ก้าวที่ 5 ชัตเตอร์อาถรรพณ์

 

“ตกลงพวกเราจะไปกันเมื่อไหร่ดีล่ะ”

เพื่อนสาวคนหนึ่งในกลุ่มอดวิตกจริตไม่ได้ หลังเดินออกมาจากเรียนวิชาถ่ายภาพแล้วเจอไฟต์บังคับให้ต้องนั่งรถมูลนิธิร่วมกตัญญูไปบันทึกภาพข่าวแนวอาชญากรรมส่งมาเป็นการบ้าน

“นั่นนะซิ เมื่อไหร่ดีโต้ง” สาวอีกคนหันมาถามผม

ผมกำลังอยู่ในอาการมึนตามประสาคนกลัวผี ไม่ได้ให้คำตอบทันที และคิดแค่ว่า เคยจับกล้องถ่ายรูปครั้งแรกแบบเป็นเรื่องเป็นราวตอนไปทัศนศึกษาเมืองกรุงเก่าระหว่างเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 คว้ากล้องโบราณสัญชาติโซเวียตไปเก็บภาพเรื่องราวประวัติศาสตร์กรุงศรีกับเหล่าบรรดานักเรียนตัวน้อยของเมืองหลวง

แต่ผมชักไม่แน่ใจตัวเองแล้วว่า รักงานถ่ายภาพหรือเปล่า

ทั้งที่พ่อผมในอดีตเป็นช่างภาพมือโปรส่งให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ตั้งแต่ เสียงอ่างทอง เกียรติศักดิ์ ข่าวสยาม เขาเล่าว่า หลังจากจบช่างพิมพ์ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ก็หันไปยึดอาชีพครู โรงเรียนสารพัดช่าง มีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งคอยตระเวนรับงานถ่ายภาพข่าวสังคมส่งตามหนังสือพิมพ์เป็นรายได้เสริม สมัยนั้นนักข่าวช่างภาพมีไม่เยอะ และจะรู้จักกันหมด

พ่อยังเข้าไปมีส่วนในการบันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักกีฬาเรือใบของประเทศไทย ทรงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติของการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ที่ชายหาดพัทยา ชลบุรี  มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ พระอิสริยยศในขณะนั้นทรงร่วมแข่งขันด้วย

การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบนำมาตลอด ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และนักกีฬาทีมชาติพม่าคู่แข่งที่สำคัญ ในการแข่งขันรอบสุดท้ายกระแสลมเปลี่ยนทิศทาง  ทำให้ต้องทรงเรืออ้อมทุ่นผิดตำแหน่ง ถึงกระนั้นก็ยังทรงนำเรือเข้าสู่เส้นชัยเป็นพระองค์แรก ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ โดยภายหลังจากเข้าเส้นชัยและทรงทราบว่า อ้อมเรือผิดทุ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแย้มพระสรวลก่อนทิ้งพระองค์ลงน้ำ และผลการแข่งขันในครั้งนั้นคณะกรรมการมีมติทำให้ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ

หลังจบการแข่งขัน เหล่าช่างภาพหนังสือพิมพ์เพียงไม่กี่ฉบับได้มีโอกาสยืนถ่ายภาพหมู่ร่วมกับพระองค์ โดยมีพ่อผมรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ยังทรงนำแชมเปญใส่ถ้วยรางวัลพระราชทานให้แก่ช่างภาพทุกคนด้วยอย่างเป็นกันเอง

“พระองค์ทรงดึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอหรือเปล่าพระเจ้าค่ะ” ช่างภาพพิมพ์ไทยถามเล่นเอาเพื่อนร่วมอาชีพอึ้ง

ในหลวงทรงพระสรวลดำรัสตอบว่า “ข้าพเจ้าจะดึงทำไม ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอแล่นนำมาตลอด”

“ไม่ใช่มวยล้มอย่างอภิเดชนะพระพุทธเจ้าค่ะ”

พระองค์ยังคงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีไม่ถือสา

มันเป็นภาพความทรงจำสุดประทับใจของพ่อที่รู้สึกปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ผมกลับมีความรู้สึกว่า คงไม่มีโอกาสเดินตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อได้ไกลถึงขนาดนี้แน่นอน

