(2) ชีวิตที่เลือกเองและเลือกได้

อยู่ลพบุรี 16 ปี เคยเข้ากรุงเทพฯเพียง 3 ครั้ง เพราะการเดินทางไม่สะดวกสบาย    ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์หรือเรือเมล์ ผิดกับสมัยนี้ลิบลับ แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ยุคนั้นรถไฟจึงเป็นทางเลือกอันดับแรกและดีที่สุด

แต่เชื่อไหมรถไฟใน พ.ศ. 2496 ออกจากสถานีต้นทางลพบุรี 6  โมงเช้า ถึงหัวลำโพงปาเข้าไปเที่ยงวัน เพราะใช้หัวรถจักรลากจูงยี่ห้อ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง”ต้องเติมน้ำเติมฟืนตลอดเวลา แถมยังมีโบกี้บรรทุกสินค้าพ่วงหลายตู้ จำเป็นต้องจอดทุกสถานีเพื่อขนถ่ายสินค้าและรับผู้โดยสาร

รถไฟชบวนลพบุรี – กรุงเทพฯ นอกจากจอดทุกสถานีแล้วยังจอดแช่ที่สถานีชุมทางบ้านภาชีให้ผู้โดยสารลงไปรับประทานอาหารมื้อเช้าตามร้านอาหารที่อยู่ในชานชาลา ส่วนใหญ่จะเป็นพวกข้าวแกง ไม่ต้องรีบร้อนนั่งกินสบาย ๆ เพราะหัวรถจักรยังเติมน้ำเติมฟืนไม่เสร็จ พอถึงสถานีอยุธยากระเพาะก็พอมีเนื้อที่ว่าง มีข้าวเกรียบกุ้งแท้ ๆ ที่ผสมมันกุ้งแม่น้ำของจริงไม่ได้มีแค่กลิ่นกุ้งเหมือนสมัยนี้ และอาหารประเภทใส่กระทงใบตอง  ร้องขายเซ็งแซ่อยู่ริมหน้าต่าง

จำได้ว่า เข้ากรุงเทพฯ กับเตี่ย  2 ครั้ง เตี่ยพาไปอวดเพื่อนฝูงของเตี่ยแถวบ้านหม้อ    เพราะเตี่ยเป็นพ่อค้าขายทอง อวดว่ามีลูกชายใกล้จบ  ม.6 แล้ว อีกครั้งเตี่ยพาไปเยาวราช ตื่นตะลึงกับตึกสูงละลิ่ว 7ชั้น 9 ชั้น แหงนคอตั้งบ่า ทึ่งในฝีมือมนุษย์ สร้างขึ้นไปได้ยังไง ที่ลพบุรีอย่างเก่งก็มีตึกแถวสูงแค่ 2 ชั้น

ครั้งที่สาม มีเหตุต้องเข้ากรุงเทพฯ เพราะเดินเล่นอยู่แถวตลาดล่าง (ถนนพระราม   เลียบแม่น้ำลพบุรี มีอยู่ 4 ตลาด ด้านเหนือสุดเป็น “ตลาดท่าโพธิ์”ถัดมาทางใต้เรียก  “ตลาดล่าง”จากนั้นเป็น“ตลาดบน” แล้วไปสุดถนนพระรามที่ “ตลาดท่าขุนนาง”)

ผมเดินกับเพื่อนอีก 2 คน ผมอยู่ตรงกลาง จู่ ๆ หมาที่เดินสวนมามันกระโจนกัดผมที่หน้าขา เลือดไหลรินทันตาเห็นแล้วมันกิวิ่งหนีไป ไม่รู้ว่าเป็นหมาบ้าหรือเปล่า แต่ก็สันนิษฐานได้ว่า มันบ้า ถ้าไม่บ้าคงไม่กระจานกัดผมกลางตลาดแล้วมันทำไมต้องเจาะจงมาที่ผม ทำไมไม่สนใจเพื่อน 2 คนที่ขนาบซ้ายขวา บ้าหรือไม่บ้าก็ต้องป้องกันไว้ก่อน

ในตัวเมืองลพบุรีมีสถานีอนามัย ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “สุขศาลา”  ส่วนโรงพยาบาลอยู่นอกตัวเมืองห่างไกลมาก ผมไปที่สุขศาลาเล่าให้เจ้าหน้าที่ฟัง เจ้าหน้าที่บอกว่า ที่สุขศาลาไม่มียาป้องกันพิษสุนัขบ้าให้ผมไปเอายาที่กรุงเทพฯแล้วจะฉีดให้

