม่ใช่ว่า ผมต้องการไปทำงานสาย  ผมสามารถไปถึงโรงพิมพ์ทุกเช้าได้ในเวลาเดิม เพราะบ้านผมอยู่ซอยเผือกจิตร   แยกซอยเสนานิคม 2 พหลโยธิน ห่างไทยรัฐไม่กี่กิโลเมตร แต่การที่ต้องทำตัวให้พร้อม และรอรถมารับ มันก็คนละเรื่องเดียวกันกับนักเรียนรอรถรับส่งไปโรงเรียน

ตั้งใจไว้แล้วถ้าพี่สมิตไม่ยอม ผมก็ต้องลั่นวาจาลาออกตรงนั้นทันทีตามสันดอนสันดานของผม

แต่พี่สมิตเข้าใจถึงความรู้สึกของผมก็เป็นอันว่าเรื่องจบลงด้วยดี รถโรงพิมพ์ไม่ต้องมารับ    ผมเดินทางไปเอง แค่ขึ้นรถสองแถวในซอย ขึ้นรถเมล์ที่ถนนใหญ่ไปลงหน้าสวนจตุจักรเดินผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง  7 เข้าทางด้านหลังโรงพิมพ์ เสร็จงานตอนเย็นถ้าไม่ไปไหน ผมก็กลับบ้านไปทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว

แม้งานของผมจะไม่เร้าใจตัวเอง มีหน้าที่คอยดูแลงานข่าวภูมิภาคแทน “พี่เฉลิมชัย ทรงสุข” ประสานงานด้านข่าวต่างจังหวัดกับโต๊ะข่าวหน้า  1  และเขียนคอลัมน์ “ต้อย ต้นโพธิ์” เท่านั้น

พอแท่นพิมพ์เดินเครื่องส่งหนังสือพิมพ์ไปจังหวัดไกล ๆ ทุกภาค ผมก็ไม่มีอะไรทำ ได้แต่เดินแกว่งไปแกว่งมา ถ้า “เฮียโกวิท สีตลายัน” ไม่ดึงไปกินข้าวกลางวันข้างนอกตามประสาคนตระเวนชิมของเฮียโกวิท ผมก็ฝากท้องกับร้านอาหารในโรงพิมพ์แล้วก็ขลุกอยู่ในกองบรรณาธิการจนถึงเย็น

เหมือนกับพี่สมิตมีญาณวิเศษ วันหนึ่ง “คุณหวา” เลขานุการของพี่สมิตมาเชิญให้ผมไปพบพี่สมิตในห้อง พอเข้าไปก็มี “พี่ไพทูรย์ สุนทร” ผู้ควบคุมคอลัมน์ปราบยาเสพติดของไทยรัฐนั่งอยู่ด้วย พี่ไพทูรย์กับผมรู้จักกันตั้งแต่สมัยเดลินิวส์ สี่พระยา

พี่สมิตบอกว่า ระยะนี้ไทยรัฐถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทอยู่บ่อย ๆ  สาเหตุมาจากข่าวสังคมภูมิภาคก็อยากปรับปรุงจุดอ่อนตรงนี้ เห็นว่า ผมกับพี่ไพทูรย์พรรษาสูง ผ่านสมรภูมิข่าวมานาน ต้องการให้รับภาระเขียนข่าวสังคมภูมิภาคแทนนักข่าวโต๊ะข่าวภูมิภาค  4  คน ซึ่งเขียนข่าวสังคมกันคนละภาค พี่สมิตให้ผมกับพี่ไพทูรย์ตกลงกันเอง ใครจะเขียนสังคมภาคไหน

ผมขอภาคกลางกับภาคเหนือ เพราะรู้พื้นที่ในภูมิภาคนั้นพอควร ส่วนพี่ไพทุรย์รับภาคใต้กับภาคอีสาน