“เฮ้ย …โต้ง ตกลงจะเอายังไง” เพื่อนคนหนึ่งสะกิดเตือนอีกครั้ง

“เอาแบบนี้ล่ะกัน คืนวันศุกร์ดีไหม เพราะวันเสาร์พวกเราไม่มีเรียน” ผมตัดสินใจ มีอนงค์สาวในกลุ่มราว 5 คนหยักหน้าตกลงตามนั้น

“โอเค เราไปด้วยกันหมดนี่แหละ”

ชีวิตผมตอนนั้นเห็นศพครั้งแรกอายุแค่ 7 ขวบเศษ ตอนเสียคุณปู่ในวันไปรดน้ำสั่งลาร่างไร้วิญญาณที่ศาลา 3 วัดตรีทศเทพ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2521

มาอีกทีก็ครั้งขี่จักรยานเล่นกับเพื่อนรุ่นพี่ไปตามซอยอาคารสงเคราะห์ หลังวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ถ้าเทียบในยุคปัจจุบันกลายเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ไปแล้ว ภาพของหนุ่มซิ่งรถมอเตอร์ไซค์เสียหลักชนเสาไฟนอนตายคาที่ช่างติดตาผมมาก

เลือดสีแดงฉานไหลนองพื้นชวนอารมณ์สยดสยองสมกับคำข่าวคนหนังสือพิมพ์หัวสีที่มักติดวลี “นอนตายจมกองเลือด”

แล้วภารกิจต้องไปถ่ายรูปศพของผมจะไหวหรือ

ตกเย็นของวันดีเดย์ พวกเราเดินทางไปยังมูลนิธิร่วมกตัญญูในตรอกโรงหมู คลองเตย ที่อยู่ไม่ห่างมหาวิทยาลัยบ้านกล้วยมากนัก ผมเป็นผู้ชายคนเดียวในกลุ่ม 5 ดรุณี จำเป็นต้องทำตัวเป็นผู้นำรวบรวมสติโชว์แมนไม่ให้เสียเชิงบุรุษ

ผมไปศึกษาประวัติของมูลนิธิร่วมกตัญญู พบว่า เกิดขึ้นจากสมเกียรติ สมสกุลรุ่งเรือง พ่อค้าขายกาแฟชาวจีน ได้ช่วยเหลือ ผู้ด้อยโอกาสกว่าในชุมชนแออัด ตรอกโรงหมู กล้วยน้ำไท โดยเฉพาะกับคนจนๆ ที่ตายแล้วไม่มีเงินซื้อโลงศพ ต่อมา ขยายวงจรจากท่าเรือคลองเตย ไปถึงพระโขนง พระประแดง บางขุนเทียน ใช้ชื่อ “ศาลหลวงปู่เปี่ยม”จนในปี 2513 จัดตั้งเป็นมูลนิธิ มี โรจน์ โชติรุ่งเรือง และคณะกรรมการรวม 15 ท่าน ส่วน สมเกียรติ สมสกุลรุ่งเรือง เป็นผู้บริหารงาน และรัตนา ภรรยา เป็นเลขาธิการ หลังจากโรจน์ถึงแก่กรรม คณะกรรมการบริหารมูลนิธิจึงได้ยื่นขอเปลี่ยนใบอนุญาตจัดตั้งมูลนิธิร่วมกตัญญู เปลี่ยนชื่อประธานกรรมการ มาเป็นชื่อ สมเกียรติ สมสกุลรุ่งเรือง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2530

ทว่าทันทีที่ย่างเท้าถึงหน้าที่ทำการมูลนิธิ หัวใจผมก็เริ่มเต้นระรัว ขาทำท่าว่าจะแข็ง พวกเราไปยืนหยุดตรงหน้าบอร์ดที่ล้วนมีแต่ภาพสยองของศพสารพัดเหตุการตายติดพรึบเต็มไปหมด

“เขาติดไว้เพื่อให้ปลง ไม่ได้ให้กลัวนะน้อง” เฮียหมู เจ้าของรหัสนคร 60 สวมชุดเจ้าหน้าที่มูลนิธิเดินเข้ามาทัก