ต้องไปเอายาที่กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่โชคช่วยไม่ต้องเป็นบ้าไปตามหมา เพราะร้านน้าสาวผมที่อยู่ตลาดบนติดกับร้าน “สัจจวาณิชย์”  ซึ่งมีคุณป้า “โสภิต   สุจริตตานนท์” เป็นเจ้าของ ผมเรียกท่านว่า “คุณป้าโส” หลังร้านคุณป้าเป็นลานกว้างเป็นสนามแบดมินตัน ผมเข้าไปเกือบทุกวัน เพราะเพื่อนผมที่เรียนห้องเดียวกันชื่อ “ประพันธ์ จิวาลักษณ์”  อาศัยอยู่กับคุณป้าโสภิต

คุณป้าโสเป็นญาติกับ “พระบำราศนราดูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นญาติใกล้ชิดกับตระกูล “เวชชาชีวะ” ด้วย น้าสาวพาผมไปหาคุณป้าโสเล่าเรื่องให้ฟัง  คุณป้าโสให้ผมไปเอายาที่กรุงเทพฯ ทันที  ไปกับประพันธ์ จิวาลักษณ์ เพราะประพันธ์รู้จักถนนหนทาง     และต้องไปนอนค้างคืนที่บ้านคุณป้าโสในกรุงเทพฯ  ด้วย

ยาป้องกันพิษสุนัขบ้าต้องเก็บไว้ในที่เย็น และต้องฉีดติดต่อกันทุกวันจนกว่าครบตามกำหนด ไม่รู้เจ้าหน้าที่สุขศาลาเก็บยาไว้ที่ไหน แต่ผมต้องไปแอ่นพุงฉีดยาเข้าหน้าท้องทุกวัน พอยาเข้าใต้ผิวหนัง มันจะบวมปูดเท่ากับลูกมะนาวต้องเอาผ้าชุบน้ำร้อนมาคลึง วันรุ่งขึ้นลูกมะนาวข้างซ้ายไม่ทันยุบดี ต้องฉีดด้านขวาอีกสลับไปมาจนครบถ้วนจำไม่ได้ว่า กี่เข็ม

เล่าความหลังเมื่อปี พ.ศ.2496 ให้ฟัง เพราะจบ ม.6 ตอนต้นปี ครั้งแรกเตี่ยจะให้ไปฝึกงานธนาคารมณฑล สาขาลพบุรี ปัจจุบันกลายเป็นธนาคารกรุงไทย แต่ผมไม่ชอบการทำงานที่อยู่ในอาณาเขตจำกัด และไม่ชอบทำงานที่เกี่ยวกับเงิน ๆ  ทอง ๆ

น้าสาวพาผมเข้ากรุงเทพฯ เอาไปฝากกับพระที่วัดสุทัศน์เทพวราราม พักอาศัยกับ   “พระครูอมรโฆสิต  (จันทร์)” อยู่คณะ 8 ผมเรียกท่านว่า  “อาจารย์” กุฏิพระวัดสุทัศน์สร้างทรงเดียวเหมือนกันหมด ประตูเข้าวัดมีหลายทาง เข้าประตูมาแล้วต้องจำให้แม่นเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา แรกๆ ผมก็หาคณะ 8 ไม่เจอเหมือนกัน

น้าสาวฝากฝังเสร็จก็กลับลพบุรีปล่อยให้ผมคลำหาทางแห่งชีวิตเอาเอง ความฝันอยากเป็นทหารเรือไม่ได้อยู่ในสมองแล้ว มีทางเดียวที่ตัวเองรู้ คือ ต้องเรียนต่อ  ม.7 ต้องไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระหว่างนั้นเลยเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาวัดสุทัศน์ ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ซ้ำตัวเองก็ไม่รู้จักถนนหนทางในกรุงเทพฯเลย