หยิบแฟ้มข่าวสังคมมาอ่าน เห็นข่าวที่ผู้สื่อข่าวส่งมาแล้ว ผมไม่แปลกใจว่าทำไมไทยรัฐถึงถูกฟ้องบ่อย แต่ไม่เป็นไร ผมเอามาเรียบเรียงใหม่ ถ้ามันหมิ่นเหม่ต่อการให้บรรณาธิการตกเป็นจำเลย  ผมก็ใช้วิธีขัดเกลาเนื้อหาและถ้อยคำ

สงสารบรรณาธิการครับ “ลุงทองทศ ไวทยานนท์” แทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง กลับจากขึ้นศาลทางภาคเหนือลงเครื่องที่ดอนเมือง หิ้วกระเป๋าขึ้นเครื่องอีกเที่ยวบินไปขึ้นศาลทางภาคใต้ เมื่อสิ้นลุงทองทศ พี่ไพทูรย์รับภาระขึ้นศาลแทน

หวนนึกถึงเหตุการณ์ที่เดลินิวส์ สี่พระยา เมื่อครั้งถูกสั่งปิดก็มาจากข่าวสังคมภูมิภาคนี่แหละ คนเขียนข่าวดันเอาสุภาษิตฝรั่งมาตบท้ายข้อเขียน แต่พาดพิงไปถึงสถาบัพระมหากษัตริย์   แต่คดีนี้มีกามเทพเข้ามาแทรกแซง “ประภา เหตระกูล” ผู้จัดการเดลินิวส์รับหน้าเสื่อไปติดตามคดีความที่โรงพักบางรัก หลังจากตากับตามาจ๊ะกันกับเจ้าของคดี ร.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด    นรต.26 รุ่นเดียวกับ “ทักษิณ ชินวัตร” เลยทำให้ “ประภา” มีทั้งชื่อและนามสกุลยาวเฟื้อยเป็น    “ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด”

นักข่าวภุมิภาคไทยรัฐแต่ละจังหวัดมีหลายคน ผมเอาข่าวสังคมของคนหนึ่งมาเขียน    แล้วบุคคลที่ตกเป็นข่าวดันเป็นพรรคพวกของนักข่าวอีกคนถึงขนาดเอาเรื่องไปฟ้องพี่เฉลิมชัยเพราะนักข่าวคนหลังนี้เขาสนิทกับพี่เฉลิมชัย

แต่พี่เฉลิมชัยเป็นผู้ใหญ่น่านับถือครับ พี่ไม่เคยมาไถ่ถามผมเรื่องนี้

ผมสังเกตเห็นนักข่าวโต๊ะข่าวภูมิภาคที่เคยเขียนข่าวสังคมกันคนละภาคแล้วไม่ได้เขียน   มีทีท่าเหมือนกับถูกปลดอาวุธ แต่ผมไม่สนใจเพราะผมไม่ได้แย่งดาบจากมือเขา เป็นเรื่องของหัวหน้ากองบรรณาธิการ

แม้จะมีงานเพิ่มเข้ามา แต่ไม่ใช่งานหนักหนาอะไร ผมเคยเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวต่างจังหวัดของเดลินิวส์ สี่พระยา ซึ่งมี “พี่เทพ ชาญณรงค์” เป็นหัวหน้าเขียนข่าวสังคมต่างจังหวัดทั้ง  4 ภาค สบายมาก

ผมปั่นต้นฉบับ “ต้อย  ต้นโพธิ์” กับข่าวสังคมภาคเหนือ – ภาคกลางสวมวิญญาณนักเรียนอาชีวะ ร.ร.บพิตรพิมุข ซึ่งสอนพิมพ์ดีดทุกวัน ๆ ละ 1 ชั่วโมง ทำให้ผมพิมพ์ดีดสัมผัสได้คล่องทั้งสิบนิ้ว ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็ส่งต้นฉบับให้ช่างเรียงได้