“สวัสดีครับ” ผมยกมือไหว้

“จะไปกันหรือยังล่ะ ถ้าพร้อมแล้วขึ้นรถเลย”

หนุ่มใหญ่ผู้คร่ำหวอดอยู่ในอาชีพเก็บศพมานานเรียกพวกผมขึ้นรถตู้สีขาวของมูลนิธิ เหล่าเพื่อนสาวทำหน้าเลิกลั่ก ส่วนผมยังนิ่งเหมือนใจดีสู้เสือ

“ไม่ต้องกลัวหรอก รถคันนี้เลิกเอาไปเก็บศพนานแล้ว” เฮียหมูลดบรรยากาศตึงเครียดของนักศึกษาวัยละอ่อนก่อนตะบึงรถออกไปอย่างรวดเร็ว รถตู้ขาวซิ่งดุจราวพายุขึ้นทางด่วนอาจณรงค์ไปลงสุขสวัสดิ์มุ่งตรงสู่ท่าน้ำพระประแดง ปาดซ้ายแซงขวาพาเอาพวกผมนั่งลุ้นตัวโก่ง ไม่มีใครในรถพูดอะไรกันสักคำ มือทุกคนแทบจะจิกเบาะแน่น เท้ายันไปข้างหน้าเหมือนยันคันเบรกตลอดเวลา

“ว้ายยยยย…” เพื่อนสาวนั่งข้างผมร้องลั่นหลังรถเหินกระโดดสะพานข้ามคลองเล็ก ๆ กระแทกตกลงพื้นถนนดังโครม แต่โชเฟอร์ตีนผีกลับมีสีหน้าเรียบเฉยบ่งบอกถึงความชำนาญในการขับขี่ และชินชาในบทบาทนักซิ่งท้าความตาย

“เราจะมาถ่ายรูปศพ หรือจะเป็นศพซะเองเนี่ย” ผมกระซิบเพื่อน

“ไอ้โต้งบ้า ปากไม่เป็นมงคล”

เสียงรถตู้เบรกเอี๊ยดฝุ่นตลบ ชาวบ้านนับสิบหันมามองตาฉงน

“ถึงแล้ว รีบลงไปเร็ว”

“อะไรหรือครับพี่” ผมตัดสินใจถาม

“ศพไง ไหนจะมาถ่ายรูปแล้วทำไมไม่รีบไป อยู่ในรถมูลนิธิคันนั้นแหละ”

ผมหันไปมองรถมูลนิธิร่วมกตัญญูคันที่เฮียแกว่า มีไทยมุงยืนอยู่หลังกระบะปิกอัพท่ามกลางความมืด พวกเราต้องขอฝูงชนแหวกเข้าไป เด็กหนุ่มท้ายรถเหมือนคุ้นเคยงานจัดแจงแกะผ้าขาวห่อศพแล้วยกศีรษะหญิงสาวคนหนึ่งเงยขึ้นมาให้พวกผมบันทึกภาพ

มันเป็นภาพของศพเหยื่อเรือล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ 2 วันก่อนหน้า

ผมกดชัตเตอร์มือสั่น แสงแฟลชจากกล้องของเพื่อนอีกหลายตัววาบรัวราวดังปืนกล ภาพที่เห็นเป็นศพหญิงสาวตาถลน ใบหน้า และริมฝีปากบวม มีน้ำไหลออกจมูกตลอดเวลา

“เสร็จเรียบร้อยแล้วนะครับ” เฮียหมูถาม

ไม่มีใครตอบสักคน ก่อนจะพากันเดินก้าวกลับขึ้นรถไม่พูดไม่จาอะไรกันไปพักใหญ่

โชเฟอร์เก็บผีคงหยั่งความรู้สึกพวกผมดี แกถึงก้มหน้าก้มตาขับรถออกไปจากที่เกิดเหตุ ศพแรกของพวกเราคงเพียงพอที่จะนำภาพถ่ายไปส่งอาจารย์ได้แล้ว ถือเป็นนิมิตหมายดีที่มาแล้วได้งานทันทีตั้งแต่ตอนหัวค่ำ