ไปสมัครสอบที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ไปชนิด “คลำทาง” นั่งรถรางสายบางลำภู –  หัวลำโพงจากหน้าวัดไปลงยศเสเดินข้ามสะพานกษัตริย์ศึกไปชนถึงสี่แยกปทุมวัน มีตำรวจจราจรยืนตากแดดกลางถนน ถ้าจะให้รถด้านหนึ่งหยุดก็กางแขนทั้งสองข้างเป็นสัญญาณแล้วหมุนแผ่นสังกะสีที่ทาสีเขียวกับแดงให้สีแดงหันไปทางที่ตัวเองให้สัญญาณรถหยุด

ในที่สุดก็อาศัยปากเป็นเครื่องนำทางไปถึงโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจนได้ และในที่สุดผมก็สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่ได้ ทั้ง ๆ  ตัวเองเรียนเก่ง จาก ม. 1 ถึง  ม. 6 อยู่ห้อง  ก.ไก่ตลอด

ครับ ก็แค่เก่งบ้านนอกเท่านั้นเอง วิชาความรู้ไหนจะสู้กรุงเทพฯ ได้

แล้วจะทำยังไง ใกล้เปิดเทอมแล้วยังไม่มีที่เรียน ไม่รู้จะไปปรึกษากับใคร นอกจากต้องช่วยตัวเอง สุดท้ายก็ต้องไปเข้าโรงเรียนไพศาลศิลป์ ยศเส ของอาจารย์ “สงบ เสาวภายน”    เพราะเปิดรับล่าสุดกว่าทุกโรงเรียน ถึงกระนั้นยังต้องเสียเงินค่าสมัครสอบด้วย พวกเหลือเดนเข้าที่ไหนไม่ได้ก็ต้องจำยอม

เรียน ม.7 ได้อยู่ตึก มองเห็นโรงพยาบาลหัวเฉียวอยู่ติดกัน ถ้าเบื่อหน้าครูก็ผู้ชายทั้งนั้นที่สอนก็เหม่อมองหาความสวยความงามจากหน้าพยาบาลได้ ส่วน ม.อื่นอยู่อาคารไม้ ถ้าจำไม่ผิดปีนั้น “มีศักดิ์ นาครัตน์” น่าจะอยู่  ม.6

เพื่อนร่วมห้องล้วนคนแปลกหน้าจำได้คนเดียวหน้าตากระเดียดไปทางอีส้านอีสาน ชื่อ  “วิรุฬห์ ฟื้นแสน” น่าเป็นคนคนเดียวกับ พล.ต.อ.วิรุฬห์  ฟื้นแสน ในเวลาต่อมา

ผมมาโรงเรียนไม่ค่อยทันเคารพธงชาติ เพราะต้องช่วยตัวเองหลายอย่าง ประการแรกคืออาหารการกิน อยู่วัดก็จริงแต่ไม่ได้อาศัยข้าววัด ต้องหุงหากินเอง เนื่องจากพระอาจารย์จะบิณฑบาตเฉพาะวันพระ ท่านเคยออกบิณฑบาตในวันธรรมดากลับมามีข้าวติดก้นบาตรประมาณสองสามทัพพี

ผมตื่นเช้ามืดจัดการก่อไฟหุงข้าว ห้องนอนของผมใช้เป็นห้องครัวด้วยเอาข้าวใส่หม้อตั้งบนเตา สมัยนั้นใช้เตาถ่าน ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด จากนั้นต้องรีบไปตลาดซื้อกับข้าวในตรอกหม้อ ซึ่งอยู่ไม่ไกลเพียงเดินข้ามถนนก็ถึงแล้วรีบกลับให้ทันข้าวเดือด

หุงข้าวเสร็จก็จัดการกับกับข้าวสำเร็จรูป ใส่จานใส่ชามยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใส่ตู้กับข้าวสำหรับพระอาจารย์ ส่วนหนึ่งผมเอามันใส่กระเพาะแล้วแต่งตัวไปโรงเรียน รถรางจากวัดสุทัศน์ไปยศเสใช้เวลาพอสมควร เพราะต้อง “รอหลีก” ให้อีกขบวนมาเข้ารางแยก ทำให้ไปโรงเรียนไม่ค่อยทัน

