“ต้องทำใจยอมรับหน้าที่ของสามี ถ้าไม่ยอมรับเราก็จะไม่เข้าใจกัน”

 คู่ชีวิตที่เป็นขวัญกำลังใจชั้นดีของพันตำรวจเอกนักรบสีกากีบนสมรภูมิชายแดนจังหวัดภาคใต้

คุณฝน-ฐิติวรดา นิลพงษ์ ภรรยาสาว พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรระแงะ จังหวัดนราธิวาส นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 50

ลูกพ่อค้าแม่ขายย่านบางซื่อ เรียนจบโรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ ไปต่อวิทยาลัยอาชีวศึกษาดุสิตพณิชยการ ไปมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีความฝันอยากเป็นครู แต่โตขึ้นความคิดเปลี่ยนหันมาชอบด้านการเงิน ถึงเรียนสายบัญชีแล้วต่อการเงิน

จบแล้วได้งานทำอยู่บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด ก่อนย้ายไปธนาคารเอชเอสบีซี ประจำประเทศไทย กระทั่งมีทายาทเลยลาออกมาดูแลเอาใจใส่ลูกแทน

เรื่องราวความรักของเธอเกิดขึ้นยิ่งกว่าบุพเพสันนิวาส ผ่านห้วงเวลาระหองระแหงรัก ๆ เลิก ๆ เรียนรู้กันและกันถึงปัจจุบันพ้นช่วงวิกฤติร้าวไปแล้ว เมื่อมีลูกน้อยคอยเป็นกาวใจช่วยประสานครองรักเป็นครอบครัวที่อบอุ่น แม้สามีต้องเดินทางไกลไปรับราชการอยู่ต่างถิ่น แถมเป็นถิ่นที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงในสนามรบนอกระบบดินแดนปลายด้ามขวาน

คุณฝนกับสามีพบกันตั้งแต่ฝ่ายชายยังเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ครั้งแรกที่เผชิญหน้า เธอเล่าว่า  ตามเพื่อนไปทำธุระเพราะมีแฟนเป็นตำรวจอยู่ที่นั่น เจอกันกลายเป็นว่า เขาเป็นเพื่อนของแฟนเพื่อน แต่เฉย ๆ ไม่ได้สนใจอะไร มาเจอกันอีกทีตอนเรียนมหาวิทยาลัย เขาย้ายมาอยู่กองกำกับการสืบสวนนครบาล 1 แล้ว

“แลกเบอร์โทรคุยกัน แรก ๆ ก็ยังเฉย ๆ คุย ๆ หาย ๆ ไม่ต่อเนื่อง ข่าวว่า เขาฮอต สาว ๆเยอะ แต่ฝันก็รู้ว่า เขาเป็นคนขยันทำงาน เป็นส่วนดีของเขา ตัดสินใจเป็นแฟน ตอนฝนทำงานที่อิออน เลิกกันบ้าง กลับมาคบใหม่ก็หลายหน เพราะเขามาง้อ สุดท้ายตัดสินใจไปจดทะเบียน ไม่ได้จัดพิธีแต่งงาน เพราะรู้จักกันมานานแล้ว ถ้าไม่มีเรื่องผู้หญิง เขาก็เป็นคนดีคนหนึ่ง กับฝนเขาดีเสมอ คบกันนานมาก”

ฝ่ายหญิงให้เหตุผลที่ไม่จัดงานแต่งงานเหมือนบ่าวสาวทั่วไปว่า เพราะเรามองการแต่งงานไม่ได้การันตีอะไรทุกอย่าง ขอแค่เขารับผิดชอบตัวเราก็พอแล้ว ไม่นานมีพยานรักเป็นเด็กชาย ชื่อเล่น ต้นน้ำ ชื่อจริง ชนธัญ ตอนนี้อายุ 5 ขวบแล้ว กำลังเรียนชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ยอมรับว่า การใช้ชีวิตคู่ตอนแรกต้องปรับตัวเยอะพอสมควร บางครั้งมีกระทบกระทั่งกันบ้าง เข้ากันไม่ได้บ้าง ความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง ต้องใช้วิธีค่อย ๆ ปรับตัว ถ้าตัวเราไม่ใช่ก็ค่อยปรับหาเขา ส่วนถ้าเขาตรงไหนไม่ใช่ก็ค่อย ๆ ปรับเข้าหาเรา เห็นการทำงานของเขา รู้สึกเหนื่อยแทน บางทีไม่ได้พัก ไม่ได้มีเวลา แรก ๆ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจ ทะเลาะกันบ้าง แต่ตอนนี้โอเคแล้ว หรือชินแล้วก็ไม่รู้

คุณฝนบอกว่า สามีทำงานไม่ค่อยเป็นเวลา เมื่อเวลาเขาไม่ตรงกับเรา เราทำงานออฟฟิศอาจเป็นส่วนให้ไม่เข้าใจกัน ยิ่งพอย้ายขึ้นสารวัตรที่โรงพักคำตากล้า จังหวัดสกลนคร  รู้สึกอยากให้มาอยู่ใกล้ ๆ มันไกลกัน ห่างกัน ช่วงแรกยอมรับว่า มีเหวี่ยงวีนตามประสาผู้หญิง หลัง ๆ ก็ค่อย ๆ ปรับ โวยวายไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ส่วนเขาก็ปรับตัว โทรคุยกัน ไม่นานสามีขอย้ายไปช่วยราชการที่ยะลาเคยคุยกัน เขามีเหตุผลว่า อยู่ที่สกลนคร ทำงานธุรการ เป็นงานที่ตัวเขาไม่ชอบ อยากทำงานที่เขารัก เป็นงานสืบสวนที่เขาชอบ ที่เขารัก มีความสุข เราก็ไม่ขัด ก็ต้องปล่อยไปตามนั้น แม้อยากให้กลับมาอยู่ด้วยกัน รู้ว่าเสี่ยง น่ากลัว ยิ่งสามีเล่าว่า ที่นั่นเหมือนสงคราม เราก็ยิ่งห่วง