รถตู้นำคณะนักศึกษาไปตามถนนย่านพระประแดงอย่างช้า ๆ ปกติไม่ทันไร ความเร็วของมันก็พุ่งขึ้นอีกครั้ง

“เจออีกศพแล้ว” เฮียคนขับรถหันมาบอก

“ศพอะไรอีกครับพี่” ผมถาม

“ศพลอยน้ำ เหมือนรายเมื่อกี้แหละ โผล่ขึ้นอีกศพไม่ห่างตรงนี้หรอก เดี๋ยวก็ถึงแล้ว”

เพื่อนสาวคนหนึ่งถึงกับหน้าซีดเผือดคล้ายจะอาเจียน

“มียาดมไหม”

“เอานี้ ใจเย็น ไม่ต้องลงก็ได้ เดี๋ยวถ่ายให้” อีกอนงค์หวังดีเห็นเพื่อนอาการแย่

ผ่านศพที่ 2 ทำให้พวกเราเริ่มปรับสภาพได้บ้าง อีกครึ่งคืนก็ได้ภาพศพที่ 3 เป็นคนเก็บของเก่านอนตายในซาเล้งแถวปากน้ำ สมุทรปราการ รายนี้ดูดีสุด เพราะเหมือนคนนอนหลับธรรมดาไม่มีทีท่าน่าหวาดผวา

“มาเที่ยวนี้คุ้มจริง ได้รูปเยอะแยะเลย” ผมพูดกับทุกคน ถึงกระนั้นก็ตาม พวกเราก็ต้องถ่างตารออยู่ในรถถึงเช้ากว่าเฮียหมูแกจะออกเวร หลายคนง่วงก็เผลอหลับไป ไม่มีอาการตื่นตระหนกเหมือนวินาทีแรกที่ก้าวขึ้นรถเมื่อตอนย่ำค่ำอีกแล้ว

ผมสะลึมสะลือเห็นท้องฟ้าเริ่มสาง เกือบทุกคนหลับอยู่คาเบาะรถ ส่วนเฮียหมูนั่งตาแข็งอยู่หลังพวงมาลัย จุดบุหรี่สูดควันโขมง

“พระนครเรียก น.สื่อมวลชน ขณะนี้พบศพผูกคออยู่ภายในบริเวณสวนจตุจักร สื่อมวลชนใดต้องการ ว.29 ให้ ว.25 ที่เกิดเหตุ  … พระนครทวน ว.8 …..”

ผมคุ้นเสียงวิทยุตำรวจมาตั้งแต่เด็ก หลังพ่อเปิดฟังกรอกหูคนในบ้านแทบทุกคืนจนรู้รหัสหมดแล้ว ผมเคยถามพ่อว่า มาเป็นตำรวจดับเพลิงได้อย่างไร เพราะก่อนหน้ายึดอาชีพครูอยู่ พ่อเล่าว่า หลังไปตระเวนรับถ่ายภาพข่าวสังคมก็ไปรู้จักพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร ตอนนั้นเป็นผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง คุยไปคุยมาท่านถูกชะตาเลยชวนเข้าสมัครตำรวจ มีพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจช่วยผลักดัน โอนจากครูเข้ามาอบรมเป็นนายตำรวจติดยศร้อยตำรวจเอก

จ่อลงสังกัดโรงพิมพ์ตำรวจตามความรู้เดิมที่มีอยู่เต็มตัว โชคดีพลตำรวจตรีกริช ปัจฉิมสวัสดิ์ ตอนนั้นเป็นเลขานุการกรมตำรวจปรับให้ไปลงสังกัดดับเพลิงแทน กลายเป็นตำรวจผจญไฟ แต่ถนัดทำหน้าที่หน่วยบรรเทาสาธารณภัยเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะเหตุน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัด และยังทำงานเคียงข้างเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งอยู่เป็นประจำ