ถึงตอนที่ผมเสร็จงานแล้วเดินแกว่งไปแกว่งมาก็มีตัวละครที่ผมต้องเขียนถึง

“พี่สำราญ อินทร์เถื่อน หัวหน้าฝ่ายของกองการผลิต รับผิดชอบข่าวหน้า  1พี่สำราญจะขึ้นมารับต้นฉบับจากโต๊ะข่าวหน้า 1 เอาไปให้ลูกน้องที่ห้องเรียงพิมพ์

ที่ไทยรัฐมีระบบการตรวจสอบเวลาที่มีประสิทธิภาพ อย่างพี่สำราญมารับข่าวที่โต๊ะข่าวหน้า  1  ต้องเอาข่าวเข้าเครื่องลงเวลา  ช่างเรียงรับข่าวก็ต้องลงเวลารับ ส่งไปพนักงานพิสูจน์อักษร ไปฝ่ายทำเพลทจนถึงแท่นพิมพ์ ทุกขั้นตอนมีการลงเวลารับส่งเป็นหลักฐาน

หนังสือพิมพ์ออกช้ากว่ากำหนดเพียง 5 นาทีใช้เวลาแป๊บเดียวก็รู้ว่าช้าตรงไหน

อย่าว่าแต่เรื่องการผลิตเลย ด้านการจัดจำหน่ายก็มีการตรวจสอบด้วย ที่ไหนจังหวัดไหนยอดขายตก ต้องหาคำตอบให้ได้เป็นเพราะเหตุใด

ผมเคยร่วมไปกับขบวนการตรวจสอบนี้มาครั้งหนึ่งในฐานะที่ดูแลข่าวต่างจังหวัด “พี่มานิจ สุขสมจิตร” เป็นหัวหน้าทีม เอารถตู้ไป 1 คันมุ่งไปที่จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม    เพราะยอดขายไทยรัฐที่นั่นตก โดนเดลินิวส์แซงหน้า

ทีมงานแยกไปสอบถามเอเย่นต์ใหญ่และร้านค้า รวมทั้งคนอ่านแล้วก็รู้สาเหตุทันที

ไทยรัฐกับเดลินิวส์ต่างมีเรื่องย่อหนังจีนซึ่งฉายในโทรทัศน์ แต่เป็นคนละเรื่องและคนละช่อง ของไทยรัฐออกช่อง  3 ของเดลินิวส์ออกช่อง 7 ยุคนั้นภาคอีสานตอนบนรับช่อง 7 ชัดแจ๋ว   ตรงข้ามกับช่อง 3 ผู้คนเลยติดหนังจีนช่อง 7 งอมแงม ทุกวันต้องไปซื้อเดลินิวส์มาอ่านเรื่องย่อซึ่งลงล่วงหน้าเพื่อตั้งตารอดูหนังตอนค่ำ

พี่มานิจกลับมารายงาน ผอ.กำพล วัชรพล แล้วทุกคนก็ได้เห็นการบริหารอย่างยอดเยี่ยมของนายใหญ่ไทยรัฐ ตัดสินใจฉับพลันทันที

ผอ.กำพลสั่งกระบี่มือหนึ่งยอดนักแปลเรื่องจีน “น.นพรัตน์” จัดการแปลเรื่องหนังจีนของช่อง 7 เอามาลงไทยรัฐ ตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงปัจจุบันแล้วก็ลงเรื่องย่อล่วงหน้าก่อนหนังฉาย 2 – 3  วัน ส่วนเรื่องย่อหนังจีนช่อง  3 ก็ยังลงเหมือนเดิมเพื่อรักษาลูกค้าที่รับช่อง  3 ได้ชัด    วิธีการอันแหลมคนอย่างนี้เพียงไม่กี่วันไทยรัฐก็กวดทันเดลินิวส์ และแซงหน้ากลับมาครองแชมป์ยอดขายตามเดิม

กลับมาที่ไทยรัฐ “พี่สำราญ อินทร์เถื่อน” เป็นลูกหม้อของที่นั่น รู้จักผู้คนในกองบรรณาธิการทุกแผนก  กับผมแม้จะเป็นน้องใหม่ แต่ไม่นานนักก็คุ้นหน้ากัน