“ พอมีลูก ยิ่งเป็นห่วงมากขึ้น ฝนก็ต้องทำใจ เพราะเขายังย้ายขึ้นมาไม่ได้ ไป ๆ มาเลยอยู่ยาวไต่จากสารวัตรเป็นรองผู้กำกับแล้วขึ้นเป็นผู้กำกับ  ฝนก็ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว เขาจะกลับมาพักเดือนละ 1 สัปดาห์ แต่พอตำแหน่งสูงขึ้น ฝนต้องเป็นฝ่ายลงไปหาเอง อาศัยตอนลูกปิดเทอม หรือเทศกาลวันหยุดยาว ถ้าไม่ได้ลงไปคงไม่ได้เจอ เพราะสามีต้องอยู่ในพื้นที่ ออกมาไม่ได้” คุณฝนว่า

แม่บ้านผู้กำกับโรงพักชายแดนภาคใต้เผยว่า เดินทางไปหาสามีในพื้นที่ครั้งแรก รู้สึกกลัว ลงสนามบินแล้วไปที่พัก ไม่ได้ออกไปไหนเลย แต่ทำให้เราเรียนรู้ชีวิตตำรวจที่นั่นว่า น่าสงสารมีความเสี่ยงตลอดเวลา ถึงไม่มีใครอยากไปอยู่ตรงนั้น คนที่อยู่ต้องชื่นชมและยกย่องว่า เป็นผู้เสียสละอย่างแท้จริง พวกเขาต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา

“ส่วนลูกจะบ่นหาพ่อตลอด ตอนโตรู้เรื่องขึ้นจะบ่นว่า ทำไมพ่อไม่เหมือนพ่อคนอื่นที่คอยมารับมาส่ง มันไม่มีวันพ่อสำหรับเขา ฝนก็จะต้องอธิบาย ทำความเข้าใจว่า พ่อมีภาระหน้าที่ต้องทำนะ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างตามประสาเด็ก ตอนหลังก็อาจจะชินเหมือนแม่แล้ว ฝนก็ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ ถามว่า พร้อมรับการสูญเสียหรือไม่ พร้อมนะ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แต่อยากให้มาอยู่เป็นครอบครัวที่อบอุ่นดีกว่า ทว่าภูมิใจในหน้าที่ของสามี และเชื่อว่าลูกคงภูมิใจในตัวพ่อเหมือนกัน”

เธอมองถึงหลักการประคองชีวิตครอบครัวตำรวจเป็นแนวทางให้แม่บ้านท่านอื่นศึกษาเป็นแบบว่า  “อันดับแรกต้องทำใจยอมรับหน้าที่ของสามี ถ้าไม่ยอมรับเราก็จะไม่เข้าใจกัน แรก ๆ อาจจะยาก แต่หลัง ๆ ก็ทำใจยอมรับได้ เข้าใจในงานส่วนที่เขาทำ มันเป็นหน้าที่ เราก็มีหน้าที่อธิบายให้ลูกเข้าใจในตัวพ่อว่า มันเป็นหน้าที่ของพ่อ เพราะลูกจะไม่เข้าใจ เด็กก็คือเด็ก แต่ก็ทำให้ลูกอยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อ เขาภูมิใจในตัวพ่อ อยากทำงานเก่งเหมือนพ่อ มันยิ่งทำให้เราภูมิใจมากขึ้น”

ตั้งแต่ออกจากงานตอนตั้งท้อง คุณฝนรับภาระคนเดียว เพราะอยากให้ดูแลลูกเต็มที่ เป็นทั้งแม่และแทนพ่อด้วย เติมเต็มอย่าให้ลูกรู้สึกว่าขาดไป เธอบอกว่า เราก็ต้องทำให้ได้ เพราะนาน ๆ สามีจะมาพักกลับมาพาลูกไปเที่ยว แต่ผิดกับตอนนี้ที่ต้องดูแลโรงพัก ดูแลคนในพื้นที่ เวลาเจอกันยิ่งน้อยลง ถ้าเราไม่ลงไปสัมผัส ไปหา ยิ่งไม่มีทางเข้าใจสภาพตรงนั้นเลย ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น รู้สึกเหนื่อยแทนเขา

“ตอนอยู่ตันหยงรอบแรก มักมีแต่งานประชุม พอไปช่วยราชการสุไหงปาดี แทบไม่ได้หยุดเลย กลับมาตอนหัวค่ำทานข้าวแป๊บเดียวก็ไปทำเรื่องเอกสารต่อ กว่าจะนอนก็ตั้ง 5 ทุ่ม เช้ามืดก็ออกแล้ว เป็นแบบนี้ทุกวัน กลางวันไม่มีเวลาพัก สงสารเขา แม้เขาเข้าถึงชาวบ้าน เขามีความสุขในสิ่งที่เขาทำ มันทำให้เรารู้สึกว่า ตำรวจที่ทำงานภาคใต้น่าสงสารมาก” แม่บ้านสาวระบายความอัดอั้น

RELATED ARTICLES