“ลูกท่านรองประสงค์หรือเนี่ย คุณพ่อเก่งนะ พวกผมเคยเจอตอนไปช่วยเหลือชาวบ้านที่โดนพายุเกย์ถล่มภาคใต้ อยู่กันเกือบเดือน” เฮียหมูที่พาเราตะลอนยันเช้าเริ่มพูดคุยเป็นกันเองมากขึ้น เขาขับรถไปคุยไปกับผมจนถึงข้างรั้วสวนจตุจักรปลุกให้สาวในรถตื่นโดยอัตโนมัติ

หลายคนยังงัวเงียไม่รู้ถึงวัตถุประสงค์ในการมาสวนจตุจักรตอนย่ำรุ่ง

“รีบลงมาเหอะ มีศพผู้ชายผูกคอตายอยู่ในสวน เขารอเราอยู่ ไม่อย่างนั้นเขาจะเก็บแล้ว” ผมแจงรายละเอียด

สาวแต่ละองค์ถึงกับอ้าปากค้าง

“อีกแล้วหรือ”

“ไปก็ไป” ไม่มีใครอิดออด

เป็นอันว่าภารกิจสุดท้ายจบลงตอน 8 โมงเช้า พวกเราได้ภาพข่าวอาชญากรรมล้วนเป็นภาพศพสยดสยองหลายเหตุการณ์สมใจปรารถนา ส่วนผมก็ถอนหายใจโล่งไม่ต้องมาพะวักพะวงแบบนี้อีกแล้วเมื่อมีภาพศพอย่างน้อย 4 รายอยู่ในมือ

ไม่กี่วันถัดมา หลังนำฟิล์มเข้าห้องมืดของมหาวิทยาลัย ต่างคนต่างล้างฟิล์มของใครของมันด้วยใจสั่นระทึก ลุ้นภาพที่ค่อย ๆ ปรากฏอยู่บนกระดาษอัดรูปเกรดดีเหมือนภาพผีมาโผล่อยู่ตรงหน้า

“ไอ้บ้าเอ๊ย …” ผมลั่นกลางห้องมืด

“เกิดอะไรหรือโต้ง”

“ฟิล์มที่ถ่ายคืนนั้นมาเสีย ถ่ายไม่ติดเลย” ผมตอบอย่างเซ็งอารมณ์ ขณะที่เพื่อนสาวร่วมคณะทัวร์รถตู้ผีทั้งหมดไม่มีกล้องไหนเจอปัญหาอย่างผม

“เราเจออาถรรพณ์หรือเปล่าเนี่ย” ผมคิดในใจ

“แม่งจะเล่นตลกอะไรกับกูวะ” แต่ผมกลับตะเบ็งเสียงออกไปด้วยความหงุดหงิด

“ใจเย็นโต้ง ไว้ไปถ่ายใหม่ก็ได้ ยังพอมีเวลานี่นา”

“แต่คราวนี้สงสัยเธอต้องไปคนเดียวแล้วล่ะ” เพื่อนอีกคนแซว

ความคิดตอนนั้น ผมไม่หวั่นหวาดกลัวอีกแล้ว แค่สงสัยตัวเองทำไมถึงกดชัตเตอร์ไม่ติดภาพศพที่ไปละเลงมาตลอดคืน เพราะก่อนหน้าได้ศึกษากล้องคู่ชีวิตของพ่อตัวนี้มาอย่างดี เจ้า Nikon FA ก็เคยผ่านศึกชัตเตอร์ไปกับผมหลายครั้งหลายครา ไม่เคยพลาดท่าเสียทีเหมือนเท่าครั้งนี้

“มันน่าเจ็บใจชะมัด” ผมก้มหน้าบอกกับตัวเอง

“เพื่อนคนอื่นในกลุ่มเขามีงานส่งกันเรียบร้อย เรากลับดันไม่มี”

ผมต้องย้อนกลับไปมูลนิธิร่วมกตัญญูอีกครั้งเพียงลำพัง เพื่อที่จะได้ภาพข่าวแนวอาชญากรรมมาส่งอาจารย์ให้ทันเส้นตาย

เป็นเหตุให้ได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของตำนานมือวิสามัญฯ

วินัย เปาอินทร์

         

 

      

 

 

 

RELATED ARTICLES