เสร็จงานแล้วพี่สำราญก็ตกอยู่ในสภาวะเหมือนผม พี่สำราญมาถามว่าผมเล่นรัมมี่เป็นไหม ผมตอบว่าพอไหว พี่สำราญเร่ไปถามใครต่อใคร ในที่สุดก็ได้ครบขารัมมี่ 4  คน แล้วจะ

ไปเล่นกันที่ไหนล่ะ ก็พี่สำราญอีกนั่นแหละ เสาะหาสถานที่จนพบ

ห้องทำงานของการ์ตูนนิสต์ “ชัย ราชวัตร” อยู่ชั้น 3 กว้างขวางพอสมควร แอร์เย็นฉ่ำ    แถมมีโต๊ะรับแขกชุดหนึ่ง ตั้งอยู่หน้าโต๊ะทำงาน โต๊ะรับแขกนี่แหละกลายเป็นโต๊ะรัมมี่ของพวกเรา

ตัวยืนก็มีผมกับพี่สำราญ นอกนั้นเป็นขาจร ใครว่างจะถูกพี่สำราญดึงตัวขึ้นมาให้ครบขา    ที่จำได้ก็มี “สมชาย กรุสวนสมบัติ”  (ซูม –จ่าแฉ่ง) “สันติ   วิริยะรังสฤษฎิ์” (ไต้ฝุ่น – ลม  เปลี่ยนทิศ)

รัมมี่ไม่เหมือนไฮโลครับ ไม่ต้องใช้เสียงลุ้น เราจึงเล่นกันเงียบ ๆ ไม่รบกวนเจ้าของห้อง    เล่นกันไม่ดุเดือดแค่แต้มละ 5 สตางค์  10  สตางค์ ได้เสียไม่เท่าไหร่ก็เหมือนนักนิยมรูบนผืนหญ้า ต้องมีเดิมพันติดปลายไม้กอล์ฟ มากน้อยขนาดไหนอยู่ที่แต่ละก๊วน

แม้ในห้องจะเย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศ แต่มักจะมีเหงื่อผุดขึ้นบนใบหน้าของ “ซูม”

เพราะนักรัมมี่จากสภาพัฒน์ฯ คนนี้ ชอบเล่นน็อกมืดครับ ถ้าลงไพ่ไม่ได้ก็ต้องลบมืด “ซูม” มักจะเกิดอาการแบบนี้บ่อยครั้ง

กล่าวถึง “สมชัย กตัญญุตานนท์” เจ้าของห้อง เจ้าของการ์ตูน 3 ช่อง “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” หน้า  5 ด้านล่าง บางคนอาจนึกว่าแต่ละวันมีงานแค่นี้หรือ  ซึ่งบางคนนั่นแหละไม่รู้ว่ากว่าตัวการ์ตูนจะโลดแล่นเสียดสีการบ้านการเมืองครบทั้ง 3  ช่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย

สมัยนั้นยังไม่มีนักเล่าข่าวในโทรทัศน์ “ชัย ราชวัตร” จะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเพื่อนำมาเป็นพล็อตเรื่อง ถ้าคิดได้แล้วเขาจะลงมือวาดการ์ตูน เสร็จภายในไม่กี่สิบนาที แต่ถ้าวันไหนสมองตื้อคิดไม่ออก เขาจะหยิบจดหมายจากผู้อ่าน ซึ่งเสนอความคิดต่าง ๆ ส่งมา ถ้าถูกใจเขาก็ใช้แนวทางของผู้อ่านเป็นการ์ตูน โดยเขียนชื่อผู้ส่งลงในช่องที่  3  ของการ์ตูนเป็นการให้เกียรติเจ้าของความคิด