ผมอยู่ลพบุรีไม่ต้องหุงข้าวทำกับข้าว ไม่ต้องรีดเสื้อผ้า นอกจากช่วยกวาดบ้านถูบ้าน มีแม่มีน้าสาวทำให้เสร็จ มาอยู่วัดชีวิตมันก็พลิกผันไปอีกแบบ ต้องทำทุกอย่างสารพัด ต้องตื่นตีสองหิ้วถังน้ำขนาดย่อมสองถังไปรองน้ำประปาที่ก๊อกข้างเรือนจำคลองเปรม สมัยนั้นอยู่ข้างวัดเอาน้ำมาเทใส่โอ่ง จากกุฏิไปถึงก๊อกน้ำประปาก็ประมาณ 100 เมตร ไปกลับ 200 เมตร ผมต้องหิ้วน้ำอยู่ 3  – 4 เที่ยว คิดเป็นระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร ตอนหลังพระอาจารย์ต่อน้ำประปามาใช้ก็เลยสบายไม่ต้องตื่นแต่ดึกแล้วมาง่วงตอนเช้า

กลางวันกินข้าวที่โรงเรียน อาหารประจำของผมเกือบทุกวัน คือ “พระรามลงสรง”    แม่ค้าโรงเรียนไพศาลศิลป์ทำอร่อยมาก ส่วนมื้อเย็นส่วนใหญ่จะเป็นร้านเกาเหลาเนื้อเปื่อยในตลาดบำเพ็ญบุญ  ซึ่งเป็นขาประจำ อิ่มแล้วเดินข้ามถนนเจริญกรุงไปศาลาเฉลิมกรุงดูภาพนิ่งตัวอย่างหนังที่ลงโรงและกำลังจะมาฉาย ต่อมาผมดูหนังที่เฉลิมกรุงฟรี นั่งขึ้นบนด้วย เพราะพนักงานเก็บตั๋วชั้นบน ผมจำชื่อไม่ได้ พอหนังฉายสักพักไม่มีคนเข้าแล้ว เขาจะมากินน้ำชาสนทนากับพระอาจารย์ของผมเลยรู้จักคุ้นเคยกัน แต่การดูฟรีต้องรอให้หนังเรื่องนั้นเข้าฉายเป็นสัปดาห์    พอคนบางตาเมื่อไหร่ ผมก็ได้ไปนั่งเท่บนชั้นสองของศาลาเฉลิมกรุง

ข้างวัดสุทัศน์ด้านทิศตะวันออก มีตึกแถวสองชั้นขนาบคลองเล็กๆ ที่เชื่อมต่อมาจากคลองหลอด มีสะพานข้ามคลองด้วยเรียกกันว่า “สะพานถ่าน” เพราะมีเรือบรรทุกถ่านมาขายที่นั่น หนุ่ม ๆ สมัยนั้นรู้จักชื่อสะพานถ่านเป็นอย่างดี

ตึกแถวด้านหนึ่งพอตกค่ำจะมีดวงไฟสีเชียวปรากฏเหนือประตูทุกห้องเป็นสัญญาณว่าบัดนี้ได้เปิดบริการแล้ว บรรดาหนุ่ม ๆ ที่พกเอาความกลัดมันไปด้วยก็จะไปเปิดม่านที่ห้อยตรงประตูดูหญิงสาวทาแป้งขาวทาปากแดงที่นั่งอยู่ข้างใน ไม่ถูกใจห้องนี้ก็ไปเปิดม่านห้องอื่น ถูกใจคนไหนก็เข้าไปใช้บริการเรียกเธอขึ้นไปชั้นบน

หรือถ้าไม่ถูกใจสะพานถ่านก็ไปที่ตรอกไขข้างโบสถ์พราหมณ์ ไปตรอกข้างโรงงานไบเลย์    หรือไปแถวถนนอุณากรรณ เรียกว่า รอบวัดสุทัศน์อุดมสมบูรณ์ไปด้วยซ่องโสเภณี คงเป็นซ่องถูกกฎหมาย หรืออย่างไรไม่ทราบ ไม่เห็นตำรวจจับ

ผลการสอบ  ม. 7 โรงเรียนไพศาลศิลป์ “ผมสอบตก” หกคะแมนไม่เป็นท่า ยอมรับเรียนไม่รู้เรื่องจริง ๆ ไม่รู้จะโทษครู หรือโทษตัวเอง ครูที่สอน ม. 7 ส่วนใหญ่รับจ๊อบมาสอนเป็นชั่วโมง    หมดชั่วโมงก็หิ้วกระเป๋ากลับ ตอนนั้นเซ็งมากมุดรั้วหลังโรงเรียนออกป่าช้าแขกไปดูหนังแผ่นหน้าโรงหนังเฉลิมเขตร์แล้วกลับวัด เฉลิมเขตร์เพิ่งสร้างเสร็จฉายเรื่องแรก “เฮ้าส์ ออฟ แบมบู” จำชื่อไทยไม่ได้ คนแน่นตึง เพราะเป็นโรงแรกในเมืองไทยที่ฉายแบบซีนีมาสโคปจอโค้ง