และทุกวัน “ชัย ราชวัตร” ต้องเซ็นชื่อตัวเองพร้อมวันเดือนปี กำกับไว้ในการ์ตูนช่องสุดท้ายด้วย  ก็ต้วเลขวันเดือนปีนี่แหละเคยมีนักนิยมหวยใต้ดิน อุตริเอาไปซื้อหวย แล้วเลขท้าย  3  ตัวรางวัลที่  1 ก็ดันออกมาตรงเผง “ชัย” เลยกลายเป็น “อาจารย์ชัย”

รัมมี่วงนี้ดำเนินไปด้วยดีจนกระทั่งวันโลกาวินาศมาเยือน มีเสียงเคาะประตูห้อง พี่สำราญลุกไปเปิดประตู ขณะที่พวกเราอีก 3 คนถือไพ่ค้างอยู่ในมือ สายตามองไปที่หน้าประตูก็เห็นนายใหญ่ไทยรัฐยืนตรงนั้น

ผอ.กำพลเรียกพี่สำราญไปคุยกันข้างนอก สักพักพี่สำราญกลับมาเล่าความว่า ผอ.กำพลไปเข้าห้องน้ำแล้วได้ยินพนักงานขับรถมันนินทา ทีพวกเขาเล่นไพ่ที่โรงรถ ผอ.สั่งให้เลิก แต่ทีพวกเราเล่นรัมมี่ ผอ.กลับไม่ว่าอะไร

พี่สำราญบอกว่า ผอ.กำพลให้พวกเราเลิกเล่น พวกเราก็ต้องสนองคำสั่ง เก็บไพ่ใส่กล่องตั้งแต่บัดนั้น

เห็นการบริหารงานอีกรูปแบบของ ผอ.กำพล หรือยัง

ในห้องทำงานก็มีห้องน้ำส่วนตัวแล้ว เรื่องอะไรที่ ผอ.กำพลจะต้องไปเข้าห้องน้ำรวม

วันรุ่งขึ้น ในห้องทำงานของ  “ชัย ราชวัตร” มีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับฉุกเฉิน ขนาดเท่าของจริง เหมือนของจริงเป๊ะมีทั้งข่าวทั้งภาพ ติดผนังห้อง พาดหัวข่าวตัวเบ้อเริ่มเทิ่ม

“สารวัตรกำพล” ทลายบ่อน “ชัย  ราชวัตร”

ขารัมมี่หงอยไปพักหนึ่ง การที่เลือกเอาห้องทำงานของ “ชัย  ราชวัตร”  เพราะเห็นว่าถ้ามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น พวกเราสามารถลงไปทำงานได้ทันที แต่เมื่อถูกสารวัตรกำพลบุกทลาย    พวกเราจะไปที่ไหนกันดี

ไม่เหมือนกลุ่มคอลัมน์นิสต์ผู้อาวุโส ซึ่งมีห้องทำงานอยู่ด้านทิศใต้ของกองบรรณาธิการ

พี่ปั๋น “ปรีชา ทิพยเนตร” (ไว ตาทิพย์) “พี่เวทย์ บูรณะกิจ” “พี่พินิจ นันทวิจารณ์” และตามด้วยผู้ด้อยอาวุโส “นิตย์ จอนเจิดสิน”

พอบ่ายคล้อยใกล้อาทิตย์ตกดิน  ผู้อาวุโสและด้อยอาวุโสทั้งสี่จะไปยังเป้าหมายตั้งวงพักผ่อน ไม่ใช่วงรัมมี่นะครับ แต่เป็น “วง 4 แบน” ทั้งสี่มีรสนิยมเดียวกัน สั่งแม่โขงทีละแบน    บอกว่า ถ้าเอามาเป็นขวด มันไม่ชวนกิน

ในที่สุดวงรัมมี่ก็เกิดอีกครั้ง พวกเราก็ไปที่บ้าน “ไต้ฝุ่น” ในซอยโชคชัยร่วมมิตร ถนนวิภาวดีรังสิต อยู่ไม่ไกลจากไทยรัฐมากนัก แต่ตั้งวงได้ไม่กี่ครั้งต้องเลิกรา เพราะไม่สะดวกหลายประการ

พอรวมตัวได้ครบขา เล่นกันไม่กี่เกม เกิดคนหนึ่งมีธุระทันทีทันใดก็ต้องเลิกเล่นเพราะไม่มีขามาแทน ไม่เหมือนเล่นที่ห้อง “ชัย  ราชวัตร” หาคนมาแทนได้ทันที

เคว้งอยู่พักหนึ่ง ผมก็ได้ที่พึ่งพิงพักผ่อนแห่งใหม่

“เฮียโกวิท สีตลายัน” เจ้าของนามปากกา “มังกรห้าเล็บ” สร้างโรงพิมพ์ชื่อ “มังกรการพิมพ์”  อยู่ข้างบ้านตัวเองในหมู่บ้านจัดสรรแถวสุทธิสาร ผมจำชื่อหมู่บ้านชื่อซอยไม่ได้รู้แต่ว่าบ้านเฮียโกวิทอยู่ห่างจากบ้าน “เนาวรัตน์ ยุกตะนันทน์” ไม่กี่สิบเมตร

นอกจากสร้างโรงพิมพ์แล้ เฮียโกวิทยังเนรมิตห้องกินเหล้าเล่นไพ่บนชั้นสองของมังกรการพิมพ์ด้วย เอาไว้ให้เพื่อน ๆ  พี่ ๆ  และน้อง ๆไปสำเริงสำราญกันที่นั่น

ในห้องมีเคาน์เตอร์ มีเหล้าต่างประเทศหลายยี่ห้อเรียงราย มีโซดาน้ำแข็งกับแกล้มพร้อมสรรพ เฮียโกวิทไม่กินเหล้าชอบเขย่าลูกเต๋าอย่างเดียว แต่เฮียจะมีความสุขเมื่อเห็นพรรคพวกมีความสุข

มีชื่อห้องกินเหล้าด้วยครับ ผมจำชื่อไม่ได้อีกตามเคย จำได้แต่มีการถ่ายรูปหมู่หน้าห้อง

แล้วเอารูปไปลงหน้า  4  ไทยรัฐ บรรยายภาพอย่างสวยหรู

“ทองเติม เสมรสุต หน.กองการผลิตไทยรัฐเป็นประธานเปิดห้องอาหาร…..ของโกวิท   สีตลายัน ที่มังกรการพิมพ์ หมู่บ้าน…..”

เท่านั้นแหละเป็นเรื่อง

หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ เฮียโกวิทได้รับหนังสือจากกรมสรรพากรเนื้อหาใจความสรุปสั้น ๆ  ได้ว่า “ให้ไปชำระภาษีค้างจ่าย”

มันตลกตรงที่ว่า  ย้อนหลังไปนับสิบปี สมัยประเทศไทยเพิ่งมีโทรทัศน์ขาวดำ เฮียโกวิทเข้าหุ้นกับพรรคพวกทำไนท์คลับที่ถนนราชดำเนินกลาง  มีชื่อเฮียโกวิทเป็นเจ้าของแล้วไม่ได้เสียภาษีเงินได้

ผ่านมาหลายอธิบดีกรมนี้พอมาเห็นภาพหน้า  4 ไทยรัฐ คิดว่าเฮียโกวิทคงร่ำรวยมีโรงพิมพ์ มีห้องอาหารเลยยื่นโนติ๊สทวงภาษีย้อนหลัง

กรมสรรพากรใช้วิธีตรวจสอบบุคคล ตามข่าวสังคมของหนังสือพิมพ์ก็เหมือนอาชีพของคนกลุ่มหนึ่ง อ่านข่าวสังคมว่ามีงานเผาศพพระราชทานเพลิงศพ คนใหญ่คนโตที่วัดไหน พวกเขาจะไปงานนั้นไปกันหลายคนเพื่อรับหนังสือที่ระลึก เอาไปขายที่สวนจตุจักร.

 

 

RELATED ARTICLES