ลาออกจากไพศาลศิลป์ไม่เอาแล้ว ม. 7 ม. 8 หันหน้าเข้าหาโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข    เปิดหลักสูตรอาชีวศึกษาน่าสนใจ มีแผนกเลขานุการ แผนกภาษาต่างประเทศ และแผนกเสมียนพนักงาน สองแผนกแรกใช้เวลาเรียน 3 ปี แผนกหลังเรียนปีเดียว เอาละวะเสมียนก็เสมียน      จบแล้วน่าจะได้งานทำแน่

จาก ม.7 นุ่งกางเกงขาสั้นมาเรียนอาชีวศึกษาต้องนุ่งกางเกงขายาว ในชีวิตเพิ่งมาใส่ขายาวที่บพิตรพิมุขเล่นเอาเดินไม่เนียนเหมือนขาสั้น ซื้อกางเกงขายาว 2 ตัวใช่แบบประหยัดแล้วไปชอบหญิงแผนกเลขานุการชั้นปี 3 “ประไพ” อายุไล่เลี่ยกัน ไปหาเธอที่หอพักหญิงถนนดินสอ เธอหน้าง้ำถาม “ทำไมถึงนุ่งกางเกงขาสั้น”  จากนั้นจึงรู้สึกตัว วันต่อมาใส่ขายาวพาเธอไปดูหนังที่เฉลิมกรุงเรื่อง “วิมานลอย” สะใจหนังยาวกว่า 3 ชั่วโมง

ผมได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้อง มีนักเรียนหญิงเป็นรองหัวหน้า ผมจำชื่อใครไม่ได้นอกจาก “สมพจน์ คชรินทร์” เป็นศิษย์วัดสุทัศน์ด้วยกัน แต่อยู่คนละคณะ และอีกคนชื่อ “จรูญ    คุ้นวงศ์” แว่ว ๆ ว่าเป็นลูกหรือหลานกำนันจุล คุ้นวงศ์ เจ้าพ่อมะขามหวานไร่กำนันจุลที่เพชรบูรณ์

เรียนแค่สองเทอมพอคุ้นหน้าคุ้นตากเพื่อนร่วมห้องชีวิตก็พลิกผันอีกแล้ว วันหนึ่งผมไปดูหนังแผ่นที่เฉลิมกรุง เห็นทหารบกแต่งเครื่องแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทหารบกที่ลพบุรีไม่ว่าเหล่าราบ เหล่าปืนใหญ่ หรือเหล่าแพทย์ต่างสวมเครื่องแบบสีกากี สวมหมวกทรงหม้อตาลหรือไม่ก็หมวกหนีบ สมัยนั้นยังไม่มีทหารพลร่มหมวกแดง

นี่ทหารหน่วยไหนหนอ แต่งชุดสีกากีก็จริง แต่สวมหมวกแบเร่ต์สีดำมีริบบิ้นสีดำผูกเป็นโบติดกับหมวกห้อยมาด้านหลัง กางเกงก็ยัดอยู่ในรองเท้าคอมแบทมันวาววับ……ดูมุมไหนก็เท่ชะมัด

นั่นคือเครื่องแบบทหารยานเกราะ ปรึกษากับ “สมพจน์ คชรินทร์” แล้วลาออกจากบพิตรพิมุขทันทีทั้งสองคน กราบลาพระอาจารย์จันทร์  คณะ 8 วัดสุทัศน์เทพวราราม แต่ไม่ได้บอก  “ประไพ” นักเรียนหญิงรุ่นพี่ปี  3 ไปสมัครเป็นนักเรียนนายสิบยานเกราะแล้วก็สอบได้ทั้งคู่

มันเป็นครั้งแรกของชีวิตที่เลือกเอง และเลือกได้เสียด้วย หลับตาเห็นตัวเองยืนกอดอกบนรถถัง ไม่ได้เป็นแค่นายสิบ แต่ต้องเป็นนายร้อย.

 

 

RELATED ARTICLES